กฏแห่งกรรม ตอนที่ 7

 กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๗

กรรมบถ

       

       การศึกษาให้เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม จะยังไม่ชัดเจนถ้ายังไม่เข้าใจเรื่อง กรรมบถ

       ฉะนั้น ในตอนนี้จะได้กล่าวถึง กรรมบถ ทั้งในฝ่ายกุศลกรรมบถและอกุศลกรรมบถ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจกฏแห่งกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

       กรรมบถ แปลว่า ทางแห่งการทำกรรม มีทางแห่งการทำกรรมอยู่ ๓ ทาง คือ

            ๑. ทางกาย เรียกว่า กายกรรม

            ๒. ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม

            ๓. ทางใจ เรียกว่า มโนกรรม

กรรมบถนั้นมี ๒ ประเภท คือ

            ๑. อกุศลกรรมบถ ทางแห่งการทำกรรมชั่ว

            ๒. กุศลกรรมบถ ทางแห่งการทำกรรมดี

อกุศลกรรมบถ ๑๐

       กรรมชั่ว ท่านเรียกว่า "อกุศลกรรมหรือบาปกรรม" การทำบาปหรือทำอกุศล ที่ถึงขั้นกรรมบถก็มี ที่ไม่ถึงขั้นกรรมบถก็มี

       การทำอกุศล ถ้ายังไม่ถึงขั้นกรรมบถ ก็ยังไม่จัดเป็นทุจริต - การประพฤติชั่ว เช่น การมีความโกรธต่อผู้อื่น การมีความรักอันประกอบด้วยราคะ และการมีจิตใจฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นต้น แม้จะก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้กระทำ แต่ผลของการกระทำยังไม่มีมาก เพราะกระทำด้วยอกุศลจิตที่ยังไม่รุนแรง ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นสัตว์อื่น มีโทษไม่มาก จึงไม่จัดเป็นบาปกรรม

       แต่การทำอกุศลที่เข้าถึงขั้นกรรมบถ จัดเป็นทุจริต เป็นบาปกรรมมีโทษมาก ก่อความทุกข์ร้อนได้มาก นอกจากจะทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนในปัจจุบันนี้แล้ว ก็ยังส่งผลโดยตรงให้ผู้ประพฤติล่วงกรรมบถ หรือประพฤติทุจริตนั้น ไปเกิดในอบายโดยตรงในชาติต่อไปอีกด้วย

       การทำอกุศลที่จัดเป็นบาปกรรม ส่งผลให้ตกอบายโดยตรง จัดเป็นอกุศลกรรมบถและจัดเป็นทุจริต

       อกุศลกรรมบถ แปลว่า ทางแห่งการทำอกุศล มี ๑๐ ประการ โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

ก. เป็นกายทุจริต การปรพพฤติชั่วทางกาย ๓ อย่าง คือ

            ๑. ปาณาติบาต = การฆ่าสัตว์

            ๒. อทินนาทาน = การลักทรัพย์

            ๓. กาเมสุมิจฉาจาร = การประพฤติผิดในกาม

ข. เป็นวจีทุจริต การประพฤติชั่วทางวาจา ๔ อย่าง คือ

            ๔. มุสาวาจา = การพูดเท็จ

            ๕. ปิสุณวาจา       = การพูดส่อเสียด

            ๖. ผรุสวาจา         = การพูดคำหยาบ

            ๗. สัมผัปปลาปะ   = การพูดเพ้อเจ้อ

ค. เป็นมโนทุจริต การประพฤติชั่วทางใจ ๓ อย่าง คือ

            ๘. อภิชฌา = โลภอยากได้ของเขา

            ๙. พยาบาท = ปองร้ายเขา

            ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ  = เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

      การทำทุจริตทั้ง ๓ ประการนี้ จะเข้าขั้นเป็นอกุศลกรรมได้ก็ต้องมีเจตนาคือความจงใจ ถ้าไม่มีเจตนาแล้วก็ไม่จัดเป็นกรรม เป็นเพียงสักแต่ว่าการกระทำเท่านั้น

ทวาร ๓

ทวาร แปลว่า ทาง และทางนั้น มี ๓ คือ

๑. ถ้ากระทำด้วยกาย หรือทางกาย เรียกว่า กายทวาร

๒. ถ้ากระทำด้วยวาจา หรือทางวาจา เรียกว่า วจีทวาร

๓. ถ้ากระทำด้วยใจ หรือทางใจ เรียกว่า มโนมวาร

      กายทุจริต - การประพฤติชั่วหรือการประพฤติผิดทางกาย เป็นได้ ๒ ทาง คือ กายทวารและวจีทวาร

      การฆ่าสัตว์ และ การลักทรัพย์ เป็นได้ ๒ ทาง คือ กายทวารและวจีทวาร เช่น การฆ่าสัตว์ ถ้าฆ่าด้วยตนเองก็เป็นกายกรรม และเป็นกายทวาร แต่ถ้าใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็เป็นกายกรรม วจีทวาร หรือการลักทรัพย์ ถ้าลักเองก็เป็นกายกรรม กายทวาร แต่ถ้าใช้ให้คนอื่นลักก็เป็นกายกรรม วจีทวาร ส่วนกาเมสุมิจฉาจาร เป็นกายกรรมและกายทวารอย่างเดียว.

       วจีทุจริต - การประพฤติชั่วหรือการประพฤติผิดทางวาจา เป็นได้ ๒ ทวาร คือ กายทวารและวจีทวาร

       การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ ถ้าพูดด้วยตนเองก็เป็นวจีกรรมและวจีทวาร แต่ถ้าแสดงออกมาทางกายแทนคำพูด ด้วยมือกรือศีรษะ เช่น ยกมือหรือสั่นศีรษะ เป็นต้น หรือเขียนหนังสือให้เขารู้ เป็นต้น การทำเช่นนี้ กรรมจัดเป็นวจีกรรม ส่วนทวารเป็นกายทวาร

       มโนทุจริต - การประพฤติชั่วทางใจ เป็นได้ทั้ง ๓ ทวาร คือ กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร คือ

       ในการการใดที่บุคคลมีจิตประกอบด้วยอภิชฌา - ความโลภอยากได้ของเขา ใช้มือจับของที่ตนต้องการนั้น หรือมีจิตปรพกอบด้วยพยาบาท ใช้มือเป็นต้น จับอาวุธจะเข้าทำร้ายคนที่ตนพยาบาท หรือมีจิตประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ใช้มือหรือเท้าทำท่าแสดงความไม่เคารพต่อพ่อแม่ของตน ด้วยคิดเห็นว่าท่านไม่มีบุญคุณอะไรต่อตน ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม ส่วนทวารเป็นกายทวาร เพราะแสดงอาการออกมาทางกาย

       แต่ในกาลใด บุคคลมีจิตประกอบด้วยอภิชฌา พูดออกไปในการอยากได้ของคนอื่น เช่นพูดว่า "ทำอย่างไรหนอ ของผู้อื่นจะมาเป็นของเรา" หรือมีจิตประกอบด้วยพยาบาท พูดว่า "ขอให้คนหรือสัตว์จงเดือดร้อนหรือถูกฆ่า หรือจงฉิหาน" หรือมีจิตประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ พูดว่า "ทานที่ให้แล้วไม่มีผล" เป็นต้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร เพราะแสดงออกมาทางวาจา

       ในกาลใด บุคคลไม่แสดงอาการทางกายหรือวาจา ทำจิตให้ประกอบด้วยอภิชฌา พยาบาท หรือมิจฉาทิฏฐิ ในกาลนั้น กรรมก็เป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวาร

องค์ประกอบของอกุศลกรรมบถ

       การทำอกุศลกรรมที่จัดได้ว่าเป็นอกุศลกรรมได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบในการกระทำนั้นครบถ้วน จึงจะเป็นอกุศลกรรมบถได้

       เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นั้น อกุศลกรรมบถข้อใดมีองค์ประกอบเท่าไร เพราะถ้าการกระทำนั้นมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่อาจจัดเป็นอกุศลกรรมบถได้ เช่น ฆ่าสัตว์ตายโดยไม่มีเจตนา หรือฆ่าแล้วแต่ไม่ตาย เป็นต้น การทำอกุศลที่มีองค์ประกอบครบถ้วนเท่านั้น จึงจะล่วงกรรมบถ หรือขาดศีลกรรมบถได้

ปาณาติบาต - การฆ่าสัตว์ มีองค์ ๕

การฆ่าสัตว์จะเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

            ๑. สัตว์มีชีวิต

            ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต

            ๓. จิตคิดจะฆ่า

            ๔. พยามเพื่อจะฆ่า

            ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

อทินนาทาน - การลักทรัพย์ มีองค์ ๕

การลักทรัพย์จะเข้าขั้นเป็นกรรมบถได้ ก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

            ๑. ของนั้นมีผู้อื่นหวงแหน

            ๒. รู้อยู่ว่าเป็นของมีผู้อื่นหวงแหน

            ๓. จิตคิดจะลัก

            ๔. พยายามเพื่อจะลัก

            ๕. ลักของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น

กาเมสุมิจฉาจาร - การประพฤติผิดในกาม มีองค์ ๕

การประพฤติผิดประเวณีหรือประพฤติผิดในกาม จนถึงขั้นเป็นกรรมบถได้ ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

            ๑. บุคคลผู้ไม่ควรประพฤติล่วง

            ๒. จิตคิดจะเสพในบุคคลที่ไม่ควรประพฤติล่วงนั้น

            ๓. ความพยายามเพื่อจะเสพ

            ๔. ประพฤติล่วงด้วยการเสพ

มุสาวาทา - การพูดเท็จ มีองค์ ๔

การพูดเท็จจะเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

            ๑. เรื่องไม่จริง

            ๒. จิตคิดจะพูดเรื่องไม่จริงนั้น

            ๓. ความพยายามเพื่อพูดเรื่องไม่จริงนั้น

            ๔. ผู้อื่นรู้เรื่องนั้น

ปิสุณวาจา - การพูดส่อเสียด มีองค์ ๔

การพูดส่อเสียดจะเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

            ๑. มีคนอื่นที่จะพึงทำลายให้แตกกัน

            ๒. ความมุ่งทำลายด้วยประสงค์ว่า "คนพวกนี้จะแตกกันด้วยอุบายนี้" หรือความปรารถนาจะทำตนให้เปฯที่รักด้วยประสงค์ว่า "เราจักเป็นที่รักจักเป็นที่คุ้นเคยด้วยอุบายนี้"

            ๓. ความพยายามอันเกิดจากความคิดนั้น

            ๔. ผู้อื่นรู้ความนั้น

     ในการพูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นแตกกันนี้ ในคัมภีร์มงคลทีปนี ท่านกล่าวไว้ว่า "เมื่อคนอื่นไม่แตกกัน กรรมบถยังไม่ขาด (คือ อกุศลยังไม่ถึงขั้นเป็นกรรมบถ) แต่เมื่อคนอื่นแตกกันจึงขาด"

     เพราะฉะนั้น ในองค์ประกอบของการพูดส่อเสียดนี้ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เห็นว่าควรจะเพิ่มองค์ประกอบเข้ามาอีก ๑ ข้อ เป็นข้อที่ ๕ คือ คนอื่นแตกกัน

ผรุสวาจา - การพูดคำหยาบ มีองค์ ๓

การพูดคำหยาบจะเป็นกรรมบถได้นั้น ก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ อย่าง คือ

            ๑. มีคนที่จะพึงด่า

            ๒. จิตโกรธ

            ๓. การด่า

     ในการด่านี้ จะเป็นกรรมบถข้อนี้ได้ก็ต่อเมื่อด่าด้วยจิตที่โกรธด้วยประสงค์ด่าเท่านั้น หาได้หมายเอาจิตที่โกรธด้วยจุดประสงค์ที่จะให้เขาตายไม่ เพราะถ้าด่าด้วยจิตโกรธด้วยประสงค์จะให้ตาย ก็กลายเป็นพยาบาทไปเสีย คือ กลายเป็นกรรมบถข้อพยาบาทไปเสีย

สัมผัปปลาปะ - การพูดเพ้อเจ้อ มีองค์ ๒

การพูดเพ้อเจ้อจะเป็นกรรมบถได้นั้นก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

            ๑. การมีเจตนามุ่งพูดเรื่องหาสาระไม่ได้

            ๒. การพูดเรื่องที่หาสาระไม่ได้นั้น

     ในการพูดเพ้อเจ้อนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มงคลทีปนีว่า "เมื่อผู้อื่นยังไม่รู้เรื่องนั้น กรรมบถยังไม่ขาด ต่อเมื่อผู้อื่นรู้เรื่องนั้น กรรมบถจึงขาด"

     ฉะนั้น ในองค์ประกอบของการพูดเพ้อเจ้อนี้ ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มีความเห็นว่าควรจะเพิ่มองค์ประกอบเข้าไปอีกข้อ เป็นข้อที่สาม คือ ผู้อื่นรู้เรื่องนั้น

*อภิชฌา - การโลภอยากได้ของเขา มีองค์ ๒

(*อภิชฌา หมายถึง โลภอยากได้ของเขาโดยคิดจะขโมย หาใช่เพียงแต่คิดอย่างเดียวไม่.)

     การโลภอยากได้ของเขา จะเป็นกรรมบถได้ก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

            ๑. ภัณฑะ (สิ่งของ) ของผู้อื่น

            ๒. การน้อมมาเพื่อตน (คือ อยากได้มาเป็นของตน)

พยาบาท - การปองร้าย มีองค์ ๒

การคิดปองร้ายผู้อื่น จะเป็นกรรมบถได้ก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ

            ๑. คนอื่นสัตว์อื่น

            ๒. ความคิดเพื่อความพินาศฉิบหายต่อคนอื่นสัตว์อื่นนั้น

มิจฉาทิฏฐิ - ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ทีองค์ ๒

ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เข้าขั้นเป็นกรรมบถนั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

            ๑. เรื่องนั้นตรงกันข้ามกับเรื่องที่มิจฉาทิฏฐิบุคคลนั้นยึดถือ

            ๒. เรื่องนั้นปรากฏว่าไม่เป็นเหมือนอย่างที่มิจฉาทิฏฐิบุคคลนั้นยึดถือเอา

     องค์ประกอบของมิจฉาทิฏฐิ ๒ ประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มงคลทีปนีนี้ แต่พิจารณาดูแล้วเข้าใจยาก แต่ในอรรถกถาอัฏฐสาลินี ท่านกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

     "ในมิจฉาทิฏฐินั้น กรรมบถย่อมขาดด้วยทิฏฐิ ๓ ประการ คือ

            (๑) นัตถิกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่มี

            (๒) อเหตุกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่มีเหตุ และ

            (๓) อกิริยทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ หาได้ขาดด้วยทิฏฐิอื่นไม่"

      ดังนั้น ในที่นี้ ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องทิฏฐิ ๓ ประการนี้ เพื่อจะได้เข้าใจอกุศลกรรมบถข้อสุดท้าย คือ มิจฉาทิฏฐิได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทิฏฐิ ๓

       ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ถ้าเห็นถูก เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถ้าเห็นผิด เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

       มิจฉาทิฏฐินั้นมีหลายชนิด คือ มิจฉาทิฏฐิ ๒ ก็มี มิจฉาทิฏฐิ ๓ ก็มี มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ก็มี มิจฉาทิฏฐิ ๒๐ ก็มี และ มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ก็มี

ในที่นี้ จะพูดถึงมิจฉาทิฏฐิ ๓ เท่านั้น คือ

            ๑. อกิริยทิฏฐิ = ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ

            ๒. อเหตุกทิฏฐิ = ความเห็นว่าไม่มีเหตุ

            ๓. นัตถิกทิฏฐิ = ความเห็นว่าไม่มี

      มิจฉาทิฏฐิข้อที่ ๑ ความเห็นของคนบางคนว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่จัดว่าเป็นชั่ว ถ้าไม่มีคนอื่นรู้ คนอื่นจับไม่ได้ ไม่มีคนลงโทษก็เท่านั้น ต่อเมื่อมีคนจับได้และลงโทษต่างหากจึงให้โทษ ส่วนการกระทำที่จัดว่าเป็นดี ถ้าไม่มีคนอื่นรู้ ไม่มีคนชม ไม่มีคนให้บำเหน็จบำนาญ ก็เปล่าทั้งนั้นเหมือนกัน ต่อเมื่อมีคนรู้แล้วชมเชย และให้บำเหน็จบำนาญต่างหาก จึงให้คุณ นี้จัดเป็น อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ คือ เห็นว่าบาปหรือบุญที่คนทำแล้วก็ไม่เป็นอันทำ ชื่อว่าปฏิเสธกรรม เป็นทิฏฐิของเจ้าลัทธิคนหนึ่งชื่อ ปูรณกัสสปะ ในสมัยพุทธกาล แม้ในปัจจุบันคนที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ก็มีอยู่ 

      มิจฉาทิฏฐิข้อที่ ๒ ความเห็นของคนบางคนว่า คนเราจะได้ดีหรือได้ชั่วก็ตามคราวที่จะเคราะห์ดี หรือเคราะห์ร้าย ถึงคราวเคราะห์ดีก็ดีเอง ทำอะไรก็มีคนชม ช่วยสนับสนุนชุบเลี้ยง ลาภยศเกิดขึ้นตามกัน ถึงคราวเคราะห์ร้าย ทำอะไรก็มีคนติ เข้าขัดขวางลาภยศลงตามกัน ความคิดเห็นเช่นนี้ จัดเป็น อเหตุกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่มีเหตุ พวกที่มีความเห็นเช่นนี้ ชื่อว่าปฏิเสธทั้งสองอย่าง คือ ปฏิเสธกรรมและผลของกรรม เพราะพวกนี้เชื่อว่าคนจะได้ดีก็ดีเอง จะได้ชั่วก็ชั่วเอง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เหตุปัจจัยในเรื่องสุข ในเรื่องทุกข์ ในเรื่องความดี ในเรื่องความชั่ว เท่ากับไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาปนั่นเอง ความเห็นเช่นนี้เป็นทิฏฐิของ มักขลิโคศาล ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล คนประเภทนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยในโลกปัจจุบัน 

      มิจฉาทิฏฐิข้อที่ ๓ ความเห็นของคนบางคนว่า สัตว์บุคคลไม่มี ธาตุต่างหากมาประชุมกัน เกื้อกูลกันและกันหรือทำร้ายกัน บุญบาปไม่มี ธาตุอย่างหนึ่งถึงกันเข้ากับธาตุอีกอย่างหนึ่งต่างหาก เช่น ฝนทำต้นไม้ให้สดชื่นผลิตดอกออกผล จะจัดว่าฝนได้บุญหรือ ไฟเผาต้นไม้ให้ตาย จะจัดว่าไฟได้บาปหรือ ความเห็นเช่นนี้ จัดเป็น นัตถิกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่มี คือ เห็นว่าขาดสูญนั้นเอง พวกที่มีความเห็นเช่นนี้ ชื่อว่า ปฏิเสธผลของกรรมหรือปฏิเสธวิบาก เมื่อปฏิเสธผลก็เท่ากับก็เท่ากับปฏิเสธเหตุเช่นกัน ทิฏฐิเช่นนี้เป็นของ อชิตเกสกัมพล ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล พวกนี้ถือว่าตายแล้วสูญ อันขัดต่อหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา คนประเภทนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยในโลกปัจจุบัน

      มิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่ง มีโทษมาก มีอันตรายมาก ห้ามสวรรค์และห้ามนิพพาน เป็นกรรมบถที่ร้ายแรงมากกว่า อนันตริยกรรมเสียอีก เพราะให้โทษอย่างไม่มีกำหนด ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในคัมภีร์เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เห็นธรรม (ความประพฤติ) อื่นแม้สักอย่างเดียว ซึ่งมีโทษมากเหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิมีโทษร้ายแรงอย่างยิ่ง"

โทษของอกุศลกรรมบถ ๑๐

       ในอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ จะมีโทษน้อยหรือโทษมากก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

            ๑. วัตถุ คือ บุคคลหรือสัตว์ที่จะพึงฆ่า จะพึงลัก หรือจะพึงประพฤติล่วง หรือคำพูดที่จะพึงพูด ในการล่วงอกุศลกรรมบถ

            ๒. ประโยค คือ ความพยายามหรือการกระทำในการประพฤติล่วงอกุศลกรรมบถ

            ๓. เจตนา คือ ความจงใจในการประพฤติล่วงอกุศลกรรมบถ

       บาปจะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับ วัตถุ ประโยค และเจตนา ทั้ง ๓ ประการนี้เท่านั้น คือ

       - ถ้าวัตถุใหญ่มีคุณมากหรือมีค่ามาก บาปก็มาก ถ้าวัตถุเล็กมีคุณน้อยหรือค่าน้อย บาปก็น้อย

       - ถ้าความพยายามมาก พยายามนาน ไม่ว่าในทางกาย ทางวาจาหรือทางใจ บาปก็มาก ถ้าความพยายามน้อยบาปก็น้อย

       - ถ้าเจตนาอันประกอบด้วย โลภะ โทสะ หรือโมหะรุนแรง บาปก็มาก ถ้าเจตนาน้อยบาปฏ็น้อย

       แต่อย่างไรก็ตาม อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นทุจริตทั้ง ๓ ทาง คือ เป็นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓ จึงเป็นบาปกรรมที่มีโทษ ใครประพฤติเข้าแล้วจะต้องเป็นบาป ส่งผลให้เขาได้รับกรรมชั่วที่เขาทำไว้อย่างแน่นอน

       ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสโทษของทุจริตทั้ง ๓ ไว้ ในอานันทสูตร ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า

       "อานนท์ เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ว่าเป็น อกรณียกิจ (กิจที่ไม่ควรทำ) โดยส่วนเดียว อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าเป็นอกรณียกิจโดยส่วนเดียว เขาพึงได้รับโทษดังต่อไปนี้

            ๑. แม้ตนเองก็ติเตียนตนเองได้

            ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนตนเอง

            ๓. ชื่อเสียงอันชั่วย่อมกระฉ่อนไป

            ๔. ย่อมหลงตาย

            ๕. เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก"

       ดังนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลาย ย่อมเห็นได้แล้วว่า อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นกรรมชั่วที่ผลิตออกมาเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า จึงไม่ควรทำ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกฏํ = กรรมชั่วไม่ทำเสียดีกว่า เพราะว่ากรรมชั่วย่อมเผาผลาญ (ทำให้เดือดร้อน) ในภายหลังได้

น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ      = บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี."

คำอ่าน=>อะ-กะ-ตัง-ทุก-กะ-ฏัง-ไส-โย-ปัจ-ฉา-ตัป-ปะ-ติ-ทุก-กะ-ฏัง.// นะ-ตัง-กัม-มัง-กะ-ตัง-สา-ธุ-ยัง-กัตะ-วา-อะ-นุ-ตัป-ปะ-ติ.

กุศลกรรมบถ ๑๐

      กุศลกรรมบถ เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถ มีอยู่ ๑๐ ประการเช่นกัน คือ

            ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ = กายสุจริต ๓

            ๒. ไม่ลักทรัพย์

            ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม

            ๔. ไม่พูดเท็จ = วจีสุจริต ๔

            ๕. ไม่พูดส่อเสียด

            ๖. ไม่พูดคำหยาบ

            ๗. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

            ๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา = มโนสุจริต ๓

            ๙. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา

            ๑๐ เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

      กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นศีล เรียกว่า ศีลกุศลกรรม ถ้าใครประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ชื่อว่ารักษาศีลเช่นกัน แต่เป็นศีลในกุศลกรรมบถ เป็นศีลสำหรับฆราวาสอย่างหนึ่ง

      แต่ในศีลกรรมบถนี้ ไม่ได้พูดถึงการงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ในเรื่องนี้ บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้น การรักษาศีลกรรมบถก็ดีกว่าการรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เพราะดื่มเหล้าได้ แท้ที่จริง ศีลข้อเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ท่านจัดเข้าในศีลกรรมบถเช่นกัน คือจัดเข้าในข้องดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เพราะเป็นความอยากความใคร่ในการที่จะเสพเช่นกัน ฉะนั้น การดื่มเหล้าจึงผิดศีลกรรมบถด้วย และผู้รักษาศีลกรรมบถก็ต้องเว้นจากการดื่มสุราเมรัยด้วยเช่นกัน

      แต่ศีลกรรมบถนี้รักษายากกว่าศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีลอื่นในข้อที่ว่า ต้องรักษาศีลทางใจด้วย ศีลอย่างอื่นๆ เพียงแต่คิด ศีลยังไม่ขาด แต่ศีลกรรมบถนี้แม้เพียงคิดศีลก็ขาดได้ เช่น คิดโลภอยากได้ของเขา คิดพยาบาทปองร้าย หรือคิดเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่นเห็นว่า บาปบุญไม่มี ตายแล้วสูญ นรกสวรรค์ไม่มี เป็นต้น ฉะนั้น ศีลกรรมบถจึงรักษายากกว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ แต่คนที่มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลอยู่ตามปกติแล้ว ย่อมรักษาศีลในกุศลกรรมบถได้ง่ายมาก

      บางคนไม่ได้ประพฤติล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ แต่ก็ไม่มีศีลกรรมบถ เพราะไม่ตั้งใจรักษา การจะมีศีลได้ก็ต้องตั้งใจงดเว้นรักษา ที่เรียกว่า วิรัติ

       ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการรักษาศีลกรรมบถ ก็ต้องตั้งใจงดเว้นอกุศลกรรมบถเอาด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปขอสมาทานจากใคร เมื่อตั้งใจงดเว้นจากความชั่วอันเข้าข่ายอกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้ว ก็ชื่อว่ารักษาศีลกรรมบถ

       ผู้รักษาศีลกรรมบถ ย่อมได้รับอานิสงส์มาก เพราะเป็นการงดเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริตและมโนทุจริต แล้วมาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต การรักษาศีลประเภทอื่นนั้นได้แต่กายสุจริต และวจีสุจริตเท่านั้น ไม่ถึงมโนสุจริต ฉะนั้น การรักษาศีลกรรมบถจึงมีอานิสงส์มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ไว้ในอานันทสูตร ทุกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า

       "อานนท์ เรากล่าวกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต ว่าเป็นกรณียกิจ (กิจที่ควรทำ) โดยส่วนเดียว อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต (และ) มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าเป็นกรณียกิจโดยส่วนเดียว เขาพึงได้รับอานิสงส์ต่อไปนี้ คือ

       ๑. แม้ตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้

       ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ

       ๓. ชื่อเสียงอันดีย่อมขจรไป

       ๔. ย่อมไม่หลงตาย

       ๕. เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

อานิสงส์ของการประพฤติกุศลกรรมบถ

       การรักษาศีลกรรมบถ หรือ การประพฤติกุศลกรรมบถ - ทางแห่งการทำความดี มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ซึ่งท่านกล่าวในคัมภีร์ต่างๆ ของพระพุทธศาสนาหลายแห่ง โดยเฉพาะในอรรถกถา ขุททกปาฐะ แห่งคัมภีร์ขุททกนิกาย แสดงไว้ค่อนข้างละเอียดมาก แต่ในที่นี้จะรวบรวมอานิสงส์ หรือประโยชน์ของการประพฤติตามกุศลกรรมบถมากล่าวไว้ เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของการสั่งสมกรรม ในขั้นกุศลกรรมบถ ๑๐ ดังนี้

๑. การเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีอานิสงส์ ๙ ประการ คือ

            (๑) มีร่างกายสมบูรณ์

            (๒) มีรูปพรรณสัณฐานงดงาม

            (๓) มีกำลังกายดี

            (๔) มีกำลังปัญญาไว

            (๕) เป็นคนองอาจ

            (๖) ไม่ทำลายตน หรือถูกผู้อื่นทำลาย

            (๗) ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

            (๘) มีบริวารมาก

            (๙) มีอายุยืน

๒. การเว้นจากการลักทรัพย์ มีอานิสงส์ ๖ ประการ คือ

            (๑) มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์

            (๒) มีชีวิตไม่ฝืดเคือง

            (๓) ไม่มีความอดอยาก

            (๔) ย่อมได้สิ่งที่ตนปราถนา

           ( ๕) มีความเจริญก้าวหน้าในการค้าขาย

            (๖) ไม่มีความพินาศด้วยภัยพิบัติ

๓. การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

            (๑) มีคนรักนิยมนับถือมาก

            (๒) ไม่มีคนคอยปองร้าย

            (๓) มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์

            (๔) ไม่มีความอดอยากยากจน

            (๕) ไม่ต้องเกิดเป็นสตรี

            (๖) ไม่เกิดเป็นกะเทย

            (๗) เกิดเป็นบุรุษในตระกูลสูง

            (๘) ได้รับเกียรติอยู่เสมอ

            (๙) มีร่างกายสมบูรณ์

            (๑๐) ไม่มากไปด้วยความวิตกกังวล

            (๑๑) ไม่ต้องพลัดพรากจากผู้ที่ตนรัก

๔. การเว้นจากการพูดเท็จ มีอานิสงค์ ๘ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนพูดเสียงไพเราะชัดเจน

            (๒) มีฟันเรียบร้อยดี

            (๓) มีกลิ่นปากหอม

            (๔) มีไอตัวสนิท (ไม่มีกลิ่นตัวแรง)

            (๕) มีดวงตาสมส่วน

            (๖) มีปกติพูดจาด้วยความจริงใจ

            (๗) มีกิริยาท่าทางสง่าผ่าเผย

            (๘) มีจิตใจมั่นคง

๕. การเว้นจากการพูดส่อเสียด มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนไม่ติเตียนตนเอง

            (๒) มีปกติรับฟังคำพูดจริง

            (๓) บัณฑิตย่อมยกย่องสรรเสริญเสมอ

            (๔) มีความสามัคคีกับมิตรเสมอ

๖. การเว้นจากการพูดคำหยาบ มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์

            (๒) มักจะได้ยินเสียงเป็นที่น่าพอใจ

            (๓) มีกายวาจาเรียบร้อย

            (๔) เวลาตายมีสติสมบูรณ์

๗. การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนมักพูดเป็นธรรม

            (๒) ไม่วิกลจริต

            (๓) มีอำนาจวาสนาดี

            (๔) มีความพอใจคำพูดของตนเสมอ

๘. การเว้นจากการโลภอยากได้ของเขา มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และคุณความดี

            (๒) เกิดในตระกูลสูง

            (๓) ได้รับคำสรรเสริญอยู่เสมอ

            (๔) มีลาภสักการะสมบูรณ์

๙. การเว้นจากการไม่พยาบาทปองร้าย มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนมีรูปงาม

            (๒) ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน

            (๓) มีอายุยืน

            (๔) ตายตามอายุขัย

๑๐. การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม มีอานิสงส์ ๔ ประการ คือ

            (๑) เป็นคนอยู่ใกล้ชิดพระธรรมเสมอ

            (๒) มีปัญญาดี

            (๓) เกิดในตระกูลมีความรู้

            (๔) เป็นผู้มีฐานะทัดเทียมคนที่มีฐานะดี

      ส่วนโทษของการประพฤติล่วงกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ อันเป็นการทำอกุศลกรรมบถ ก็มีนัยตรงกันข้ามกับอานิสงส์ของการบำเพ็ญกุศลกรรมบถดังกล่าวมาข้างต้นนี้

      ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลายย่อมเห็นชัดแล้วว่า กุศลกรรม - ทางแห่งการทำความดี ทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ ให้คุณค่าแก่ผู้ปฏิบัติตามเพียงไร จึงจัดเป็นกุศลกรรมที่ควรบำเพ็ญเป็นแระจำตลอดไป เพราะก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมาก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

            "กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย. = การทำดีนั่นแลดีกว่า"

และตรัสว่า

            "ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ

                = บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมที่ทำนั่นแลดีกว่า"

คำอ่าน=> กะ-ตัญ-จะ-สุ-กะ-ตัง-ไส-โย-/-ตัญ-จะ-กัม-มัง-กะ-ตัง-สา-ธุ--ยัง-กัตะ-วา-นา-นุ-ตัป-ปะ-ติ

จบตอนที่ ๗