เรื่องที่ 6 พัฒนาการของอาเซียน

การรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีประเทศที่เป็นรัฐเอกราชกำเนิดใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากการที่ศูนย์อำนาจของโลกได้แปรเปลี่ยนจากระบบ 2 ขั้วอำนาจ (Bipolarity) โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในซีกโลกตะวันตก และสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำในซีกโลกตะวันออก ทั้งสองฝ่ายมีการเผชิญหน้าในลักษณะสงครามเย็น (Cold War) ต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบ 3 ขั้ว (Tripolarity) ที่มีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นขั้วใหม่ จากสภาพดังกล่าวทำให้ทุกภูมิภาคของโลกต้องเผชิญกับความไม่มีเสถียรภาพจึงทำให้ชาติต่างๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป บางประเทศต้องเข้าไปสร้างพันธมิตรกับประเทศมาอำนาจภายนอกเพื่อเป็นเกราะป้องกันจากฝ่ายหนึ่งขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งก็หาวิธีที่จะไม่ผูกมัดกับประเทศมหาอำนาจที่ตนตกเป็นอาณานิคม ด้วยการหาวิธีเสริมสร้างพลังต่อรองซึ่งทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่า "ภูมิภาคนิยม" (Regionalism) เป็นความร่วมมือกับประเทศภายในภูมิภาคกันเอง เพื่อเป็นพลังต่อรองกับประเทศมหาอำนาจภายนอกโดยเฉพาะอำนาจต่อรองทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมือง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทำให้ประเทศในภูมิภาคต่างๆ หันมาสนใจและให้ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคของตนมากขึ้น โดยไม่สามารถที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังได้อีกต่อไป และจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นหนทางนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของสังคมระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเนื่องมาจากความหลากหลายของสภาพการเมืองการปกครองมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์สภาพเศรษฐกิจ ภูมิสังคมและวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เป็นต้น

สมาชิกอาเซียนก็เช่นเดียวกันนับจากเริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 45 ปีมาแล้วได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ เกือบทุกด้านผ่านสภาวะความตึงเครียด การเผชิญหน้า ความกดดัน มาสู่การหันหน้าเจรจาอย่างมิตร สร้างความมีเสถียรภาพ ความมั่นคง ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้น มีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นภูมิภาคที่มีบทบาทและมีพลังต่อรองในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นและมีหลายประเทศในโลก ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ให้ความสนใจร่วมมือส่งเสริมความสัมพันธ์ภายใต้กรอบความร่วมมือในด้านต่างๆ ตลอดมา เช่น การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ การเงิน สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น

ดังนั้นสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องประสานความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพลังเป็นหนึ่งเดียวพัฒนาอาเซียนให้ก้าวสู่การเป็น "ประชาคมอาเซียน" ได้อย่างสง่างาม มีเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านต่างๆ แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เพื่อให้เป็นภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งและเป็นวิธีต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ