- กฏแห่งกรรม

กมฺมสฺสกา                                     เรามีกรรมเป็นของของตน

    กมฺมทายาทา                                      เราต้องรับผลของกรรม     

กมฺมโยนี                                                  เรามีกรรมนำมาเกิด

กมฺมพนฺธู                                            เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์

กมฺมปฏิสรณา                                เรามีกรมมเป็นที่พึ่งอาศัย

 ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ                                     เราทำกรรมอันใดไว้

กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา                                      ดีหรือชั่วก็ตาม

ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ           เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น

  * * * * *

เจ้าเกิดมา มีอะไร มาด้วยเจ้า

เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน

เมื่อเจ้ามา มือเปล่า จะเอาอะไร

เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

* * * * *

กฏแห่งกรรม

แสดงโดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ป.ธ.๙ , ศน.บ.(เกียรตินิยม), M.A.

เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร และเจ้าคณะภาค ๑๖ - ๑๗ - ๑๘ (ธ)

เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.๑๐๑๐๐

โทรศัพท์ ๐๒ - ๒๘๑ ๗๙๔๔ โทรสาร ๐๒ - ๒๘๒ ๖๐๔๒

     คำนำ

     กฏแห่งกรรม เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากอย่างหนึ่งในบรรดาคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะเกี่ยวกับชีวิตของคนเราทุกคน เป็นกฏธรรมชาติว่าด้วยเหตุและผล หรือกฏทางวิทยาศาสตร์ด้านจิตใจอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เรียกว่า กรรมนิยาม

      เรื่องกฏแห่งกรรมนี้บางคนไม่เชื่อเอาเลย บางคนเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ยังลังเลสงสัยอยู่ บางคนก็เชื่อสนิท แต่บางคนไปเชื่ออำนาจพระเจ้าหรือสิ่งที่ตนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ หรือไปเชื่ออำนาจดวงดาว

      ผู้ไม่เชื่อกฏแห่งกรรม ก็เท่ากับว่าไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิดไปด้วย เพราะเกี่ยวเนื่องกัน ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นอันตรายแก่ตนเองและสังคมส่วนรวมได้มาก เพราะไม่เขื่อบุญเชื่อบาป

     พุทธศาสนิกชนที่แท้จริง ย่อมเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมที่เรียกว่า กัมมะสัทธา - เชื่อกรรม เพราะกฏแห่งกรรมนี้เป็นกฏธรรมชาติที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของเราเอง แม้ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ในทุกกรณี เพราะความรู้ความสามารถจำกัดก็ตาม แต่เมื่อมีศรัทธาข้อนี้แล้วก็ย่อมมีศรัทธาข้ออื่นๆ ติดตามมาด้วยเพราะเกี่ยวเนื่องกัน

      เรื่องกฏแห่งกรรมนี้ มีพุทธศาสนิกชนสนใจกันมาก แต่บางคนเข้าใจกรรมเพียงบางแง่บางมุมเท่านั้น แม้จะมีชีวิตมานานและศึกษาพระพุทธศาสนามานานแล้วก็ตาม เพราะกฏแห่งกรรมมีความสลับซับซ้อนมาก ยากที่จะศึกษาในแง่มุมต่างๆ ให้หมดได้ง่าย

     เรื่องกฏแห่งกรรมนี้ ได้มีผู้เขียนจัดพิมพ์ออกเผยแพร่กันมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่เขียนในแง่มุมต่างๆ กัน ส่วนใหญ่จะยกตัวอย่างคนที่ประสบกรรมนั้นๆ มาชี้ให้เห็นกฏแห่งกรรม แต่ไม่ค่อยได้พูดถึงหลักและกฏเกณฑ์ที่เป็นเหตุผลของมันในแง่มุมต่างๆ ให้เพียงพอ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อมั่นในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการกลัวผลของบาปกรรมและทำให้เชื่อมั่นในการสร้างกรรมดี

     เนื่องจากกฏแห่งกรรมนี้ เป็นหลักธรรมที่น่าสนใจมาก มีแง่มุมที่น่าอธิบายให้ทราบอยู่มาก และยังมีผู้ไม่รู้และเข้าใจผิดอยู่มาก แม้จะมีผู้เขียนผลงานด้านนี้ออกมาแล้วมากท่านก็ตาม แต่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เห็นว่ายังมีแง่มุมต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปควรทราบอยู่อีกมาก จึงได้เขียนกฏแห่งกรรมเล่มนี้ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านผู้สนใจได้มีความเข้าใจกฏแห่งกรรม และเชื่อมั่นในหลักพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น เป็นการยืนยันสนับสนุนหลักพระพุทธศาสนาและเผยแผ่ให้กว้างขวาง เป็นประโยขน์แก่คนทั่วไปมากขึ้น อันจะนำความสงบสุขมาสู่ประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวมเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อคนเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมแล้วก็จะพยายามสร้างแต่กรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว แม้จะไม่มีใครรู้เห็นก็ตาม แต่จะตั้งใจสั่งสมแต่ความดีตลอดไป ด้วยความมั่นใจและศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา

     หนังสือ "กฏแห่งกรรม" เล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๑๒ ตอน แต่ละตอนให้ความกระจ่างในเรื่องกฏแห่งกรรมเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น

     ตั้งแต่ตอนที่ ๑ - ๖ เดิมเป็นคำบรรยายอยู่ในเทปชุด กฏแห่งกรรม ที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในการอบรมกรรมฐานประจำเดือน ๆ ละ ๒ ครั้ง เฉพาะเสาร์แรกกับเสาร์ที่สามของเดือน ณ พระวิหารวัดโสมนัสวิหาร รวม ๖ ครั้ง ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๐ ได้เอาตอนที่ ๑๑ คือ คลายสงสัย มารวมด้วย จัดทำเป็นเทปธรรมะ กฏแห่งกรรม ๖ (ม้วน) นำออกเผยแผ่ในนามศิษย์กรรมฐานวัดโสมนัสวิหาร เพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิ ฐิตวณฺโณ (พิจิตร) เพื่อเผยแผ่พุทธธรรม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา ได้รับความสนใจจากท่านผู้ฟังมากชุดหนึ่ง ในบรรดาเทปธรรมะที่ข้าพเจ้าจัดทำออกเผยแพร่ไปแล้ว

     ตั้งแต่ตอนที่ ๑ - ๖ ถ้อยคำส่วนใหญ่เป็นสำนวนพูด เพราะถอดออกมาจากเทปคำบรรยายดังกล่าวแล้ว จึงอาจจะขาดความไพเราะในสำนวนที่เขียนไปบ้าง แต่ก็มุ่งให้ผู้อ่านได้เข้าใจชัดเป็นสำคัญ ส่วนตั้งแต่ตอนที่ ๗ - ๑๐ เป็นตอนค้นคว้ารวบรวมเขียนขึ้นใหม่ โดยอาศัยประสบการณ์และหลักฐานจากคัมภึร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการเขียน

     ตอนที่ ๑๑ คือ คลายสงสัย ได้ดึงเอามาจากตอนสุดท้ายของหนังสือ "ตายแล้วไปไหน" อันเป็นหนังสือที่ผู้สนใจมากเล่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รวบรวมเขียนไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อคลายสงสัยของท่านผู้อ่านบางส่วน ซึ่งแม้จะอ่านมาจนจบทั้ง ๑๐ตอนแล้ว แต่ยังมีความสงสัยอยู่ในบางแง่บางมุมในกฏแห่งกรรมอยู่

     ส่วนตอนที่ ๑๒ อันเป็นตอนสุดท้าย ได้รวบรวมมาจากพุทธสุภาษิต เฉพาะหมวดกรรมในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑,๒ และ ๓ อันเป็นหลักสูตรนักธรรมของทางคณะสงฆ์ เว้นไว้แต่ ๒ คาถาสุดท้ายของตอนนี้เท่านั้น ที่นำมาเพิ่มเติมเข้าใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตอนนี้เป็นหลักฐานอ้างอิงหลักกรรมในพระพุทธศาสนา ว่าท่านกล่าวไว้อย่างไรในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนสุภาษิตแต่ละบทที่นำมานั้น ท่านได้บอกหลักฐานอ้างอิงไว้เรียบร้อยแล้ว จึงย่อมสะดวกแก่ท่านผู้สนใจที่จะค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม

     ข้าพเจ้าได้มอบหนังสือนี้ให้สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันที่ให้ความรู้ชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาและความรู้สมัยใหม่แก่ข้าพเจ้า จัดพิมพ์ออกเผยแผ่ เพื่อหาทุนบำรุงการศึกษาของพระภิกษุสามเณร นักศึกษาในมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งนี้ และเพื่อเผยแผ่หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่ประเทศชาติ และพระศาสนาของเราโดยส่วนรวม

     หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ "กฏแห่งกรรม" เล่มนี้ จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่านผู้สนใจเป็นอย่างดี และจัดเป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านกฏแห่งกรรม

     ส่วนดีอันใดของหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แด่ท่านผู้มีพระคุณแก่ข้าพเจ้าทุกท่าน รวมทั้งผู้ที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมงานเผยแผ่พระศาสนาของข้าพเจ้าทุกท่านด้วย ขอให้ทุกท่านจงได้รับส่วนกุศลจากผลงานของหนังสือเล่มนี้โดยทั่วกัน

พระราชวิสุทธิกวี *

(พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ

และรักษาการห้วหน้ากองตำรา

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๔ เมษายน ๒๕๓๒

คณะ ๓ วัดโสมนัสวิหาร

เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐

โทร. ๐๒ - ๒๘๑ ๗๙๔๔

จงได้รับส่วนกุศลจากผลงานของหนังสือเล่มนี้โดยทั่วกัน

พระศรีวิสุทธิกวี *

(พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ

และรักษาการห้วหน้ากองตำรา

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๑

คณะ ๓ วัดโสมนัสวิหาร

เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐

โทร. ๐๒ - ๒๘๑ ๗๙๔๔

* ปัจจุบันเป็น พระธรรมวิสุทธิกวี

สารบาญ

ตอนที่ ๑ กรรมจำแนกสัตว์

ตอนที่ ๒ กรรม ๑๒ (สองหมวดแรก) 


ตอนที่ ๓ กรรมให้ผลตามลำดับ (หมวดที่ ๓)

            กรรมที่ให้ผลตามลำดับ 

ตอนที่ ๔ กรรม ๑๖

            กรรมฝ่ายบาป ๘ อย่าง

  ข้อที่ ๑ บาปกรรมบางอย่างถูกคติสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๒ บาปกรรมบางอย่างถูกอุปธิสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๓ บาปกรรมบางอย่างถูกกาลสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๔ บาปกรรมบางอย่างถูกปโยคสมบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๕ บาปกรรมบางอย่างอาศัยคติวิบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๖ บาปกรรมบางอย่างอาศัยอุปธิวิบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๗ บาปกรรมบางอย่างอาศัยกาลวิบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๘ บาปกรรมบางอย่างอาศัยปโยควิบัติ จึงให้ผล 

  กรรมฝ่ายบุญ ๘ อย่าง

  ข้อที่ ๑ กรรมดีบางอย่างถูกคติวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๒ กรรมดีบางอย่างถูกอุปธิวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๓ กรรมดีบางอย่างถูกกาลวิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๔ กรรมดีบางอย่างถูกปโยควิบัติห้ามเสีย จึงไม่ให้ผล 

  ข้อที่ ๕ กรรมดีบางอย่างอาศัยคติสมบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๖ กรรมดีบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๗ กรรมดีบางอย่างอาศัยกาลสมบัติ จึงให้ผล 

  ข้อที่ ๘ กรรมดีบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติ จึงให้ผล 

ตอนที่ ๕ บุคคล ๔ ประเภท

  ประเภทที่ ๑ คนที่มืดมามืดไป 

  ประเภทที่ ๒ คนที่มืดมาสว่างไป 

  เรื่องโจรเคราแดง 

  ประเภทที่ ๓ คนที่สว่างมามืดไป 

  ประเภทที่ ๔ คนที่สว่างมาสว่างไป 

ตอนที่ ๖ กรรมที่ปรากฏเมื่อจวนจะตาย

  คนขโมยของที่ถูกไฟไหม้ 

  เรื่องนายโคฆาตก์ 

  เรื่องนายจุนทสูกริก 

  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

  พระราชปัจฉิมวาจาของพระจอมเกล้า 

  เรื่องธัมมิกอุบาสก 

ตอนที่ ๗ กรรมบถ

  อกุศลกรรมบถ ๑๐ 

  ทวาร ๓ 

  องค์ประกอบของอกุศลกรรมบถ 

  ทิฏฐิ ๓ 

  โทษของอกุศลกรรมบถ ๑๐ 

  กุศลกรรมบถ ๑๐ 

  อานิสงส์ของการประพฤติกุศลกรรมบถ 

ตอนที่ ๘ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

  ลักษณะของบุญ 

  บุญกิริยาวัตถุ 

  ขยายความบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ 

  ทาน กับ จาคะ 

  อานิสงส์ของศีล 

  อานิสงส์ของการฟังธรรม 

  หลักการแสดงธรรม 

  สัมมาทิฏฐิ ๑๐ 

ตอนที่ ๙ ไตรวัฏ

  ปฏิจจสมุปบาท 

  ปฏิจจสมุปบาท ๒ สาย 

  พระพุทธองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท 

  ไตรวัฏในปฏิจจสมุปบาท

  สังขาร ๓ 

  ภพ ๒ 

ตอนที่ ๑๐ นิยาม ๕ (กฏธรรมชาติ)

  กฏแห่งกรรมต่างจากกฏธรรมชาติอย่างอื่น 

  ศรัทธา ๔ ประการ 

ตอนที่ ๑๑ คลายสงสัย  

  คนมีมากกว่าแต่ก่อน เอาวิญญาณมาจากไหน ? 

  ตายแล้วต้องเกิดเป็นคนตลอดไป ? 

  อยากเกิดใหม่เป็นเพศตรงข้ามทำอย่างไร ? 

  จิตกับสมองใครสั่งงาน ? 

  ทำไมจึงมองหรือจับต้องจิตไม่ได้ ? 

  "ทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว จริงไหม" ? 

  ทำไมกรรมชั่วจึงไม่ให้ผลทันที ? 

  ทำไมพระเทวทัตต์ทำชั่วมาก แต่เกิดในสกุลสูง ? 

  จะหนีกรรมชั่วได้อย่างไร ? 

  ผลของกรรม มีอะไรเป็นเครื่องวัด ? 

  ทำไมคนชั่วบางคนจึงรุ่งเรืองกว่าคนดี ? 

  ทำไมคนเราระลึกชาติไม่ได้ ? 

  คนที่ระลึกชาติได้ ต้องได้ฌาน ? 

  กรรมดีลบล้างกรรมชั่วได้ไหม ? 

  ทำบุญแล้วควรอธิษฐานหรือไม่ ? 

  สรุปความ 

ตอนที่ ๑๒ พระบาลีแสดงกฏแห่งกรรม  

จดหมายตอบอนุญาต

     ผู้จัดทำเว็บไซท์ได้อ่านหนังสือ "กฏแห่งกรรม" ของท่าน พระธรรมวิสุทธิกวี เมื่อประมาณปีเศษมาแล้ว เมื่ออ่านจบมีความตั้งใจว่า ถ้าทำเว็บไซท์ธรรมะ จะเขียนจดหมายไปขออนุญาตนำเรื่องนี้ลงเผยแผ่ในอินเตอร์เน็ต จึงเขียนจดหมายไปหาท่านเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๕ และพระคุณเจ้าได้ตอบมาดังนี้ :-

วัดโสมนัสวิหาร เขตป้อมปราบฯ กทม.๑๐๑๐๐

๑๔ เมษายน ๒๕๔๕

     เจริญพรคุณโยม

            จดหมายของคุณโยมที่ส่งไปถึงอาตมาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๕ ปรารภเรื่องขออนุญาตนำเรื่อง "กฏแห่งกรรม" ที่อาตมาได้เขียนและจัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ลงในเว็บไซท์ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษานั้น อาตมาได้รับทราบแล้ว ตั้งใจว่าจะตอบหนังสือของคุณโยมอยู่หลายวันแล้วแต่โอกาสยังไม่อำนวย จึงมีโอกาสตอบให้ทราบเสียในวันนี้ อันอยู่ในช่วงสงกรานต์ วันปีใหม่ของไทยเรามาแต่เดิม

            อ่านพิจารณาดูในจดหมายของคุณโยมแล้ว เห็นว่าคุณโยมเป็นคนฉลาดและมีบุญที่คอยหนุนอยู่ มิฉะนั้นแล้วคงเสียชีวิตเพราะคิดสั้นไปในครั้งเมื่อถูกมรสุมชีวิตอย่างหนักเมื่อปี ๒๕๔๐ นั้นแล้ว แต่มีผู้ช่วยเหลือไว้ แสดงว่าคุณโยมเคยช่วยเหลือคนอื่นมาก่อน นับว่ามีบุญอยู่ในข้อนี้

            การที่คุณโยมอ่านหนังสือ "กฏแห่งกรรม" แล้ว เกิดเห็นคุณค่า ปลงตก และเข้าใจคำสอนทางพระพุทธศาสนามากขึ้น จนถึงอยากจะขออนุญาตนำเรื่อง "กฏแห่งกรรม" ไปลงในเว็บไซท์ เพื่อเพื่อนชาวไทยของเราจะได้เปิดดู อ่านดู แล้วนำไปปฏิบัติแนะนำตนและผู้อื่น อันจะนำความสงบสุขมาแก่ส่วนรวมคือสังคมในชาติของเรามากขึ้น นับว่าคุณโยมมีใจเป็นกุศลในการที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติให้ได้รับแสงพระธรรม แม้เพียงแต่คิดก็เป็นบุญแล้ว เพราะมีใจเป็นสัมมาทิฏฐิ ยิ่งถ้าได้ลงมือทำ แล้วได้มีช่วยเหลือจริง ๆ บุญก็ยิ่งเกิดมากขึ้นอย่างแน่นอน 

            การที่คุณโยมสนใจในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และสามารถใช้เว็บไซท์ได้ดี ก็แสดงว่าคุณโยมเป็นคนทันโลก ในการจะนำสิ่งที่มีค่าไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก โดยเฉพาะพี่น้องชาวไทยเราที่ยังไม่เข้าใจทราบซึ้งพระพุทธศาสนาอีกมาก

            อาตมายินดีอนุญาตให้คุณโยมนำเรื่อง "กฏแห่งกรรม" ไปลงเว็บไซท์ได้ตามที่ต้องการ เพื่อจะได้ช่วยกันให้คำสอนของพระพุทธเจ้าของเราเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกมากขึ้น

            พร้อมด้วยหนังสือฉบับนี้ อาตมาได้ส่งหนังสือหนังสือที่มีค่า จำนวน ๔ เล่ม มาให้คุณโยม เพื่อให้คุณโยมได้ลงเว็บไซท์ในโอกาสอันสมควร ถ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับทราบ คือ :-

            ๑. ตายแล้วไปไหน ๒. กฏแห่งกรรม ๓. พรรณนาสวรรค์ ๔. ธรรมเภรี เล่ม ๑

            ที่ส่งกฏแห่งกรรมมาให้อีก เพราะมีแก้คำผิดอยู่ในหน้า ๓๘ ด้วย ขอให้แก้ไขใหม่ตามที่แก้แล้วและส่งมานี้ 

            อาตมาเองได้เขียนหนังสือทางพระพุทธศาสนาเท่าที่จัดพิมพ์ออกมาแล้ว ๗๒ เรื่อง แต่ที่มีจำหน่ายอยู่ไม่ถึง ๓๐ เรื่อง เฉพาะ ๔ เรื่องที่ส่งมาให้คุณโยมนี้ ล้วนแต่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันทั้งสิ้น

            ในที่สุดนี้ ขออนุโมทนาต่อกุศลจิตของคุณโยมที่จะจัดทำเว็บไซท์หนังสือธรรมออกเผยแพร่ และขออำนวยพรให้คุณโยมพ้นจากอุปสรรค อันตรายในชีวิต ประสบแต่สิ่งอันน่าปรารถนาอันประกอบด้วยธรรม ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอำนาจบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมา

ขออำนวยพร

พระธรรมวิสุทธิกวี

เจ้าอาวาสวัดโสนัสวิหาร กรุงเทพ ฯ

     ป.ล. ชื่อเดิมที่พิมพ์ไว้ในหนังสือกฏแห่งกรรม คือ พระเทพวิสุทธิกวี แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะชั้นเทพ เป็นชั้นธรรม ที่ "พระธรรมวิสุทธิกวี"

ฐิตวณฺโณ ภิกขุ

ขึ้นข้างบน     กลับหน้าแรก   

  

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

QR code 

กฏแห่งกรรม 

Start 28 July 2018