กฏแห่งกรรม ตอนที่ 9

  กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๙

ไตรวัฏ

       เมื่อพูดถึงกฏแห่งกรรม ก็จำเป็นต้องพูดถึงไตรวัฏด้วย เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน

       ฉะนั้น ในตอนนี้จะได้พูดถึง ไตรวัฏ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกฏแห่งกรรมในทางพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น

       ไตรวัฏ แปลว่า วน ๓ หรือ วงจร ๓ (ไตร - ๓ วัฏฏ - วน) ได้แก่การวนของสภาวธรรม ๓ ประการ คือ

              ๑. กิเลส คือ สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง

              ๒. กรรม คือ การทำดีและการทำชั่ว

              ๓. วิบาก คือ ผลของกรรม

              ไตรวัฏ เป็นการเวียนรอบ ๓ ประการอย่างไร ? คือ เมื่อมีกิเลสอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นเหตุให้คนหรือสัตว์โลกต้องสร้างกรรม เป็นกรรมดีบ้าง เป็นกรรมชั่วบ้าง

            เมื่อทำกรรมแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับวิบาก คือ ผลของกรรม เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ตามผลของกรรมที่ตนทำไว้

            เมื่อได้รับวิบาก อันเป็นผลของกรรมเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็เกิดกิเลสอีก เมื่อเกิดกิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรมอีก เมื่อทำกรรมก้เป็นเหตุให้ได้รับวิบากอีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า ไตรวัฏ - วน ๓ ทำให้ลูกโซ่แห่งชีวิตดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย คือทำให้การเวียนว่ายตายเกิดยังมีอยู่ตลอดไป

ปฏิจจสมุปบาท

       การเข้าใจเรื่องไตรวัฏให้ชัดเจน ผู้ศึกษาจำเป็นต้องเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท เพราะมีความเกี่ยวข้องกันมาก

       ปฏิจจสมุปบาท คือ การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (และดับไป) เป็นหลักธรรมว่าด้วยเหตุผลที่เข้าใจยากมาก ในบรรดาคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่ในที่นี้จะนำมากล่าวเพียงโดยย่อ เพื่อให้เข้าใจเรื่องไตรวัฏดีขึ้นเท่านั้น

       ในคัมภีร์อภิธรรม นิยมเรียก ปฏิจจสมุปบาท ว่า ปัจจยาการ ซึ่งแปลว่า อาการที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น

       นอกจากนี้ ปฏิจจสมุปบาท ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีก ๒ อย่าง คือ หลักอิทัปปัจจยตา (การที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยคืออาศัยกันและกัน) และ มัชเฌนธรรมเทศนา (ธรรมเทศนาที่เป็นสายกลาง)

       ในปฏิจจสมุปบาท มีองค์ธรรมอยู่ ๑๒ ประการ คือ

            ๑. อวิชชา ได้แก่ การไม่รู้อริยสัจ ๔

            ๒. สังขาร ได้แก่ สังขาร ๓

            ๓. วิญญาณ ได้แก่ วิญญาณ ๖

            ๔.นามรูป ได้แก่ นามและรูป

            ๕.สฬายตนะ ได้แก่ อายตนะ ๖

            ๖. ผัสสะ ได้แก่ ผัสสะ ๖

            ๗.เวทนา ได้แก่ เวทนา ๖

            ๘.ตัณหา ได้แก่ ตัณหา ๓

            ๙. อุปาทาน ได้แก่ อุปาทาน ๔

            ๑๐.ภพ ได้แก่ กรรมหรือภพ ๓

            ๑๑.ชาติ ได้แก่ ความเกิด

            ๑๒.ชรามรณะ โสกะปริเทวทุกข์ โทมนัส อุปายาส

                        คือ ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้น

ปฏิจจสมุปบาท ๒ สาย

ปฏิจจสมุปบาท มี ๒ สาย คือ

๑. สายเกิด เรียกว่า สมุทยทวาร

มีสูตรย่อว่า

            อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ = เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

            อิมสฺสุปาทา อิทํ อุปปชฺชติ = เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

อ่านว่า => อิ-มัส-สะ-มิง-สะ-ติ-อิ-ทัง-โห-ติ /// อิ-มัส-สะ-ปา-ทา-อิ-ทัง-อุป-ปัช-ชะ-ติ.

๒. สายดับ เรียกว่า นิโรธทวาร

มีสูตรย่อว่า

            อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ = เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

            อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ = เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ (ด้วย)

อ่านว่า => อิ-มัส-สะ-มิง-อะ-สะ-ติ-อิ-ทัง-นะ-โห-ติ. /// อิ-มัส-สะ-นิ-โร-ธา-อิ-ทัง-นิ-รุช-ฌะ-ติ.

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท

       ในโพธิวรรค แห่งคัมภัร์อุทาน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานในอุทานคาถา ๓ สูตรแรก โดยที่พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ในสมัยที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับเสวยวิมุติติสุขอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ โดยกล่าวถึงเนื้อความที่ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ว่า

       " ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า พอ (เสวยวิมุตติสุข) ล่วงไปได้ ๗ วัน ก็เสด็จออกจากสมาธินั้น ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลม (สายเกิด) ด้วยดี ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด คือ

            ๑. เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย

            ๒. เพราะสังขาร เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

            ๓ เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย   จึงมีนามรูป

            ๔ เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

            ๕ เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย  จึงมีผัสสะ

            ๖ เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

            ๗ เพราะเวทนา เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

            ๘ เพราะตัณหา เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

            ๙ เพราะอุปาทาน   เป็นปัจจัย จึงมีภพ

            ๑๐ เพราะภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ

            ๑๑ เพราะชาติ เป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และ อุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ "

หลังจากที่ทรงเปล่งอุทานแล้ว พระองค์ก็ทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม (สายดับ) ในมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า

" เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

            ๑. เพราะอวิชชา ดับ   สังขาร จึงดับ

            ๒. เพราะสังขาร ดับ   วิญญาณ จึงดับ

            ๓. เพราะวิญญาณ ดับ   นามรูป จึงดับ

            ๔.เพราะนามรูป ดับ   สฬายตนะ จึงดับ

            ๕.เพราะสฬายตนะ  ดับ   ผัสสะ จึงดับ

            ๖. เพราะผัสสะ ดับ   เวทนา จึงดับ

            ๗ เพราะเวทนา ดับ    ตัณหา จึงดับ

            ๘ เพราะตัณหา ดับ    อุปาทาน  จึงดับ

            ๙. เพราะอุปาทาน ดับ    ภพ จึงดับ

            ๑๐.เพราะภพ ดับ    ชาติ จึงดับ

            ๑๑.เพราะชาติ ดับ     ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ

        ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการฉะนี้ "

       ปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้านับโดยอาการที่เป็นเหตุของกันและกัน ก็มี ๑๑ อย่าง ถ้านับเรียงตัวทั้งเหตุและผล ได้ ๑๒ อย่าง

       ตัวปัจจยาการแต่ละอย่าง เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม เช่น อวิชชา เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมอย่างหนึ่ง

       ปฏิจจสมุปบาท เป็นอาการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (และดับไป) 

ส่วน ปฏิจจสมุปปันนธรรม เป็นตัวอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (และดับไป)

ไตรวัฏในปฏิจจสมุปบาท

       ในปฏิจจสมุปบาท มีไตรวัฏ - วน ๓ ของ กิเลส กรรม และ วิบาก

            กิเลส ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่า กิเลสวัฏ

            กรรม ได้แก่ สังขาร และกรรมภพ เรียกว่า กรรมวัฏ

            วิบาก ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เรียกว่า วิปากวัฏ อุปัตติภพ ชาติ และ ชรามรณะ

       วัฏฏะทั้ง ๓ นี้ หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนกันและกัน ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปไม่ขาดสาย ซึ่งเขียนออกมาเป็นภาพได้ดังนี้

       ในไตรวัฏนั้น มีกรรมวัฏ อยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งพูดถีงหลักของกรรม

       กรรม ในปฏิจจสมุปบาท มี ๒ อย่าง คือ สังขาร และ กรรมภพ

สังขาร ๓

       สังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้น แตกต่างกัน ในระหว่างพระสูตรกับพระอภิธรรม คือ ปฏิจจสมุปบาทนั้น ปรากฏทั้งในคัมภีร์พระสูตรและพระอภิธรรม แต่อธิบายสังขารไม่เหมือนกัน

สังขารในพระสูตร หมายถึงสังขาร ๓ คือ

            ๑. กายสังขาร สภาพอันแต่ง กาย

            ๒. วจีสังขาร สภาพอันแต่ง วาจา

            ๓. จิตตสังขาร สภาพอันแต่ง จิต

สังขารในพระอภิธรรม หมายถึงสังขาร ๓ คือ

            ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือ บุญ

            ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือ บาป

            ๓. อเนญชาภิสังขาร อภิสังขารคือ อเนญชา

       แม้คำอธิบายจะแตกต่างกัน แต่ก็มีความหมายเช่นเดียวกันนั้นเอง แต่การอธิบายสังขารตามแนวพระอภิธรรม ทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า คือ

       ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ การทำบุญ อันเป็นกุศลกรรม หรือกรรมดีนั่นเอง

       อปุญญาภิสังขาร ได้แก่การทำบาป อันเป็นอกุศลกรรม หรือกรรมชั่วนั่นเอง

       ส่วน อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปสมาบัติ ๔ คือ การได้บรรลุฌาน ที่ ๕ - ๘ ก็รวมลงในกุศลกรรม คือการทำดีนั่นเอง 

       ดังนั้น สังขารก็คือบุญ และ บาป หรือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม นั่นเอง

ภพ ๒

       ภพ มี ๒ ชนิด คือ

                  ๑. กรรมภพ ภพ คือ กรรม

                  ๒. อุปัตติภพ ภพ คือ การเกิด

       กรรมภพ นั้น ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และ อเนญชาภิสังขาร

       ส่วน(*๑) อุปัตติภพ ได้แก่ ขันธ์ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

       คำว่า " ภพ " ในคำว่า "อุปาทานปจฺจยา ภโว - เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ"

       ส่วนคำว่า " ภพ " ในคำว่า "ภวปจฺจยา ชาติ - เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ" กมายถึงกรรมภพเท่านั้น ดังที่พระ สุมังคลาจารย์ กล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธัมมัตถ(*๒)วิภาวินี ว่า "จริงอยู่ กรรมเท่านั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่ชาติ อุปปัตติภพ หาเป็นปัจจัยแก่ชาติไม่ แท้จริง อุปปัตติภพ นั้นเป็น สภาวะแห่งขันธ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก (เป็นขันธ์ที่เกิดมาทีแรก) ก็คือชาตินั่นเอง ก็ธรรมชาติคือ อุปปัตติภพนั้นนั่นแล เป็นปัจจัยแก่ชาติไม่ได้

การอาศัยกันและกันเกิดขึ้น และดับไปของปฏิจจสมุปปันนธรรม

       เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้กล่าวเชื่อมโยงให้เห็นว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม อาศัยกันและกันเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ดังต่อไปนี้

       อวิชชา เป็นต้นเค้าเดิมของกิเลสทั้งหมด คือเมื่อสัตว์โลกยังมีอวิชชาอยู่ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงของชีวิต และหวังจะให้ตนเองดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข ตามที่ตนคิดว่าถูกต้องและดีที่สุด จึงเป็นเหตุให้ทำกรรม อันเป็นตัวสังขาร คือเจตนาในการทำกรรม ถ้าทำกรรมดีก็เป็นปุญญาภิสังขาร ถ้าทำชั่วหรือบาปก็เป็นอปุญญาภิสังขาร ถ้าบำเพ็ญฌานจนถึงขั้นอรูปฌาน ก็เป็นอเนญชาภิสังขาร

       เมื่อยังมีตัวสังขารอันเป็นเหตุให้ทำกรรมต่างๆ เมื่อผู้นั้นตายก็เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ คือ ปฏิสนธิวิญญาณขึ้น เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณก็ทำให้เกิดภพใหม่ ซึ่งทำให้ผู้นั้นได้นามรูปใหม่ คือ เกิดรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ขึ้น อย่างครบถ้วน

       เมื่อมีนามรูปคือขันธ์ ๕ แล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดสฬายตนะ คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเครื่องรับรู้อารมณ์ภายในคือใจ จากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดผัสสะ คือ การประจวบกันระหว่างองค์ประกอบ ๓ ฝ่าย คือ อายตนะภายใน กับอายตนภายนอก และวิญญาณ

       เมื่อมีผัสสะก็เป็นเหตุให้เกิดเวทนา คือการเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือเฉยๆ บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหา - ความทะยานอยากขึ้น คือ ถ้าสุขสบาย ก็ชอบใจติดใจ หรืออยากได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าไม่สบาย ก็ขัดใจ ขัดเคือง ก็อยากจะให้สูญสิ้นหมดไป หรือให้พ้นไปเสีย ถ้ารู้สึกเฉยๆ เป็นความรู้สึกอย่างละเอียด จัดเข้าในฝ่ายสุข

       เมื่อมีตัณหา ความทะยานอยาก ก็เป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดภพ คือ เกิดเจตนาหรือเจตจำนงที่จะกระทำเพื่อให้ได้มา และให้เป็นไปตามความยึดมั่นนั้น และทำให้เกิดกระบวนพฤติกรรม (กรรมภพ) ทั้งหมดขึ้นอีก เป็นกรรมดี กรรมชั่ว หรืออเนญชา ตามตัณหาและอุปาทานนั้นๆ เช่น อยากไปสวรรค์ และมีความเห็นที่ยึดมั่นไว้ว่าจะไปสวรรค์ด้วยการทำเช่นนั้น ก็ทำอย่างนั้นๆ ตามที่ต้องการ พร้อมกับการกระทำนั้น ก็เป็นการเตรียมภาวะแห่งชีวิตที่จะไปปรากฏในภพที่สมควรแก่กรรมนั้นไว้พร้อมด้วย (อุปปัตติภพ)

       เมื่อกระบวนการก่อกรรมดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ครั้นชีวิตข่วงหนึ่งสิ้นสุดลง พลังงานแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ (กรรมภพ) ก็ส่งผลให้เกิดใหม่สืบต่อกันไปเป็นวงจรอีก คือ เป็นเหตุให้เกิดชาติขึ้น เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณปรากฏขึ้นในภพใหม่ เริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป

       เมื่อมีชาติก็เป็นเหตุให้ต้องมีชราและมรณะ ชราและมรณะจึงพ่วงพร้อมไปด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส ซึ่งเรียกรวมกันว่า ความทุกข์นั่นเอง 

       ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "กองทุกข์ทั้งปวง ย่อมเกิดมีด้วยประการฉะนี้"

          แม้ในสายนิโรธทวาร คือ สายดับ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับสายเกิด คือ เมื่อวิชชาดับ ปัจจยาการอื่นๆ ก็พลอยดับไปด้วยสิ้น เพราะต้นตอได้ดับไปแล้ว กองทุกข์ทั้งปวงก็ดับไปสิ้น ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "กองทุกข์ทั้งปวงนี้ดับไป ด้วยประการฉะนี้"

จบตอนที่ ๙