- ฎีกานโม

ฎีกานโม

 กลับหน้าแรก

อ่านฉบับ eBook ที่นี่

โดยการเลื่อน Scrollbar ที่ข้างภาพ

จัดทำ eBook มาเปิดอ่านที่นี่เมื่อ พฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

*   *   *

(** หมายเหตุของผู้จัดทำเว็บไซต์ ** เนื่องจากเป็นสำนวนโบราณ มีคำบาลีอยู่มาก ทางผู้จัดทำได้ระบายสีไว้ให้เป็นที่สังเกตุ แต่อาจจะมีหลุดรอดสายตาไปบ้าง ขอให้ผู้อ่านเข้าใจตามนี้ และถ้าไม่เข้าใจคำศัพท์คำใด ให้เข้าไปที่เว็บ 84000 พระธรรมขันธ์ ที่เมนูซ้ายมือล่างของเว็บนี้ จะมีพจนานุกรมพุทธศาสน์ให้ค้นหาคำแปล)

* * * * * * * * * * * * *

 ฎีกา นโม

รวบรวมโดย

อมร

พิมพ์เพื่อการกุศล

โดย

พระเทพสิงหบุราจารย์

(หลวงพ่อแพ)

เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

วัดพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี

พุทธศักราช ๒๕๓๕

* * * * *

คำปรารภ

    ฎีกา นโม ข้าพเจ้าได้รับมาและอ่านแล้วรู้สึกดีใจมาก ซึ่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียงพิมพ์มาแล้วมีประโยชน์แก่ท่านผู้เป็นธรรมกถึก ข้าพเจ้าได้อ่านแล้ว ใคร่จะพิมพ์เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน ผู้สนใจ ขอให้ท่านผู้อ่าน และผู้สนใจเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น.

พระเทพสิงหบุราจารย์

คำนำ

    ในการรวบรวมหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้ามีความหวังเพื่อประโยชน์แก่ท่านธรรมกถึก จะได้ยึดเป็นหลักไว้อันหนึ่งในเวลาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เพราะคำว่า นโม ๆ ดังนี้ เป็นของจำเป็นที่ทุก ๆ ท่าน จะต้องใช้นมัสการก่อนที่จะแสดงธรรม หรือทำการมงคลต่าง ๆ เช่นสวดมนต์หรือการกุศลต่าง ๆ ทั้งหมด ก็ต้องใช้คำนมัสการอันนี้ด้วยกัน ทุกเวลาทุกครั้งของการทำบุญ เมื่อจะดูเผิน ๆ คล้ายกับ นโม นี้ จะเป็นรากเง่าของการทำบุญ หรือเป็นพิธีเบื้องต้นของการมงคลทั้งหมด แต่หาได้ทราบไม่ว่า ท่านโบราณกาจารย์ทั้งหลาย ท่านได้บัญญัติไว้เช่นนั้น โดยท่านมุ่งหวังอย่างไร และเพื่อประโยชน์อะไร และทำไมชนเราชั้นหลัง ๆ จึงต้องถือว่าเป็นของจำเป็น 

ไม่ว่าจะทำอะไร ๆ จะละเว้นเสียไม่ได้ คล้าย ๆ  กับเป็นของศักดิ์สิทธิ์อันหนึ่ง สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบยังไม่เข้าใจความประสงค์ หนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านทราบ และเข้าใจได้ตลอดในเรื่องของนโมทั้งหมด ฯ

    อนึ่ง ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้รวบรวมหนังสือเล่มนี้ขึ้น เป็นผู้มีความรู้น้อย มีอาวุโสน้อย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จนถึงกับขยายเนื้อความย่อ ๆ ของธรรมให้กว้างขวางถูกต้องได้ แต่เท่าที่รวบรวมหนังสือเล่มนี้ให้เป็นผลสำเร็จได้ดังนี้นั้น เนื่องจากข้าพเจ้าได้ค้นพบต้นฉบับเดิมของท่านที่เป็นของเก่า ๆ และท่านผู้แต่งหนังสือนั้นได้อ้างพาดพิงถึงหลักคัมภีร์ต่าง ๆ หลายคัมภีร์ด้วยกัน ซึ่งท่านผู้อ่านจะทราบได้จากหนังสือเล่มนี้ นำมาเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการรจนาของท่าน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ต้องเป็นของที่มีหลักฐานเพียงพอ อีกประการหนึ่ง เพื่อเผยแพร่ตำราของท่านที่เป็นปุพพาจารย์ ให้พวกเราชั้นหลัง ๆ ได้รู้เห็นทั่ว ๆ กัน และเพื่อรักษาตำนานอันเป็นของเก่า ๆ ของเราไม่ให้เสื่อมสูญ อาศัยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมหนังสือเล่มนี้ขึ้น และให้ชื่อตามของเดิมท่านว่า "ฎีกา นโม" เพราะเนื้อเรื่องเกี่ยวด้วยการแก้ไขใน นโม เป็นส่วนมาก  หากว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์แก่ท่านที่สนใจในหน้าที่ของพระธรรมกถึก มากน้อยเพียงไรก็ไม่ใช่ข้าพเจ้าที่จะได้รับความชมเชยจากท่าน หากไม่มีประโยชน์เสียเลย ท่านธรรมกถึกหรือผู้อ่านจะไม่เลื่อมใสในข้อความของหนังสือนี้ ก็คงไม่ใช่ข้าพเจ้าที่ได้รับความติเตียนเยาะเย้ยจากท่านเหมือนกัน ฯ

ขอได้รับความหวังดีจากข้าพเจ้า

อมร

 ๛ ๛ ๛ ๛ ๛ 

ฎีกา นโม

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

                                                        อิทานิ เตสุ สรณคมเนสุ โกสลตฺถํ สรณคมนํ

                                                        เยหิ ตํ สรณํ คจฺฉนฺติ สรณคมนปฺปเภโท

                                                        สรณาคมนํ ผลํ สงฺกิโส เกโทติ วิธิ เวทิตพฺพา

                                                        นโม สาตาคิริยกฺโข ตสฺส อสุรินฺโท ปวุจฺจติ

                                                        ภควโต จาตุมมหาราชา อรหโต สกฺโก ตถา

                                                        สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสาติ มหาพฺรหฺเมหิ ปวุจฺจติ

                                                                    อิติ เอวํ ปญฺจเมเวหิ ฐปิตาติ

          นโม อันว่าไตรทวารประณาเมศร์ ยอกรทศขึ้นสโมสรสิโรดมก้มเกศ อภิวันทนาน้อมพร้อมไปด้วยเบ็ญจางคประดิษบ์ถวาย เม แห่งข้าพเจ้า อตฺถุ จงมี สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นปิ่นมกุฏจอมไตรเฉลิมโลกในไตรภพ ก็และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามาหวนปรารภรำพึงถึงเรื่องราว ที่ท่านพระอรรถกถาจารย์ ได้ลำดับสังวัณณนาไว้ในคัมภีร์ สุมังคลวิลาสินีฎีกา ๑ ขุททกปาฐ ๑ ปรมัติถโชติกา ๑ นิทานสังยุตต์ ๑ เป็น ๔ พระคัมภีร์ด้วยกัน ซึ่งชักมารจนาตกแต่งไว้นั้น เป็นไปโดยอัตตโนมัตยาธิบายของตนๆ ประกอบไว้เพื่อจะให้เป็นหนทางปฏิบัติแห่งนักปราชญ์ชนผู้มีศรัทธา เพราะฉะนั้น พระอรรถกถาจารย์ จึงได้กล่าวเป็นวาระพระบาลีไว้ข้างต้นว่า "อิทานิ เตสุ" ดังนี้เป็นอาทิ ซึ่งแปลความว่า อยํ วิธิ อันว่า วิธีไตรสรณคมน์นี้ นักปราชญ์พึงรู้ว่าพระอรรถกถาจารย์ได้ตั้งไว้ เพื่อจะให้กุลบุตรเป็นผู้ฉลาดในพระไตรสรณคมน์ทั้งหลาย ก็แล พระไตรสรณคมน์นั้นจะยกไว้ก่อน จะย้อนกล่าวถึงการแก้ไขใน นโม ไปเป็นลำดับ ๆ ฯ

นามผู้กล่าว นโม

มีปุจฉาถามเข้ามาว่า นโม นี้ จะว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดแต่งไว้ ?

วิสัชชนา  คำว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  นี้ เทวดา ๕ พระองค์ เป็นผู้กล่าวองค์ละบท ๆ เพื่อจะนมัสการแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อรหันต์ทั้งหลาย ฯ

ปุจฉา ซึ่งว่าเทพยดาทั้ง ๕ ตน ได้กล่าวตนละบท ๆ นั้น คือคนใดได้กล่าวบทใดบ้าง ?

วิสัชชนา ข้ออนี้พึงทราบตามวาระพระบาลีที่ได้ยกไว้ข้างต้น ซึ่งท่านได้รจนาไว้ในพระคัมภีร์ นั้นว่า

นโม สาตาคิริยกฺโข แปลว่า นโม นั้น สาตาคิริยักษ์ กล่าวนมัสการ

ตสฺส อสุรินฺโท ตสฺส นั้น อสุรินทราหู กล่าวนมัสการ

ภควโต จาตุมหาราชา ภควโต นั้น อันท้าวจาตุมหาราชิกา กล่าวนมัสการ

อรหโต สกฺโก อรหโต นั้น ท้าวสักกเทวราช กล่าวนมัสการ

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส มหาพฺรหฺมา สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส นั้น อันท้าวมหาพรหม กล่าวนมัสการ แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตนละบท ๆ ดังนี้ พระคาถามีปรากฏอยู่ในฎีกามงคลร้อยแปด พระอรหัตเจ้าทั้งหลายพิจารณาเห็นว่า อักษรทั้ง ๕ บทนี้ แต่ละบท ๆ ล้วนเป็นคำกล่าวนมัสการทั้งสิ้น ฐปิตา จึงได้ประมวลเข้าไว้เป็นบทเดียวกัน สำหรับจะได้นมัสการแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ จำพวก ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ฯ 

ปุจฉา กึ ปโยชนตฺถํ พระอาจารย์เจ้ายกเอาพระบาลี นโม นมัสการคุณพระพุทธเจ้าไว้ในเบื้องต้นแห่งคัมภีร์ทั้งปวง เพื่อประโยชน์เป็นดังฤา ?

วิสัชชนา พระอาจารย์เจ้าแต่โบราณทั้งหลาย ตั้งนโมนมัสการไว้ก่อนนั้น เพื่อปรารถนาเหตุ ๔ ประการ คือ ปรารถนาจะให้นักปราชญ์ทั้งหลายทราบว่า ประพฤติอย่างนี้ใกล้ต่อวงศ์แห่งพระอริยะผู้ประเสริฐ ประการ ๑

ปรารถนา เพื่อจะป้องกันสรรพอันตราย ประการ ๑

ปรารถนา เพื่อจะชำระสันดานให้หมดจด ประการ ๑

ปรารถนา เพื่อจะให้ชีวิตอินทรีย์ของอาตมาเป็นแก่นสาร ประการ ๑ ฯ

ปุจฉา ข้อที่ว่า เมื่อนมัสการด้วยพระบาลีว่า นโม เป็นต้นไว้เบื้องต้น เป็นการประพฤติใกล้ต่อประเพณีแห่งพระอริยเจ้านั้นเป็นประการใด ?

วิสัชชนา ที่ว่าใกล้ต่ออริยประเพณีนั้น เพราะท่านผู้เป็นอริยะสัปบุรุษปรารถนาจะให้พระพุทธศาสนา จีรัฏฐิติกาล มีพระญาณและพระคุณ มีการทรงไว้ ซึ่งพระจตุราคมนนิกายเป็นอาทิ ชื่อว่าเป็นประเพณีแห่งพระอริยเจ้าอันประเสริฐมาแต่ก่อน ๆ ถ้าจะฟังพระสัทธรรมเทศนา และแสดงพระสัทธรรมเทศนาเมื่อใดก็นมัสการ ซึ่งพระรัตนตรัยเจ้าด้วยกายและวาจาและน้ำจิต ด้วยมคธภาษาว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ดังนี้ก่อนแล้ว จึงฟังพระสัทธรรมเทศนา และแสดงพระสัทธรรมเทศนาภายหลัง บุคคลผู้เป็นพุทธบริษัททั้งหลาย จึงได้เอาอย่างประเพณีพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐอันเกิดแล้วแต่ก่อน ได้สั่งสอนศิษยานุศิษย์สืบ ๆ กันมา แม้บิดามารดาก็ได้สั่งสอนบุตรและธิดา หลานเหลนของตน ๆ มาตราบเท่าทุกวันนี้ ได้ชื่อว่า กระทำตามประเพณีแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะตกแต่งซึ่งพระคัมภีร์ใด ๆ หรือจะกระทำการมงคลใด ๆ จึงต้องนมัสการคุณพระรัตนตรัยเจ้าด้วยบาลีว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ดังนี้ ตามประเพณีโบราณกาจริยเจ้าทั้งหลายตั้งไว้ดังนี้ก่อน เพื่อจะให้ผู้ปรีชาแจ้งความว่าประพฤติอย่างนี้ ได้ชื่อว่าประพฤติตามประเพณีแห่งพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ เมื่อรู้แจ้งฉะนี้แล้ว จะได้มีความเชื่อถือเลื่อมใสมั่นคง ด้วยเนื้อความนมัสการพระพุทธคุณ ในพระบาลีว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส อันได้ประดิษฐานไว้ และนำปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ฯ

ปุจฉา ซึ่งตั้งคำนมัสการพระรัตนตรัยด้วยพระบาลีว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ดังนี้ก่อนนั้น เพื่อจะป้องกันอันตรายนั้น เป็นประการใด ?

วิสัชชนา  บุคคลผู้กระทำการกุศล เป็นต้นว่าแสดงธรรม และฟังธรรมและสวดมนต์ภาวนา เมื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทั้งหลายก่อนแล้ว ก็อาจป้องกันปัจจุบันอันตราย และให้สำเร็จการกุศลอันตนจะกระทำนั้น ๆ อาศัยพุทธฎีกาที่ตรัสโปรดไว้ว่า ผู้ที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยถือเป็นสมาธิมั่นคงแล้ว ก็มิได้มีอุทธัจจะ สะดุ้งตกใจขนพองสยองเกล้า และฟุ้งซ่านในขณะเมื่อภัยมาถึง ย่อมดำริว่า ถ้าอาตมาหาปุราณกกรรมที่กระทำไว้แต่ก่อนไม่แล้ว คุณพระรัตนตรัยเจ้าก็อาจป้องกันสรรพยันตรายได้เป็นมั่นคง ถ้ามีปุราณกกรรมอันได้กระทำไว้เป็นแน่แท้แล้ว เดชสมาธิมั่นในพระรัตนตรัยคุณ ก็จะช่วยป้องกันอันตรายมิให้อาตมาไปเสวยทุกข์ในจตุราบายภูมิ ย่อมจะให้ได้เสวยสุขสมบัติอันยิ่งกว่านี้ ได้หมื่นเท่าแสนทวีเป็นเที่ยงแท้ ดำริเห็นแะนี้ จึงมีสมาธิจิตต์มิได้ฟุ้งซ่านสะดุ้งตกใจ ถ้าไม่สะดุ้งตกใจแล้ว จะทำการสิ่งใด ๆ ก็อาจสำเร็จได้ดังความมุ่งมาดปรารถนา เหตุนี้ พระอาจารย์เจ้า  จึงได้ตั้งพระรัตนตรัยประนามด้วยบทว่า นโม เป็นอาทิ ตามที่ท่านโบราณาจารย์ได้ตั้งไว้แต่ก่อน เพื่อจะป้องกันปัจจุบันอันตราย มิให้เหตุการณ์ที่ตนได้เริ่มตั้งไว้นั้นเป็นการงานอากูล ให้สำเร็จเป็นผลไพบูลย์เรียบร้อยตามที่มุ่งหมายนั้น ๆ ฯ

ปุจฉา ซึ่งกล่าวประนามนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยเจ้า เพื่อจะชำระอัธยาศัยสันดานให้หมดจดนั้น เป็นประการใดเล่า ?

วิสัชชนา  บุคคลผู้มีปัญญา จะกระทำกองการกุศลสิ่งใด ๆ เป็นต้นว่าจะแสดงธรรม จะฟังธรรมเทศนา และจะสวดมนต์ภาวนา และเป็นทายกผู้บริจาคทาน และเป็นปฏิคคาหกผู้รับทาน หรือจะทำการอื่นที่นับเนื่องเข้าในพุทธมงคลก็ดี ให้ระลึกพระรตนัตยาธิคุณเจ้า ขำระสันดานของตนให้บริสุทธิ์ด้วยบทบาลีว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ดังนี้ก่อนแล้ว ทานนั้นจึงจะมีผลานิสงส์แก่ทายกและปฏิคคาหกทั้งสองฝ่าย หาที่จะนับจะประมาณมิได้ เหตุพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า ยสฺมึ สมเย อริยสาวโก ฯลฯ โมหปริยุฏฺฐิตํ โหติ ตเถว ธมฺมานุสฺสณาติ ดังนี้ ในพระบรมพุทโอวาท ตรัสโปรดประทานเทศนาไว้ว่า อริยสาวก อุบาสก อุบาสิกา มีความรักใคร่และตั้งใจพยายาม และมีปัญญาพิจารณาธรรมทั้ง ๔ นี้พร้อมเพรียงกัน ระลึกถึงคุณพระตถาคตในทสอรหาทิคุณ เป็นต้น ให้เกิดความปราโมทย์ปีติในกาลใด จิตตสันดานอันระคนด้วยราคะรักใคร่ในวัตถุกาม มีรูปารมณ์เป็นอาทิ และระคนไปด้วยโทสะ อันคับแค้นในปฏิฆารมณ์ ซึ่งระคนครอบงำอยู่ในจิตก็ดี อันระคนด้วยโมหะอันหลงด้วยมูฬหนิยารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิ ซึ่งระคนครอบงำจิตตสันดานแห่งสัตว์อยู่ก็ดี ก็จะถึงซึ่งอันตรธานหาย จิตนั้นจะบริสุทธิ์ด้วยรตนัตยาคุณานุสสติ และกายอันเป็นที่รองรับ จิตสถิตด้วยพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ดังนี้ เปรียบเหมือนกายอันเป็นพระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ อันเป็นที่เคารพสักการะบูชา แก่สัตว์ทั่วไปในกาลทุกเมื่อดังนี้ เหตุฉะนี้ พระอาจารย์เจ้าทั้งหลาย จึงได้ตั้ง นโม คำเครื่องประณามนอบน้อม แด่พระรตนัตยาธิคุณเจ้าทั้ง ๓ ประการ เพื่อจะชำระสันดานของตน ๆ ให้บริสุทธิ์จาก ราคะ โทสะ โมหะ ปริยุฏฐาน ให้มีอานิสงส์เป็นเอนกประการดังนี้ ฯ

ปุจฉา  ข้อที่ตั้งนโมก่อน เพื่อจะให้ชีวิตเป็นแก่นสารนั้น เป็นดังฤา ?

วิสัชชนา  สมเด็จพระมหากรุณา มีพระพุทธฎีกาโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า เย เกจิ ชนา ชนทั้งหลายที่ได้บังเกิดมาในวัฏฏสงสารนี้ จะได้บังเกิดเป็นมนุษย์ที่แท้ต้องมีมนุสสธรรม คือทศกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อันมีอยู่ในสันดาน และประกอบไปด้วยปัญญารู้คุณพระรัตนตรัยนั้น ชื่อว่ามีชีวิตเป็นแก่นสาร และการที่จะได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์เห็นปานดังนี้นั้น จะได้เป็นแต่ละชาติ ๆ นั้น เป็นอันยากแสนยาก ยิ่งกว่าเต่าตาบอดทั้งสองข้าง อันจมอยู่ในมหาสมุทรฉะนั้น ร้อยปีจึงจะผุดโผล่ศีรษะขึ้นได้ก็ทั้งยาก อันการที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ต้องมีมนุสสธรรม คือรู้คุณพระไตรสรณคมน์ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ การที่จะไปได้เช่นนั้น ก็ยากยิ่งกว่าเต่าตาบอด อันพยายามจะโผล่ผุดศีรษะของตนขึ้นจากบ่อได้อีก เหตุพระไตรสรณคมน์นี้หายาก ต่อเมื่อมีพระบรมโพธิสัตว์เจ้า บำเพ็ญบารมีถึง ๒๐ อสงไขยกัปป์, ๔๐ อสงไขยกัปป์, ๘๐ อสงไขยกัปป์ ผู้จะได้ตรัสรู้แต่ละองค์ ๆ แล้วจึงจะมีพระไตรสรณคมน์ขึ้น เมื่อสัตว์จำพวกนั้นหาแก่นสารมิได้ เหตุปราศจากปัญญาอันรู้จักคุณพระรัตนตรัยเจ้า อันประดับไปด้วย พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ ต่อเมื่อมีพระนวะโลกุตตรธรรม ๙ ประการเกิดขึ้นในสันดาน จึงมีพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆเจ้า เมื่อมีพระไตรสรณคมน์อันเป็นที่บูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง และบุคคลผู้รู้พระไตรสรณคมน์ เห็นแท้ด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องพิจารณา เห็นดังบรรยายมานี้ ได้ชื่อว่า มีชีวิตเป็นแก่นสาร เหตุการณ์ฉะนี้ พระอาจารย์เจ้าเมื่อจะกระทำการใด ๆ จึงได้ตั้ง นโม นมัสการไว้ในเบื้องต้น คือว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส อันประดับไปด้วยพระคุณก่อน เพื่อประสงค์จะทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร แลปัญญาอันหยั่งลงรู้ว่า พระนิพพานธรรมนี้ เป็นคุณประดับในพระไตรสรณคมน์เจ้า ก็เมื่อชีวิตประกอบด้วยปัญญาอันเป็นแก่นสารเห็นพระนิพพานคุณดังนี้มีแก่ผู้ใด ผู้นั้น แม้จะกระทำซึ่งกุศลสิ่งใดมาตรว่าน้อยหนึ่ง กุศลนั้นชื่อวิวัฏฏคามินีกุศล มีผลที่จะนับจะประมาณมิได้ ดุจเจ้าของนารักกษาข้าวกล้าไว้ให้เป็นแก่นสารเป็นอันดี ด้วยกิริยาที่หุ้มห่อและปกปิดไว้ โดยโคมัยและฟางข้าวโดยมิดชิด มิให้ผุเปื่อย ครั้นเมื่อถึงกาลระหว่างพืชลงแล้ว พืชอันเป็นแก่นสารนั้น ก็งอกงามเจริญผลได้หมื่นเท่าแสนทวี อันมี่ครุวนา ฉันใด พืชข้าวกล้า กล่าวคือ กุศลจิตอันประกอบไปด้วยเจตสิก ๓๘ ดวง มีศรัทธาเป็นต้น และมีปัญญาเป็นปริโยสาน เมื่อจะรักษาไว้ให้เป็นแก่นสารสุนทรภาพนั้น ก็เพราะอาศัยนมัสการระลึกถึงพระรัตนตรัยคุณเจ้าด้วยชีวิตสารปัญญา รู้พระรตนัตยาธิคุณทั้งปวง อันนับเนื่องถึงพระนิพพานธรรม อันเป็นโลกุตตรอันประเสริฐ เมื่อรักษาพืชคือศรัทธาและปัญญา อันเป็นแก่นสารสุนทรภาพ ดังนี้ แม้จะหว่านลงในเนื้อนาบุญ ก็มีผลไพบูลย์จะนับจะประมาณมิได้ มีอุปไมยดุจชาวนารักษาข้าวกล้าไว้ให้เป็นแก่นสาร ฉะนั้น นักปราชญ์ผู้มีปรีชาญาณพึงรู้ว่า การนมัสการพระรัตนตรัยไว้ก่อนนั้น เป็นปุราณกะประเพณี เพื่อประโยชน์เป็นอันมากดังพรรณนามา ฉะนี้ ฯ

ปุจฉา  ก็เหตุไฉน ในเบื้องต้นได้กล่าวถึงเพียง นโม เท่านั้น ต่อมาจึงได้กล่าวถึงพระไตรสรณคมน์อีกเล่า ?

วิสัชชนา  เพราะว่า นโม เป็นเครื่องนมัสการพระพุทธเจ้าก็จริง แต่พระธรรมพระสงฆ์นั้นเล่า ก็เกี่ยวเนื่องถึงกัน เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมและนำสืบกันมา เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า และนมัสการพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จำเป็นอยู่เอง ที่จะเกี่ยเนื่องถึง พระธรรมและพระสงฆ์ด้วย จึงจะครบพระรัตนตรัย ฯ

ปุจฉา นโม นี้จะว่าเพียงจบเดียวไม่ได้หรือ ?

วิสัชชนา  ได้ แต่นักปราชญ์บุราณกาจารย์ ท่านกล่าวนมัสการ ๓ ครั้ง ก็เพื่อจะกระทำการนมัสการนั้นให้มั่นคงเข้าอย่าง ๑ และอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะนมัสการพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประเภท ๆ ละจบ ๆ ฯ

ปุจฉา ก็คำว่า สำหรับนมัสการพระพุทธเจ้าประเภทละจบ ๆ นั้น คือ นมัสการพระพุทธเจ้าประเภทใดบ้าง ?

วิสัชชนา  ที่ว่า นมัสการพระพุทธเจ้าประเภทละจบ ๆ นั้น คือ

จบต้น สำหรับนมัสการพระพุทธเจ้าประเภท สัทธาธิกะ

จบที่ ๒ สำหรับนมัสการพระพุทธเจ้าประเภท ปัญญาธิกะ

จบที่ ๓ สำหรับนมัสการพระพุทธเจ้าประเภท วิริยาธิกะ ฯ

ปุจฉา พระพุทธเจ้าประเภท สัทธาธิกะ ปัญญาธิกะ และวิริยาธิกะ นั้น ได้แก่พระพุทธเจ้าประเภทใดบ้าง และกำหนดนับกันอย่างไร จึงมีชื่อแตกต่างกันเช่นนั้น ขอจงอธิบายถึงประเภทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ นั้น โดยแจ่มแจ้ง ณ กาลบัดนี้เถิด ?

วิสัชชนา  พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ

            - อุคฆติตัญญู ผู้เป็น ปัญญาธิกโพธิสัตว์ ผู้ยิ่งด้วยพระปัญญานั้น กำหนดพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ๑ และ

            - พระวิปัจจิตัญญู ผู้เป็น สัทธาธิกะโพธิสัตว์ ผู้ยิ่งด้วยศรัทธา กำหนดพระบารมี ๘ อสงไขยแสนกัปป์ ๑ และ

            - เนยยะ ผู้เป็น วิริยาธิกะโพธิสัตว์ ผู้ยิ่งด้วยความเพียร กำหนดพระบารมี ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ นั้น ๑

ทั้ง ๓ ประเภทนี้ แต่ละองค์ ๆ เมื่อทรงสร้างพระบารมีมา กว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น นานกว่านานยิ่งนัก ข้อซึ่งกำหนดพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์นั้นก็ดี ๘ อสงไขยแสนกัปป์นั้นก็ดี ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์นั้นก็ดี กำหนดอย่างนี้ด้วยสามารถกำหนดพระบารมี ตั้งแต่ได้ปฐมลัทธยาเทศแรกพยากรณ์ ทำนายในสำนักพระพุทธเจ้าในก่อนนั้นมา ถ้าจะคณนากำหนดนับจำเดิมแต่นึกในพระทัยว่า จะตรัสเป็นพระสัพพัญญูพระพุทธเจ้า และกำหนดแต่กาลที่ออกพระวาจา ปรารถนาพุทธภูมิได้ และกำหนดกาลที่พร้อมทั้งกายแลวาจา นั้นมาก็ช้านาน จึงกำหนดเป็น ๓ อย่าง ๓ ประเภท และได้พบพระพุทธเจ้า ก็มากกว่ากันเป็นอย่าง ๆ เป็นชั้น ๆ กัน ฯ

  พระปัญญาธิกพุทธเจ้า

     สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปัญญาธิกะสัพพัญญูนั้น จินฺติตํ สตฺตอสงฺขยํ แต่ทรงพระดำริอยู่แต่ในพระหฤทัยว่า จะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ยังมิได้ออกพระโอษฐ์นั้น นับได้ ๗ อสงไขยกัปป์ นวอสงฺขยวาจกํ จำเดิมแต่ออกพระโอษฐ์ ได้บำเพ็ญการกุศลครั้งใด และได้ตั้งไว้ซึ่งวจีปณิธานความปรารถนาว่า จะให้ได้ตรัสเป็นองค์พระสัพพัญญูพุทธเจ้านั้น ก็ช้านานนักหนา คณนาได้ถึง ๙ อสงไขยกัปป์ กายวาจาจตุอสงฺขยํ จำเดิมแต่ได้ลัทธาเทศแล้ว และบำเพ็ญบารมีมากว่าจะได้ตรัสนั้น ก็นับได้ ๔ อสงไขยอีกแสนกัปป์ ใน ๗ อสงไขยแสนกัปป์ที่นึกอยู่แต่ในพระทัย ยังมิได้ออกพระโอษฐ์นั้น ได้พบพระพุทธเจ้า ๑ แสน ๒ หมื่น ๕ พัน พระองค์ ใน ๙ อสงไขย ที่ออกพระโอษฐ์ได้แล้วนั้น ได้พบพระพุทธเจ้า ๓ แสน ๙ หมื่น ๗ พันพระองค์ ใน ๔ อสงไขยเศษอีกแสนกัปป์ จำเดิมแต่ได้ลัทธยาแล้วนั้นมา กว่าจะได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้พบพระพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ ประมวลพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ กาลนั้นเข้าด้วยกันเป็นพระพุทธเจ้าถึง ๕ แสน ๒ หมื่น ๒ พัน ๒๗ พระองค์ บัณฑิตผู้มีปรีชาพึงสันนิษฐานเถิดว่า ข้อซึ่งกำหนดอสงไขยกัปป์ว่า ได้พบพระพุทธเจ้า ๕ แสน ๒ หมื่น ๒ พัน ๒๗ พระองค์นั้นเป็นสาธารณะทั่วไป ในพระปัญญาธิกพุทธเจ้าทั้งปวง ๆ เมื่อบำเพ็ญพระบารมีนั้นย่อมได้พบพระพุทธเจ้า ๕ แสน ๒ หมื่น ๒ พัน ๒๗ พระองค์ ทุก ๆ พระองค์ผู้เป็นพระปัญญาธิกสัมพุทธเจ้า ฯ

        จึงมีคำรับเข้ามาว่า อมฺหากํ หิ ภควา จริงอยู่ สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าของเรานี้ จำเดิมแต่พระองค์ทรงตั้งพระทัย บำเพ็ญพระสมติงสบารมีมาเป็นปัญญาธิกสัมพุทธเจ้า เมื่อแรกเริ่มตั้งปณิธานความปรารถนาพุทธภูมินั้น แต่ทรงดำริอยู่ในพระทัยอย่างเดียว ยังมิได้ออกพระวาจานั้น คณนานับได้เป็นเวลา ๗ อสงไขยกัปป์ จึงเปล่งอุทานวาจาปรารถนาพุทธภูมิได้ กำหนดนับแต่ออกพระวาจาปรารถนาพุทธภูมิได้แล้วนั้นมา ก็นานกำหนดนับได้ ๙ อสงไขยกัปป์ จึงปรารถนาพร้อมทั้ง กาย วาจา และใจได้ กำหนดแต่พระองค์ปรารถนาพร้อมด้วย กาย วาจา และใจ ครบไตรทวารได้นั้น ก็นานนับได้ถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ จึงได้ตรัสเป็นองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมบรมโลกุตตมาจารย์ ถ้าจะกำหนดนับรวบรวมกาลทั้ง ๓ คือ ๗ อสงไขย ๙ อสงไขย ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ทั้งสิ้นนั้นเข้าด้วยกัน จึงเป็น ๒๐ อสงไขย เศษแสนมหากัปป์ ฯ

         ก็และข้อซึ่งกำหนดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์นั้น กำหนดนับแต่แรกได้ลัทธยาเทศเป็นนิยตโพธิสัตว์ ที่จะได้ตรัสในกาลข้างหน้าได้ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ยั่งยืนมิได้คลาดเคลื่อนลักลั่นกัน ก็อันที่แท้นั้น ทรงสร้างพระบารมีถึง ๒๐ อสงไขยกัปป์ ตามธรรมดาพระปัญญาธิกสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มา ก็และข้อที่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ แรกเริ่มบำเพ็ญพระบารมี นึกปรารถนาพุทธภูมิแต่ในพระทัย ยังมิได้ออกพระโอษฐ์ ๗ อสงไขยแสนกัปป์นั้น บัณฑิตผู้มีปรีชา พึงกำหนดรู้ด้วยพาหิรวัตถุนิทาน นอกแต่กาลที่ปรารถนาพุทธภูมินั้นอีก ปรากฏตามที่ท่านพระคันถรจนาจารย์ได้รจนาไว้ต่อไปนี้.

 

เรื่อง บุรุษผู้เลี้ยงมารดา

           ยถา หิ เอกํ อสงฺขยํ อติกฺกนฺตํ ณ กาลใดเมื่อล่วงอสงไขยกัปป์อันหนึ่งไปแล้ว ในระหว่างกาลนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าแม้พระองค์เดียวก็มิได้มีมาตรัสในโลกเลย คราวนั้น จึงเทพยดาทั้งหลายที่เป็นพุทธศาสนิกบริษัท ได้ตรัสรู้มรรคผลธรรมวิเศษอันเป็นส่วนภูมิเบื้องต่ำ คือ พระโสดา พระสกิทา ซึ่งมีมาแต่ในศาสนาพระพุทธเจ้าก่อน ๆ นั้น ต่างองค์ต่างพยายามทำความเพียรเพื่อให้ได้มรรคผล คือ พระอนาคาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสมหาพรหม ทำบริกรรมภาวนาได้สำเร็จพระอรหัตตผลแล้ว ก็นิพพานล่วงไป ๆ สมัยนั้น มีสุทธาวาสมหาพรหมพวกหลัง ๆ เห็นหมู่มหาพรหมที่ถึงมรรคผลนั้นมีจำนวนน้อยเข้า แล้วก็พิจารณาไปในธาตุเห็นว่า กาลที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสนั่นแหละมีโดยมาก ก็บังเกิดความสังเวชสลดจิตคิดว่า กาลนี้หามีพระพุทธเจ้ามาตรัสไม่เลย ก็ใครหนอ จะมีวิริยภาพพยายามสามารถจะบำเพ็ญพุทธการกธรรมได้ จะมีอยู่บ้างแลหรือ ? ก็เมื่อสุทธาวาสมหาพรหมเล็งแลไปในแหล่งโลกธาตุนั้น ถ้าเห็นว่าผู้ใดอาจสามารถในการที่จะบำเพ็ญพุทธการกธรรมได้ ก็เข้าดลใจผู้นั้นให้เกิดความรักใคร่ในทางที่จะปรารถนาพุทธภูมิ ในกาลนั้น สุทธาวาสมหาพรหมองค์หนึ่ง มีอายุยืนได้ ๑ หมื่น ๒ พันกัปป์ ทราบว่า พระพุทธเจ้ามิได้มีมาตรัสในโลกเลย จึงแลดูไปในหมื่นจักรวาล ก็ได้ทัศนาการเห็นพระมหาบุรุษเจ้า ครั้งนั้น พระองค์ได้บังเกิดในตระกูล ทลิทก ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในแว่นแคว้น คันธารราชนคร อุตสาหะปฏิบัติอุปัฏฐากมารดาของตนอยู่เป็นนิตย์ เอกทิวสํ วันหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์เจ้านำมาซึ่งภาระอันหนักเหลือกำลังจากป่า เหนื่อยนักหนา ให้กระหายน้ำเป็นกำลัง จึงแวะเข้าอาศัยหยุดพักริมฝั่งคงคา ใต้ต้นมหานิโครธไทรใหญ่ใกล้ท่าสำเภาจอด จึงมาคิดแต่ในใจว่า กาลนี้ เรายังกำลังรุ่นหนุ่มบริบูรณ์ด้วยกำลังกายอยู่ จึงองอาจนำภาระอันหนักถึงเพียงนี้ได้ ก็เมื่อกายของเราแก่ชราลง นานไปกำลังก็น้อยถอยลงทุกที ๆ หรือกาลเมื่อเจ็บไข้ได้พยาธิก็ดี จะประกอบการงานอันหนักเช่นนี้ได้ละหรือ ยนฺนูน อย่ากระนั้นเลยเราจะไปยังเมืองสุวรรณภูมิ เพื่อแสวงหาทองกับด้วยพาณิชสำเภาเหล่านี้เถิด ครั้นได้ทองมาแล้ว จะได้ขายเลี้ยงมารดาของเราโดยสะดวก คิดฉะนี้แล้ว ก็ไปหาพาณิชนายสำเภาผู้ใหญ่ พูดจาขอโดยสารเภตราไปกับพวกพาณิช ครั้นขอโดยสารได้แล้ว เมื่อวันที่สำเภาจะออกจากท่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็พามารดาไปลงนาวาด้วย โดยที่มารดาเป็นคนอนาถาหามีใครจะอุปัฏฐากไม่ ครั้นเภตราเคลื่อนออกจากท่า แล่นไปในมหาสมุทรได้ ๗ วัน สำเภานั้นก็ต้องลมพายุกล้าใหญ่ ก็อัปปางลงในท่านกลางมหาสมุทรอันกว้างขวาง พวกพาณิชทั้งหลายก็พาถึงซึ่งความตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็โลดโผนโจนลงจากเภตรา เพื่อจะรักษาชีวิตของตน ครั้นแล้วก็ระลึกถึงมารดาขึ้นมาได้ ก็ว่ายกลับมารับมารดาอันยังโยนโหนห้อยตัวเหนือท่อนไม้ ยังมารดาให้นั่งเหนือคอแห่งตน แล้วก็แบกพาว่ายข้ามมหาสมุทรไป สู้อดกลั้นทนทานกำลังคลื่น ฝ่าฝืนว่ายไปมิได้หยุดหย่อน ด้วยทรงพระอุตสาหะมากยิ่งนัก ฯ

           ณ กาลครั้งนั้น ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมในชั้น อกนิฏฐภพ เมื่อแลเล็งเพ่งดูในหมู่สัตว์ เพื่อจะเลือกคัดจัดสรรแสวงหาผู้มีหทัยสามารถ เพื่อจะกระทำพุทธการกธรรมได้ จึงเห็นองค์พระบรมโพธิสัตว์อันทรงบริจาคชีวิต เพื่ออุทิศประโยชน์แก่มารดาของตนอยู่ ดังนั้น จึงดำริว่า บุรุษผู้นี้เป็นมหาบุรุษได้โดยแท้ จึงไม่เอื้อเฟื้อต่อมหาสมุทรอันสุดซึ้งกว้างใหญ่เช่นนี้ สู้สละชีวิตของตนเพื่อจะรื้อขนมารดาขึ้นให้ถึงฝั่ง เอวรูโป ทฬฺหวิริโย ก็บุคคลผู้มีความเพียรอันมั่งคั่งเห็นปานดังนี้ ควรนับว่าเป็นผู้สามารถในพุทธการกธรรม เมื่อท้าวมหาพรหมรำพึงฉะนี้แล้ว ก็ดลจิตให้พระบรมโพธิสัตว์ให้นึกปณิธานปรารถนาพุทธภูมิ ด้วยเดชอำนาจแห่งน้ำพระทัยที่ท้าวมหาพรหมหากบันดาลให้นึกนั้น พระมหาบุรุษก็บังเกิดปริวิตกกระนี้ว่า ถ้าเราพิลาลัยตายลงในท้องมหาสมุทร เพราะเหตุเอื้อเฟื้อในมารดาฉะนี้ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาล ครั้นทรงนึกปณิธานในพระทัยฉะนี้แล้ว ก็อุตสาหะแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรมา ด้วยกำลังอานุภาพอันท้าวมหาพรหมหากอนุเคราะห์ ๒-๓วัน ก็ถึงฝั่งมหาสมุทรแห่งหนึ่ง จึงพามารดาขึ้นฝั่งได้ เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีวิตในบ้านแห่งหนึ่งตามประสายากจน อุตสาหะบำรุงเลี้ยงมารดาจนตราบเท่าสิ้นชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในพรหมโลก ส่วนมารดาพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ไปตามยถากรรมแห่งตน ฯ

จบเรื่องบุรุษผู้เลี้ยงมารดา

           ปฐมปณิธานความปรารถนา บัณฑิตพึงสันนิษฐานทราบเถิดว่า วัตถุนิทานก็พรรณนามาฉะนี้ เป็นปฐมปณิธานแรกนึกปรารถนาในน้ำพระทัย ยังมิได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเลย เพราะกาลเป็นระหว่างว่างพระพุทธศาสนา แต่หากนับเข้าภายในแห่ง ๗ อสงไขยกัปป์ คือ นันทอสงไขย ๑ สุนันทอสงไขย ๑ ปฐวีอสงไขย ๑ มัณฑุอสงไขย ๑ ธรณีอสงไขย ๑ สาครอสงไขย ๑ มุณฑอสงไขย ๑ เป็น ๗ อสงไขยกัปป์ด้วยกัน ฯ

           ก็ข้อที่กำหนดว่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรานึกปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งปณิธานความปราถนาแต่ในพระทัย ยังมิได้ออกวาจา และได้นึกปรารถนาในสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ภายใน ๗ อสงไขยกัปป์นั้น คือ กำหนดแต่ศาสนาสมเด็จพระพรหมเทวาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเดิมมา บัณฑิตผู้มีปรีชาพึงกำหนดด้วยวัตถุนิทาน ดังต่อไปนี้.

เรื่อง พระเจ้าอติเทวราช

           อตีเต กิร ดังได้เสวนาสดับมา ในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วช้านาน ในนันทอสงไขยกัปป์ที่หนึ่งนั้น มีสารมัณฑกัปป์อันหนึ่งบังเกิดขึ้น ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า อติเทวราช เสวยมไหสุริยสมบัติอยู่ใน กรัณฑกนคร ตทา อริยเมตฺเตยฺโย ครั้งนั้น องค์พระบรมโพธิสัตว์อริยเมตไตยเจ้า ได้บังเกิดเป็น สิริคุตต มหาอำมาตย์ เป็นผู้สำหรับพร่ำสอนให้องค์พระบรมโพธิสัตว์ของเราทรงอรรถธรรม ตทา พฺรหฺมเทวา นาม ครั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พรหมเทพ ได้มาตรัสในโลกในสารมัณฑกัปป์ อันเป็นภายในนันทอสงไขยกัปป์ ครั้นพระพุทธองค์ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว และเสด็จมาสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรัณฑกนคร เพื่อจะทรงแสดงปฐมเทศนา พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ณ กาลครั้งนั้น พระฉัพพัณณรังษี ๖ ประการ อันแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ประชุมลงครอบงำทั่วทั้งสากลนคร ปรากฏดุจพระสุริยมณฑลเสด็จอุทัยขึ้นมาได้พันดวง ฉะนั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอติเทวราชมหากษัตริย์ เสด็จทรงนั่งอยู่ ณ ภายใต้พื้นเบื้องบนพระมหาปราสาท พร้อมด้วยสิริคุตตอำมาตย์ องค์พระเมตไตยบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่วนสมเด็จพระเจ้าอติเทวราชหน่อพุทธางกูร ทอดพระเนตรช่อฉัพพัณณรังษี อันมีมาเฉพาะพระนครของพระองค์ ก็มิทันจะอาวัชชนาการพิจารณาให้แน่ตระหนัก ก็สะดุ้งตกประทัย ปรารภเพื่อจะทรุดพระองค์ลงจากรัตนบัลลังก์มหาสิริอาสน์ ส่วนสิริคุตตอำมาตย์ก็เหลือบแลไปโดยช่องพระแกล แลเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เข้าใจชัด จึงทูลเตือนสติให้สมเด็จบรมกษัตริย์มิให้สะดุ้งตกพระทัย แล้วก็ทูลพรรณนาไปในห้องแห่งพระพุทธคุณ โดยเอนกปริยายมีนัยเป็นต้นว่า อิติปิ โส ภควา เป็นอาทิ ให้พระบรมกษัตริย์เหือดหายสะดุ้งตกพระทัยแล้ว ก็พรรณนาอานิสงส์ที่เด็จไปสู่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมกษัตริย์ก็ทรงปสาทโสมนัส มีพระกมลหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยเบ็ญจพรรณปีติ ก็มิอาจดำรงสติกำหนดช่องพระทวารบานพระแกลได้ มีพระพักตร์มือมนไปด้วยกำลังปีติอันกล้า ก็ขะมำพระองค์ตกลงจากบานพระทวาร ด้วยอำนาจผลแห่งพระพลวสัทธาอันกล้าหาญ ดอกอุบลมีประมาณเท่ากงเกวียน ก็ผุดขึ้นมารองรับพระองค์พระกษัตริย์ไว้ ครั้นดำรงพระองค์ทรงพระสติได้ ก็เสด็จไปยังสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถวายนมัสการ กระทำสักการบูชาด้วยบุปผาวรามิสเป็นอันมาก แล้วก็ซบพระเศียรเกล้าลงแทบบงกชบาทมูลแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ตั้งพระมโนปณิธานความปรารถนาพระโพธิญาณว่า พระพุทธองค์เจ้าได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ รื้อขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นวังวนวัฏฏสงสารสาครได้ ฉันใด ขอข้าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสยัมภูญาณ รื้อขนสัตว์ขึ้นจากวัฏฏสงสารได้ ฉันนั้นเถิด เมื่อสมเด็จพระอติเทวราชมหากษัตริย์ ได้ทรงกระทำพุทธภูมิปณิธานความปรารถนาในพระทัย ฉะนี้แล้ว ก็ถวายนมัสการลากลับมาสู่พระราชนิเวศน์ ตั้งแต่นั้นมา องค์พระมหากษัตริย์เจ้าก็ทรงอุตสาหะ บำเพ็ญพระราชกุศล มีพระกมลมุ่งต่อพุทธภูมิปณิธานเป็นนิจนิรันดร์ ตราบเท่าสิ้นพระชนมาสันสวรรคตล่วงไป ก็ได้ไปบังเกิดในสุราลัยสวรรค์ ฯ

จบเรื่อง พระเจ้าอติเทวราช

           ตสฺมึ นนฺทอสงขยํ กาลเมื่อนันทอสงไขยนั้น มีสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นได้มาตรัสอีก ๕ พัน พระองค์ พระบรมโพธิสัตว์ของเรานั้นก็ได้มาบังเกิด ประสบพบพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พันพระองค์นั้น และได้กระทำพุทธภูมิปณิธานในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นทุก ๆ พระองค์มา เมื่อนันทอสงไขยกัปป์นั้นล่วงไปแล้ว สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ได้บำเพ็ญพุทธาภินิหารพุทธการกธรรม แล้วได้ทำพุทธภูมิมโนปณิธานนึกในพระทัย ในสำนักพระพุทธเจ้าทั้ง ๑ หมื่น ๒ พัน ๕ ร้อยพระองค์นั้นทุก ๆ พระองค์มา จำเดิมแต่ ๗ อสงไขยกัปป์ล่วงไปแล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราทั้งหลาย ก็ออกอุทานวาจาปรารถนาพุทธภูมิได้ จำเดิมแต่ออกพระวาจาปรารถนาได้นั้นมาก็ช้านาน นับได้ ๙ อสงไขยกัปป์ ก็และใน ๙ อสงไขยกัปป์นั้นกำหนดโดยชื่อ คือ สัพพภัทธาอสงไขยเป็นกัปป์ที่ ๑ ที่คำรบ ๒ ชื่อว่า สัพพผุลละอสงไขยกัปป์ คำรบ ๓ ชื่อ สัพพรตนอสงไขยกัปป์ ที่ ๔ ชื่อ อสุภักขันธอสงไขยกัปป์ ที่ ๕ชื่อ มานิภัทธอสงไขยกัปป์ ที่ ๖ ชื่อว่า ปทุมอสงไขยกัปป์ ที่ ๗ ชื่อว่า อสุภอสงไขยกัปป์ ที่ ๘ ชื่อ ขันธตมอสงไขยกัปป์ ที่ ๙ ชื่อ สัพพทานอสงไขยกัปป์ ก็และใน ๙ อสงไขยกัปป์นี้ เป็นที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ได้วจีปณิธานออกพระวาจาปรารถนาพุทธภูมิได้ ฯ

 

เรื่อง พระเจ้าสาคลราชบรมจักรพรรดิ์

           ใจความว่า สัพพภัททกอสงไขยกัปป์ที่ต้นนั้น มีสารมัณฑ์อันหนึ่งเกิดขึ้น ทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๔ พระองค์ ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา จุติจากพรหมโลกลงมาบังเกิดเป็นบรมจักรพรรดิราช เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในกรุงธัญญวดีมหานคร ทรงพระนามว่า พระเจ้าสาคลราชบรมจักรพรรดิ์ มีพระราชอาณาจักรแผ่ไปในทวีปทั้ง ๔ เป็นที่สุดแดน ฯ 

        ตทา โปราณกสฺสปมุนี ณ กาลครั้งนั้น พระโปราณกัสสปมุนีตถาคตพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพุทการกธรรม กำหนดพระบารมี ๑๖ อสงไขยเศษแสนมหากัปป์นั้น ในปัจฉิมภวิกภพ พระชาติที่สุด พระองค์ได้มาบังเกิดในขัตติยตระกูล เสวยศิริสมบัติอยู่ในฆราวาสสิ้น ๕ พันพระวัสสาแล้ว ทรงเห็นนิมิตร ๕ ประการ ก็เสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์ บรรพชาได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จึงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สำหรับพุทธประเพณีสืบมา ด้วยกำลังพระเดมหานุภาพพระธรรมจักรของพระองค์หนักยิ่งนัก ประหนึ่งว่าพื้นพสุธาดลจะทรงน้ำหนักแห่งพระคุณนั้นไว้บมิได้ จึงเกิดพิกลกัมปนาทหวาดหวั่น เป็นมหัศจรรย์ทั่วโลกธาตุ จึงบันดาลให้จักรแก้วของบรมจักรพรรดิราชเจ้า องค์พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรานี้ ให้เคลื่อนตกจากที่ตั้ง เป็นนิมิตเหตุเห็นประจักษ์ตา จกฺกปาลกา ตํ ทิสฺวา ฝ่ายราชบุรุษผู้รับอภิบาลรักษาจักรแก้ว ได้เห็นเหตุดังนั้นแล้วก็สะดุ้งตกใจ จึงเข้าไปกราบทูลแจ้งประพฤติเหตุแก่สมเด็จพระบรมจักรพรรดราชเจ้า ๆ ก็สะดุ้งตกพระทัย ตรัสถามมหาปุโรหิตาจารย์ผู้รู้พยากรณ์ทำนาย โหราราชครูทั้งหลายก็ถวายพยากรณ์ว่า เหตุที่กระทำให้จักรแก้วสะท้านสะเทื้อนตกจากที่นั้นมี ๒ ประการ คือเป็นนิมิตแห่งอันตรายต่อพระชนมายุ ของบรมจักรพรรดิราชเจ้านั้นประการ ๑ เป็นนิมิตเหตุที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ได้มาอุบัติในโลกนี้ประการ ๑ ก็และเหตุซึ่งมีความบันดาลบังเกิดกัมปนาท ให้จักรรัตน์พลัดตกจากที่เช่นนี้  จะได้ปรากฏเหตุแห่งชีวิตอันตรายของบรมบพิตรนั้นหามิได้ เป็นนิมิตเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนามชื่อว่า ศรีศากยะมุนีได้ตรัสในโลก พระองค์นั้นมีพระเกียรติคุณสมบัตินิมิตตกนามว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นอาทินั้น แผ่ซ่านไปทั่วโลกธาตุ บัดนี้พระองค์เสด็จมาอาศัยกรุงธัญญวดีนี้แล้ว และเสด็จประทับอยู่ในมิคจีวรนุยโยทยาน ฯ

           ตํ สุตฺวา สมเด็จบรมหน่อพิชิตมารมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์จักรพรรดิราชเจ้าได้ทรงสดับ ก็ทรงปสาทะเลื่อมใสยิ่งนัก พระองค์ใคร่จะเสด็จไปถวายนมัสการกระทำสักการะบูชา เพื่อกุศลเป็นส่วนทัสสนานุตตริยะ จึงดำรัสให้จัดเครื่องสักการะบูชาวรามิส มีประการต่าง ๆ เสร็จแล้วยุรยาตรพร้อมด้วยเสวกมาตย์ราชบริษัท มีปริมณฑลได้ ๑๒ โยชน์โดยคณนา ทรงพาบริษัทเสด็จเข้าไปยังภายในมิคจีรวนุยยาน ได้ทัศนาการเห็นสมเด็จพระนราสภสัมพุทธเจ้า อันทรงสถิตอยู่เหนือพระบวรรัตนบัลลังก์พุทธาอาสน์ งามประดับด้วยพระทวัตติงสมหาปุริสลักษณะ แลทรงระยับไปด้วยพระอสีตยานุพยัญชนะงามโอภาส ทรงพระศิริวรรณดุจดวงพระจันทร์ ณ วันเพ็ญปุณณมี รุ่งเรืองไปด้วยพระฉัพพีธพรรณรังสี พุ่งออกจากพระบวรสรีรกายทั้งปวง ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ให้มีพระหฤทัยพิศวง ลดพระองค์ในช่องพระรัมีแล้ว ก็ถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พลางทรงซบพระเศียรลงแทบพระบวรบาทบงกช แห่งพระพุทธองค์เจ้าแล้ว ก็ทรงสรรเสริญพระพุทธสรีระอันงามหาที่จะอุปมามิได้ว่า สุทิฏฺฐํ วต เม ทิฏฺฐํ ความเห็นแห่งข้าพองค์ครั้งนี้ ควรจะนับว่าเป็นความเห็นอย่างดีโดยพิเศษได้ อนึ่ง ความระบายหายใจกลับแห่งข้าพระองค์คราวนี้ ก็ควรนับว่าเป็นลมระบายอันแคล่วคล่องไม่ข้องขัด จัดเป็นอย่างดีโดยพิเศษได้ อนึ่ง ความเป็นไปแห่งชีวิตแห่งข้าพองค์คราวนี้ ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นชีวิตดีมีผล อนึ่ง ข้าพระองค์ได้ยลพระตถาคตพุทธเจ้าพระองค์ใด ข้าพระองค์ได้ถวายนมัสการด้วยไตรประณามแล้ว แด่พระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ครั้นพระองค์ทรงสรรเสริญฉะนี้แล้ว ก็มีพระทัยปรีดาปราโมทย์อันกล้าสาหัตมาท่วมทั้งกายและจิต ทรงพินิจนึกในพระทัยว่า เรามาได้อุตตมสมบัติปรากฏเยี่ยมเพียงเสมอทิพย์สมบัติฉะนี้ ก็เพราะความที่เรามีความอุตสาหะ สั่งสมกุศลราศีสมภาร มีทานอันได้บริจาคไว้เป็นอันมากในปุริมอัตตภาพ จึงอาจอำนวยผลเห็นปานนี้ เป็นส่วนหนึ่ง บัดนี้สมเด็จพระศรีศากยมุนีบรมโลกนาถเจ้า ได้ปลดเปลื้องพระองค์จากสงสารภพได้ด้วย พระอาการทุกอิริยาบถของพระองค์ อย่างไรยืดไปในกาลเบื้องหน้าโน้น แม้เราก็จักปลดเปลื้องให้หลุดพ้นจากสงสารทุกข์แล้ว จักนำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นได้ด้วย โดยอาการเช่นกับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ฯ

           เมื่อสมเด็จบรมจอมจักรพรรดิราชโพธิสัตว์เจ้า พระองค์ทรงสรรเสริญพระพุทธสรีรกายของพระพุทธองค์เจ้าด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ถวายนมัสการลาลุกจากอาสนะเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร แล้วจึงทรงดำรัสให้ราชบุรุษทั้งหลายขนเอาแก่นจันทร์ อันบริบูรณ์ไปด้วยสีและกลิ่นอันดีเลิศมา แล้วสั่งให้นายช่างสร้างซึ่งปรางคปราสาทและพระคันธกุฎีและที่เร้น พร้อมทั้งสถานที่จงกรมและโรงไฟโรงฉัน แต่ล้วนควรค่าสิ่งละแสน ๆ ล้วนแล้วไปด้วยแก่นจันทร์ ครั้นแล้วก็สั่งให้นายช่างระดมกันทำมหาปรางคปราสาทอันประเสริฐ ล้วนแล้วไปด้วยแก่นจันทร์แดงทั้งสิ้น สามารถจะนำมาซึ่งความยินดี สำหรับให้เป็นพระคันธกุฎีที่สถิตโดยสมควรแก่ฤดูทั้ง ๓ ครั้นสำเร็จแล้วก็มอบเวนถวายเป็นพุทธาธิวาสวิหาร ถวายมหาทานเป็นอันมากแล้ว จึงทรงทำวจีปณิธานความปราถนาว่า "อิมานิ ปุญญกมฺเมน ด้วยเดชอานุภาพบุญกรรมนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ศากยะมุนีโคดมบรมครู เสมอด้วยพระนามของพระพุทธองค์เจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า" สมเด็จพระปุราณมุนีโลกนาถ ก็ทรงแสดงซึ่งพิธีทางพุทธการกธรรมและอัฏฐสโมธาน ให้บรมจักรพรรดิ์โพธิสัตว์เจ้าทรงทราบถ้วนถี่ทุก ๆ ประการ แล้วก็ตรัสเป็นอนิยตพยากรณ์ว่า "ถ้าพระองค์อาจจะบำเพ็ญพระสมติงสบารมี และปัญจมหาทานบริจาคได้แล้ว จึงจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้" ฯ 

           ตํ สุตฺวา โพธิสตฺโต สมเด็จพระพุทธพงศ์องค์บรมโพธิสัตว์ ได้ทรงสดับอนิยตพยากรณ์ดังนั้น ก็มีพระกมลหฤทัยเต็มไปด้วยโสมนัสยินดี ประหนึ่งว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าปานกัน จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ก็ทรงทำบุญบริจาคทานเนือง ๆ เรี่ยรายจักรวัติราชสมบัติกับแก้วทั้ง ๗ ประการ ในบวรพุทธศาสนาแล้ว ก็ออกทรงบรรพชาอุปสมบทบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ทรงศึกษาพิธีทางคันถธุระ ได้ชำนิชำนาญในพระไตรปิฎกแล้ว จึงบำเพ็ญเพียรทางสมถกรรมฐานภาวนา ทรงเจริญฌานและอภิญญามิได้เสื่อม ครั้นสิ้นพระชนม์มายุแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฯ

จบเรื่อง พระเจ้าสาคลราชบรมจักรพรรดิ์

           ความดังนี้ ท่านผู้เป็นบัณฑิตชาติพึงสันนิษฐานเถิดว่า เป็นเนื้อความแสดงด้วยปฐมวจีปณิธานแรกออกวาจา แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราทั้งหลาย ในสำนักแห่งพระปุราณมุนี อันได้มาตรัสรู้ในต้นสัพพภัททกอสงไขยกัปป์นั้น ก็และในสัพพภัททกอสงไขยกัปป์ที่แรกนั้น มีพระพุทธเจ้าถึง ๕ หมื่นพระองค์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา พระองค์ก็จุติลงมาจากพรหมโลก ได้มาบังเกิดประสบพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๕ หมื่นนพระองค์ ได้ทรงทำกฤษดาภินิหารสมภารบารมีพุทธการกธรรม และได้ทรงกระทำวจีปณิธานในสำนักพระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุก ๆ พระองค์มา ครั้นสัพพภัททกอสงไขยกัปป์นั้นล่วงไปแล้ว ถึงซึ่งสัพพถุลอสงไขยกัปป์ที่คำรบ ๒ มีพระพุทธเจ้าถึง ๖ หมื่นพระองค์ ครั้นถึงสัพพรตนอสงไขยกัปป์ที่ ๓ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๗ หมื่นพระองค์ ครั้นอุสภักขันธกอสงไขยกัปป์ที่ คำรบ ๔ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๘ หมื่นพระองค์ ครั้นถึงมานิภัททกอสงไขยกัปป์ที่คำรบ ๕ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๙ หมื่นพระองค์ ครั้นถึงปทุมอสงไขยกัปป์คำรบที่ ๖ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๒ หมื่นพระองค์ ครั้นถึงอุภสอสงไขยกัปป์ที่คำรบ ๗ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๑ หมื่น พระองค์ ครั้นถึงขันธตมอสงไขยกัปป์ที่ ๘ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ พันพระองค์ ครั้นถึงสัพพผุลลอสงไขยกัปป์ที่ ๙ มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๒ พันพระองค์

         

      สิริรวมพระพุทธเจ้าทั้ง ๙ อสงไขยกัปป์ นับแต่สัพพภัททกอสงไขยกัปป์นั้นมา จนถึงสัพพผุลลอสงไขยกัปป์ที่ ๙ เป็นพระพุทธเจ้า ๓ แสน ๘ หมื่น ๗ พันพระองค์ ก็และในระหว่างกาลทั้ง ๙ อสงไขยกัปป์นี้ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรานี้ ก็จะได้ประสบพบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้นำวจีปณิธานออกพระวาจาปรารถนาพุทธภูมิโพธิญาณ ในสำนักพระพุทธเจ้า ๓ แสน ๘ หมื่น ๗ พันพระองค์นั้นทุก ๆ พระองค์มา นับแต่นึกในพระทัยได้ ๗ อสงไขยกัปป์ และออกวาจาได้ ๙ อสงไขยกัปป์ นับรวมเข้าด้วยกันเป็น ๑๖ อสงไขยกัปป์ ครั้นล่วงได้ ๑๖ อสงไขยกัปป์ไปแล้ว และย่างเข้าใน ๔ อสงไขยแสนกัปป์นั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ได้ลัทธยาเทศพยากรณ์ทำนายในสำนักพระพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ มีพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น อันได้มาตรัสใน ๔ อสงไขยแสนกัปป์นั้น ฯ

 

เรื่อง สุเมธดาบส

           เป็นใจความว่า เมื่อ ๑๖ อสงไขยกัปป์ล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดอสงไขยกัปป์ทั้ง ๔ ขึ้น โดยชื่อ คือ เสละอสงไขย ๑ โอภาสอสงไขย ๑ ชยอสงไขย ๑ รุจิอสงไขย ๑ เป็น ๔ อสงไขยด้วยกัน ก็ในอสงไขยกัปป์อันเป็นเบื้องต้น ชื่อ เสละอสงไขยนั้น มีสาระมัณฑกัปป์อันหนึ่งบังเกิดขึ้น ทรงพระพุทธเจ้าได้ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกร ๑ พระเมธังกร ๑ พระสรณังกร ๑ พระทีปังกร ๑ บรรดาพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์นั้น พระพุทธเจ้า ๑ พระองค์ คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร และพระสรณังกร ซึ่งได้ตรัสก่อนนั้น ยังหาได้ทรงพยากรณ์ทำนายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราก่อนไม่ เป็นแต่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้เกิดประสบพบพระองค์ และได้ทรงทำอธิการาภินิหาร ในสำนักพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์เท่านั้น ต่อเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำรบ ๔ ซึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จพระทีปังกรได้มาตรัสในโลก พระบรมโพธิสัตว์ของเราได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีทรัพย์นับ ๘๐ โกฏิเป็นประมาณ อยู่ในอมรวดีนคร มีนามกรชื่อว่า สุเมธมาณพ เบื่อหน่ายจากฆราวาสวิสัยออกบรรพชาเป็นดาบส เจริญพรตพรหมวิหารธรรม บำเพ็ญฌานและอภิญญาให้ปรากฏบังเกิดได้แล้ว ก็ยับยั้งด้วยฌานสมาบัติ ณ ประเทศป่าหิมพานต์ ณ กาลวันหนึ่ง มหาชนชวนกันอาราธนาสมเด็จพระทีปังกรบรมศาสดาเข้ามาแต่ปัจจันตประเทศ และชวนกันแผ้วถางชำระมรรคา เพื่อจะให้เป็นที่เสด็จแห่งสมเด็จพระพุทธองค์ เมื่อพระดาบสบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น เที่ยวจาริกไปในภาลัยประเทศเวหา ได้ทัศนาการเห็นมหาชนชวนกันแผ้วถางมรรคา ก็เสด็จลงจากนภากาศถามซึ่งประพฤติเหตุ แจ้งความว่าสมเด็จพระบรมโลกเชฏฐพิชิตมาร ได้บังเกิดในโลกแล้ว และจะเสด็จเข้าสู่พระนคร ก็มีปีติมีพรรณ ๕ ประการเต็มตื้นในดวงพระกมลหฤทัย ด้วยอำนาจแห่งศรัทธาอันสัมประยุตต์ ด้วยโสมนัสญาณ จึงเข้ารับชำระมรรคา เพื่อปรารถนาจะใคร่ให้เป็นพุทธบูชาบ้าง มหาชนเห็นพระดาบสนั้นมีอานุภาพเดชมาก จึงแบ่งส่วนหนทางที่ยากลำบากด้วยเปือกตม อันจะต้องถมทำให้เสมอกันขึ้นนั้น ให้แก่พระบรมโพธิสัตว์ พระบรมโพธิสัตว์ก็มีพระอุสสาหะตั้งใจประกอบการ ด้วยดำริระลึกถึงพระพุทธนามว่า "พุทโธ" นั้นเป็นนิตย์ เปลื้องหนังนิสีทนะออก ทำเป็นถุงกระทอห่อหามขนซึ่งมูลดิน มาถมในท้องที่ ๆ ลาดลุ่มเป็นเลนเหลวอยู่นั้น แต่ยังมิทันตลอด เหลืออยู่ยาวประมาณพอจุชั่วตัวบุรุษ ก็พอเวลาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกร แวดล้อมไปด้วยหมู่พระขีณาสวสงฆ์ ประมาณ ๔ แสน ใกล้จะมาถึง พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงทรงกระทำอธิการาภินิหาร อธิษฐานชีวิตอุทิศถวายแด่สมเด็จพระพุทธองค์ ปลดเปลื้องชะฎาสยายพระเกศ ปูลาดผ้าเปลือกไม้กับทั้งหนังนิสีทนะ ลง ณ เบื้องบนเปือกตม แล้วก็ทอดพระกายลงคว่ำหน้าลงสู่ถนนที่ขาดลุ่มเป็นเลนอันถมยังไม่เสร็จนั้น ตั้งพระทัยอาราธนาว่า ขอพระพุทธองค์กับทั้งพระสงฆ์พุทธบริวารประมาณ ๔ แสน จงเสด็จทรงย่างพระบาท บทจรเหยียบย่ำไปบนกายของข้าพองค์เถิด อย่าได้ลีลาสเลียบลุยเลนอันลื่นเลย ทีปงฺกโร โลกวิทู ครั้งนั้น สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นเสด็จมาถึง จึงทรงสถิต ณ เบื้องบนศีรษะมณฑลแห่งพระดาบส แล้วมีพระพุทธพจน์บัณฑูรตรัส ณ ท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ ว่า ท่านทั้งหลาย จงแลดูสุเมธชฏิลดาบสผู้นี้ ใช่จะเป็นสามัญสัตว์พอดีพอร้ายหามิได้ นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า จะได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นามว่าศรีศากยมุนีโคดมบรมครู ในที่สุด ๔ อสงไขยเศษแสนกัปป์ นับแต่พระศาสนาพระตถาคตนี้ไป ครั้นพระพุทธองค์ตรัสพยากรณ์ทำนายพระดาบสเจ้าฉะนี้แล้ว ก็เสด็จเหยียบหลีกเลยไปจากสถานที่อันนั้น ฯ

           อิทํ สุตฺวาน วจนํ ครั้นนั้นบรรดาฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้สดับพระพุทธพยากรณืทำนายพระดาบสเจ้าฉะนี้ ต่างคนก็ต่างยิ่งยินดี ถวายเสียงสาธุการ ประณมหัตถ์อภิวันทิยประณามน้อมพระบรมโพธิสัตว์เจ้า แล้วก็พากันแวดล้อมเชยชมพระโพธิสมภารของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าอยู่ ครั้นสมเด็จพระบรมสัพพัญญูเสด็จไปแล้ว พระสุเมธดาบสก็อุฏฐาการลุกขึ้นจากที่ มีพระกายินทรีย์อันเป็นสุข เพราะมีความปราโมทย์หรรษา จึงนั่งตั้งบัลลังก์คำนึงถึงพระบารมีของพระองค์ ครั้นแล้วก็เสด็จทรงไปยับยั้งอยู่ ณ ป่าหิมพานต์ ทำฌานและอภิญญามิให้เสื่อม ครั้นสิ้นชีวิตก็ไปบังเกิดในพรหมโลกพิภพ ฯ

จบเรื่อง สุเมธดาบส

ลัทธพยาเทศ พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ

           อันนี้ว่าด้วยปฐมลัทธพยาเทศแรกพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ได้พระพุทธพยากรณ์ทำนายในสำนักพระพุทธทีปังกรทศพลเป็นต้น เป็นเดิมมา เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้พยากรณ์ทำนายในสำนักพระทีปังกรสัมพุทธเจ้า เมื่อครังบังเกิดเป็นสุเมธดาบส เป็นเบื้องต้น ครั้นสิ้นอสงไขยกัปป์นั้นแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา พรสะองค์ก็ได้ลัทธยาเทศทำนายในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ อีก ๒๓ พระองค์ คือ พระโกณฑัญญะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ ๑ พระมังคละพระองค์ ๑ พระสุมังคละ ๑ พระเรวตะ ๑ พระโสภีตะ ๑ พระอโนมทัสสี ๑ พระปทุม ๑ พระนารทะ ๑ พระพุทธเจ้าทั้ง ๘ พระองค์นี้ ได้ตรัสในส่วนแห่ง ๔ อสงไขยและในเศษอีกแสนกัปป์นั้น นับตั้งแต่พระปทุมุตตระไปพระองค์ ๑ พระปิยทัสสีพระองค์ ๑ พระอัตตทัสสีพระองค์ ๑ พระธัมมทัสสีพระองค์ ๑ พระสิทธัตถะพระองค์ ๑ พระติสสะพระองค์ ๑ พระปุสสะพระองค์ ๑ พระวิปัสสีพระองค์ ๑ พระสิขีพระองค์ ๑ พระเวสสภูพระองค์ ๑ พระกุกกุสันธะพระองค์ ๑ เป็น ๑๕ พระองค์ นับทั้งพระตัณหังกร พระเมธังกร และพระสรณังกรทั้ง ๓ พระองค์นี้เข้าด้วย จึงเป็น ๒๗ พระองค์ (*หมายเหตุของผู้จัดทำเว็บไซท์ **นับแล้วได้ ๒๖ พระองค์ แสดงว่าต้นฉบับตกไป ๑ พระองค์ แล้วจะค้นคว้ามาเพิ่ม หรือท่านผู้ใดทราบกรุณาแจ้งไปให้ทราบด้วย) พระพุทธเจ้าทั้ง ๒๗ พระองค์นี้ ได้มาตรัสใน ๔ อสงไขยเศษแสนกัปป์นั้น และได้ทรงพยากรณ์ทำนายพระบรมโพธิสัตว์ของเรานั้นเพียง ๒๔ พระองค์ มีพระทีปังกรเป็นต้น จนถึงพระพุทกัสสปะเป็นที่สุด (*หมายเหตุของผู้จัดทำเว็บไซท์** นับตรงนี้จาก พระทีปังกร ถึง พระพุทธกัสสปะ นับได้เพียง ๒๓ พระองค์เท่านั้น ตกไป ๑ พระองค์) จึงมีพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ กาล คือใน ๗-๙-๔ อสงไขยเศาแสนกัปป์เข้าด้วยกัน เป็นพระพุทธเจ้า ๕ แสน ๑ หมื่น ๒ พัน ๒๘ พระองค์ ดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ

           นี่แหละนักปราชญ์ผู้มีปัญญา พึงสันนิษฐานเถิดว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้บำเพ็ญพระสมติงสบารมีพุทธาภินิหาร เป็นปัญญาธิกโพธิสัตว์มากว่าจะได้บรรลุ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น นานกว่านานยิ่งนักหนา กำหนดได้ถึง ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้าคณนานับได้ถึง ๕ แสน ๑ หมื่น ๒ พัน ๒๘ พระองค์ ตามที่พรรณนามาฉะนี้ ฯ 

           เตนาหุ โปราณา เหตุดังนั้น พระโปราณาจารย์เจ้าทั้งหลาย จะได้แต่งตั้งคำนโมจบต้น ไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลาย จะได้ถวายนมัสการประณามนอบน้อมถึงพระคุณพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปในอดีตกาล เป็นส่วนแห่ง อุคฆติตัญญู ผู้บำเพ็ญพุทธาภินิหาร เป็นปัญญาธิกโพธิสัตว์ เพื่อจะได้ป้องกันกำจัดเสียซึ่งสรรพภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง ฯ

ว่าด้วย พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ จบ

พระสัทธาธิกพุทธเจ้า

           อันดับนี้ จะได้แก้ไขในพระพุทธเจ้า เป็นพระวิปจิตัญญู ผู้บำเพ็ญพระบารมีเป็น สัทธาธิกพุทธเจ้า แรกเริ่มสร้างพระบารมี บำเพ็ญพุทธาภินิหาร เป็นสัทธาธิกโพธิสัตว์ ยิ่งด้วยศรัทธา กำหนดพระบารมีเพียง ๘ อสงไขยกำไรแสนกัปป์นั้น ก็ได้ประสบพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย กำหนดนับได้ ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๔ พระองค์ มากกว่า พระอุคฆติตัญญู ผู้บำเพ็ญพระบารมีเป็นส่วนปัญญาธิกโพธิสัตว์นั้นถึง ๒ เท่า แม้จะกำหนดกาลแรกเริ่มสร้างพระบารมีมานั้น กว่าจะได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ก็นานกว่านานยิ่งนัก กำหนดถึง ๔๐ อสงไขยเศษแสนกัปป์ นานกว่าพระปัญญาธิกะ ๒ เท่า ฯ

           ก็และข้อที่ว่า ซึ่งกำหนดพระวิปจิตัญญูสัมพุทธเจ้าผู้เป็นสัทธาธิกะนั้น ทรงสร้างพระบารมี ๘ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์นั้น กำหนดตั้งแต่แรกได้ลัทธพยากรณ์ทำนาย ในสำนักสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นนิยตโพธิสัตว์ มีพระบารมีอันเที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้นต่างหาก ก็ที่แท้นั้นทรงสร้างพระบารมีถึง ๔๐ อสงไขยแสนกัปป์ คือ กำหนดนับแต่แรกตริตรึกนึกในพระทัยว่า จะตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังออกพระวาจามิได้ อันเป็นส่วนปณิธานก็นานนับได้ ๑๔ อสงไขย จึงออกพระวาจาได้ และได้พบพระพุทธเจ้า ๒ แสน ๕ หมื่นพระองค์ กำหนดแต่แรกออกพระวาจาได้แล้วนั้น มาเป็นส่วนวจีปณิธานก็นานนับได้ ๑๘ อสงไขย จึงปรารถนาพร้อมทั้งกายและวาจาและน้ำใจได้ ได้พบพระพุทธเจ้า ๗ แสน ๗ หมื่น ๔ พันพระองค์ กำหนดแต่ปรารถนาพร้อมทั้งกายวาจาและน้ำใจได้ อันเป็นส่วนกายวจีปณิธาน ก็ช้านานนับได้ ๘ อสงไขยเศษอีกแสนกัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๕๔ พระองค์ ถ้านับรวมทั้งสิ้น แต่แรกเริ่มสร้างพระบารมีมากว่าจะได้ตรัส จึงเป็น ๔๐ อสงไขยเศษแสนกัปป์ด้วยกัน รวมพระพุทธเจ้าได้ ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๔ พระองค์ อันนี่เป็นประเภทแห่งพระสัทธาธิกโพธิสัตว์เจ้าทุก ๆ พระองค์มา เหมือนอย่างในภัททกัปป์ อันเป็นปัจจุบันทุกวันนี้ มีความเจริญด้วยกำลังเป็นอันมาก ทรงสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ถึง ๕ พระองค์ เช่นนี้มีโดยน้อยไม่มาก ยากที่ฝูงสัตว์จะได้ประสบเห็น ต่อนาน ๆ จึงจะเป็นจะมีขึ้นบ้าง แต่ละครั้งแต่ละที ก็ชื่อว่าภัททกัปป์อันเป็นปัจจุบันทุกววันนี้ ทรงสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ ๕ พระองค์นั้น คือ พระกุกกุสันธะพุทธเจ้าพระองค์ ๑ พระโกนาคมน์บรมศาสดาพระองค์ ๑ พระพุทธกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ ๑ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตยเจ้า อันจะมีมาในอนาคตกาลเบื้องหน้านั้นอีกพระองค์ ๑ ทั้ง ๕ พระองค์นี้แล ย่อมได้อุบัติตรัสในภัททกัปป์ปัจจุบันทุกวันนี้โดยลำดับกัน ถ้าจะแบ่งปันโดยประเภทพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ได้ ๓ จำพวก คือ พระอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ จัดเป็นปัญญาธิกสัมพุทธเจ้าจำพวก ๑ คือ พระวิปจิตัญญูโพธิสัตว์ จัดเป็นสัทธาธิกสัมพุทธเจ้าประเภท ๑ คือ พระเนยยะโพธิสัตว์ จัดเป็นวิริยาธิกสัมพุทธเจ้าประเภท ๑ เป็น ๓ ประเภทฉะนี้ ก็แล พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโกนาคมน์ พระพุทธกัสสปะ ๓ พระองค์นี้ ล้วนทรงสร้างพระบารมีมาเป็นฝ่ายสัทธาธิกะยิ่งด้วยศรัทธา ส่วนพระศากยมุนีโคดมบรมศาสดาจารย์เจ้าของเราในปัจจุบันนี้นั้น พระองค์ทรงสร้างพระบารมีมา เป็นฝ่ายปัญญาธิกะยิ่งด้วยพระปัญญา พระอริยเมตไตยมหาบุรุษ อันจะได้ตรัสในอนาคตกาลนั้น พระองค์ทรงสร้างพระบารมีมา เป็นฝ่ายวิริยาธิกะยิ่งด้วยความเพียร สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ซึ่งจัดเป็นประเภทโพธิสัตว์ทั้ง ๓ จำพวกนี้ ได้มาตรัสในภัททกัปป์ปัจจุบันทุกวันนี้ ฯ

           กุกฺกุสนฺโธ นาม ชิโน องค์สมเด็จพระกกุสันธะสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้รุ่งเรืองไปด้วยเดชมีที่สุด ประเสริฐยิ่งด้วยยศจะนับประมาณมิได้ พระองค์เป็นผู้เลิศเล่ห์ประหนึ่งมหาสมุทรสาครฉะนั้น ทรงบำเพ็ญพุทธาภินิหาร พุทธการกธรรมฝ่ายสัทธาธิกะครบจำนวนถ้วน ๔๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัปป์บริบูรณ์แล้ว ในปัจฉิมวิกภพ พระองค์ได้เสด็จอุบัติในดุสิตพิมานสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดุสิตพิมานนั้น ครบจำนวนถ้วนทิพยอายุขัย คณนาได้ ๔ พันปีทิพย์แล้ว ก็จุติจากดุสิตพิมานสวรรค์ลงมาอุบัติในโลกมนุษย์ ทรงถือเอาชาติกำเนิดในพระนครราชธานี มีนามกรว่า เมทนคร พราหมณ์ผู้เป็นพุทธบิดามีนามกรว่า อัคคทัตตพราหมร์ พระพุทธมารดาทรงพระนาม วิสาขาพราหมณี พระกกุสันธะหน่อพุทธางกูรบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น เบื้องว่าเสวยสมบัติเป็นบรมสุขอยู่ในฆราวาสวิสัย ตราบเท่าถึงพระบารมีญาณแก่กล้า ถึงกำหนดบริจาคสมัยแล้วก็ได้เห็นซึ่งนิมิต ๔ ประการ คือ คนแก่ชรา คนเป็นโรคาพยาธิ คนตายวายชีวิต แลเห็นบรรพชิตเป็นคำรบ ๔ อันเทพยดาหากแสดงให้เห็นมีพระกมลหฤทัยเบื่อหน่ายจากฆราวาส พระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงมงคลราชรถ แล้วก็เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ทรงทำมหาปธานวิริยหภาพทุกกรกิริยาอยู่ ๑๐ เดือน แล้วก็เสด็จไปสู่ควงไม้ศิริพฤกษามหาโพธิคือไม้ซึก ทรงเรี่ยรายลงซึ่งหญ้าคาเสี่ยงพระสัตยาธิษฐาน หญ้าคาก็บันดาลบังเกิดเป็นรัตนะบัลลังก์สูงได้ ๓๖ ศอก พระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงสถิตนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อาสน์ ผจญเสียซึ่งเบญจพิธมาร มีพระยาวัสสวดีมาราธิราชเป็นประธาน ให้ปลาศนาการหนีไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จแก่พระบวรสมันตญาณ เป็นองค์พระศาสดาจารย์จอมจุฬาเลิศเฉลิมโลกทั้ง ๓ และสมเด็จพระกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระบวรสรีระคาพยพสูงได้ ๔๐ ศอก พระบวรรังษ๊รัศมี ๖ ประการ อันแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นนิตยกาลสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืน โดยธรรมดานั้นแผ่ไปในที่ไกล กำหนดได้ ๑๐ โยชน์เป็นประมาณ พระองค์มีพระชนมายุยืนได้ ๔ หมื่นปีเป็นกำหนด และมีคู่พระอัครสาวกทั้ง ๒ ซ้ายขวา มีนามชื่อว่า วิธุรเถระพระองค์ ๑ พระสัญฬิวเถระพระองค์ ๑ และคู่พระอัครสาวิกทั้ง ๒ ซ้ายขวานั้น ชื่อว่า พระสารีภิกษุณี ๑ พระขารัมพาเถรี ๑ และสมเด็จพระกกุสันธะสัพพัญญูผู้ทรงพระภาคนั้น พระองค์ทรงทรมานเที่ยวกระทำพุทธกิจ ตามพุทธจารีตแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ๆ กำหนดพระชนมายุ ๔ หมื่นปีสำเร็จแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานล่วงลับไป ฯ

           กกุสนฺธสฺส อปเรน ครั้นอปรภาคสมัย เบื้องหน้าแต่ศาสนาแห่งพระกุกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้าล่วงไปแล้วช้านาน ตราบเท่าถึงพุทธันดรกาลอันหนึ่ง กำหนดด้วยพื้นพสุธาสูงขึ้นได้ ๑ โยชน์ จึงถึงลำดับแห่งพระโกนาคมน์บรมชินโลกเชษฐ์ ได้มาอุบัติตรัสในโลก แท้จริงสมเด็จพระโกนาคมน์บรมสัพพัญญูนี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธาภินิหารสมภารบารมี พุทธการกธรรมเป็นส่วนสัทธาธิกโพธิสัตว์ กำหนดพระบารมี ๔๐ อสงไขยเศษแสนกัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๔ พระองค์ ครบจำนวนถ้วนสัทธาธิกโพธิสัตว์บารมีแล้ว และสันสรณาการท่องเที่ยวเสวยสมบัติอยู่ในสวรรค์และมนุษย์สิ้นกาลช้านาน ครั้นมาถึงปัจฉิมภวิกภพ พระองค์ก็ได้ขึ้นไปอุบัติบังเกิดในดุสิตวิมาน  เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร กำหนดทิพยอายุกาลในดุสิตพิภพนั้นเพียงไรแล้ว พระองค์ก็จุติจากพิมานเมืองสวรรค์ เสด็จลงสู่ปฏิสนธิในคัพโภทรแห่งพระพุทธชนนี ผู้มีนามชื่อว่า อุตตราพราหมณี พระพุทธชนกาธิบดีมี

พระนามว่า ยัญญะทัตตมหาพราหมณ์ พระองค์ทรงเจริญวัยอยู่ในโสภิตนคร ครั้นเสวยศิริสมบัติเป็นบรมสุขอยู่ในฆราวาสวิสัย ตราบเท่าถึงพระบารมีญาณแก่กล้ากำหนดปริปากสมัย สมควรจะได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงสละซึ่งวิภวสมบัติบรมสุขนั้นเสีย เสด็จขึ้นสู่มงคลหัตถีพระที่นั่ง ออกมาสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ทรงกระทำทุกกรกิริยาอยู่ ๑ เดือนเป็นกำหนด พระองค์เสด็จไปยังควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิอุทุมพรพฤกษ์ (คือไม้มะเดื่ออุทุมพร) ทรงลาดลงซึ่งหญ้าคาเสี่ยงพระสัตยาธิษฐาน หญ้าคาก็บันดาลบังเกิดขึ้น เป็นรัตนบัลลังก์สูงได้ ๒๐ ศอก ณ ภายใต้อุทุมพรพฤกษ์นั้น ครั้นพระองค์เสด็จขึ้นทรงสถิตนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อาสน์นั้นแล้ว ก็ทรงกำจัดเสียซึ่งเบญจพิธมารทั้ง ๕ มีพระยาวัสสวดีมาราธิราฃเป็นประธาน กับทั้งมารและเสนามารให้ปราศนาการหนีไปแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จแก่การพระบวรสมันตญาณ เป็นองค์เอกอัคราจารย์จอมจุฬาเลิศเฉลิมโลก ๓ หล้า พระองค์มีพระบวรกายอันไพโรจน์เจริญยิ่งได้ ๓๐ ศอก พระฉัพพิธรังษีรัศมี ๖ ประการส ที่แผ่ซ่านออกจากพระบวรกายเป็นนิตยกาล ทั้งกลางวันกลางคืนนั้น ไม่มีกำหนดนิยม พระองค์มีพระพุทธประสงค์จะให้พระรัศมีพุ่งออกไปเพียงใด ก็พุ่งออกไปเพียงนั้น โดยพระพุทธหฤทัยประสงค์ พระองค์มีพระชนมายุยืนยงคงอยู่เพียง ๒ หมื่นปีเป็นกำหนด มีคู่อัครสาวกทั้ง ๒ ซ้ายขวา มีนามนิยมว่า โสภิตเถระพระองค์ ๑ พระอุตตรเถระพระองค์ ๑ พระสมุททเถรีกับพระอุตตรเถรีทั้ง ๒ นี้เป็นคู่อัครสาวิกซ้ายขวา ไม้อุทุมพรพฤกษาชาติเป็นไม้มหาโพธิ สมเด็จพระโกนาคมน์บรมศาสดาจารย์บรมศาสดาจารย์พระองค์นั้น ครั้นพระองค์ทรงทรมานพระชนม์ เสด็จเที่ยวกระทำพุทธกิจอยู่ ตราบเท่าบรรจบครบจำนวนถ้วน ๓ หมื่นพระวัสสาแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ผันพระพักตร์เข้าสู่พระอมตมหานครสนิพพาน ตามภูมิประเพณีพระพุทธเจ้าทั้งปวง อัน

ล่วงลับพระปรินิพพานนั้น ฯ

           โกนาคมนสฺส อปเรน ครั้นดิถีปีเดือนคืนวันล่วงมา ๆ เบื้องหน้าแต่ศาสนาพระโกนาคมน์สัมพุทธเจ้านั้น ช้านานประมานได้ ๑ พุทธันดร จึงถึงศาสนาพระพุทธกัสสปะสัมมาสัาพุทธเจ้ามาโดยลำดับ แท้จริง สมเด็จพระพุทธเจ้ากัสสปะสัมพุทธเจ้านี้ ก็ทรงบำเพ็ญพระสมตึงสบารมีพุทธาภินิหาร เป็นส่วนสัทธาธิกโพธิสัตว์ กำหนดพระบารมี ๔๐ อสงไขยเศษแสนกัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๔ พระองค์ ครบจำนวนส่วนสัทธาธิกโพธิสัตว์แล้ว และสันสรณาการเสวยรมย์ชมทิพยสมบัติ และมนุษย์สมบัติอยู่ในมนุษย์สิ้นพุทธันดรหนึ่ง พระองค์ก็เสด็จอุบัติบังเกิดในชั้นดุสิตพิมาน กำหนดทิพะมายุกาลได้พันปีทิพย์ แล้วก็จุติลงมาบังเกิดในมาตุคัพโภทรแห่งพระชนนี ในกรุงพาราณสีมหานคร ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดรทรงพระนามว่า ธัมมวนีพราหมณี และสมเด็พระพุทธกัสสปะหน่อพุทธางกูรเจ้านั้น ครั้นเสวยสุขสมบัติอยู่ในฆราวาส ตราบเท่าพระบารมีแก่กล้า สมควรแก่ปริปากสมัยจวนจะได้ตรัสแล้วและได้ทอดพระเนตรเห็นจตุนิมิต ๔ ประการ อันเทพยดาแสดงบันดาลไห้ปรากฏ พระองค์ก็เบื่อหน่ายจากเพศฆราวาส เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา กับทั้งพระมณเฑียรมหาปราสาทอันลอยเลื่อนเคลื่อนตามไป ครั้นพระองค์ทรงกระทำทุกกรกิริยามหาปธานวิริยภาพสิ้น ๗ ทิวาวันแล้ว ก็เสด็จไปสู่ควงไม้มหานิโครธพฤกษ์ ต้นไทรใหญ่ ลาดลดซึ่งหญ้าคาเสี่ยงสัตยาธิษฐาน หญ้าคาก็บังเกิดเป็นรัตนบัลลังก์ตั้งอยู่ ณ ภายใต้ร่มมหานิโครธพฤกษ์ กำหนดได้ ๑๕ ศอก ทรงผจญเสียซึ่งพระยามาธิราชกับทั้งเสนามาร ไห้พ่ายแพ้พระบารมีแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสแก่พระสรรเพ็ชญ์กฤษญาณ เป็นเอกอัครบรมศาสดาจารย์จอมโลกทั้ง ๓ หล้า พระองค์มีพระวรกายอันรุ่งเรืองไพโรจน์สูงได้ ๒๐ ศอก พระฉัพพรรณรังษีรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ซ่านออกจากพระสรีรกายเป็นนิตย์ แม้พระองค์มีพุทธ

ประสงค์จะให้ซ่านออกไปเพียงไร ก็ซ่านไปได้เพียงนั้น มีพระชนมายุได้ ๒ หมื่นปีเป็นกำหนด และมีคู่พระอัครสาวกซ้ายขวาโดยนามว่า พระติสสเถระพระองค์ ๑ พระภารัทาชะพระองค์ ๑ พระสัพพมิตตเถระได้เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก พระอุรกาภิกษุณี กับพระอุรุเวลาเถรีทั้ง ๒ เป็นคู่อัครสาวิกทั้งซ้ายขวาของพระองค์พระมหานิโครธพฤกษ์ไทรใหญ่เป็นไม้มหาโพธิ์ และพระพุทธกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ครั้นทรงพระทรมานพระชนม์เที่ยวโปรดสัตว์ ครบจำนวนถ้วน ๒ หมื่นพระวัสสาแล้ว ก็เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ฯ

           กสฺสปพุทฺธสฺส อปเรน ครั้อปรภาคสมัยยืดมา เบื้องหน้าแต่ศาสนาแห่งสมเด็จพระกัสสปะเจ้านั้น ช้านานประมาณได้ ๑ พุทธันดร จึงถึงศาสนาแห่งพระโคดมบรมศาสดาเจ้าแห่งเราโดยลำดับ ๆ แท้จริงสมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระสมติงสบารมีมา เป็นส่วนปัญญาธิกะโพธิสัตว์ กำหนดพระบารมี ๒๐ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๕ แสน ๑ หมื่น ๒ พัน ๒๗ พระองค์ ครบจำนวนส่วนปัญญาธิกโพธิสัตว์แล้ว และสันสรณาการเวียนว่ายเสวยทิพยสมบัติอยู่สิ้กาลช้านานประมาณ ๑ พุทธันดร ครั้นมาในอวสานที่สุดพระชาติแสวงหาพระบารมีนั้น พระองค์บังเกิดเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงสญชัย อันได้เสวยมไหศุริยสมบัติในกรุงเชตุดรนครสีพี มีพระนามว่าเวสสันดรบรมกษัตริย์ ได้ทรงอำนวยพระทานบารมีจริยานุวัตต์เป็นมโหฬารเป็นต้นว่า ได้สละพญาคชสารพระที่นั่งทรงปัจจัยนาค และได้อำนวยสัตตสดกมหาทาน บริจาคสิ่งละ ๗ ร้อย ๆ สำเร็จ จึงเสด็จไปคีรีวงกฏเป็นดาบสฤาษี ได้สละพระชาลี และนางกัณหาพระราฃบุตรธิดา ให้เป็นบุตตทาน บริจาคแก่ฃูชกพราหมณ์พฤฒาจารย์ แล้วได้ทรงอำนวยพระมัทรีเยาวมาลย์มิ่งมเหสีแก่อินทพราหมณ์ เป็นมิ่งมงกุฏมหาบริจาคทานปรมัตถบารมี อันเป็นยอดยากที่บุคคลจะพึงกระทำได้ พระองค์สละได้โดยง่าย ด้วยมีพระกมลมุ่งหมายต่อพระบวรสมันตญาณ ครั้นสิ้นสุดพระชนมายุแล้ว ก็เสด็จดับขันธสวรรคต ขึ้นไปอุบัติปรากฏเป็น สันตุสิตเทวราชในอมรพิมานสวรรค์ เสวยมไหศุริยมหันตมโหฬาร ในดุสิตพิมานสิ้นกาลช้านานกำหนดอายุได้ ๔ พันปีทิพย์ แล้วเสด็จจากดุสิตพิมานมาศมาถือเอาปฏิสนธิชาติ ในมาตุคัพโภทรแห่งพระมารดา ผู้ทรงพระนามสิริมหามายาราชเทวี เป็นอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชบรมกษัคริย์ ผู้เสวยศวรรยาธิบัติในกรุงกบิลพัสดุ์ธานี เมื่อพระชนนีมีครรภ์ครบจำนวนถ้วนทศมาสแล้ว ก็ประสูติจากครรภ์พระมารดาในป่าลุมพินีวัน พร้อมด้วยอัศจรรย์จลาจลทั่ว

สลกชมพูหมื่นโลกธาตุ ครั้นทรงพระเจริญใหญ่ได้ ๑๖ ปี พระองค์ก็ได้ราชาภิเศกเป็นเอกอัครราชาธิบดี เสวยมไหศุริยสมบัติอยู่ในฆราวาสได้ ๒๙ ปี ได้ทอดทัศนาการจตุนิมิตทั้ง ๔ คือ คนพิการชรา และคนเป็นโรคาพยาธิ และคนตายวายชีวิต เห็นเพศบรรพชิตเป็นคำรบ ๔ ก็มีพระกมลหฤทัยน้อมไปในที่จะทรงบรรพชาเพศ เห็นอนิจจังสังเวช เบื่อหน่ายจากศิริราชสมบัติ

           จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งนายฉันนามาตย์ ให้ผูกม้าแก้วกัณฐอัศวราช นายฉันนามาตย์ก็ผูกม้าพระที่นั่งในเวลาราตรี นำอัสดรพาชีมาประทับไว้ตามพระหฤทัยประสงค์ พระองค์ก็ขึ้นสู่หลังม้าพระที่นั่งออกจากพระราชนิเวศน์มไหศวรรย์ เป็น ๒ คนกับนายฉันนามาตย์นั้น พระหฤทัยจะได้หวั่นไหวพะว้าพะวังด้วยพระราชวัง และพระราชบิดามารดา พระพิมพาและพระราหุลหามิได้ ตั้งพระหฤทัยด้วยพระบวรสมันตญาณ ครั้งนั้นบรรดาเทวดาทั้งหลาย ก็พากันมาติดตามดู เสด็จแน่นหนาทั้งหน้าและหลัง พระองค์ก็เสด็จรีบไปถึงฟากฝั่งแม่น้ำอโนมานที มีอยู่ ณ ที่สุดพระนคร แล้วจึงให้สัญญาแก่ม้าแก้วด้วยส้นพระบาท เพื่อจะเผ่นโผนโจนข้ามแม่น้ำไป ม้ากัณฐอัศวราชก็โลดโผนโจนข้ามแม่น้ำไปได้ถึงฝั่งโน้นด้วยพระบาทบารมี แสดงนิมิตเหตุที่พระองค์ได้รื้อขนเวไนยชน ให้ข้ามพ้น

ห้วงมหรรณพภพสงสาร สมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณ ก็ทรงตัดพระโมลีด้วยพระแสงขรรค์ ซัดมวยพระโมลีนั้นขึ้นไปในท้องนภากาศ สมเด็จอัมรินทราธิราช ก็นำเอาผอบแก้วมณีมารองรับพระโมลีมวยพระเกศ อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ เป็นที่ไหว้สักการะบูชาแก่เทวดาในสรวงสวรรค์ ส่วนท้าวมติการมหาพรหมนั้น ก็นำเอาไตรจีวรบาตรบริขารมาถวายในขณะนั้น สมเด็จพระชินวงศ์ทรงบรรพชาในปีเถาะ ตั้งพระหฤทัยอุทิศเฉพาะต่อพระบวรสมันตญาณ ครั้นทรงบรรพชาเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปทรงกระทำทุกกรกิริยามหาปัฏฐานวิริยภาพ ความเพียรอันยิ่งใหญ่ ในอัญญประเทศราวไพร ใกล้แดนพระนครพาราณสีได้ ๑ พระวัสสา ครั้นแล้วก็เสด็จไปรับข้าวมธุปายาสอันนางสุชาดาถวายด้วยบาตร ทรงฉันข้าวมธุปายาสสิ้นประมาณ ๔๙ ก้อน สำเร็จแล้วจึงเสด็จไปสู่แม่น้ำเนรัญชรา ลอยถาดเสี่ยงพระบารมี ถาดทองก็ลอยเร็วรี่ตัดสายชลกระแสร์สินธุ์ ประการหนึ่งว่าพระยาสุวรรณราชหงส์บิน ครั้นแล่นออกไปไกลได้ ๑๖ ศอกแล้ว ก็จมลงตรงพิภพแห่งพระยากาฬนาคราช ลงไปสถิตประดิษฐานอยู่กับถาดแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น ครั้นเวลาสายัณหสมัย พระองค์ก็เสด็จไปสู่ควงไม้มหาโพธิ์ ทรงรับหญ้าคา ๗ กำอันโสถิพราหมณ์นำมาถวายพระองค์ก็ทรงเกลี่ยลงซึ่งหญ้าคาเสี่ยงสัตยสธิษฐาน หญ้าคาก็บันดาลบังเกิดเป็นรัตนบัลลังก์สูงประมาณได้ ๔ ศอก ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นไม้มหาโพธิ์ พระมหาบุรุษราชเจ้านั้น ก็เสด็จขึ้นทรงสถิตเหนือพระอปราชิตบัลลังก์ ตั้งพระสมาธิจิตมั่นมิได้หวั่นไหว ในเวลาสายัณหสมัยก็ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งปัญจพิธมาร มีพระยาวัสสวดีมาราธิราชเป็นประธานกับทั้งมารเสนาให้พ่ายแพ้อำนาจด้วยพระสมติงสบารมีญาณ ปลาศนาการหนีสิ้นแล้ว ในเวลาปฐมยามพระองค์ก็ยังจคุตถฌานให้บังเกิด ครั้นจตุตถฌานบังเกิดขึ้นแล้วก็ได้ซึ่งปุพเพนิวาส ระลึกชาติในหนหลังได้โดยเอนกชาติไม่ขัดขวางยับยั้งอยู่ด้วยปุพเพนิวาสญาณนั้นตลอดปฐมยามแล้ว ครั้นย่างเข้าปัจฉิมยาม พระองค์ก็ชำระเสียซึ่งทิพพจักษุญาณและทิพพโสตญาณ มีพระเนตรและพระกรรณ์ดุจทิพย์ เห็นแจ้งประจักษ์ในสัตว์และสังขารเห็นตลอดทั่วโลก และได้ทรงสดับเสียงประจักษ์แจ้งตลอดโลก พระองค์ทรงดำรงอยู่ด้วยพิธีชำระทิพจักษุญาณและทิพโสตญาณนั้น สิ้นเวลามัชฌิมยามแล้ว ครั้นล่วงปัจฉิมยาม พระองค์ก็ทรงปลงพระญาณปัญญาลงในกิจที่จะพิจารณาปัจจยาการคือ พระปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ ประการ มีอวิชชา เป็นอาทิ มีชรามรณะเป็นปริโยสาน เป็นอนุโลมถอยหน้าถอยหลังไป ๆ มา ๆ เมื่เวลาปัจจุบันสมัยจะใกล้รุ่ง พระองค์ก็ได้สำเร็จแก่พระบวรสยัมภูตรัสรู้แจ้งจบ ตลอดไปในสรรพเญยยธรรมทั้งปวง มีทศพลญาณและจตุเวสารัชชญาณเป็นต้น และประดับพร้อมไปด้วยพระคุณเนมิตกนามทั้ง ๙ ประการ มีพระอรหังเป็นต้น เป็นบรมทักขิเณยยบุคคลอันประ้สริฐ สมควรที่จะรับทักขิณาทานและสรรพเครื่องสักการะบูชาวรามิสอันประเสริฐ ของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในแหล่งโลกธาตุ เป็น

บรมโลกนาถอัครนายก แนะนำสรรพเวไนยให้ขึ้นสู่มรรคาอันเกษม กล่าวคือ มรรคผลและนิพพาน และเป็นบรมศาสดาจารย์ของเทวดาและมนุษย์ทวยนิกรทั้งปวง ฯ

           เมื่อพระองค์ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว แต่นั้นมา พระองค์ก็ตั้งพระทัยที่จะตรัสเทศนารื้อขนเวไนยสรรพสัตว์ จึงเสด็จไปตรัสพระธรรมเทศนาพระธัมมจักรกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง๕ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ยังพราหมณ์ทั้งหลาย ๑๐ โกฏิ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธาน ให้ดูดดื่มซึ่งน้ำอมฤตรสวารี กล่าวคือ พระอรหัตผล เวลานั้นพระองค์ทรงเห็นซึ่งอุปนิสสัยของยสกุลบุตร อันมีความเบื่อหน่ายจากเพศฆราวาส แล้วละเสียซึ่งเคหสถานออกจากบ้านไปในเวลาราตรีกาล พระองค์ทรงประทานซึ่งเอหิภิกขุแก่ยสกุลบุตร ยังยสกุลบุตรให้บรรลุมรรคผล คือพระนิพพานแล้ว ยังสหายแห่งพระยะสะ ๕๔ คน ให้บรรชาด้วยเอหิภิกขุอุปสมบท แล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ทั้ง ๕๔ คนนั้น ในระหว่างนั้น ก็บังเกิดมีพระอรหัตต์ขึ้นในโลก ๖๑ พระองค์ด้วยกัน กับทั้งพระองค์ด้วย ครั้นแล้วพระองค์ก็ส่งพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นไป เพื่อจะให้แนะนำสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายในทิศานุทิศทั้งหลายทั้งปวง ส่วนพระองค์เองเสด็จตรงไปในอุรุเวลาประเทศ ได้ทรงทรมานพวกกุมาร ๓๐ คน ในระหว่างมรรคาในราวป่ากัปปาสิกวัน ยังกุมารทั้ง ๓๐ คนนั้นให้ดำรงในมรรคคาผล มีพระโสดาเป็นต้น มีพระอรหัตตผลเป็นปริโยสาน แล้วพระราชทานเอหิภิกขุอุปสมบท ส่งให้ไปในทิศานุทิศทั้งปวง ส่วนพระองค์ก็เสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศ แสดงพระปาฏิหาริย์มีประการเป็นอันมาก เพื่อทรมานชฏิล ๓ คนพี่น้อง มีอุรุเวลากัสสปะเป็นต้น กับทั้งบริวารประมาณ ๑ พัน ยังพวกชฏิลทั้งหลายเหล่านั้นให้บรรพชาด้วยเอหิภิกขุ สำเร็จแล้วก็ประทานเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ในเขตคยาสีสะประเทศ ยังชฏิลภิกษุทั้งหลายให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล สมเด็จพระทศพลก็แวดล้อมด้วยเหล่าพระอรหันต์ ๑ พันพระองค์ เสด็จตรงไปยังลัฏฐิวโนทยานใกล้อุปจารนครราชคฤห์ เพื่อปลดเปลื้องเสียซึ่งปฎิญาณแห่งพระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์ ๅ ก็เสด็จออกมากระทำปัจจุบันคคมนาการรันเสด็จ กับด้วยพราหมณ์คฤหบดีทั้งปวงมีประมาณ ๑๒ หมื่น เมื่อได้รับพระราชทานอมฤตรสพระสัทธรรมเทศนา ของสมเด็จพระพุทธองค์ ก็ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลเป็นชน ๑๑ หมื่น เอกนหุตฺตํ ยังพราหมณ์และคหบดีอีก ๑ หมื่นนั้น พระองค์ให้ดำรงอยู่ในพระไ ตรสรณคมน์ แล้วเสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์ ทรงรับพระเวฬุวนาราม อันสมเด็จบรมกษัตริย์กรุงมคาธาธิบดี ทรงพระอุทิศถวายเพื่อเป็นบรมพุทธาธิวาสวิหาร พระองค์ก็ทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเวฬุวันนั้น ฯ

           ครั้งนั้น พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร ได้พาบริวารของตน ๆ ละ ๒๕๐ มาขอบรรพชา สมเด็จพระศาสดาก็ทรงประทานเอหิภิกขุ อุปสมบทแก่อัครสาวกทั้งสองพระองค์ แล้วทรงกระทำสาวกสันนิบาตประชุมพระสงฆ์สาวก ยกที่เอตทัคคัฏฐานเลิศฝ่ายข้างมีฤทธิ์แก่พระโมคคัลลาน์ทุติยสาวก แล้วทรงยกเอตทัคคัฏฐาน เลิศฝ่ายข้างปัญญาแก่พระสารีบุตรอัครสาวก แล้วยกที่เอตทัคคัฏฐาน เลิศฝ่ายข้างธุดงค์แก่พระมหหากัสสปะเถระตติยสาวก และประทานเอตทัคคัฏฐาน เลิศฝ่ายข้างทรงไว้ซึ่งพระวินัยแก่พระอุบาลีเถระ และประทานเอตทัคคัฏฐาน เลิศฝ่ายในที่ทั้ง ๕ แห่งผู้มีพหุสูตและอุปัฏฐากเป็นต้น แก่พระผู้เป็นเจ้าอานนท์พุทธอนุชาแล้ว ก็ทรงกระทำสันนิบาตประชุมพระอริยสาวิกา ทรงประทานเอตทัคคะ เลิศฝ่ายข้างมีฤทธิ์แก่พระอุบลวัณณาเถรี อัครสาวิกาเบื้องซ้าย แล้วประทานที่เอตทัคคะ เลิศฝ่ายข้างปัญญา แก่พระเขมาเถรีภิกษุณี อัครสาวิกาฝ่ายขวา ฯ

           ตโต ปฏฺฐาย เบื้องว่าในโลกรุ่งเรืองด้วยพระอริยเจ้าทั้งหลาย พระศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ก็แพร่หลายไพบูลย์ไปได้มากแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ก็ทรงอุตสาหะ ตั้งพระหฤทัยแต่ที่จะรื้อขนเวไนยชน ให้ข้ามพ้นห้วงมหรรณพภพสงสารชราโศกโอฆกันดาร อุตส่าห์ทรมานพระกายไม่คิดเห็นแก่ความลำบาก ทรงพระอุตสาหเสด็จเที่ยวไปในคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่ ตั้งพระหฤทัยแต่ที่จะตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนสรรพนิกรชน ให้ได้ประสบซึ่งอมฤตรสวารีเลิศ กล่าวคือมรรคผลและนิพพาน ตราบเท่าบรรจบพระชนมายุกาลครบจำนวน ๔๕ ปี ถ้าจะกำหนดนับแต่วันประสูตินั้นมา กว่าจะได้ออกสู่มหาภิเนษกรม์บรรพชานั้นมาได้ ๒๙ ปี นับแต่วันทรงบรรพชาแล้ว และทรงบำเพ็ญมหาปธานวิริยภาพทุกกรกิริยานั้น นับได้ ๖ พระวัสสา จึงได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ นับแต่วันได้ตรัสแล้วเที่ยวโปรดเวไนยสรรพสัตว์อยู่นั้น ๔๕ พระวัสสา ถ้าจะสิริรวมพระชนมายุทั้งสิ้นก็ได้ ๘๐ พระวัสสาบริบูรณ์ ถ้าจะกำหนดพระกายโดยสูงนั้นได้ ๘ ศอก พระฉัพพรรณรังษีซ่านออกจากพระวรกาย โดยปกติธรรมดาสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ประมาณได้ ๑ วา ฯ

           ปางเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงทรมาณเที่ยวโปรดสัตว์อยู่ ตราบเท่าพระชนมายุครบจำนวนถ้วน ๘๐ ทัศบริบูรณ์แล้ว ก็พาภิกษุบริวารคมนาการสู่กรุงกุสินารามหานครราชธานี เสด็จเข้าไปอาศัยในสาลวโนทยาน ที่ประภาสแห่งพระเจ้ามัลลราชทั้งปวง เสด็จบรรทมเหนือพระแท่นศิลาอาสน์ระหว่างนางรังคู่ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าก็ทรงพระมหากรุณาประทานบรรพชาแก่สุภัททปริพพาชก อันเป็นปัจฉิมพุทธเวไนยด้วยเอหิภิกขุเสร็จแล้ว ครั้นล่วงเข้าปัจฉิยามจวนจะใกล้รุ่ง พระองค์ก็เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานา ในปีมะเส็ง เพ็ญเดือน ๖ รุ่งขึ้นเป็นวันพุธนั้น ฯ

           เตนาหุ โปราณา เหตุนั้นพระโบราณาจารย์เจ้าทั้งหลาย จึงได้ประพันธ์ผูกเป็นประนามคาถาสำหรับนมัสการสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล อันสมเด็จพระพุทธเจ้าผู้เป็นสัทธาธิกสัพพัญญู ได้ทรงกระทำพุทธการกธรรมพุทธาภินิหารใกล้บาทมูลทุก ๆ พระองค์มานั้น เป็นคำรบที่ ๒ คือ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ซึ่งแปลความโดยอัตตโนมัตยาฏธิบายว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายประณามน้อมนมัสการ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๕ พระองค์  โดยเศียรเกล้า ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะขอถวายนมัสการ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ ซึ่งพระธรรมและพระอริยสงฆ์ผู้เป็นพระสาวกของสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๕ พระองค์นั้น ด้วยความเอื้อเฟื้อ เพื่อจะป้องกันกำกัดเสียซึ่งสรรพอุปัททวะทั้งหลาย อนึ่ง อันตรายเป็นอันมาก ขอจงให้พินาศไปอย่าได้เหลือเศษได้ ด้วยอานุภาพที่ได้กระทำประณามนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และอานุภาพอันได้กระทำการนอบน้อมแก่พระธรรมเจ้าและพระสังฆเจ้าทั้งหลาย ในกาลบัดนี้เถิด สิ้นเนื้อความในประณามคาถาแห่ง นโม เป็นคำรบ ๒ แต่เท่านี้ ฯ

           ขอท่านทานาธิบดีทั้งปวง พึงสันนิษฐานเถิดว่า นโม จบที่ ๒ นี้ เป็นพระคาถาสำหรับประณามนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น ล้วนเป็นส่วนพระสัทธาธิกสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ประสบพบมาด้วยประการฉะนี้ ฯ

พระวิริยาธิกพุทธเจ้า

           ลำดับนี้ จะได้วิสัชชนาใน นโม ในจบที่ ๓ สืบต่อไป ความว่า การประณามคาถาจบที่ ๓ นี้ พระโปราณาจารย์เจ้าแต่งไว้ สำหรับได้นมัสการพระพุทธเจ้าทั้งปวง ๒ ล้าน ๔ หมื่น ๘ พัน ๑ ร้อย ๘ พระองค์ อันเป็นส่วนพระวิริยาธิกสัพพัญญูธพธิสัตว์ แรกสร้างพระบารมีบำเพ็ญอภินิหารพุทธการกธรรม ได้ประสบพบปะมานั้น ฯ

           แท้จริง พระเนยยะผู้บำเพ็ญพุทธาภินิหารเป็นวิริยาธิกโพธิสัตว์ กำหนดพระบารมีเพียง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ ได้ประสบพบพระพุทธเจ้ามาเป็นอันมากกว่ามาก กำหนดนับได้ ๒ ล้าน ๔ หมื่น ๘ พัน ๑ ร้อย ๘ พระองค์ มากกว่าพระวิปจิตัญญูผู้บำเพ็ญพระบารมีเป็นสัทธาธิกโพธิสัตว์นั้นถึง ๒ เท่า แม้จะกำหนดกาล แต่เมื่อแรกเริ่มสร้างพระบารมีนั้นมากว่าจะได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ก็นานยิ่งนัก กำหนดถึง ๙๐ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มากกว่าพระสัทธาธิกะเป็น ๒ เท่า ก็และข้อซึ่งกำหนดว่า พระวิริยธิกสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างพระบารมี ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์นั้น กำหนดตั้งแต่แรกได้ลัทธาเทศพยากรณ์ทำนาย ในศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นนิยตโพธิสัตว์ มีพระบารมีอันเที่ยงที่จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้นต่างหาก ก็อันที่แท้นั้นทรงสร้างพระบารมีถึง ๘๐ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ คือกำหนดนับแต่ตรึกนึกในพระทัยว่า จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแต่ยังออกพระโอษฐ์วาจามิได้ อันเป็นส่วนมโนปณิธานนี้นานนับได้ ๒๘ อสงไขย จึงออกพระวาจาได้ ได้พบพระพุทธเจ้า ๕ แสนพระองค์ กำหนดแต่แรกออกพระวาจาได้แล้วนั้น ปันเป็นส่วนวจีปณิธานนานนับได้ ๓๖ อสงไขย จึงปรารถนาพร้อมทั้งกายและวาจาและน้ำใจได้ ได้พบพระพุทธเจ้าถึง ๑ ล้าน ๕ แสน ๔ หมื่น ๘ พันพระองค์ กำหนดแต่ออกพระวาจาปรารถนาพร้อมทั้งกายและวาจา แต่แรกได้ลัทธาเทศในสำนักพระพุทธเจ้า เป็นส่วนวจีปณิธานก็นานนับได้ ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๑ ร้อย ๘ พระองค์ ถ้าจะนับรวมทั้งสิ้นแต่แรกสร้างพระบารมีมาจนได้ตรัสรู้ จึงเป็น ๘๐ อสงไขยแสนกัปป์ด้วยกัน รวมพระพุทธเจ้าได้ ๒ แสน ๔ หมื่น ๘ พัน ๑ ร้อย ๘ พระองค์ อันนี้เป็นประเภทแห่งพระวิริยาธิกโพธิสัตว์เจ้าทุก ๆ พระองค์มา เหมือนอย่างในภัททกัปป์อันเป็นปัจจุบันนี้ มีพระเนยยะโพธิสัตว์จัดเป็นวิริยาธิกพุทธเจ้าอยู่พระองค์หนึ่ง คือ พระศรีอริยเมตตไตยมหาบุรุษ อันจักได้มาอุบัติตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น ฯ

พระอชิตภิกษุ

            แท้จริง องค์พระอริยเมตไตย หน่อบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธาภินิหารพุทธการกธรรมฝ่ายวิริยาธิกโพธิสัตว์ยิ่งด้วยความเพียร ครบจำนวนถ้วน ๙ อสงไขย ๗ แสนกัปป์ ใกล้จะบริบูรณ์แล้ว ได้สันสรณาการเวียนว่ายอยู่ในมนุษย์และสวรรค์สิ้นกาลเป็นอันมาก ครั้นต่อมาพระพุทธศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าของเราในปัจจุบันนี้ พระศรีอริยเมตไตยบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ก็ได้อุบัติบังเกิดเป็นพระราชโอรสแห่งนางกาญจนเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีสมเด็จบรมกษัตริย์อชาตศัตรุราช ในกรุงราชคฤห์ ทรงพระนามชื่อว่า อชิตกุมาร ครั้นทรงเจริญวัยวัฒนาการ ได้สดับพระธรรมเทศนา เฉพาะพระพักตร์มณฑลแห่งสมเด็จพระศาสดา ก็ศรัทธาเลื่อมใส ออกทรงบรรพชาในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญคันธุระปริยัตติธรรม ก็ถึงซึ่งความชำนาญแคล่วคล่องในห้องพระไตรปิฎก ครั้นมาเมื่อสมเด็จพระบรมนายกโลกนาถ เสด็จมาทรงทรมานพระบรมญาติสงศ์ อันมีมานะกระด้าง ให้อ่อนน้อมยอมถวายอภิวาทพระองค์แล้ว ก็เสด็จจำพรรษาอยู่ในนิโครธาราม อันพระประยูรญาติสร้างถวายนั้น ฯ

           อถโข ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระเจ้าแม่น้า ทรงพระราชศรัทธานำเอาคู่ผ้ายุคลพัสตร์อันใหญ่ อันพระนางตั้งพระทัยอุตส่าห์ปั่นทอเย็บย้อมด้วยพระองค์เอง ด้วยมีพระหฤทัยประสงค์จะถวายให้เป็นพระภูษาทรงของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้านั้น พระนางก็ไปสู่วิหาร ถวายนมัสการสมเด็จพระศาสดาจารย์แล้ว ก็น้อมนำเอาคู่ผ้ายุคลพัสตร์นั้น เข้าไปถวายใกล้บาทยุคลของสมเด็จพระศาสดา สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าจึงมีพระพุทธฎีกา ตรัสอนุญาตให้พระเจ้าแม่น้าถวายในหมู่พระภิกษุสงฆ์ จะได้ทรงรับด้วยพระองค์เองหามิได้ สมเด็จพระเจ้าแม่น้าก็กราบทูลอ้อนวอน เพื่อจะให้ทรงรับถึง ๒-๓ ครั้ง พระองค์ก็ทรงห้ามเสีย สิ้นวาระ ๓ ครั้ง ภายหลังจนพระอานนท์เข้าไปช่วยกราบทูลอ้อนวอน พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาตรัสเทศนาทักขิณาวิภังคสูตร แสดงซึ่งสังฆทาน ๗ ประการ ยังสมเด็จพระเจ้าแม่น้าให้เลื่อมใสในคุณแห่งพระภิกษุสงฆ์ เพื่อจะให้เจตนาเดิม ๓ ประการ แห่งพระเจ้าแม่น้านั้นเจริญขึ้นอีก ๓ ดวง เป็น ๖ ดวงด้วยกัน ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะยังยุคลพัสตร์ทานนั้น ให้มีผลขึ้นไปอีก ๒ เท่า สมเด็จพระเจ้าแม่น้ามหาปชาบดีโคตมีเจ้า ก็น้อมเอาคู่ผ้ายุคลพัสตร์นั้นเข้าไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรเป็นประธาน อันนิสัชชนาการนั่ง ณ ที่อันดับแต่พุทธาอาสน์เป็นแถวกัน พระสงฆ์ทั้งปวงมีคู่พระอัครสาวกเป็นต้นนั้น จะได้รับสักองค์ก็ไม่มี พระนางก็ถวายเป็นลำดับ ๆ ลงไป ตราบเท่าถึงพระอชิตภิกษุ ซึ่งเป็นสังฆนวกะ นั่งอยู่ ณ ที่สุดแห่งเถราอาสน์นั้น ส่วนสมเด็จพระแม่น้าเจ้า ก็มีพระอาการพาลจะเศร้าสร้อยเสียน้ำพระทัย แล้วทรงพระดำริว่า อลกฺขิกาา โออาตมานี้ ชะรอยจะเป็นคนมีบุญด้อย หาวาสนามิได้เสียแล้วกระมังหนอ พระเถรานุเถระทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ ๆ มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์เป็นต้น แม้พระองค์เดียวก็มิได้

สงเคราะห์รับยุคลพัสตร์ทานของอาตมา กลับมาได้แก่พระภิกษุผู้เป็นสังฆนวกะบวชใหม่ นั่งอยู่ ณ ที่สุดแห่งเถราอาสน์เห็นปานฉะนี้ ฯ

           ภควา องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ทรงเห็นพระเจ้าแม่น้ามีพระอาการพาลจะโสกเศร้าเสียน้ำพระทัย พระองค์มีพระพุทธประสงค์จะยังพระเจ้าแม่น้าให้เสื่อมโศกาวายเทวศ จึงทรงบันดาลให้บาตรทรงเสลมัยพุทธบริโภคของพระองค์อันตรธานหาย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในกลีบเมฆคัดนัมพรประเทศนิลปถวิถี ในขณะนั้นด้วยอำนาจพระอิทธาภิสังขาร เพื่อจะประกาศคุณของพระอชิตภิกษุหน่อพุทธางกูร ให้ปรากฏแก่บริษัท จึงทรงอธิษฐานว่า อย่าให้พระสงฆ์ทั้งปวงหาบาตรของตถาคตนี้พบเลย นอกจากอชิตะภิกษุองค์เดียวเท่านั้น ทรงอธิษฐานฉะนี้แล้ว ก็มีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งพระสงฆ์มีคู่พระอัครสาวกเป็นอาทิ ให้เที่ยวหาบาตรทรงพระองค์ พระสาวกที่ทรงรับสั่งนั้น แม้องค์เดียวก็หาพบบาตรไม่ สมเด็จพระนราสภจึงทรงดำรัสสั่งอชิตะภิกษุ ให้เที่ยวหาบาตรทรงเสลมัย พระอชิตภิกษุจึงดำริแต่ในใจว่า แต่บรรดาพระสงฆ์ที่ทรงฤทธิ์วิชชาฌานสมาบัติชำนาญดีแล้วก็ยังหาไม่พบ ก็ตัวอาตมานี้เป็นคนหาฌานสมาบัติมิได้ ไฉนสมเด็จพระองค์จึงทรงบัญชา ให้อาตมาเที่ยวหาบาตรเสลมัยพุทธบริโภคเล่า ชะรอยเหตุจะพึงมีเป็นเที่ยงแท้  พระผู้เป็นเจ้ามากระทำสันนิษฐานแน่ตระหนักฉะนี้แล้ว ก็ถวายอภิวาทสมเด็จพระบรมโลกนาถ ถอยออกมาประดิษฐาน ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ แล้วกระทำซึ่งสัตยาธิษฐานเสี่ยงพระบารมีของพระผู้เป็นเจ้า ให้บาตรของสมเด็จพระศาสดาเจ้ามาประดิษฐาน ณ ที่เฉพาะหน้า พอเสร็จคำสัตยาธิษฐาน บาตรทรงเสลมัยก็เลื่อนลอยลงมาจากกลีบเมฆ มีอุปมาดังแมลงภู่บินลงมาสู่คลองพระหัตถ์แห่งผู้เป็นเจ้า ควรจะพิศวงอัศจรรย์ยิ่งนัก เห็นประจักษ์ตาแห่งมหาชนทั้งปวง พระผู้เป็นเจ้าจึงน้อมเอาบาตรเข้าไปถวายสมเด็จพระศาสดา

           ครั้งนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งปวง ต่างก็บังเกิดความพิศวงอัศจรรย์ ชวนกันสรรเสริญพระอชิตภิกษุนั้นเป็นโกลาหล สมเด็จพระทศพลก็ทรงพระพุทธพยากรณ์ทำนายพระอชิตะภิกษุ ผู้เป็นหน่อพุทธางกูร ณ ท่ามกลางบริษัททั้งปวงว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อชิตภิกษุผู้เป็นสังฆนวกะนี้ สืบไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า จะได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในลำดับแห่งพระศาสนาของตถาคต ทรงพระนามชื่อว่า พระศรีอริยเมตไตย ในภัททกัปป์นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สืบไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าเป็นอันมากเมื่อหาศาสนามิได้แล้ว ครั้งนั้นหมู่มนุษย์นิกรทั้งหลายจักบังเกิดความประมาทมากในสันดาน เมื่อความประมาทหนาขึ้นในสันดานของมนุษย์ทั้งหลาย ทีนั้นอายุของมนุษย์ทั้งหลายก็จักลดน้อยถอยลงไป ๆ ตราบเท่าตั้งอยู่เพียง ๑๐ ปีเป็นอายุขัย กำหนดอายุทารกเกิดได้ ๕ ปีก็กระทำการอาวาหและวิวาหมงคลแก่กันและกัน ลำดับนั้นก็บังเกิดสัตตันตรกัปป์ฆ่าฟันกัน มนุษย์ทั้งหลายที่มี

ปัญญาก็หนีไปเร้นซ่อน รักษาศีลภาวนาอยู่ในตรอกห้วยและลำธารเขา ครั้นถ้วนกำหนดสัตตันตรกัปป์ประมาณ ๗ วันแล้ว คนที่ใจบาปหยาบช้าตายไปสิ้น ยังเหลืออยู่แต่คนที่มีใจเป็นกุศล ประกอบไปด้วยจิตเมตตา จึงออกมาจากที่เร้น แลเห็นซึ่งกันแลกัน ก็บังเกิดความเมตตากรุณา อาลงฺคิตฺวา จึงสวมกอดซึ่งกันแลกัน แล้วก็ชวนกันเจริญภาวนารักษาศีล ๕ ประการ เป็นนิจศีล ศีล ๘ ประการ เป็นอุโบสถศีล รักษาศีล ๑๐ ประการเป็นอติเรกศีล ทำอย่างนี้เป็นนิตย์มา อายุนั้นก็ค่อยวัฒนาเจริญขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ตกว่ารักษาศีลเจริญเมตตาภาวนา อายุก็ยิ่งวัฒนาการเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตั้งอยู่ถึงอสงไขยเป็นกำหนด ด้วยอานุภาพผลแห่งสุจริตธรรมนั้น ครั้นอายุวัฒนาการขึ้นถึงอสงไขยแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็มิได้เห็นความชรามรณะปรากฏ ครั้นชรามรณะไม่ปรากฏเช่นนี้แล้ว ทีนั้นเหล่ามนุษย์

นิกรก็บังเกิดความประมาท เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีความประมาทดังนี้แล้ว อายุก็ถอยน้อยลงมาเพียง ๘ หมื่นปีเป็นกำหนด ทารกทั้งหลายในครั้งนั้นมีอายุได้ ๑ ร้อยปี จึงจะกระทำอวาหและวิวาหมงคลแก่กันและกัน ห่าฝนก็จักบันดาลตกลงมามิได้ขาดฤดูกาล กำหนด ๕ วันตก ๑๐ วันตก โดยนิยมดังนี้ ปฐวี วฑฺฒติ แผ่นดินก็งอกงามเจริญราบรื่นดุจหน้ากลองชัยเภรี มนุษย์ทั้งหลายในสากลชมพูทวีปนั้น ก็จักประกอบไปด้วยความสุขเป็นอันมาก ประดับไปด้วยเครื่องสรรพาภรณ์วิภูสิตต่าง ๆ อย่างประหนึ่งว่าเทพบุตรเทพธิดา ชมพูทวีปในกาลครั้งนั้นจักประกอบไปด้วยสีสรรอันจะให้สำเร็จซึ่งความปรารถนา น้ำในแม่น้ำน้อยใหญ่ ก็จักมีกระแสอันไหลขึ้นข้างหนึ่งลงข้างหนึ่ง ในกาลนั้นเมืองพาราณสีมีนามว่า เกตุมวดีราชธานี มีกำหนดโดยกว้างได้ ๑ โยชน์ โดยยาวได้ ๒ โยชน์ ไม้กัลปพฤกษ์ก็จักบังเกิดขึ้นแทบประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ กำแพงเมืองนั้นก็แล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีอาการดุจกรุงสุทัสนเทพมหานคร

           นฬกาโร เทวปุตฺโต ครั้งนั้น นฬการเทพบุตร จักจุติลงมาบังเกิดเป็นบรมจักรพัตราธิราช ผ่านราชสมบัติในนครเกตุมดีราชธานีนั้น ด้วยบุญญานุภาพของบรมจักรพรรดิ์นั้น ปราสาททั้งหลายล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ อันเคยเป็นนิวาสถานแห่งพระยามหาปนาทบรมจักรพัตราธิราช ที่จมอยู่ในกาลครั้งนั้นจักค่อยเลื่อนลอยขึ้นจากคงคา ลอยมาโดยนภาลัยประเทศเวหา จักมาประดิษฐานตั้งลงตรงท่ามกลางพระนครเกตุมดีนั้น นาฏอิตฺถิโย หญิงสนมนารีนาฏกำนัลประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันนาง ก็จะมาบังเกิดขึ้นในปราสาทสำหรับบุญญานุภาพของบรมจักรนั้น จะมีพระราชโอรสประมาณ ๑ พันพระองค์ มีอชิตกุมารเป็นประธาน และบรมจักรนั้นจักประกอบไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีจักรแก้วเป็นอาทิ รตนสโร สระแก้ว ๗ ประการ ก็จักบังเกิดในที่ใกล้ปราสาทนั้น น้ำในสระนั้นจะประกอบไปด้วยกลิ่นอันหอมตลบไป และประกอบไปด้วยปทุมชาติ ๕ ประการ กษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พันพระนคร ในสกลชมพูทวีปนั้น จักมานอบน้อมอภิวันทนาการด้วยดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และบรมจักรผู้ครองสมบัติในสกลชมพูทวีป ผู้เปรียบปานดุจทิพยสมบัติอันเป็นมโหฬาริกภาพ และจักมีปุโรหิตาจารย์ผู้หนึ่งยิ่งด้วยยศบริวาร เป็นพราหมณ์มหาศาลอันอุดมด้วยตระกูลและสรรพสมบัติ มีนามชื่อว่า สุภะพราหมณ์ มีภรรยาชื่อ นางพราหมณีวดี 

           ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ณ กาลครั้งนั้น อชิตภิกษุอันจักตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เมื่อสันสราการ ท่องเที่ยวอยู่ในสวรรค์และมนุษย์สิ้นกาลช้านาน กว่าพระบารมีจะบริบูรณ์นั้นเป็นเวลาสิ้นพุทธันดรหนึ่งแล้ว และในชาติที่เป็นปัจฉิมภวิกชาติที่สุด แสวงหาพระสติงบารมีครบบริบูรณ์นั้น จักได้ขึ้นไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติในดุสิตพิมานนั้นกำหนดกาลได้ ๔ พันปีทิพย์ ตามประเพณีแห่งปัจฉิมภวิกโพธิสัตว์แล้ว เทเวหิ ยาจิโต และเทพยดาทั้งหลายในโลกธาตุทั้งปวง จะพากันมากราบทูลอาราธนาเชื้อเชิญ พระองค์ก็จุติลงมาจากสรรค์ชั้นดุสิต ถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณีวดี พราหมณี ในเพลาราตรีปัจจุสมัย อาสาฬหปุณฺณมี อุโบสถ ในวันเพ็ญเดือน ๘ ครั้งนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ก็ลงมาอภิบาลรักษาครรภ์องค์พระอริเมตไตย บรมโพธิสัตว์นั้น 

ครั้นอยู่ในครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว ก็ประสูติจากครรภ์แห่งพระมารดา พร้อมไปด้วยบุพพนิมิตมห้ศจรรย์ ๓๒ ประการ สุรภิคนฺโธ กลิ่นอันหอมก็ฟุ้งไปในมงคลจักรวาลปราสาททั้ง ๓ ก็จักบันดาลปรากฏขึ้นด้วยบุญญาภิสมภารของพระบรมโพธิสัตว์ ปราสาทหนึ่งชื่อ ศิริวัฑฒนะ อันหนึ่งชื่อ จันทนะ อันหนึ่งชื่อ สิตถะ ประกอบไปด้วยสตรีสาวทั้งหลาย อันเป็นบริวารแวดล้อมพระบรมโพธิสัตว์เจ้าประมาณได้ ๗ แสน มีนางจันทมุขีเป็นเอกอัครชายา เป็นใหญ่กว่าสตรีทั้ง ๗ แสนนั้น ๆ จะมีพระราชโอรสชื่อว่า วัฑฒนกุมาร ส่วนสมเด็จพระเมตไตยบรมโพธิสัตว์นั้น เสด็จขึ้นทรงรถแล้ว ก็ย่อมไปประพาสเล่นในสวนอุทยาน จักได้ทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง ๔ ประการ ก็มีพระหฤทัยเกิดสังเวช เสด็จกลับจากสวนอุทยานแล้ว ก็มีน้ำพระทัยน้อมไปในที่จะออกบรรพชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้นปราสาทอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ก็จะบันดาลเลื่อนลอยไปในนภากาศ พาองค์พระบรมโพธิสัตว์กับทั้งบริวาร เปรียบประดุจพญาสุวรรณหงศ์เหมราช ส่วนท้าวพระยาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุทั้งปวง ก็จะชวนกันมาแห่แหนกระทำสักการะบูชา

           สกลราชาโน ฝ่ายท้าวพระยาทั้งหลายในสากลชมพูทวีป ประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันพระนคร กับหมู่มหาชนชาวนิคมชนบท ก็พากันมากระทำสักการะบูชา ส่วนพระยาสังขบรมจักรนั้นกับทั้งราชบริพาร ก็จะเสด็จตามพระบรมโพธิสัตว์ไป ณ เบื้องหลัง ส่วนท้าวมหาพรหม ก็นำเอาทิพพเศวตฉัตรอันกว้างใหญ่ได้ ๖๐ โยชน์ มากางกั้นพระบรมโพธิสัตว์ สมเด็จท้าวอมรินทราธิราชก็จะเป่าทิพพสังข์นำเสด็จไป ณ เบื้องหน้า สุยามะเทพบุตรก็จะเอาพัดวาลวิชนีมาพัดโบก สันตุสิตะเทพบุตรก็จักถือเอาซึ่งพัดใบตาลแก้วมณีงามบริสุทธิ์ ปัญจสิขเทวบุตรก็จักถือซึ่งพิณและบัณเฑาะว์อันเป็นทิพย์ มาบรรเลงถวาย ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ก็มีพระหัตถ์ทรงพระแสงขรรค์มาคอยป้องกันในทิศทั้ง ๔ ขณะนั้น เทพดาและมนุษย ์นาค และยักษ ์คนธรรพ์ และสุบรรณทั้งหลายก็ติดตามพระบรมโพธิสัตว์เจ้าไปในเบื้องซ้ายขวา เบื้องหน้าและเบื้องหลัง โส เอวรูโป สิริภคฺคสมฺปทาย สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แวดล้อมไปด้วยยศบริวารอันเลิศเห็นปานดังนี้ เสด็จไปโดยเวหาประเทศด้วยกำลังบุญญานุภาพของพระองค์ และอานุภาพแห่งบรมจักร แล้วก็เลื่อนลอยมาประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศที่ใกล้แห่งพญาไม้มหาโพธิพฤกษ์กากะทิง กับทั้งปรางคปราสาท ณ กาลครั้งนั้น ฯ

           ตสฺมึ ขเณ ในขณะนั้น ท้าวมหาพรหมก็ถือเอาเครื่องอัฏฐสมณะบริขารทั้ง ๘ ประการ อันสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ลงมาถวายองค์สมเด็จพระมหาโพธิเจ้า จึงเอาพระแสงขรรค์อันคมกล้า ทรงตัดเมาลีแล้วก็ซัดขึ้นไปในนภากาศ ท้าวสักกเทวราชก็นำเอาผะอบแก้วมณีลงมารองรับ เชิญไปประดิษฐานบรรจุไว้ในพระจุฬามณี หน่อพระชินสีห์ก็ทรงรับบริขารทั้ง ๘ ประการ จากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหมแล้วทรงบรรพชา จักกระทำมหาปัฏธานวิริยะทุกกรกิริยาอยู่ ๗ วันแล้ว ก็จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขณะเมื่อพระศรีอริยะบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงบรรพชาแล้วนั้น บรรดามหาชนทั้งหลายที่ตามเสด็จมานั้น ก็ชวนกันบรรพชาตาม

           นาครุกฺโข อโหสิ โพธิรุกฺโข ไม้กากะทิงนั้นจะเป็นไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ กำหนดโดยสูงได้ ๗๒๗ ศอก มีกิ่งงอกออกไป ๔ กิ่ง ยาวเท่า ๆ กัน ใบนั้นเขียวอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งเมื่อองค์พระศรีอริยเมตไตยบรมโพธิสัตว์ จวนจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณนั้น พระยามาราธิราชก็จักมาดำริการณ์ดุจพระสิทธัตถะราชกุมารเมื่อแรกได้ตรัสฉะนั้น แล้วพระยามาราธิราชก็จะยกพยุหมหันตพลมารมา หวังจะผจญพระบรมโพธิสัตว์ ครั้นมาถึงขอบเขาจักรวาล พระยามาราธิราชและเสนามารและเห็นอานุภาพพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นมโหฬาริกภาพ พระยามารก็ล่าทัพกลับไป ส่วนพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จขึ้นสู่พระอปราชิตาอาสน์บัลลังก์ ณ เพลาสายัณห์สมัย ภายใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิพฤกษ์มณฑลนั้น เวลาปญมยามก็ได้ซึ่งปุพเพนิวาสนุสติญาณ ครั้นย่างเข้าปัจฉิมยามก็ได้ทิพพจักษุ และทิพพโสตญาณ ปจฺฉิมยาเม ครั้นย่างเข้าในเวลาปัจฉิมยามปัจจุสมัยจวนใกล้รุ่ง ก็ปลงปัญญาพิจารณาลงในปัจจยาการ โดยอนุโลมและปฏิโลมไป ๆ มา ๆ สมฺปาปุณิ ก็ได้สำเร็จแก่พระสร้อยสัพพัญญุตญาณ ยังมนุษย์ทั้งหลายคณนานับได้แสนโกฏิ ให้ดูดดื่มซึ่งอมฤตรสธาราเทพยดาทั้งหลาย ที่ได้บรรลุมรรคผลนั้นหาประมาณมิได้ และองค์พระเมตไตยบรมศาสดาจารย์กำหนดพระวรกายโดยสูงได้ ๘๘ ศอก โดยคณนา ปญฺจวี สติ วิตฺถารา ถ้าจะวัดโดยรอบได้ ๒๕ ศอก แต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลนั้นยาว ๒๒ ศอก แต่พระชานุมณฑลขึ้นไปจนถึงพระนาภียาว ๒๒ ศอก แต่พระนาภีไปจนถึงพระรากขวัญยาว ๒๒ ศอก แต่พระรากขวัญไปจนถึงพระอุณณหิศนั้นยาว ๒๒ ศอก พระหัตถ์ทั้ง ๒ ยาวข้างละ ๒๐ ศอก ระหว่างพระพาหาทั้งสองยาวได้ ๒๕ ศอก พระรากขวัญแต่ละข้าง ๆ ยาวได้ ๕ ศอก นิ้วพระหัตถ์ยาวได้ ๕ ศอก พื้นพระหัตถ์ยาว ๕ ศอก พระโขนงทั้ง ๒ ข้างยาวได้ข้างละ ๕ ศอก ระหว่างพระโขนงทั้ง ๒ ยาวได้ ๕ ศอก พระศอยาวได้ ๕ ศอก พระโอษฐ์เบื้องบนยาวได้ ๑๕ ศอก พระโอษฐ์เบื้องล่างยาวได้ ๑๕ ศอก พระชิวหายาว ๑๐ ศอก พระเนตรทั้ง ๒ ข้างกว้างได้ ๗ ศอกปริมณฑล ดวงพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง ใหญ่ยาวได้ ๕ ศอกปริมณฑล พระกรรณทั้ง ๒ ข้าง กว้างข้างละ ๗ ศอกปริมณฑล โดยยาวข้างละ ๒๔ ศอกปริมณฑล พระอุณหิศกรม ๒๕ ทรงไว้ซึ่งอสีตยานุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีฉัพพรรณรังสีเปล่งออกประดุจดังสุวรรณธารา ครอบงำเสียซึ่งรัศมีพระจันทร พระอาทิตย์ ส่องสว่างไปในหมื่นจักรวาลทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยพระรัศมีนั้นแผ่ไปในทิศทั้งปวงอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ มนุษย์ทั้งหลายกำหนดได้ว่ากลางวันและกลางคืน ด้วยสำเนียงนกร้องและดอกไม้บาน เมื่อสัตว์เดรัจฉานเนื้อนกทั้งหลายเที่ยวหาอาหารแล้ว เมื่อใด มนุษย์ทั้งหลายก็กำหนดได้ว่าเป็นกลางวัน เมื่อนกทั้งหลายพากันเข้ารวงรังนอน มนุษย์ทั้งหลายก็สำคัญได้ว่าราตรี

           มหาปทุมํ อนึ่ง ดอกปทุมชาติอันใหญ่ ก็ชำแรกพ้นพสุธาดลขึ้นมา ตึสหตฺถมตฺตํ มีกลีบใหญ่แห่งดอกบัวอันบานคอยรับพระบาทนั้นประมาณได้ ๓๐ ศอก กลีบน้อยนั้นยาวได้ ๑๕ ศอก มีเกสรยาวได้ ๒๐ ศอก มีฝักนั้นยาวได้ ๔๖ ศอก ละอองเกสรตวงได้ ๑๐ ทะนาน ประดิษฐานรองรับพระบาทของบรมศาสดาจารย์ ขณะเมื่อจะทรงพระพุทธลีลาสไปในที่ทั้งปวง มนุษย์ทั้งหลายมิได้มีกิจที่จะต้องทำไร่ไถนาค้าขายและอาชีพ อโรคา หาโรคมิได้ ประกอบไปด้วยความสุขสนุกสำราญ มีพุทธาธิคุณเป็นอารมณ์ทุกคืนทุกวัน มีแต่ว่าจะบริโภคอาหารอันเกิดแต่ไม้กัลปพฤกษ์ นุ่งห่มและเลี้ยงชีวิตของตน ๆ มิได้กันดารเดือดร้อน เป็นผาสุขยิ่งนัก ฯ

           โส ภควา สมเด็จพระศรีอริยเมตไตยสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ กาลครั้งนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้สวนาการฟัง ก็ได้ดำรงอยู่ในธัมมาภิสสัยนับได้ถึง ๓ หมื่นโกฏิ 

           เนื้อความตามที่ได้กล่าวมานี้ มีพิสดารอยู่ในเมตเตยยะพยากรณ์ แสดงมานี้แต่เป็นพอสังเขปนัย พอให้เห็นใจความว่า พระศรีอาริยเมตไตยบรมโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งจะมาตรัสในอนาคตกาลเบื้องหน้าในภัททกัปป์นี้นั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระสมติงสบารมีเป็นส่วนวิริยาธิกโพธิสัตว์ กำหนดพระบารมี ๘๐ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ ได้พบพระพุทธเจ้า ๒ ล้าน ๔ หมื่น ๘ พัน ๑ ร้อย ๘ พระองค์ มากกว่าพระวิปจิตัญญูโพธิสัตว์ อันสร้างพระบารมีเป็นสัทธาธิกพุทธเจ้านั้น ๒ เท่า ได้พบพระพุทธเจ้ามากกว่ากัน ๒ เท่า กว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นี้ นานกว่านานยิ่งนัก นี้หากว่าด้วยพระองค์ทรงพระมหากรุณาในหมู่สัตว์นั้นมากนักหนา ปรารถนาจะรื้อขนเวไนยสัตว์ทั้งปวงขึ้นจากวัฏฏสงสาร จึงสู้ยากลำบากพระกายด้วยทรงสร้างพระสมติงบารมีพุทธาภินิหาร พุทธการกธรรม แต่ละพระองค์ ๆ นั้นนานกว่านาน กำหนดกาล ๒๐ อสงไขยแสนกัปป์บ้าง ๔๐ อสงไขยแสนกัปป์บ้างจึงได้ตรัส แต่ละพระองค์ ๆ ถึงเพียงนี้ เตนาหุ โปราณา เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้แต่งตั้งซึ่ง นโม เป็นคำรบ ๓ สำหรับจะได้นมัสการซึ่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ จำพวก พวกละจบ ๆ ตามที่ได้บรรยายมาด้วยประการฉะนี้ ฯ

           นี่แหละพวกเราเหล่าพุทธบริษัท ผู้ไพบูลย์ด้วยวิจารณปัญญา ชำนาญในการพิจารณา พึงระลึกถึง พึงนอบน้อม ในพระคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายให้จงมากเถิดว่า บรรดานรานิกรเราท่านทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเอากำเนิดมาเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพเป็นอเนกแน่น จะนับจะประมาณมิได้นี้ ถ้าหากไม่มีสมเด็จพระผู้ทรงไว้ซึ่งพระอุตสาหะวิริยภาพอันอุดม ยากยิ่งที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกระทำได้ พระองค์ผู้สามารถช่วยผ่อนปรนรื้อขนพาสัตว์ข้ามสาคร วังวัฏฏสงสารแล้ว จะมีผู้ใดบ้างซึ่งสามารถจะนำตัวให้ล่วงพ้นจากภูมิวัฏฏ์ได้ หน้าที่จะพากันเวียนว่ายตายเกิดอากูลมูลหมองอยู่ไนทุกข์ทั้ง ๔ มีชาติทุกข์เป็นต้น ย่อมจะเสวยทุกขเวทนายวดยิ่งกว่านี้หาที่สุดมิได้ นี่หากว่าสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงพระเมตตาแก่เราท่านทั้งหลาย เป็นเอนกปริยายมากนัก พระองค์ทรงพระอุตสาหะทรมานตนก่อสร้างอบรมพระบารมีมาช้านานนับได้ถึง ๒๐ อสงไขยแสนกัปป์เห็นปานฉะนี้ 

เพราะฉะนั้น ท่านผู้เป็นเมธาวีรชน พึงรีบบำเพ็ญกองการกุศล มีการจำแนกแจกทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา มีการระลึกและการนอบน้อมในพระคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ จำพวก มีนัยตามที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น บุญราศีโกฏฐาสอันนั้นก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ การประณาทนอบน้อมถึงพระนามแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีพลานิสงส์ผลอันยิ่งใหญ่ ตามที่ได้บรรยายมานี้ ฯ

จบบริบูรณ์ตามต้นฉบับเดิม

พิมพ์ที่โรงพิมพ์วิญญาณ 

๔๗/๒ ถนนสามเสน บางลำภู กรุงเทพมหานคร โทร. ๐๒-๒๘๒ ๒๐๒๕

พร รัตนสุวรรณ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พ.ศ. ๒๕๓๕

                                                อยากให้ใคร ไหว้เรา ไหว้เขาก่อน

                                                อยากได้ยิน คำสุนทร ต้องอ่อนหวาน

                                                อยากได้ความ รักใคร่  ไมตรีการ

                                                ต้องเจือจาน ใจสมัคร รักเขาจริง

 

วรณี สัชฌุกร

เป็นมนุษย์ หรือ เป็นคน ?

เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง    เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน

ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน       ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา

ใจสะอาดใจสว่างใจสงบ         ใครมีครบควรเรียกมนุสสา

เพราะทำถูกพูดถูกทุกเวลา       เปรมปรีดาทุกคืนวันสุขสันต์จริง

ใจสกปรกมืดมัวและร้อนเร่า      ใครมีเข้าควรเรียกว่าผีสิง

เพราะทำผิดพูดผิดจิตประวิง      แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย

คิดดูเถิดถ้าใครไม่อยากตก       จงรีบยกใจตนรีบขวนขวาย

ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย        ก็สมหมายที่เกิดมาอย่าเชือนเอย.

                                                                                                        

  พระพุทธทาส