กฏแห่งกรรม ตอนที่ 6

 กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๖

กรรมที่ปรากฏเมื่อจวนจะตาย

      

      ในตอนนี้จะได้พูดถึงกฏแห่งกรรมตอน มรณาสันนวิถี คือ กรรมที่ปรากฏเมื่อจวนเจียนจะตาย 

      คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย จะตายเร็วตายช้าก็ต้องตายแน่ แต่เมื่อจวนเจียนจะตายนั้น จะมีกรรมเข้ามาปรากฏให้เห็นชัด ถ้าเราทำกรรมดีไว้ กรรมดีก็จะมาปรากฏในช่วงนั้น ถ้าทำกรรมชั่วไว้ กรรมชั่วจะเข้ามาปรากฏในช่วงนั้น เรียกว่าเป็นการฝันครั้งสุดท้ายในชาตินี้ และจะสิ้นสุดเมื่อเข้าไปสู่ชาติใหม่ ภพใหม่ ลักษณะที่จิตจับกรรมเอาในขณะนั้นท่านเรียกในคัมภีร์พระอภิธรรมว่า มรณาสันนวิถี หมายถึงวิถีจิตที่ใกล้จวนจะตาย คือ ในขณะนั้นจิตจะเข้าสู่วิถีของมันที่จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภพใหม่ คือจุติจิตจะปรากฏ เมื่อจุติจิตจะปรากฏแล้วปฏิสนธิจิตก็จะปรากฏต่อจากจุติจิต

       ปกติ จิตในขณะนั้นจะอยู่ในภวังค์เหมือนอย่างคนนอนหลับ แต่เมื่อมันจะเคลื่อนไปเป็นจุติจิต มันจะรับอารมณ์ของกรรมก่อน คือนำกรรมที่ได้สั่งสมเอาไว้เข้าไปสู่ภพใหม่ การที่นำกรรมที่สั่งสมไว้เข้าไปสู่ภพใหม่ จิตนั้นจะต้องรับอารมณ์

       คำว่า "อารมณ์" ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปยึดไว้ ไม่ได้หมายถึงอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย อย่างที่ทางโลกเขาใช้กัน อารมณ์ในที่นี้คือสิ่งที่จิตเข้าไปยึดไว้ ท่านเรียกว่า "อารมณ์"

อารมณ์จะมาปรากฏแก่จิตของผู้จวนจะตาย ๓ อารมณ์ คือ

(๑) กรรม ถ้าเรียกให้ชัดตามคัมภีร์พระอภิธรรมก็เรียกว่า กรรมอารมณ์ อารมณ์คือกรรม

(๒) กรรมนิมิต หรือ กรรมนิมิตอารมณ์ อารมณ์คือกรรมนิมิต

(๓) คตินิมิต หรือ คตินิมิตอารมณ์ อารมณ์คือคตินิมิต

       ใน ๓ อย่างนี้ ค่อนข้างเข้าใจยากหน่อย แต่ก็พอที่จะทำความเข้าใจได้ จึงขอย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อคนเราจวนจะตายนั้นย่อมมีลักษณะของกรรม ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาปรากฏในมโนทวาร คือทางใจ ได้แก่ (๑) กรรม (๒) กรรมนิมิต และ (๓) คตินิมิต

       กรรม นั้น หมายถึงกรรมที่เราทำเอาไว้ ถ้าเป็นกรรมดี เรียกกุศลกรรม ถ้าเป้นกรรมไม่ดี เรียกว่าอกุศลกรรม กรรมนั้นจะเข้ามาปรากฏเมื่อเราจวนเจียนจะตาย

       กรรมนิมิต นั้น หมายถึง เครื่องหมายของการทำกรรม ถ้าเราทำกรรมด้วยอุปกรณ์อย่างไร เวลาเมื่อจวนเจียนจะตาย อุปกรณ์ในการทำกรรมนั้น จะเข้ามาปรากฏเป็นเครื่องหมายให้ทราบ (นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย)

       ส่วน คตินิมิต นั้น หมายถึง เครื่องนิมิตหมายให้รู้ถึงแดนที่เราจะไปเกิด เราจะไปเกิดในภพไหนชาติไหน มันมีเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ว่าผู้นั้นจะไปดีหรือชั่ว ให้ดูที่คตินิมิต

       เมื่อจวนเจียนจะตาย กรรมมาปรากฏอย่างไร คือ ถ้าคนเราทำกรรมดีไว้มาก เมื่อจวนเจียนจะตายกรรมดีก็เข้ามาปรากฏแก่เรา กรรมดีคืออะไรที่เข้ามาปรากฏ ? คือใครก็ตามที่เคยทำกรรมดีไว้มาก ให้ทานบ้างรักษาศีลบ้าง เจริญภาวนาบ้าง เป็นคนกตัญญูกตเวที เลี้ยงดูพ่อแม่บ้าง หรือทำบุญ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ นั้น ทำไว้มาก เมื่อจวนเจียนจะตาย กรรมนี้จะเข้ามาเป็นอาสันนกรรม คือทำให้บุคคลนั้นรู้สึกแช่มชื่นเมื่อจวนจะตาย รู้สึกเบิกบาน ไม่กระวนกระวาย แม้เมื่อตอนป่วยหนักนั้น ผู้นั้นจะกระวนกระวาย แต่เมื่อจวนจะขาดใจนั้นเขาไปอย่างสงบ เช่น บางคนจุดธูปเทียนบูชาพระ บางคนภาวนาพุทโธ ๆ จากไป บางคนภาวนาอาหัง ๆ จากไป คือไปด้วยความเบิกบาน แม้จะเจ็บป่วยขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อจวนเจียนจะตาย วินาทีสุดท้ายของเขานั้นเขาไปอย่างดี ไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย แม้จะทุรนทุรายทางร่างกายแต่จิตใจก็สงบ ลักษณะเช่นนี้จะปรากฏแก่คนที่ทำกรรมดีเอาไว้มาก นี้เป็นลักษณะกรรมดีที่มาปรากฏเมื่อจวนเจียนจะตาย

       แต่ในขณะนั้น บางคนมีกรรมนิมิตมาปรากฏ กรรมนิมิตปรากฏนั้นคืออย่างไร ? คือ ถ้าเขาผู้นั้นเคยทำดีเอาไว้ เมื่อเขาจวนจะตาย กรรมดีนั้นย่อมเข้ามาปรากฏในมโนทวาร เช่น คนที่เคยใส่บาตร เมื่อเวลาที่เขาใกล้จะตาย ย่อมมีภาพทัพพี ขันข้าว หรือภาพพระสงฆ์ที่กำลังรับบาตรมาปรากฏในมโนทวาร หรือตนเคยทำบุญอันใดไว้ เครื่องอุปกรณ์ในการทำบุญจะมาปรากฏเป็นมโนภาพ (เหมือนภาพในความฝัน) เมื่อเขาจวนจะตาย เช่น เห็นภาพตัวเองกำลังถวายจีวรพระภิกษุสามเณร เห็นภาพตนเองกำลังนั่งสมาธิหรือทำความดีอย่างอื่นๆ เห็นอุปกรณ์ที่ตนเองใช้ในการทำความดี เช่น เห็นหม้อข้าว ทัพพี เห็นเครื่องบวชนาค เป็นต้นมันเห็นชัดเจนเป็นภาพๆ ไปเลย ภาพเหล่านี้จะมาปรากฏแก่บุคคลที่ทำความดีเอาไว้ ท่านเรียกว่า กรรมนิมิตฝ่ายดี

       ส่วนคนที่ทำกรรมชั่วไว้ เวลาจวนจะตาย กรรมชั่วนั้นจะมาปรากฏเป็นภาพในมโนทวาร ทำให้วุ่นวายใจหรือกระวนกระวาย กระสับกระส่าย เดือดร้อน ไม่สงบ เช่น บางคนที่เคยชนไก่เป็นประจำ เมื่อเขาจวนใกล้ตายก็ร้องทำเสียงเหมือนกับไก่ชนกัน เช่นทำเสียงว่า "ปั๊บๆ เอาเข้าไปๆ ๆ ๆ" บางคนเอามือของตนชนกันด้วย คือเอาหัวแม่มือกับหัวแม่มือตนเองชนกันเหมือนกับไก่ชนกัน บางคนร้องเสียงเหมือนหมู เพราะเคยฆ่าหมูเป็นประจำ บางคนร้องเสียงเหมือนวัว เพราะเคยฆ่าวัว บางคนกระสับกระส่ายกระวนกระวายมากเมื่อจวนจะตาย และทำอะไรแปลกๆ เหมือนอย่างเรื่องชายคนหนึ่ง ซึ่งตายด้วยการกรอกน้ำร้อนที่กำลังเดือดจัดเข้าไปในปากตนเอง ซึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ได้เล่าไว้ ซึ่งขอนำมาเล่าเพิ่มเติม เพื่อยืนยันกฏแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา ในที่นี้ว่า

คนขโมยของที่ถูกไฟไหม้

       กล่าวกันว่า ได้เกิดไฟไหม้บ้านเรือนแห่งหนึ่งขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาห ในเขตกรุงเทพฯ นี้เอง เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คนในบ้านใกล้เคียงตกใจ ขนของกันเป็นการใหญ่ มีเรือลำหนึ่งเทียบเข้าไปแล้วเจ้าของเรือก็ตะโกนให้เขาขนของลงเรือ พอเห็นว่าของเต็มเรือดีแล้ว ชายเจ้าของเรือก็แจวเรือออกไป เป็นการโกงซึ่งๆ หน้า ซึ่งผู้กำลังเดือดร้อนไม่รู้จะปเรียกร้องจากใครได้ เขาก็นำของที่โกงหรือขโมยเขาไปนั้นเป็นของตนอย่างสบาย โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่น 

     ต่อมา ชายผู้ที่โกงเขาไปนั้นเกิดอาการเจ็บไข้ไม่สบายขึ้นในถิ่นของตน อาการที่ปรากฏคือต้องการกินแต่น้ำร้อนจัดๆ ยิ่งร้อนเท่าไรก็ยิ่งพอใจเท่านั้น ในที่สุดไม่พอใจลูกๆ ที่รินน้ำร้อน หาว่าเอาน้ำร้อนไม่จริงไปให้ เพราะกรรมบันดาล ทั้งๆ ที่น้ำที่ลูกๆ เอาไปให้ก็เป็นน้ำร้อน เขาจึงนำเตาถ่านและกาน้ำมาต้มในที่ใกล้กับที่ตนนอนเจ็บอยู่ พอน้ำเดือดพล่าน มีควันพุ่งออกมาเต็มที่ เขาก็ลุกขึ้นยกกาน้ำร้อนดื่มทางพวยกา พอดื่มเสร็จก็ร้องเฮ้อ คล้ายกับว่าชื่นใจเสียเหลือเกิน แล้วก็ตายไป เรื่องนี้มีผู้รู้เห็นกันมาก

     เรื่องนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงกัมมารมณ์ - อารมณ์คือกรรม อันเป็นกรรมฝ่ายชั่วที่มาปรากฏแก่คนที่ทำชั่วเมื่อจวนจะตาย อันแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นจะต้องไปเกิดในทุคติอย่างแน่นอน

     แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ชัดขึ้นก็เป็นกรรมนิมิต คือบางคนจะเห็นเป็นคนถือหอก ถือดาบมา ทำท่าจะฆ่าตน เขาจึงร้องออกมาว่า "อย่ามาฆ่าฉันๆ" คือเขาเห็นเป็นคนถือหอกถือดาบมาทำท่าจะฆ่าตน เขาจึงร้องออกมาว่า "อย่าฆ่าฉัน อย่าเข้ามาๆ" ร้องทั้งๆ ที่ญาติพี่น้องลูกหลานไม่ได้เห็นอะไรเลย แต่คนนี้มองเห็น มองเห็นคนถือดาบถือหอกหรือปืน มีภาพคนหรือสัตว์ที่ตัวเองเคยฆ่าจะมาทำร้ายหรือกัดตัวเอง เห็นไปอย่างนั้น

     ในสมัยพุทธกาลก็มีบันทึกไว้หลายเรื่อง มีอยู่ ๒ เรื่อง ซึ่งสะเทือนใจ ในสมัยเมื่อข้าพเจ้า(ผู้เขียน) เป็นสามเณรแปลบาลีอรรถกถาธรรมบทเรื่องหนึ่ง ที่ฟังแล้วสลดใจมาก คือ เรื่องนายโคฆาตก์ นายโคฆาตก์ แปลว่า บุรุษผู้ฆ่าโค

เรื่องนายโคฆาตก์

      นายโคฆาตก์นี้เขาฆ่าโคเลี้ยงชีพมาเป็นเวลา ๕๕ ปี เขามีบ้านอยู่ใกล้วัดพระเชตวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ แต่เขาไม่เคยทำบุญเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยไหว้พระเลย ไม่เคยถวายอาหารแก่พระแม้แต่ทัพพีเดียว ไม่เคยถวายดอกไม้แม้แต่กำมือเดียว ฆ่าแต่สัตว์ ทำแต่ชั่ว แกฆ่าโคขาย ฆ่าขายเป็นอาชีพ ถ้าแกต้องการโคตัวใดที่อยู่หลังบ้านก็ใช้ฆ้อนตี ชักดิ้นชักงอ แล้วก็เชือดเอาเลือดออกมา เอาเลือดไปไว้ส่วนหนึ่ง เนื้อไว้ส่วนหนึ่งฆ่าโคขายเป็นประจำ แต่นายโคฆาตก์ผู้นี้ไม่กินเนื้ออย่างอื่นนอกจากลิ้นโค ชอบกินแต่ลิ้นโค ถ้าไม่มีลิ้นโคกินนายโคฆาตก์ก็จะไม่กินอาหาร เพราะฉะนั้น ภรรยาซึ่งรู้ใจสามีจึงเก็บลิ้นลิ้นโคไว้สำหรับปิ้ง สำหรับทอด สำหรับทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สามีกินเป็นประจำ

      วันหนึ่ง นายโคฆาตก์ฆ่าโคเสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ขณะที่เขากำลังอาบน้ำอยู่นั้นมีเพื่อนของเขามายังบ้านของเขาเพื่อขอซื้อเนื้อ วันนั้นเนื้อก็ขายหมด ภรรยาของนายโคฆาตก์ก็บอกว่าเนื้อหมดแล้ว ไม่มีเลยวันนี้ ฝ่ายเพื่อนที่มาซื้อเนื้อบอกว่าวันนี้มีแขกมาที่บ้าน ไม่มีอาหารเลี้ยง ขอให้ข้าพเจ้าได้ของบางอย่างเถอะ ภรรยานายโคฆาตก์บอกว่าไม่มีเลย มีแต่ลิ้นโคเก็บไว้ให้สามี เพื่อนของท่าน

       เพื่อนของนายโคฆาตก์บอกว่า "ลิ้นโคก็เอา เพราะว่าไม่มีอาหารจะเลี้ยงแขกที่บ้านวันนี้" ภรรยานายโคฆาตก์บอกว่า "ไม่ได้ สามีฉันถ้าไม่ได้กินลิ้นโคแล้วจะไม่พอใจ จะทำให้เดือดร้อน" ฝ่ายเพื่อนของนายโคฆาตก์คิดเห็นว่า ถ้าจะพูดด้วยดีๆ คงไม่ได้แน่ ก็ถือเอาโดยพละการ เอาลิ้นที่เก็บไว้นั้นไปที่บ้าน คิดว่าเป็นเพื่อนกันแค่นี้คงไม่เป็นไร

       นายโคฆาตก์กลับมาจากอาบน้ำ เห็นภรรยาเอาอาหารเข้ามาไม่มีลิ้นโค ก็ถามว่าทำไมวันนี้ไม่มีลิ้นโค ภรรยาก็บอกว่า "เพราะเพื่อนของท่านเอาไปโดยพละการ แม้ไม่ให้ก็เอาไป" นายโคฆาตก์พูดว่า ถ้าอย่างนั้นยังไม่กินข้าวตอนนี้ จึงลงไปที่หลังบ้าน ถือมีดคมกริบลงไป โคยืนอยู่ ดึงลิ้นออกมา ตัดลิ้นโคขาดทันทีเลย โคก็ร้อง เลือดเต็มปาก ทุรนทุราย โคร้องเสียงดังสนั่น แล้วโคตัวนั้นก็ตายในที่สุด แต่นายโคฆาตก์ไม่สนใจ เขาเอาลิ้นนั้นมาปิ้ง ปิ้งเสร็จแล้วก็มานั่งจะกินกับข้าว ในทันใดนั้นเอง กรรมปรากฏแก่นายโคฆาตก์ทันที กรรมที่ทำไว้เกิดเหมาะสมขึ้นมาทันที แสดงเหตุ คือ พอนายโคฆาตก์พอวางลิ้นโคที่ลิ้นของตนเท่านั้น ลิ้นของเขาก็ขาดตกลงในจานทันที เขามีเลือดไหลออกจากปาก ร้องเสียงเหมือนโค แต่ยังไม่ตายทันที เขาคลานไปคลานมาทั่วบ้าน ร้องเสียงสนั่น แล้วนายโคฆาตก์นั้นเมื่อร้องเสียงเหมือนโคอยู่ ๗ วัน ในที่สุดก็ตายไปเกิดในอเวจีมหานรก นี้บันทึกไว้เรื่องหนึ่งในอรรถกถาธรรมบท

เรื่องนายจุนทสูกริก

       อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงนายจุนทสูกริก คนฆ่าหมูเป็นประจำ ลักษณะเช่นเดียวกับนายโคฆาตก์ซึ่งฆ่าโค แกไปซื้อลูกหมูมาจากชนบท มาเลี้ยงให้โต ให้โตด้วยผักบ้าง ด้วยอาหารอย่างอื่นบ้าง ถ้าตนต้องการจะฆ่าตัวไหนก็ใช้ฆ้อนสี่เหลี่ยมตีให้เนื้อมันพองขึ้น ยังไม่ทันตายก็เชือดคอ แล้วรองเลือดด้วยภาชนะ ก่อนจะเชือดคอนั้นแกจะเอาน้ำร้อนที่กำลังเดือดกรอกเข้าไปในปาก ให้มันขี้ออกให้หมดไม่ให้เหลืออยู่ แกฆ่าหมูด้วยวิธีนี้ทุกวันๆ เลี้ยงชีพอยู่เป็นเวลานาน ๕๕ ปี

       เมื่อจวนจะตายกรรมปรากฏ นายจุนทสูกริกร้องเสียงเหมือนหมู คลานไปคลานมาในบ้านตลอด ๗ วัน เสียงเหมือนหมู (อย่างนี้ในประเทศไทยเราในหมู่บ้านบางแห่ง บางตำบล ถ้าเราไปสืบดูก็เคยมีคนเมื่อจวนจะตายร้องเสียงเหมือนหมู เสียงเหมือนวัว เพราะเคยฆ่าหมู ฆ่าวัว หรือทำเสียงเหมือนไก่ชนเพราะเคยชนไก่กัน กรรมมันเข้ามาปรากฏแก่ผู้นั้น) จนคนแถบบ้านของนายจุนทสูกริกไม่เป็นอันหลับนอน เพราะเสียงร้องเหมือนหมูที่เขาจับไปฆ่า จนพระออกบิณฑบาตได้ยินเสียงหมูร้องจึงสนทนากันว่า "นายจุนทสูกริก นี้ทรมานสัตว์เหลือเกิน ฆ่าอะไรกันตั้ง ๗ วัน คงมีงานพอเศษ งานมงคล จึงได้ฆ่าหมูมาก"

       ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังโรงธรรมที่พระภิกษุกำลังนั่งสนทนากันอยู่ จึงตรัสถามเรื่องที่สนทนา ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า "วันนี้ไปบิณฑบาต ได้ยินเสียงหมูมันร้อง นายจุนทสูกริกนี้ฆ่าหมู ฆ่ามา ๗ วันแล้ว คนที่ทารุณโหดร้ายเช่นนี้ พวกข้าพระองค์ไม่เคยพบเลย"

       พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย นั้นไม่ใช่เสียงหมู แต่เป็นเสียงของนายจุนทสูกริก กรรมมาปรากฏแก่เขาแล้ว ขณะนี้เขาตายแล้ว"

       ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า "เขาตายแล้วไปเกิดที่ไหน" พระองค์ตรัสว่า "เขาไปเกิดในอเวจีมหานรก"

       อเวจีมหานรกเป็นนรกที่ร้อนแรงมาก ซึ่งเขาเปรียบเทียบไว้ว่า แม้ก้อนหินเท่าภูเขาใส่ลงไปในนรกนี้ จะละลายทันที แต่สัตว์ซึ่งไปเกิดในนรกนั้นไม่ละลาย อันนี้เพราะกรรมมันเลี้ยงเอาไว้

       นายจุนทสูกริกนั้นร้องเหมือนหมู คลานเวียนไปเวียนมาอยู่ในบ้าน คนในบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร จึงปิดประตูบ้านไม่ให้แกออกไปนอกบ้าน แกก็คลานไปคลานมาเหมือนหมู เสียงหนวกหูทั่วบ้าน คนบ้านใกล้เรือนเคียงนอนไม่หลับ เมื่อร้องอยู่ ๗ วันแล้วเขาก็ตายจากไปเกิดในอเวจีมหานรก นั้นคือกรรมเข้ามาปรากฏแก่เขาเมื่อเขาจวนจะตาย

       พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พระภิกษุทั้งหลาย นายจุนทสูกริกนั้นไม่ได้ฆ่าหมูตลอด ๗ วัน แต่ว่ากรรมที่เขาทำไว้เกิดแก่เขาแล้ว ความเร่าร้อนของอเวจีมหานรกปรากฏแก่เขาทั้งที่มีชีวิตอยู่ทีเดียว เพราะความเร่าร้อนนั้น เขาจึงร้องเหมือนหมูอยู่ ๗ วัน เที่ยวพล่านไปมาอยู่ในเรือน วันนี้ถึงแก่กรรม ได้ไปเกิดในอเวจีนรกแล้ว"

       เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายจุนทสูกริกเศร้าโศกเดือดร้อนอย่างนี้ในโลกนี้แล้ว เมื่อตายไปแล้วก็ยังไปเกิดในสถานที่ที่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อนอีกหรือ" พระองค์จึงตรัสว่า "ใช่แล้วภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าคนที่ประมาทแล้ว ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ย่อมเศร้าโศกเดือดร้อนในโลกทั้งสองแน่แท้" แล้วพระองค์ได้ตรัสเป็นคาถา ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธรรมบทว่า

"คนที่ทำความชั่วเป็นประจำ ย่อมเศร้าโศกในชาตินี้

ตายไปแล้วก็เศร้าโศกอีก เขาย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง

เขาเห็นกรรมชั่วของตนแล้ว ย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน"

       จากตัวอย่างที่ยกมาให้เห็น ๓ เรื่องข้างต้นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นแล้วว่า กรรมที่ทำไว้นั้นย่อมมาปรากฏแก่เขาเมื่อเขาจวนจะตาย เป็นกรรมารมณ์ อารมณ์คือกรรม ที่เข้ามาปรากฏในมรณาสันนวิถี คือวิถีจิตเมื่อจวนจะตาย อันแสดงให้เห็นชัดในกรณีของนายโคฆาตก์และนายจุนทสูกริกว่า เขาจะต้องไปเกิดในทุคติเพราะกรรมชั่วของเขาแน่นอน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

       ส่วนคนที่ทำกรรมดีไว้มาก เมื่อจวนจะตาย กรรมดีย่อมเข้ามาปรากฏ ทำให้เป็นคนมีจิตใจสงบ มั่นคง ไม่ทุรนทุราย สติมั่นคง และจากไปอย่างสงบเมื่อจวนจะสิ้นใจ เหมือนอย่างรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรีของไทยเรา เพราะทรงนับถือพระพุทธศาสนามั่นคง ทรงบำเพ็ญกรรมฐานมานาน จนทรงสามารถทราบวันที่พระองค์จะสวรรค์คต ซึ่งในที่นี้จะได้นำพระราชประวัติของพระองค์มากล่าวไว้แต่โดยย่อ เพื่อให่เห็นกรรมารมณ์ที่มาปรากฏแก่ผู้ที่ทำกรรมดีไว้มาก ในมรณาสันนวิถี

       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระโอรสของ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ประสูติเมื่อวันมหาปวารณา พ.ศ.๒๓๔๗ และสวรรคตในวันมหาปวารณา พ.ศ.๒๔๑๑ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถทั้งในด้านคดีโลกและคดีธรรม ได้ทรงทำประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย พระองค์ทรงแตกฉานในพระไตรปิฎกและชำนาญในภาษาบาลีมาก นอกจากนี้แล้วยังทรงชำนาญภาษาอังกฤษ วิชาดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เป็นเยี่ยม พระองคทรงผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนาถึง ๒๗ ปี และทรงเป็นกษัตริย์องค์เดียวที่เป็นเปรียญโดยเข้าสอบเพียงครั้งเดียวได้ถึง ๕ ประโยค ทรงเป็นผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้น เพื่อฟื้นฟูการปฏิบัติพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ ทรงตั้งทำเนียมทำมาฆบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

พระราชปัจฉิมวาจาของพระจอมเกล้า*

* พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อยังทรงผนวชอยู่ เมื่อถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา พระองค์จะกล่าวปวารณาต่อสงฆ์ ในเรื่องที่อาจจะมีความพลั้งพลาดไม่เหมาะสม เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ตักเตือนได้ ตามวินัยนิยมในพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระองค์ทรงลาผนวชขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ยังเสด็จไปวัดทรงปวารณาต่อพระสงฆ์ เช่นเดียวกับเมื่อสมัยยังทรงผนวชอยู่ แต่ในวันมหาปวารณา ปี ๒๔๑๑ ที่พระองค์สวรรคตนั้น พระองค์ทรงประชวรหนัก ไม่อาจเสด็จไปกล่าวปวารณาในท่ามกลางสงฆ์ด้วยพระองค์เองได้ จึงได้มีพระราชโองการให้พระยาศรีสุนทรโวหาร จดพระราชนิพนธ์ภาษามคธเป็นอักษร แล้วอัญเชิญให้ไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ ฯ อันเป็นพระอารามหลวงที่อยู่ใกล้พระราชวัง

      คุณมหัศจรรย์ครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คือ วันสวรรคต อันเป็นวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเย็นพระองค์ทรงประชวรหนัก แต่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนดวาระสุดท้ายแห่งพระชนมายุของพระองค์เป็นแน่แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าไปใกล้พระที่บรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์เป็นภาษามคธ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารจดเป็นอักษร แล้วอัญเชิญไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ ฯ แต่ในที่นี้จะตัดเอามาเฉพาะครึ่งสุดท้ายเท่านั้นว่า

".....อิทานิ มยา ปญฺจสุ สีเลสุ สํวราธิษฐานํ กตํ ตสฺส มยฺหํ เอวรูโป มนสิกาโร อนุฏฺฐหิยติ สิกฺขยติ ปญฺจสุ ขนฺเธสุ, ฉสุ อชฺฌตฺตเนสุ อายตเนสุ, ฉสุ พาหิเรสุ อายตเนสุ, ฉสุ ซิญฺญาเณสุ, ฉสุ สมฺผสฺเสสุ, ฉสุ ฉทฺวาริกาสุ เวทนาสุ นตฺเถตํ โลกสฺมึ, ยํ อุปาทิยมานํ อนวชฺชํ อสฺส. ยํ วา ปริโส อุปาทิยนฺโต น วชฺชวา อสฺส. อนุปาทานํ สิกฺขามิ "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ยถาปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ,เนตํ มม, เนโสหมสฺมิ, น เมโส อตฺตาติ"

      ยํ ยํ มรณํ สตฺตานํ ตํ อนจฺฉริยํ, ยโต เอตํ สพฺเพสํ มคฺโค, อปฺปมตฺตา โหนฺตุ ภนฺเต อาปุจฺฉามิ วนฺทามิ. ยํ เม. อปรทฺธํ สพฺพํ เม สงฺโฆ ขมตุ.

            อาตุรสฺมิมฺปิ เม กาเย จิตฺตํ น เหสฺสตาตุรํ

             เอวํ สิกฺขามิ พุทฺธสฺส สาสนานุคตึ กรํ ฯ"

คำอ่าน " อิ-ทา-นิ-มะ-ยา-ปัญ-จะ-สุ-สี-เล-สุ-สัง-วะ-รา-ธิ-ษะ-ฐา-นัง-กะ-ตัง-ตัส-สะ-มัย-หัง-เอ-วะ-รู-โป-มะ-นะ-สิ-กา-โร-อะ-นุฏ-ฐะ-หิ-ยะ-ติ-สิก-ขิ-ยะ-ติ-ปัญ-จะ-สุ-ขัน-เธ-สุ,-ฉะ-สุ-อัช-ฌัต-ตะ-เน-สุ-อา-ยะ-ตะ-เน-สุ,-ฉะ-สุ-พา-หิ-เร-สุ-อา-ยะ-ตะ-เน-สุ,-ฉะ-สุ-วิญ-ญา-เน-สุ,-ฉะ-สุ-สัม-ผัส-เส-สุ,-ฉะ-สุ-ฉัท-วา-ริ-กา-สุ-เว-ทะ-นา-สุ-นัต-เถ-ตัง-โล-กัสะ--มิง,-ยัง- อุ-ปา-ทิ-ยะ-มา-นัง-อะ-นะ-วัช-ชัง-อัส-สะ.-ยัง-วา-ปะ-ริ-โส-อุ-ปา-ทิ-ยัน-โต-นะ-วัช-ชะ-วา-อัส-สะ.-อะ-นุ-ปา-ทา-นัง-สิก-ขา-มิ-"สัพ-เพ-สัง-ขา-รา-อะ-นิจ-จา,-สัพ-เพ-ธัม-มา-อะ-นัต-ตา-ยะ-ถา-ปัจ-จะ-ยัง-ปะ-วัต-ตัน-ติ,-เน-ตัง-มะ-มะ,-เน-โส-หะ-มัส-มิ,-นะ-เม-โส-อัต-ตา-ติ"

   ยัง-ยังมะ-ระ-ณัง-สัต-ตา-นัง-ตัง-อะ-นัจ-ฉะ-ริ-ยัง,-ยะ-โต-เอ-ตัง-สัพ-เพ-สัง-มัค-โค,-อัป-ปะ-มัต-ตา-โหน-ตุ-ภัน-เต-อา-ปุจ-ฉา-มิ-วัน-ทา-มิ.-ยัง-เม.-อะ-ปะ-รัท-ธัง-สัพ-พัง-เม-สัง-โฆ-ขะ-มะ-ตุ.

   อา-ตุ-รัส-มิม-ปิ-เม-กา-เย-จิต-ตัง-นะ-เหส-สะ-ตา-ตุ-รัง

   เอ-วัง-สิก-ขา-มิ-พุท-ธัส-สะ-สา-สะ-นา-นุ-คะ-ติง-กะ-รัง"

มีความตามพระราชประสงค์เหมือนทรงภาษิต  ณ สังฆสันนิบาต (ที่ประชุมสงฆ์) ว่า

      "..... บัดนี้ โยมได้ตั้งจิตอธิษฐานสมาทานศีลห้าแล้ว กระทำมนสิการไว้ในใจ โยมได้ศึกษาอยู่ว่า ในบรรดาขันธ์ห้า อายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก วิญญาณหก สัมผัสหก (และ) ในเวทนาที่เป็นไปในทางทวารทั้งหก สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอยู่จะไม่พึงมีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย ในโลก. โยมได้ศึกษาถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่า 

       "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั้น นั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา"

       ความตายใดๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ความตายนั้นไม่น่าอัศจรรย์ เพราะความตายนั้นเป็นวิถีทางของสัตว์ทั้งปวง ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด. โยมขอลา โยมไหว้ สิ่งใดที่โยมผิดพลั้ง ขอสงฆ์จงอดโทษสิ่งทั้งนั้นแก่โยมเถิด.

แม้เมื่อกายของโยมกระสับกระส่ายอยู่ แต่จิตของโยมจักไม่กระสับกระส่ายไปตามกาย โยมทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ศึกษาอยู่อย่างนี้"

      เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งพระยาศรีสุนทรโวหารเสร็จแล้ว ก็ทรงมนสิการชำระจิตให้สะอาดด้วยภาวนากรรมฐาน ซึ่งกล่าวกันว่าพระองค์ทรงกำหนดอานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยบทภาวนาพุทโธกำกับ จึงทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในสมัยนั้นได้ยินพระสุรเสียงว่า พุท - โธ, พุท - โธ, พุท - โธ, ........ แล้วพระสุรเสียงก็ค่อยแผ่วเบาลงๆ ได้ยินแต่เพียงคำว่า โธ - โธ - โธ ...... แล้วเสด็จสวรรคตด้วยอาการอันสงบ

      เพราะฉะนั้น การจากไปของพระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์นี้ชื่อว่า จากไปด้วยธรรม หาได้ยาก โดยมีกรรมารมณ์ฝ่ายดีเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะจากไปอย่างสงบ ด้วยการมีพระสติสัมปชัญญะมั่นคง มุ่งตรงต่อพระธรรมที่พระองค์ทรงยึดมั่นเป็นที่พึ่ง บางท่านสันนิษฐานว่า พระองค์น่าจะบรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราไม่อาจทราบได้

เรื่องธัมมิกอุบาสก

     ในสมัยพระพุทธเจ้าของเราโน้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อธัมมิกอุบาสก ธัมมิกอุบาสกมีลูกหลายคน ผู้หญิง ๗ ผู้ชาย ๗ ลูกทั้ง ๑๔ คนนี้เป็นคนมีศีลธรรม เป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ อุบาสกผู้นี้เมื่อจวนจะตายก็รู้ว่าตัวเองใกล้จะตาย อายุก็มากแล้ว ทำดีมานาน ก็สั่งลูกว่า "ขอให้ลูกไปนิมนต์พระมาสวดพระสูตรให้ฟัง พ่อจะฟังพระสูตร"

      ลูกๆ ก็ไปในวัดเพื่อนิมนต์พระ พระพุทธเจ้าก็ส่งพระมา ๘ รูป มาสวดให้ฟัง พอพระมาถึงที่บ้านแล้วเข้านั่งใกล้เตียงที่อุบาสกนอนอยู่

      พระก็ถามว่า "อุบาสก ท่านต้องการจะฟังพระสูตรไหน" เพราะพระสูตรพระพุทธเจ้าแสดงไว้มาก คนอินเดียฟังแล้วเขารู้เรื่องเพราะเป็นภาษาบาลีที่เขาเข้าใจ

      ธัมมิกอุบาสกก็บอกว่า ต้องการฟังสติปัฏฐานสูตร เพราะพระสูตรนี้เป็นพระสูตรสำคัญ

      ภิกษุทุกรูปก็เริ่มสวดว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ... แล้วสวดไปเรื่อยๆ

      ขณะพระกำลังสวดอยู่ อุบาสกกำลังตั้งใจฟัง ในขณะนั้นเกิดนิมิตขึ้น อันเป็นลักษณะของคตินิมิตฝ่ายดี คือเขาเห็นเป็นภาพรถทิพย์มาจากสวรรค์ ๖ ชั้น คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี มาปรากฏ คือเห็นภาพเทวดาเหล่านั้นมาเชิญ โดยมีรถทิพย์มาด้วย แต่คนอื่นมองไม่เห็น อุบาสกนั้นเท่านั้นที่มองเห็น เป็นคตินิมิตเมื่อจวนจะตาย

      เทวดาเหล่านั้นร้องบอกว่า "ขอท่านให้ไปเกิดในสวรรค์ของเราเถิด เราจะพาไปสวรรค์ชั้นของเรา การอยู่เป็นมนุษย์นั้นลำบาก ไปเป็นเทวดาดีกว่า การได้อัตภาพเป็นเทวดานั้นประเสริฐกว่ามนุษย์ เหมือนกับคนทำลายหม้อดินไปได้หม้อทองคำ เชิญไปเกิดในสวรรค์ชั้นของเราเถิด"

      เทวดานี่แย่งคนให้ไปเกิดในสวรรค์ของตน ทำไมเทวดาจึงแย่งคนไปเกิดในสวรรค์ของตน? ก็เพราะเทวดาเหล่านั้นต้องการคนดีไปเกิดในสวรรค์ของตน เทวดาก็อยากได้คนดีไปเกิด จึงอุตส่าห์มาเชิญถึงที่ด้วย

      ขณะนั้นอุบาสกกำลังฟังธรรมอยู่ ไม่ต้องการให้การฟังธรรมนั้นเสียผล จึงพูดออกไปว่า "หยุดก่อน ท่านทั้งหลาย หยุดก่อนๆ "

      ฝ่ายพระสงฆ์ที่นั่งสวดอยู่ กับลูกๆ ที่นั่งฟังอยู่ด้วยก็คิดว่า ทำไมพ่อสั่งให้หยุด ? สั่งหยุดอะไร ? พระก็หยุดนิ่งเพราะนึกว่าอุบาสกไม่อยากฟังแล้ว พระหยุดสวดแล้วก็พูดกันว่า "เรามาสวด เขาให้หยุด ควรกลับวัดดีกว่า จะนั่งอยู่ต่อไปไม่เหมาะ" พระก็กลับวัดหมด

      ฝ่ายลูกๆ ก็ร้องไห้ พร้อมกับพูดว่า "พ่อเรานี้ แต่ก่อนเลื่อมใสพระสงฆ์มาก แต่เมื่อจวนจะตายมาห้ามพระ นิมนต์พระมาแล้วมาห้ามเสีย ทำไมเป็นอย่างนี้ไป"

      ฝ่ายอุบาสก เมื่อลืมตาขึ้นมาเห็นลูกๆ ร้องไห้ จึงถามว่าร้องทำไม ลูกๆ บอกว่า ก็พ่อให้นิมนต์พระมาสวดให้ฟัง สวดแล้วพ่อสั่งให้หยุดสวด พระก็ไปหมดแล้ว พวกกระผม/พวกดิฉันจึงนั่งร้องไห้

      ธัมมิกอุบาสกจึงบอกว่า "พ่อไม่ได้ห้ามพระ แต่มีเทวดามาจากสวรรค์ ๖ ชั้น เอารถมารับ พ่อต้องการฟังธรรมจึงบอกให้หยุดก่อน พ่อไม่ได้พูดกับพระ"

       อุบาสิกานั้นรู้ตัวว่าตัวเองจะต้องจากไปแล้ว จึงถามลูกๆ ว่า "ในสวรรค์ ๖ ชั้นนั้น ชั้นไหนที่พ่อควรไปเกิด" ให้ลูกๆ เลือกสวรรค์ให้

       ลูกๆ ก็บอกว่า "ชั้นดุสิตซิพ่อ เพราะเป็นสวรรค์ที่ใครก็อยากไปเกิด พระพุทธเจ้าก่อนลงมาตรัสรู้ก็อยู่ในสวรรค์ชั้นนี้ พุทธมารดา พุทธบิดา พระโพธิสัตว์ทุกองค์อยู่ในสวรรค์ชั้นนี้"

       อุบาสกบอกว่า "เอาละ ตกลง มีพวงมาลัยที่ทำไว้สำหรับพ่อมีบ้างไหม ? " ลูกบอกว่า "มี" จึงให้ลูกเอามาให้

       พอลูกเอาพวงมาลัย คือพวงดอกไม้มาให้แล้ว เขาก็ตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทาย แล้วโยนพวงดอกไม้ไปในอากาศเสี่ยงทายที่รถดุสิต พวงมาลัยไปคล้องที่งอนรถที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นเห็นแต่พวงมาลัยแต่ไม่เห็นรถ เพราะรถเป็นรถทิพย์ แล้วอุบาสกนั้นก็ตายจากไป

      อย่างนี้ท่านเรียกว่าคตินิมิตฝ่ายดี ซึ่งมาปรากฏแก่คนที่จวนจะตาย

      ทีนี้ ถ้าเป็นคตินิมิตโดยตรงคืออย่างไร ? คตินิมิตคือผู้นั้นจะไปเกิดที่ไหน นิมิตนี้จะบ่งบอกให้ทราบ นิมิตคือเครื่องหมายบ่งบอกให้ทราบว่าผู้นั้นจะไปเกิดเป็นมนุษย์หรือไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเทวดา หรือไปเกิดที่ไหน เมื่อจวนเจียนจะตายนั้นเหมือนมีการฝันครั้งสุดท้าย คือจิตโน้มไป เช่นว่ามองเห็นเหมือนทุ่งหญ้า แสดงว่าจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแน่นอนแล้ว หรือมองเห็นเป็นน้ำ นั้นจะไปเกิดเป็นสัตว์น้ำ เช่น ปลา เป็นต้นแล้ว ถ้ามองเห็นครรภ์ของมารดา นั้นจะไปเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ถ้ามองเห็นไฟแลบพรึ่บออกมา นั่นแสดงว่าจะไปเกิดในนรกแล้ว ไฟนรกมันแลบออกมา ถ้ามองเห็นเป็นดอกบัวสวรรค์ นั้นจะไปเกิดในสวรรค์แล้ว หรือถ้ามองเห็นวิมาน นั่นก็จะไปเกิดบนวิมานแล้ว แล้วแต่จะมองเห็นภาพอันไหน ภาพนั้นแหละได้บ่งบอกถึงที่ที่ตัวเองจะไปเกิด เป็นวาระจิตที่จะทิ้งร่างกายเดิมช่วงสุดท้าย ถ้าจิตมันยังหาที่เกิดไม่ได้ คนเราก็ยังสลบไสลอยู่อย่างนั้น ๒ วัน ๓ วัน เป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี ไม่ตาย ไม่ทิ้งร่างเดิม แต่พอจิตหน่วงภพใหม่ได้แล้วก็จะตัดกระแสจิตทันที จุติจิตเคลื่อนทันที ปฏิสนธิจิตก็จับภพใหม่ทันที

      นั่นคือคตินิมิต อันบ่งบอกถึงภพหรือสถานที่ว่าจะไปเกิดที่ไหน แต่เขาจะมาบอกเราไม่ได้เพราะเขาไปแล้ว เว้นไว้แต่เขาตายแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ อันนี้ถึงจะมาเล่าให้ฟัง เป็นเหมือนนิยาย มีมากราย และการฝันครั้งสุดท้ายคือคตินิมิตมาปรากฏนี้ เป็นความฝันที่สำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าเราทำกรรมดีไว้ต้องฝันดีแน่ มันต้องไปดี เช่น ฝันเห็นวิมาน ก็แสดงว่าไปเกิดในวิมาน แต่ถ้าฝันไปเห็นไฟนรก นั่นละไปนรกแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องทำกรรมดีเพื่อฝันดีครั้งสุดท้าย ฝันทำไมครั้งสุดท้าย? ก็เพื่อเกิดในที่ที่ดี ถ้าเรายังมีภพชาติสืบไป

      นี้คือลักษณะของกรรมที่บ่งให้ทราบว่ากรรมที่ตนทำไว้แล้ว เมื่อจวนเจียนจะตาย มันจะวิ่งตัดกระแสเข้าไปนำบุคคลนั้นไปสู่ภพนั้นๆ

       ขอย้ำในที่นี้อีกว่า เมื่อจวนเจียนจะตายกรรมจะมาปรากฏ ซึ่งอภิธรรมเรียกกระแสจิตตอนนี้ว่า มรณาสันนวิถี คือ วิถีจิตเมื่อใกล้จะตาย ย่อมมีอารมณ์ ๓ ชนิดเข้ามาปรากฏ คือ

            (๑) กรรมอารมณ์ อารมณ์คือกรรม

            (๒) กรรมนิมิตอารมณ์ อารมณ์ที่เป็นนิมิตแห่งกรรม

            (๓) คตินิมิตอารมณ์ อารมณ์ซึ่งเป็นคตินิมิต

       คนเราเมื่อเวลาตายนั้น อยากจะถามว่าอะไรตาย ? ร่างกายตายหรือว่าจิตตาย ? หรือว่าตายทั้ง ๒ อย่าง ? ตอบว่า ตายเฉพาะแต่ร่างกายเท่านั้น จิตไม่ได้ตายไปเหมือนกับร่างกายนั้นด้วย แม้จิตจะมีการเกิดดับตลอดเวลา แต่มันก็สืบต่อกันไม่ขาดสาย เมื่อทิ้งร่างนี้แล้วก็เกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม จิตนั้นนำไปเกิดในภพใหม่

สถานที่ที่คนเราจะไปเกิดมีอยู่ ๓๑ ภูมิ ได้แก่

            (๑) สวรรค์ชั้นฉกามาพจร คือ สวรรค์ที่มีผู้หญิง มีผู้ชาย มีกามคุณ มีอยู่ ๖ ชั้น

            (๒) สวรรค์ชั้นพรหมโลก คือ พรหมที่มีรูป มีอยู่ ๑๖ ชั้น

            (๓) สวรรค์ชั้นอรูปพรหม คือ พรหมที่ไม่มีรูป มี ๔ ชั้น

ตกลงว่า สวรรค์ชั้นพรหมโลกมีอยู่ ๒๐ ชั้น สวรรค์ชั้นฉกามาพจร ๖ ชั้น     รวมเป็น ๒๖ ชั้น และอบายภูมิเสีย ๔ ภูมิ คือ

            (๑) เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน (อย่างที่เราเห็นในโลกนี้)

            (๒) เกิดเป็นสัตว์นรก

            (๓) เกิดเป็นเปรต

            (๔) เกิดเป็นอสุรกาย (ที่เราแปลว่าผี)

นี้คือ อบายภูมิ สถานที่ไร้ความเจริญ ที่คนทำชั่วต้องไปเกิด    ภูมิสุดท้าย คือ มนุษย์ภูมิ จึงรวมเป็น ๓๑ ภูมิ

ในการเกิดของสัตว์โลกนั้น ย่อมมีกำเนิดอยู่ ๔ ชนิด คือ

            (๑) ชลาพุชะกำเนิด เกิดในครรภ์

            (๒) อัณฑชะกำเนิด เกิดในไข่

            (๓) สังเสทชะกำเนิด เกิดในเถ้าไคลหรือของสกปรก

            (๔) โอปปาติกะกำเนิด เกิดลอยขึ้นหรือผุดขึ้นในทันทีทันใด

      เราลองมาดูกำเนิดทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ในโลกปัจจุบันนี้ เราพบเห็นกำเนิดชนิดไหนบ้าง

      (๑) เกิดในครรภ์ ผู้ที่เกิดในครรภ์ ได้แก่ มนุษย์ทุกจำพวก เว้นไว้แต่มนุษย์ในต้นกัปป์ซึ่งเกิดผุดขึ้น และสัตว์เดรัจฉานบางจำพวก มีทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ

      (๒) เกิดในไข่ พวกนี้เกิด ๒ หน เรียกว่า ทวิชะ คือ ครั้งแรกมันเกิดในไข่ แล้วมาเกิดอีกครั้งหนึ่งเมื่อออกจากไข่ เขาเรียกว่าเกิดสองหน อย่างพวกนกเขาเรียกว่าสัตว์เกิดสองหน พวกนี้เราพบมากในโลกมนุษย์

      (๓) เกิดในสิ่งสกปรก เกิดในเถ้าไคล พวกนี้เกิดแบบแบ่งเซลล์ออกไป จาก ๑ เป็น ๒ จาก ๒ เป็น ๔ เป็นพวกสัตว์เซลล์เดียว เช่น พวกอมีบา พารามีเซียม พวกนี้ไม่ต้องอาศัยไข่ ไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา มันแยกตัวเกิดมากมาย เกิดในของสกปรก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยอมรับชัดเจนว่า สัตว์พวกนี้เกิดมากเหมือนกัน พวกเชื้อโรคนานาชนิดเป็นสัตว์พวกนี้

      (๔) เกิดผุดขึ้น ได้แก่ โอปปาติกะกำเนิด ประเภทนี้ได้แก่ เทวดาและพรหมทุกจำพวก สัตว์นรก เปรต อสุรกาย รวมทั้งหมด ๒๙ ภูมิ คือนอกจากมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานแล้ว นอกนั้นเป็นโอปปาติกะกำเนิดทั้งสิ้น คือ เกิดแล้วใหญ่โตทันทีเลย สมมุติว่าใครทำดีไว้ เมื่อทำดีก็ไปเกิดเป็นเทวดา รูปร่างใหญ่โตทันที เครื่องนุ่งห่ม อาภรณ์ และวิมานก็เกิดมีพร้อมทันที ไม่ต้องไปนอนในท้องมารดา ไม่ต้องมานั่งป้อนข้าว โตทันทีเลย เวลาตายก็ไม่ต้องทิ้งร่าง หายไปทันที เรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด

      เพราะฉะนั้น ญาติพี่น้องของเราบางคนที่ตายไป บางคนก็มาปรากฏแก่เรา บางทีพวกนี้มาเยี่ยม พวกนี้เป็นโอปปาติกะกำเนิดทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครพูดกับเขา บางทีมีกลิ่นปรากฏด้วย แต่บางคนเกิดไม่นาน ๖-๗ วันก็เปลี่ยนภูมิใหม่ แต่บางคนเกิดอยู่นาน แล้วแต่บุญแต่กรรมจะเสกสรรไป

       สัตว์โลกเป็นไปตามกฏแห่งกรรมอย่างนี้ กรรมเสกสรรคนและสัตว์โลกให้เลวทรามและประณีต อายุสั้น อายุยืน รูปสวยหรือไม่สวย รวยหรือไม่รวย มีปัญญามากหรือมีปัญญาน้อย ให้เกิดในภพภูมิหรือกำเนิดต่างๆ กรรมเป็นตัวเสกสรรทั้งสิ้น

      เพราะฉะนั้น กฏแห่งกรรมในพระพุทธศาสนาที่เราใช้สวดทุกคราวในเวลาเจริญอุเบกขาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นต้นนั้น พระพุทธเจ้าทรงแจกกรรมไว้ถึง ๖ ชนิด คือ

      (๑) กมฺมสฺสกา (อ่านว่า=> กัม-มัส-สะ-กา) สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน กรรมนี้ใครทำเป็นของคนนั้น ไม่ใช่เราทำชั่วเราบอกให้คนอื่นรับ เราต้องรับเอง เราทำดีก็ให้คนอื่นรับก็ไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน

       (๒) กมฺมทายาทา (อ่านว่า => กัม-มะ-ทา-ยา-ทา) เป็นผู้รับมรดกของกรรม มรดกนั้นเราต้องรับเพราะเราทำไว้

       (๓) กมฺมโยนี (อ่านว่า=> กัม-มะ-โย-นี) มีกรรมเป็นกำเนิด คือเราเกิดมาเพราะกรรมดลบันดาลให้เราเกิดมาเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ยากจน หรือร่ำรวย เป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น

       (๔) กมฺมพนฺธู (อ่านว่า=> กัม-มะ-พัน-ธู) มีกรรมเป็นพวกพ้อง เราทำกรรมอย่างไหนไว้เราก็ได้กรรมอย่างนั้นเป็นพวกพ้อง ทำกรรมอย่างใดไว้ พันธุ์ดีหรือพันธุ์ไม่ดีไว้ ถ้าทำพันธุ์ดีเราก็ได้รับพันธุ์ดี ถ้าทำพันธุ์ไม่ดีเราก็ได้รับพันธุ์ไม่ดี มีพี่น้องดีเราก็ดี มีพี่น้องไม่ดีเราก็เดือดร้อน

       (๕) กมฺมปฏิสรณา (อ่านว่า=> กัม-มะ-ปะ-ฏิ-สะ-ระ-ณา) มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เรานี้อาศัยกรรม เราสุขทุกข์ก็อาศัยกรรมเป็นอยู่ เหมือนเราอาศัยในบ้านเรือนของเรา วันหนึ่งๆ เราได้อาศัยกรรมที่เราสั่งสมไว้ กรรมดีเราทำไว้เราก็ได้มีที่อยู่อาศัย มีเรือนอาศัย มีเงินมีทองใช้ ถ้าทำไม่ดีก็ต้องอาศัยกรรมไม่ดีเป็นอยู่ เช่นอาศัยคุก มันเดือดร้อนอยู่ในคุก หรือทรมานอยู่ในนรกก็อาศัยกรรมเหมือนกัน อาศัยอยู่อย่างทุกข์ทรมาน

       (๖) ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ (อ่านว่า=> ยัง-กัม-มัง-กะ-ริส-สัน-ติ) จะทำกรรมอันใดไว้ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา (อ่านว่า=> กัล-ยา-ณัง-วา-ปา-ปะ-กัง-วา) ดีหรือชั่วก็ตาม ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ (อ่านว่า=> ตัส-สะ-ทา-ยา-ทา-ภะ-วิส-สัน-ติ) จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เราทำอย่างไหนไว้เราต้องได้รับอย่างนั้น เหมือนคนหว่านพืชชนิดใดย่อมได้รับผลชนิดนั้นอย่างแน่นอน 

       นี้คือกฏแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะควบคุมชีวิตทุกชีวิตอยู่ ทุกคนตกอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม ไม่ใช่ภายใต้อำนาจของดวงดาว ไม่ใช่อำนาจพระเจ้า ไม่ใช่อำนาจสิ่งอื่นใด หากแต่เป็นกรรมที่เราสร้างไว้เอง เป็นผู้เสกสรรเรา

       เพราะฉะนั้น เราจะดีจะชั่ว จะสุข จะเจริญ ก็เพราะกรรมของเราเอง ให้เชื่อมั่นกฏแห่งกรรมว่า ทำดีแล้วต้องได้ดี ทำชั่วแล้วต้องได้ชั่ว ไม่เร็วก็ช้า และจงสร้างที่พึ่งของตนเองด้วยตนเอง อย่ามัวหวังอ้อนวอนหรือพึ่งคนอื่นอยู่เลย เพราะตนแลเป็นที่พึ่งของตน.

จบตอนที่ ๖