กฏแห่งกรรม ตอนที่ 10

 กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๑๐

* นิยาม ๕ (กฏธรรมชาติ)

       กฏแห่กรรม คือ กฏแห่งเหตุผล เป็นกฏธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า กรรมนิยาม

         คำว่า นิยาม แปลว่า กฏ หมายถึงกฏธรรมชาติ หรือกฏแห่งเหตุผล

       อันกฏธรรมชาตินั้น ไม่ใช่มีแต่กฏแห่งกรรมอย่างเดียว หากแต่มีหลายกฏ หลักในพระพุทธศาสนาได้ประมวญกฏธรรมชาติหรือกฏแห่งเหตุผลได้ ๕ อย่างคือ

            ๑. กรรมนิยาม  = กฏแห่งกรรม

            ๒. อุตุนิยาม = กฏแห่งฤดู

            ๓. พืชนิยาม    = กฏแห่งพืช

            ๔. จิตนิยาม     = กฏแห่งจิต

            ๕. ธรรมนิยาม  = กฏแห่งธรรมะ

       กรรมนิยาม กฏแห่งกรรม หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับกรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมผู้นั้นจะได้รับผลของกรรมนั้น เป็นต้น ดังที่ได้อธิบายมาแล้วตั้งแต่ตอนแรกถึงตอนที่ ๙

       อุตุนิยาม กฏแห่งฤดู หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ โดยเฉพาะดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล การที่มีร้อนมีหนาว หรือมีฤดูเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาตินั้น เป็นกฏธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่ในคัมภีร์ท่านกล่าวว่า "การที่ต้นไม้ทั้งหลายออกดอกผลและผลิใบพร้อมกันในฤดูกาลนั้นๆ คือ อุตุนิยาม"

       พีชนิยาม กฏแห่งพืช หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับพืช เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ของพืช เช่น ปลูกมะม่วง ผลที่ออกมาก็เป็นมะม่วง ปลูกข้าว ผลที่ออกมาก็เป็นข้าว ปลูกพืชอะไรก็ออกต้น ออกผลเป็นพืชนั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น อย่างนี้เรียกว่า พีชนิยาม และการที่ต้นไม้มีลำต้น ดอกผล ใบ และอื่นๆ แตกต่างกันนั้นก็จัดเป็นพีชนิยาม กฏของพืชทั้งสิ้น

       จิตนิยาม กฏแห่งจิต หรือกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติของจิต ได้แก่ การทำงานของจิต ซึ่งมีกฏเกณฑ์โดยเฉพาะของจิต เช่น จิตเกิดเร็ว ดับเร็ว จิตออกรับอารมณ์ทีละอย่างเท่านั้น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะมีเจตสิกอะไรประกอบได้บ้าง หรือมีเจตสิกอะไรรวมไม่ได้ มันมีกฏเกณฑ์ของมัน หรือเมื่อจะมีจิตขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ มันจะดำเนินไปอย่างไร ก่อนจะเคลื่อนไหว มันเป็นอดีตภวังค์ (ภวังค์เดิม) เมื่อเคลื่อนตัวจะออกจากภวังค์ก็เป็นภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) แล้วจึงเป็นภวังคุปัจเฉทะ (ตัดกระแสภวังค์) จากนั้นก็มีการทำหน้าที่ต่างๆ ต่อไป จนถึงชวนจิต แล้วกลับตกภวังค์อย่างเดิมอีก อย่างนี้เรียกว่า จิตนิยาม

       แม้การที่จิตเกิดขึ้น (อุปปาทะ) ตั้งอยู่ (ฐิติ) แล้วดับไป (ภังคะ) ของจิต อันมีอยู่ตลอดเวลาก็จัดเป็นจิตนิยาม กฏของจิตเช่นกัน

       ธรรมนิยาม กฏแห่งธรรมะ คือ กฏเกี่ยวกับเหตุและผลของสิ่งทั้งหลาย อันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่นคนเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย, สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่า ธรรมนิยาม

       แม้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในธรรมนิยสมสูตรว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หลักอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือ ธรรมนิยาม - กฏแห่งธรรมะ

       แต่ในคัมภีร์ และอรรถกถาอรรถสาลินี ท่านกล่าวว่า การที่จักรวาล ๑ หมื่น หวั่นไหวในกาลทรงถือปฏิสนธิ และประสูติจากพระครรภ์พระมารดาของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย, ในการตรัสรู้ ในกาลทรงแสดงธรรมจักร ในกาลปลงพระชนมายุสังขาร และในกาลเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคตเจ้า จัดเป็นธรรมนิยาม - กฏแห่งธรรมะ คือ กฏธรรมชาติ จะต้องปรากฏเช่นนี้เอง เมื่อถึงโอกาสเช่นนี้

       ดังนั้น จากนิยาม - กฏเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือกฏแห่งเหตุและผล ๕ ประการนี้ เราจะเห็นชัดแล้วว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนั้น หาใช่เป็นไปตามกฏแห่งกรรมเท่านั้นไม่ หากแต่เป็นกฏธรรมชาติอย่างอื่นด้วย อย่าได้คิดว่าเป็นกฏแห่งกรรมเสมอไป เพราะยังมีกฏธรรมชาติอีกถึง ๔ อย่าง หาใช่มีแต่กฏแห่งกรรมอย่างเดียวไม่

กฏแห่งกรรมต่างจากกฏธรรมชาติอย่างอื่น

       กฏแห่งกรรม แม้จะเป็นกฏธรรมชาติเช่นเดียวกับกฏอื่นๆ แต่ก็แตกต่างจากกฏธรรมชาติอื่นๆ

       ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การที่จะเป็นกรรมได้นั้น ก็ต้องเกิดจากการกระทำ และต้องทำด้วยเจตนาเท่านั้น และเราต้องทำเอง ไม่ใช่คนอื่นทำให้

       บางคนเข้าใจผิด เอากฏแห่งกรรมไปปนกับกฏธรรมชาติอื่นๆ เพราะแยกไม่ออกว่า อย่างไหนคือกฏแห่งกรรม และอย่างไหนคือกฏธรรมชาติอย่างอื่น เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดในเรื่องนี้ เราต้องทำความเข้าใจกฏธรรมชาติอย่างอื่นอีก ๔ ข้ออันเป็นกฏธรรมชาติที่นอกเหนือไปจากกฏแห่งกรรมด้วย

       ยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่า นายแดงเหงื่อออก ถามว่านายแดงเหงื่อออกเพราะอะไร ถ้าหากว่าเป็นเพราะอากาศร้อน ลองวินิจฉัยดูว่าอยู่ในนิยามไหน ถ้าว่าอะไรๆ เป็นเพราะกรรมหมดแล้ว เป็นกรรมอะไรของนายแดงที่ต้องเหงื่อออก แท้ที่จริงเมื่อเป็นเพราะอากาศร้อน ก็เป็นอุตุนิยาม ไม่ใช่กรรมนิยาม แต่ถ้านายแดงไปทำผิดไว้ พอเข้าที่ประชุม เขาเกิดสอบสวนหาตัวผู้ทำผิด นายแดงมีความกลัวมาก ก็อาจจะกลัวจนเหงื่อออก อย่างนี้ นายแดงเหงื่อออกเพราะอะไร ตรงนี้ ตอบได้ว่าเพราะกรรม ถ้าอย่างนี้ เป็นกรรมนิยาม

       อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่า นายมีปลูกต้นไม้ไว้ที่สวนของเขา แต่ต้นไม้นั้นออกผลมาเปรี้ยว ก็ไม่ใช่กรรมของนายมี หากแต่เป็นพีชนิยาม คือกฏของพืชต่างหาก แต่ถ้านายมีได้รับประทานผลไม้นั้นเข้า เกิดตายขึ้นมา นั้นก็เป็นกฏแห่งกรรม เพราะแกอาจจะเคยสร้างกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมา จึงเป็นเหตุให้ต้องรับประทานผลไม้นั้นเข้า

       เมื่อคนเราตาย ถ้ายังมีกิเลสก็ต้องเกิดในทันที คือ เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณก็เกิดในทันที การที่เป็นอย่างนี้เป็นจิตนิยาม ไม่ใช่กรรมนิยาม แต่ถ้าเมื่อตายแล้วไปเกิดในนรกหรือสวรรค์ หรือมาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างนี้เป็นกรรมนิยาม เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ตนได้ทำไว้

       การที่โลกหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์ก็ดี การที่ดวงดาวในจักรวาลต่างๆ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาก็ดี การมีกลางวันและกลางคืนก็ดี การที่ฝนตกหรือแดดออกก็ดี การที่ภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินถล่มก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นธรรมนิยาม - กฏแห่งธรรมะ ไม่ใช่กรรมนิยาม แต่ถ้าใครต้องตาย เมื่อภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินถล่ม นั้นคือกรรมของเขา นี้จัดเป็นกรรมนิยาม

       ใครก็ตามที่ยึดถือว่าอะไรๆ ทุกอย่างล้วนเกิดจากผลของกรรมทั้งสิ้น เป็นคนถือผิด แม้ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคิริมานนทสูตรว่า* โรคบางอย่างเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอก็มี โรคบางอย่างเกิดจากฤดู คือ สภาพแวดล้อมเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากดีเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ประกอบกันก็มี เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี คือโรคบางอย่างเกิดจากกรรม แต่โรคหลายอย่างเกิดจากอย่างอื่น เช่นเกิดจากฤดู เกิดการแปรปรวนของร่างกาย จากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอ เช่นพักผ่อนน้อยเกินไป หรือออกกำลังมากเกินไป เป็นต้น กฏแห่งกรรมนี้เป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้น

       เพราะฉะนั้น เราต้องเอาหลักเรื่องนิยาม ๕ มาวินิจฉัยด้วย อย่าถือว่าเป็นเรื่องของกรรมไปเสียทุกอย่าง และบางอย่างก็เกิดจากนิยามต่างๆ หลายนิยามมาประกอบกัน ฉะนั้น เราจึงต้องรู้จักนิยาม ๕ ไว้ด้วย

       จากการศึกษาเรื่องนิยาม ๕ นี้ ก็พอชี้ให้เห็นได้แล้วว่า หลักพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะพูดถึงกฏธรรมชาติว่าด้วยเหตุผล อันเราควรภูมิใจ และยึดมั่นว่าเป็นคำสอนที่ไม่ตาย ยังทันสมัยอยู่เสมอ ทนต่อการพิสูจน์ของนักปราชญ์มาทุกยุคทุกสมัย จนถึงทุกวันนี้

       ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ก็ยิ่งพิสูจน์คำสอนทางพระพุทธศาสนาได้เด่นชัดขึ้น พุทธศาสนาจึงไม่กลัวความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ยิ่งเจริญ ก็ยิ่งสนับสนุนคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ศรัทธา ๔ ประการ

       พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ไม่สอนให้เชื่ออย่างงมงาย แม้จะสอนเรื่องศรัทธา - ความเชื่อ แต่ความเชื่อนั้น ต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งปัญญา

       เนื่องจากศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องกับกฏแห่งกรรมโดยตรง ฉะนั้น ในตอนนี้จึงได้นำเรื่องศรัทธามากล่าวไว้ด้วย

ศรัทธาในพระพุทธศาสนา มี ๔ อย่าง คือ

     ๑. กัมมสัทธา เชื่อว่า กรรมมีจริง

     ๒. วิปากสัทธา เชื่อว่า ผลของกรรมมีจริง

     ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนจริง

    ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อ การตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า

       การที่คนเราจะมุ่งทำความดีโดยจริงใจและจริงจังนั้น ก็ต้องมีศรัทธา หากขาดศรัทธาแล้ว การทำความดีหรืองานที่ทำนั้น ย่อมมีผลน้อย ถ้าศรัทธาในเรื่องใดมาก ก็ตั้งใจในสิ่งนั้นมาก ถ้าไม่ศรัทธาก็ไม่อยากทำ ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีความจำเป็นมากอย่างหนึ่งในการทำความดี แต่เพื่อไม่ให้ศรัทธาของคนเรางมงาย หรือออกนอกลู่นอกทาง ทางพระพุทธศาสนาจึงวางศรัทธาไว้ใน ๔ เรื่อง อันเป็นศรัทธาที่วางอยู่บนปัญญา คือ 

       กัมมสัทธา เชื่อกรรม คือเชื่อว่า กรรมดีมีจริง กรรมชั่วมีจริง ไม่เชื่ออำนาจพระเจ้า ไม่เชื่ออำนาจดวงดาว ไม่เชื่ออำนาจสิ่งภายนอกว่าจะมาดลบันดาลให้ชีวิตของตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เชื่อว่าสิ่งที่มาดลบันดาลชีวิตของตนมากที่สุด คือ กรรม

       วิปากสัทธา - เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าใครทำดีต้องได้ดี ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว ไม่แปรผัน ไม่สงสัยในเรื่องผลของกรรม

       กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน คือเชื่อว่า กรรมนี้ทั้งดีและชั่ว ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ ความบริสุทธิ์หรือความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์นั้นหาได้ไม่ ถ้าหากว่าเขาไม่ทำเอาเอง

       * ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือพุทธศาสนิกชนที่ดีทุกคนย่อมเชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง พระธรรมเป็นของประเสริฐจริง ไม่ใช่เป็นของที่ใครแต่งหรือใครเขียนขึ้นมา หากแต่พระธรรมนี้ถูกค้นพบจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

       เมื่อเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เชื่อว่ามีศรัทธาอีก ๓ ประเภทข้างต้นด้วย เพราะกฏแห่งกรรมก็ถูกค้นพบจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

       ศรัทธาทั้ง ๔ ประการนี้ มีมาในบาลีพระไตรปิฎก เฉพาะข้อที่ ๔ เท่านั้น ว่าโดยใจความแล้ว ศรัทธา ๓ ข้อต้น ย่อมรวมลงในข้อที่ ๔ ได้ทั้งหมด

       เป็นสิ่งที่น่าสังเกตุว่า การที่พระอาจารย์ทางพระพุทธศาสนารุ่นหลัง เพิ่มศรัทธาอีก ๓ ประเภทข้างต้นเข้ามานั้น ก็ดึงเอามาจากความหมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง เพื่ออธิบายหลักศรัทธา และหลักกรรมในพระพุทธศาสนาให้เข้าใจชัดยิ่งขึ้น และน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตรงกันข้ามหรือเพื่อลบล้างพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่มีศรัทธา พวกมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประเภท ที่ได้พูดมาแล้ว คือ

            ๑. อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ พวกนี้ค้านกรรม

            ๒. นัตถิกทิฏฐิ เห็นว่าขาดสูญ พวกนี้ค้านผลของกรรม

            ๓. อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่าไม่มีเหตุ พวกนี้ค้านทั้ง ๒ อย่าง

  คือ ทั้งกรรมและผลของกรรม

       กัมมสัทธา - เชื่อกรรม ก็เพื่อให้ตรงกันข้ามกับพวกอกิริยทิฏฐิ คือ พวกไม่เชื่อกรรม

       วิปากสัทธา - เชื่อผลของกรรม ก็เพื่อให้ตรงกันข้ามกับพวกนัตถิกทิฏฐิ คือ พวกไม่เชื่อผลของกรรม

       กัมมัสสกตาสัทธา - เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ก็เพื่อให้ตรงกันข้ามกับพวกอเหตุกทิฏฐิ คือ พวกปฏิเสธหมดทั้งเหตุทั้งผล คือทั้งกรรมและผลของกรรม เพราะพวกนี้เชื่อว่าคนจะชั่วก็ชั่วเอง คนจะดีก็ดีเอง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย

       ฉะนั้น พุทธศาสนิกชนที่แท้จริงนั้น ต้องเชื่อหลักธรรมที่มีเหตุผล ๔ ประการเท่านั้น คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน และเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า.

จบตอนที่ ๑๐