กฏแห่งกรรม ตอนที่ 3

กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๓

กรรมให้ผลตามลำดับ (หมวดที่ ๓)

     กฏแห่งกรรมคือกฏธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และเราทุกคนก็ถูกควบคุมโดยกฏแห่งกรรม แม้การที่เรามาเจริญกรรมฐานนั้นก็เป็นกรรมฝ่ายดี เรียกกุศลกรรม เป็นกุศลกรรมที่เหนือกว่าทานเหนือกว่าศีล เป็นกุศลกรรมขั้นภาวนา

     ในตอนที่ผ่านมานั้น ได้ชี้แจงให้เห็นว่ากรรมมี ๑๒ อย่าง โดยแบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ :-

หมวดที่ ๑ กรรมที่ให้ผลตามกาล มีอยู่ ๔ อย่าง

หมวดที่ ๒ กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มีอยู่ ๔ อย่าง

    สองหมวดนี้ได้อธิบายจบไปแล้วในตอนที่ ๒ เฉพาะในตอนนี้จะได้อธิบายกรรมหมวดสุดท้าย คือ กรรมให้ผลตามลำดับ

มีอยู่ ๔ อย่างเหมือนกัน

          กรรมที่ว่าให้ผลตามลำดับนั้น มีกฏธรรมชาติของมันว่า กรรมใดหนักนั้นกรรมนั้นต้องให้ผลก่อน ไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็นกรรมดี

หรือกรรมชั่ว หรือไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ไม่ว่ากรรมนั้นจะทำก่อนหรือทำหลัง ถ้ากรรมนั้นหนักแม้ทำทีหลังก็จะให้ผลก่อน และกรรมที่เพลาลงมาก็จะให้ผลตามลำดับ และกรรมนี้มันจัดคิวของมันเอง เป็นเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ของมันเองว่า เมื่อทำไปแล้วอย่างไหนหนัก มันจัดลำดับของมันเอง เราไม่ต้องไปจัดให้มัน ไม่มีผู้พิพากษาแยกแยะว่านี้หนักนี้เบา ไม่ต้องไปแยกให้มัน มันแยกของมันเอง อย่างเรามานั่งสมาธิ ถ้าจิตเราสงบมากก็ได้บุญมาก กรรมมันแยกไปไว้ เก็บไปไว้ ถ้าเราได้น้อยกรรมมันก็เก็บบันทึกไว้ว่าได้น้อย ไม่ต้องมีใครมาคอยนับคอยตวงว่าหนักเท่านั้นเท่านี้ แต่กรรมมันจะกำหนดด้วยตัวของมันเอง เพราะเป็นกฏธรรมชาติ

     กรรมที่ให้ผลตามลำดับนั้นมี ๔ อย่างคือ

(๑) ครุกรรม กรรมหนัก (ครุ แปลว่าหนัก) (อ่านว่า => คะ-รุ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๒) อาสันนกรรม กรรมที่ตามระลึกได้เมื่อจวนเจียนจะตายหรือกรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย (อ่านว่า => อา-สัน-นะ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๓) อาจิณณกรรม กรรมที่ทำเป็นอาจิณ ทำบ่อย ๆ กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือพหุลกรรม กรรมมาก กรรมที่ทำไว้มาก ๆ หรือแม้ทำครั้งเดียว แต่ต้องเสพเสมอเป็นนิตย์ (อ่านว่า => อา-จิน-นะ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๔) กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ (อ่านว่า => กะ-ตัด-ตา-กัม *ผู้จัดทำ)

 * กรรม ๑๒ หรือ กรรม ๓ หมวดนี้ มิได้มาในบาลีพระไตรปิฎกในรูปเช่นนี้โดยตรง แต่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอภิธัมมัตถสังคหะ แต่ในวิสุทธิมรรคจัด อาจิณณกรรม รองจากครุกรรม ส่วนในอภิธัมมัตถสังคหะและในอรรถกถามัชฌิมนิกาย จัดอาสันนกรรมรองจากครุกรรม ในที่นี้จัดอย่างนัยหลัง เพราะมีเหตุผลชัดเจนกว่า *(ผู้เขียน)

     กรรมที่ ๑ ครุกรรม กรรมหนัก กรรมนั้นบอกแล้วว่ามีทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ครุกรรมที่เป็นกรรมชั่วก็มี ครุกรรมที่เป็นกรรมดีก็มี

     ครุกรรมที่เป็นกรรมชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อนันตริยกรรม แปลว่า กรรมที่มีโทษมาก โทษอย่างมหันต์ โทษที่นับไม่ได้ (อนันตะ แปลว่า นับไม่ไหว มันมาก) มีอยู่ ๕ อย่าง

            (๑) มาตุฆาต ฆ่าแม่ (อ่านว่า => มา-ตุ-คาด)

            (๒) ปิตุฆาต ฆ่าพ่อ (อ่านว่า => ปิ-ตุ-คาด)

            (๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ (อ่านว่า => อะ-ระ-หัน-ตะ-คาด)

            (๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต (อ่านว่า => โล-หิ-ตุ-ปะ-บาด)

            (๕) สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน (อ่านว่า => สัง-คะ-เภท)

      กรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ ถ้าใครทำเข้าแล้วเป็นกรรมฝ่ายกุศลที่เป็นบาปหนัก เป็นกรรมหนัก เช่น ใครไปฆ่าพ่อฆ่าแม่ด้วยความจงใจ ก็เป็นอนันตริยกรรม แต่ต้องมีเจตนาจึงเป็นกรรม แต่ถ้าฆ่าโดยไม่เจตนาก็ไม่เป็นกรรม อย่างเราให้ยาแก่คนไข้หรือเราให้ยาแก่พ่อแม่ เกิดให้ยาผิดพ่อแม่เกิดตาย อย่างนี้ไม่เป็นกรรมเพราะไม่มีเจตนา การที่จะเป็นกรรมได้ต้องมีเจตนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ* ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า การกระทำที่มีเจตนาเท่านั้นจึงจะเป็นกรรมได้

* อ่านว่า => เจ - ตะ - นา - หัง - ภิก - ขะ - เว - กัม - มัง - วะ - ทา - มิ * ผู้จัดทำ*

         เพราะฉะนั้น กรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว จะต้องมีเจตนาคือความจงใจ

     ถ้าใครเกิดไปฆ่าพ่อแม่เข้า ตกนรกแน่ ไม่มีทางอื่นเลย แล้วนรกนั้นก็นรกที่รุนแรงด้วย คือ อเวจีมหานรก มหานรกนั้นมีอยู่ ๘ ขุมใหญ่ ๆ ใน ๘ ขุมใหญ่นั้น ที่ร้ายแรงมากคือ อเวจีมหานรก ร้อนแรงมาก ถ้าหากว่าผู้ที่ทำกรรมนั้นเกิดไปทำกรรมดีเข้า สมมุติว่าไปฟังธรรม ไปนั่งกรรมฐานจะให้ได้ฌาน หรือจะให้ได้มรรคผลนิพพาน ไม่มีทางทำได้เลย เพราะจิตต่ำลงไปมาก

     พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาด้วยการยุยงของพระเทวทัต หลังจากนั้นแล้ว พระองค์จะบรรทมก็หลับไม่สนิท ทรงสะดุ้งกลัวตลอดเวลา วันหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยการนำของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้เป็นแพทย์หลวงประจำพระเจ้าพิมพิสารและประจำพระพุทธองค์ หมอชีวกนำเสด็จพระเจ้าอชาตศัตรูเข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดชีวกัมพวัน ซึ่งหมอชีวกสร้างขึ้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้ฟังพระสูตรจากพระพุทธเจ้า คือ สามัญญผลสูตร ถ้าหากไม่ได้ฆ่าพระราชบิดา พระองค์ต้องสำเร็จโสดาบันแน่ แต่นี้ไม่มีทาง ได้แค่ประกาศพระองค์ถึงพระรัตนตรัย ตอนหลังพระเจ้าอชาตศัตรูทรงบำรุงสังคยานาครั้งที่หนึ่งบำรุงพระพุทธศาสนามาก ถ้าพระองค์ไม่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาก็ต้องขึ้นสวรรค์แน่ แต่นี่ไม่มีทางขึ้นสวรรค์ได้เลย เพราะกรรมนั้นแรงมาก แต่เนื่องจากกรรมที่พระเจ้าอชาตศัตรูทำไว้ กรรมดีก็มีมากในภายหลัง ดังที่กล่าวไว้ตามคัมภีร์ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูแทนที่จะไปตกอเวจีมหานรกอันร้ายแรงมาก ก็กระเถิบขึ้นมาขุมที่ไม่แรงมากเกินไป คือ โลหกุมภีนรก คือ นรกหม้อทองแดง ซึ่งก็นับว่าแรงอยู่เพราะกรรมหนัก

     กรรมหนักที่ไม่มีใครห้ามได้เลย ใครจะเอาเงินมาซื้อมาถ่ายก็ไม่ได้ อะไรก็ช่วยไม่ได้เพราะกรรมหนัก ทำไมลูกฆ่าพ่อแม่จึงเป็นกรรมหนักอย่างนั้น ? เพราะพ่อแม่มีคุณมาก ผู้มีคุณมากก็มีโทษมาก พระพุทธเจ้าจึงให้ถือพ่อแม่ว่าเหมือนไฟ เรียกว่า อาหุเนยยัคคิ แปลว่า ไฟที่ควรบูชา 

     ปกติว่าไฟ ถ้าใครใช้เป็น ไฟก็ให้คุณประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ไม่เป็นไฟก็เผาผลาญเอาได้ พ่อแม่เราก็เหมือนกัน ถ้าเราเคารพเชื่อฟังปฏิบัติดีต่อท่าน ก็เจริญรุ่งเรือง ถ้าปฏิบัติผิดต่อท่านก็เสื่อมมาก พระพุทธเจ้าจึงเรียกพ่อแม่ว่า อาหุเนยยัคคิ แปลว่า ไฟที่ควรบูชา เพื่อปฏิรูปคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่เขาสอนให้บูชาไฟ ว่าจะให้ความสุขความเจริญอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้าทรงจัดคำสอนให้เป็นปฏิรูปเสียว่า ในพระศาสนาของเรามีไฟที่ควรบูชาเหมือนกัน คือพ่อแม่ นี้เป็นคำที่แทรกเข้ามาให้เห็นว่าพ่อแม่นั้นเป็นผู้มีคุณมาก ถเาใครฆ่าท่านทำผิดต่อท่าน มีโทษมหันต์ ใครก็ตามถ้าทำครุกรรม เช่น ฆ่าพ่อแม่ ไม่มีทางที่จะพ้นจากนรกได้เลย ต้องไปนรกก่อน แล้วกรรมดีที่ทำไว้ค่อยให้ผลภายหลัง แต่ต้องไปเสวยกรรมในนรกก่อน เพราะกรรมนั้นหนัก ไม่มีกรรมอื่นขวางเลย กรรมนี้ต้องอยู่หน้า พอตายปั๊บต้องไปสู่นรกทันทีไม่มีแวะที่ไหนเลย ไม่มีข้องแวะในภพใดชาติใดคั่นระหว่างเลย

     ส่นครุกรรมที่เป็นกุศลกรรม ได้แก่ สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ ก็คือ ฌาน ๘ นั่นเอง คือ ผู้ทำกรรมฐานฝึกจิตจนถึงขั้นได้ฌาน ผู้ทำสมาธิขั้นได้ฌานตั้งแต่ ๑ ถึงที่ ๘ ท่าน้รียกว่าได้สมาบัติ ๘ อาจจะได้บรรลุฌานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ อย่างอาฬารดายสและอุทกดาบส อาจารย์ของพระพุทธเจ้า บำเพ็ญฌานสมาบัติอยู่ องค์แรกได้ฌานที่ ๗ คือสมาบัติ ๗ องค์ที่ ๒ ได้ฌานที่ ๘ คือสมาบัติ ๘ ท่านผู้ได้สมาบัติเหล่านี้ ถ้าตายไปในขณะที่ฌานไม่เสื่อมก็ต้องไปเกิดในพรหมโลกอย่างแน่นอน ไม่มีที่อื่นจะขวางกั้นได้เลย เพราะเป็นกรรมหนักฝ่ายดี เพราะฉะนั้น อาจารย์ของพระพุทธเจ้าทั้งสองเมื่อตายแล้วไแเกิดอยู่ในพรหมโลก แม้ขณะนี้ก้ยังอยู่ในพรหมโลก เพราะเป็นกรรมหนักฝ่ายดี นี้คือ ครุกรรม

     สำหรับพวกเราก็ระวังครุกรรมฝ่ายอกุศลในข้อฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ส่วนทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิตนั้นไม่มีแล้วสมัยนี้ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงพระชนม์อยู่ ส่วนสังฆเภท การทำสงฆ์ให้แตกจากกัน ส่วนมากก็เป็นพระสงฆ์นั่นอหละทำให้แตกได้ แต่ชาวบ้านอาจจะมีส่วนบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วไม่มี

     กรรมที่ ๒ คือ อาสันนกรรม อาสันนกรรม แปลว่า กรรมที่ทำเมื่อจวนเจียนจะตาย หรือกรรมที่ระลึกได้เมื่อใกล้จะตาย กรรมนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีกรรมหนักขวางหน้าแล้ว กรรมที่ทำเมื่อจวนเจียนจะตายนี้จะต้องให้ผลก่อน ต้องให้ผลเลยเพราะกรรมนี้หนักรองลงมา สมมุติว่าเมื่อเราจวนเจียนจะตาย ทำกรรมดีไว้ก็ไปเกิดที่ดีทันทีเลยเมื่อเราไปเกิดชาติต่อไป ถ้าทำกรรมชั่ว เมื่อจวนเจียนจะตายก็ไปเกิดในที่ชั่วทันทีเลย นี้มีข้อแม้ว่าถ้าไม่มีกรรมหนักมาขวางไว้กรรมนี้จะต้องให้ผล เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า :-

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา* = เมื่อจิคเศร้าหมองแล้ว ทุคติก็เป็นอันหวังได้

*( อ่านว่า => จิต-เต-สัง-กิ-ลิด-เถ-ทุก-คะ-ติ-ปา-ฏิ-กัง-ขา) *

     หมายความว่า ถ้าผู้ตายไปด้วยจิตเศร้าหมอง เช่นโกรธจัด หลงจัด วุ่นวายจัดตอนใกล้ตายก็ไปตกอบายแน่ 

แต่ถ้าหากว่าเมื่อจวนจะตายจิตผ่องใสเบิกบาน ก็ไปสุคติแน่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า :-

จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา* = เมื่อจิคไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้

*( อ่านว่า => จิต-เต-อะ-สัง-กิ-ลิด-เถ-สุ-คะ-ติ-ปา-ฏิ-กัง-ขา) *

     คำว่า "สุคติ" นั้น คืออะไร ? สุคตินั้นหมายถึงสวรรค์ทุกชั้นและหมายถึงมนุษย์โลกนี้ด้วย มนุษย์โลกจัดเป็นสุคติภูมิ เรานี้เกิดมาเป้นมนุษย์ก็ถือว่าเกิดในสุคติ 

     ทุคติภูมิ คืออะไร ? ทุคติภูมิ ได้แก่การเกิดในอบาย อบายมีอยู่ ๔ ภูมิ คือ :-

            (๑) เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

            (๒) เกิดเป็นเปรต

            (๓) เกิดเป็นอสุรกาย (ที่เราแปลกันว่า ผี)

            (๔) เกิดเป็นสัตว์นรก

     ถ้าเกิดใน ๔ ภูมินี้ ท่านเรียกอบายภูมิ ศัพท์เดิมมาจากคำว่า "อปายะ" แต่ภาษาไทยชอบเปลี่ยนตัว ป เป็น บ จึงเรียก อปายะ ว่า อบาย (อปายะ แปลว่า ภูมิที่เสื่อม ภูมิที่ไม่สบาย อะ แปลว่า "ไม่" ปายะ แปลว่า "เจริญ" เพราะฉะนั้น อปายะหรืออบาย แปลว่า ไม่เจริญคือเสื่อม

      เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำกรรมเมื่อจวนเจียนจะตายก็ถือว่าสำคัญมาก คนไทยเราหรือชาวพุทธเรา เมื่อญาติพี่น้อง พ่อ แม่ หรือใครป่วยหนัก ก็มักจะให้สวดมนต์ให้ฟัง นิมนต์พระมาสวดสวดมนต์ คือให้รับรู้แต่สิ่งที่ดี ๆ หรือบอกทางสวรรค์ให้ ซึ่งเขาเรียกว่ากันว่า "บอกทาง" คนโบราณเรียกว่า บอกทางเพราะว่าจะจากไปแล้ว ถ้าเรารู้เราเข้าใจว่าเขาใกล้จะตายแล้วก็จะบอกทางให้ บางคนให้ใช้ภาวนาว่า พุทโธ ๆ อย่างที่เราภาวนาบ่อยๆ หรือภาวนาว่า อรหํ ๆ (อ่านว่า อะระหัง)

     แต่บางคนไม่เคยได้ยินคำว่า "อรหํ" เลย พอลูกหลานบอกว่า "คุณยาย ขอให้ภาวนาว่า อรหํ อรหํ ไว้นะ" คุณยายก้ฟังว่า "อะไรหาย ๆ " คือยังงกอยู่นึกว่าสมบัติมันจะหาย เพราะไม่คิดถึงว่าเขาบอกทางให้ ยังคิดถึงว่าทรัพย์สมบัติที่เก็บไว้มันจะหายไปไหนเสีย มันจะหายไป เพราะไม่คิดถึงเรื่องที่เคยศึกษา เคยปฏิบัติ หรือมิฉะนั้น ก็ไม่เคยปฏิบัติมา

     ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า ธัมมิกอุบาสก เมื่อป่วยหนักจวนจะตายก็ให้ลูกๆ ไปนิมนต์พระมาสวดให้ฟัง พอพระมานั่งล้อมเตียงเข้าแล้วถามว่า "ท่านจะฟังพระสูตรไหน ?" ธัมมิกอุบาสกก็บอกว่า "ผมต้องการฟังสติปัฏฐานสูตร" พระก็สวดให้ฟัง อุบาสกนี้ก็ตั้งใจฟัง พอฟังใจเคลิ้มไป มีภาพเทวดามาปรากฏแก่ตนในขณะนั้น ว่ามีเทวดาเอารถจากสวรรค์ ๖ ชั้นมารับ ในที่สุดอุบาสกคนนี้พอฟังธรรมแล้ว เมื่อตายไปก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะทำความดีมาตลอด

     มีเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง นางมัลลิกา ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลในสมัยพุทธกาล พระนางทรงทำความดีมามาก แต่เวลาจวนจะสิ้นพระชนม์ไม่ทรงคิดถึงความดี ไปคิดถึงแต่ความชั่วนิดเดียวที่ทำไว้ แต่คิดบ่อยๆ ความดีมากแต่ไม่คิด ไปคิดแต่เรื่องความชั่วที่โกหกพระสวามีไว้ แล้วมานั่งคิดดูว่า "เรื่องที่เราโกหกนี่ พระสวามีจับไม่ได้ก็จริง แต่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ก็คงรู้ เราทำไม่ถูกไม่ควร" 

     เมื่อจวนจะสิ้นพระชนม์ พระนางมัลลิกาซึ่งเป็นผู้อุปการะต่อพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทาก บำรุงพุทธศาสนามามาก แต่จวนจะสิ้นพระชนม์จิตเสร้าหมอง คิดแต่เรื่องอกุศลที่พระองค์ทำไว้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ไปทรงคิดมาก คิดบ่อย พอนางสิ้นพระชนม์ก็ไปตกนรกทันที

     เมื่อพระมเหสีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จจะเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าขณะนี้พระนางมัลลิกาไปเกิดที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นทรงรักพระมเหสีมาก ถ้าพระองค์ตรัสตอบโดยตรงว่า ขณะนี้พระนางอยู่ในนรก พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเลิกนับถือพุทธศาสนาแน่และจะล้างพระพุทธศาสนาหมดจากแคว้นของพระองค์แน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบดี พอพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปประทับนั่งที่พระคันธกุฎีในวัดพระเชตวัน พระพุทธองค์ก็ทรงใช้อำนาจจิตดลบันดาลใจให้ทรงสนทนาเรื่องอื่นเสีย จนพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงลืมไป คิดว่าจะทูลถามเรื่องพระมเหสีก็มัวคุยเรื่องอื่นเสีย แล้วเสด็จกลับวังโดยมิได้ทูลถามเรื่องนี้

     พอเลย ๗ วันแล้ว กรรมที่พระนางมัลลิกาทำไว้ก็หมดไป พระนางก็จุติจากนรกไปเกิดในสวรรค์ เพราะอกุศลกรรมทำไว้ไม่มาก พอนางไปเกิดในสวรค์แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลนึกถึงเรื่องพระมเหสีได้ ได้เสด็จมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าพระนางไปเกิดที่ไหน ตอนนี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงบันดาลพระทัยแล้ว ตรัสตอบโดยตรงเลยว่า ขณะนี้พระนางทรงอุบัติบนสวรรค์แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสว่า "ใช่แล้ว คนทำความดีมากอย่างนี้ ต้องไปเกิดในสวรรค์" แต่ไม่ทรงทราบว่าพระนางไปเกิดในนรกมาก่อนแล้ว เพราะจิตเศร้าหมอง

     เพราะฉะนั้น อาสันนกรรมนี้จึงเป็นกรรมที่สำคัญมาก แม้มันจะไม่มากแต่มันอยู่ใกล้กับปากทางความตาย มันจึงให้ผลก่อน ท่านเปรียบกรรมชนิดนี้ว่าเหมือนกับฝูงโคที่แออัดยัดเยียดอยู่ในคอก เวลาเช้ามืดตัวใดอยู่ที่ประตูคอก แม้จะมีกำลังอ่อนก็ต้องออกก่อน เพราะมันอยู่ปากประตูคอก กรรมที่เราทำไว้เมื่อจวนเจียนจะตายมันจะพาไปก่อน เพราะฉะนั้นกรรมอันดับ ๒ นี้ต้องระว้ง เราทำกรรมเมื่อจวนเจียนจะตายก็ต้องนึกถึงแต่กรรมดี ผู้ที่ฝึกกรรมฐานบ่อยๆ นั้นมีกำไรกว่าคนอื่น คือนึกถึงพุทโธ หรือนึกถึงความดีอยู่เรื่อยๆ มันเป็นตัวหนุน แล้วกรรมที่เราเคยทำไว้มันจะทำหน้าที่มาเป็นอาสันนกรรม นำเราพุ่งขึ้นไปสู่สุคติได้

     กรรมที่ ๓ คือ อาจิณณกรรม แปลว่า กรรมที่ทำจนเคยชิน คือกรรมที่ทำบ่อยๆ หรือทำคราวเดียวแต่นำมาคิดบ่อยๆ เป็นนิตย์ สมมุติว่าเราใส่บาตรทุกวันทำจนเคยชิน รักษาศีลก็รักษาทุกวัน ทำจนเคยชิน ปฏบัติพ่อแม่ก็ปฏิบัติทุกวัน ทำจนเคยชิน กวาดลานวัดก็กวาดทุกวัน ทำจนเคยชิน กรรมนี้ก็มากเข้า ๆ เรัยกว่า พหุลกรรม แปลว่า กรรมมากขึ้น ๆ หรือกรรมหนา นี้เป็นกรรมฝ่ายดี

     แต่ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่วก็เช่นกัน ถ้าด่าคนก็ด่าทุกวัน ตื่นเช้าก้ด่าตอนเย็นก็ด่า หนักเข้า ถ้าโกหกก็โหกทุกวัน ๆ ถ้ากินเหล้าก็กินทุกวัน ๆ คือทำชั่ว ทำทุกวันเป็นอาจิณ ฆ่าสัตว์ก็ฆ่าทุกวัน ๆ ฉีดยุงก็ฉีดทุกวันๆ คือทำเป็นอาจิณ ทำทุกวัน ทำบ่อยๆ ทำทุกวัน ทำมากๆ เข้า ถ้าไม่มีกรรมหนักกว่า คือ ครุกกรรมหรืออสันนกรรมขวางหน้าแล้ว กรรมนี้จะต้องให้ผลก่อนแน่ กรรมนี้ต้องขึ้นหน้าแซงคิวขึ้นหน้าทันทีเลย เพราะเป็นกรรมที่หนักที่รองลงมา ท่านเรียกว่า อาจิณณกรรม คือ กรรมที่ทำเป็นอาจิณ หรือ พหุลกรรม กรรมที่ทำมาก ถ้าทำกรรมดีก็ได้ไปเกิดในที่ดี ถ้าทำกรรมชั่วก็ไปเกิดในที่ชั่ว แล้วแต่ทำประเภทไหนไว้ จะไปเกิดที่ใด ขนาดไหน อย่างไร ก็แล้วแต่กรรมนั้นดีหรือชั่ว

     กรรมที่ ๔ คือ กตัตตากรรม แปลว่า กรรมสักว่าทำ กรรมนี้ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นสามเณรเรียนนักธรรมอยู่ มีความเข้าใจไปตามแบบการเรียนของนักธรรมในชั้นโทสมัยนั้น ว่ากรรมข้อนี้เป็นกรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา แล้วก็เกิดสงสัยอยู่ว่า "ทำไม มันผิดพุทธพจน์ไป เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมต้องมีเจตนาจึงจะเป็นกรรม แล้วกตัตตากรรม แปลว่ากรรมที่ไม่มีเจนา เป็นกรรมได้อย่างไร เขาเคยยกตัวอย่าง เช่นว่า คนยิงธนูไป ลูกศรไปเจาะเอาต้นกล้วย ถูกตัวหนอนตายโดยไม่เจตนา ก็เป็นกรรมเหมือนกัน แม้ไม่มีเจตนา" ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย ยังสงสัยอยู่ เพราะการที่เป็นกรรมได้ต้องมีเจตนา

     ภายหลัง เมื่อมาศึกษามากเข้าจึงได้พบคำอธิบายที่ถูกต้องจากคัมภีร์อภิธรรม โดยเฉพาะการอธิบายกรรมข้อนี้ในคัมภีร์อภิธรรมมัตถภาวินี ซึ่งเป็นหลักสูตรของประโยค ๙ เขาอธิบายกรรมนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า "กตัตตากรรม หมายถึงกรรมที่ทำโดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน หรือกรรมที่ทำโดยเจตนาเบาบาง" คือกรรมบางอย่างนี่เราไม่เจตนาไว้ก่อนว่าจะทำดีหรือทำชั่ว แล้วก็ไปทำเข้า หรือเจตนาเบาบางเหลือเกิน ทำสักแต่ว่าทำ อย่างเขามาเรี่ยไร เราไม่มีศรัทธาเลยแต่ก็ให้พ้นๆ สักแต่ว่าทำ มันก็ได้บุญเหมือนกัน แต่บุญมันสักแต่ว่าทำ เพราะว่ามันเป็นสักแต่ว่าทำไป กรรมประเภทนี้เบาบางและน้อยมาก มันจึงรอคิวให้ผลอยู่ กรรมประเภทนี้จะเป็นอโหสิกรรมได้ง่าย เพราะมันต้องรอคิวกรรมหนัก รอคิวอสันนกรรม รอคิวอาจิณณกรรมอยู่ มันรอให้กรรมอื่นให้ผลให้เต็มที่ก่อนแล้วตัวเองจึงจะให้ผล รอๆ ไปหมดกำลังกรรมประเภทนี้ แต่ถ้าหากกรรมอื่นให้ผลหมดแล้ว สมมุติว่าใครคนหนึ่งทำกรรมดีไว้แล้วไปเกิดในสวรรค์ แต่เขาทำกรรมชั่วไว้อย่างหนึ่ง เช่นอาจจะหยอกล้อเพื่อนพูดหยอกล้อ แต่ว่าหยอกล้อโดยจงใจต้องการให้เพื่อนเสียหน้า ถ้าว่าเขาไปเกิดในสวรรค์แล้ว พอลงมาเกิดในมนุษย์ กรรมดีของเขาหมดแล้ว กรรมนี้ก็ทำให้เขาถูกหยอกล้อ เพราะว่ามันไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว มันก็ถูกกรรมนี้ให้ผล หรือถูกกลั่นแกล้ง นี้เป็นตัวอย่าง เพราะกรรมนี้มันเบา เมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วมันก็จะถึงวาระให้ผลของตัวเอง

     กรรมเรียงคิวกันอยู่อย่างนี้เอง แล้วเขาไม่ลัดคิวกัน ไม่แย่งคิว ไม่คอรัปชั่นกับใคร ในเรื่องการให้ผลของกรรมนี้ ไม่มีกรรมไหนจะมาบอกว่า "นี่ นี่ ขอฉันก่อนนะ ฉันรีบ" จะลัดคิวอย่างนี้ไม่ได้ เพราะกรรมนี้เป็นกฏของธรรมชาติ ซึ่งเป็กฏที่ธรรมชาติจัดเอาไว้ให้เสร็จแล้วทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี อย่างเรามาทำกรรมฐานหรือเรามาให้ทานหรือรักษาศีล กรรมมันจัดคิวเอาไว้แล้ว มันจัดคิวไว้ทุกวันว่าคิวไหนขึ้นก่อนคิวไหนขึ้นหลัง 

     ถามว่า แล้วมันจัดไว้ที่ไหน ? คำตอบก็คือ มันจัดไว้ที่จิตของเรา จิตนี่เป็นตัวบันทึกกรรม มันบันทึกกรรมทุกชนิดที่เราทำเอาไว จิตเป็นเครื่องบันทึกที่ถี่ยิบและละเอียดที่สุด

     นี้คือกรรมที่ให้ผลตามลำดับ ๔ อย่าง

    การพูดถึงกฏแห่งกรรม จะต้องทำความเข้าใจให้ชัด อันกฏแห่งกรรมนั้นก็ต้องมีกฏของมันเช่นเดียวกับกฏทางวิทยาศาสตร์ เช่น กฏแห่งความโน้มถ่วง กฏแห่งความดึงดูด เพราะขึ้นชื่อว่า "กฏ" แล้ว มันก็ต้องมีกฏของมันทั้งสิ้น มันก็ต้องมีสูตรของมัน กฏแห่งกรรมก็ต้องมีสูตร ส่วนมากเราได้ยินกฏแห่งกรรมย่อๆ ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" เราจะได้ยินเช่นนี้เป้นส่วนมาก แต่ข้าพเจ้ามานั่งพิจารณาดูแล้วก็พบว่า แท้ที่จริง พระพุทธเจ้าตรัสกฏแห่งกรรมไว้เป็นภาษาบาลีชัดเจน และพวกเราเอามาสวดทุกวัน เราไม่รู้ว่านี้คือกฏแห่งกรรม

นั้นก็คือกฏแห่งกรรม ๖ อย่าง

            (๑) กมฺมสฺสกา = สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

            (๒) กมฺมทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม

            (๓) กมฺมโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด

            (๔) กมฺมพนฺธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

            (๕) กมฺมปฏิสรณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

            (๖) ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ

                         = จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

* คำอ่าน => กัม-มัด-สะ-กา / กัม-มะ-ทา-ยา-ทา- / กัม-มะ-โย-นี / กัม-มะ-พัน-ธู / กัม-มะ-ปะ-ติ-สะ-ระ-นา / ยัง-กัม-มัง-กะ-ริด-สัน-ติ-กัน-ยา-นัง-วา-ปา-ปะ-กัง-วา-ตัด-สะ-ทา-ยา-ทา-พะ-วิด-สัน-ติ *ผู้จัดทำ*

      ในกฏแห่งกรรม ๖ อย่างนี้ จะอธิบายตั้งแต่กฏข้อที่ ๑ เป็นต้นไป

      กฏข้อที่ ๑ กมฺมสฺสกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เราทุกคนทำกรรมเป็นของของเราทั้งสิ้น อย่างเราให้ทาน ก็ได้เรา เรารักษาศีลก็ได้เรา จะให้คนอื่นทารับแทนไม่ได้ อย่างเราทำสมาธินี้เมื่อเราไปถึงบ้าน บอกคุณแม่ว่า "ขอให้คุณแม่ใจสงบด้วย" ย่อมทำแทนกันไม่ได้ คุณแม่ไม่ได้ทำนี่ หรือเรากินข้าว เราบอกคุณแม่ว่า "เออ คุณแม่อิ่มแทนด้วย" ก็ไม่ได้ คุณแม่ไม่ได้กินนี่ หรือเราทำชั่วแล้วบอกว่า "เอ้า รับไปด้วยนะ ข้าไม่เอาละความชั่ว" คนอื่นเขาก็ไม่รับ เพราะใครทำใครก้ต้องรับเพราะเป็นของของคนนั้น ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน กฏแห่งกรรมข้อนี้ก็คือใครทำคนนั้นจะต้องได้รับ จะไปเที่ยวโอนให้กันไม่ได้ บางคนบอกว่า "นี่เขาใส่ความเรานะ เราไม่ได้ทำความผิดเลย" แต่ถ้าว่าตามกฏแห่งกรรมแล้วเราเคยทำผิดไว้ชาติก่อนแน่ ไม่อย่างนั้นคนไม่มาใส่ความเรา มันต้องมีแน่ เหมือนของเราหาย ถูกขโมยไป หรือเราถูกโกง เราต้องเคยลักของคนอื่นมา หรือโกงคนอื่นมาแน่ในชาติก่อน จึงมีคนมาลักของเรา หรือโกงเราในชาตินี้ เพราะกรรมที่เราเคยสร้างไว้

     กฏข้อที่ ๒ กมฺมทายาทา เราเป็นผู้รับผลของกรรม อย่างพ่อแม่ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ ลูกหลานก็ได้ผลของทรัพย์สมบัตินั้น เป็นทายาทรับมรดก เรานี้หว่านกรรมชนิดใดเอาไว้เราก็ต้องเป็นทายาทเก็บเกี่ยวกรรมนั้น เราเป็นทายาท จะให้คนอื่นเป็นทายาทไม่ได้เราต้องเป็นทายาท คือผู้รับผลของกรรมนั้น ไม่ว่าจะหว่านพืชคือกรรมชนิดไหนเราจะต้องได้รับกรรมชนิดนั้น เราต้องเป็นทายาทของกรรม กฏข้อที่ ๒ นี้เห็นชัดๆ เลยว่า เราทำกรรมไม่ว่าชนิดใดต้องได้รับกรรมชนิดนั้น เราเป็นทายาท

     กฏข้อที่ ๓ กมฺมโยนี เราเป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด หมายความว่า เราทุกคนนี้เกิดมาด้วยกฏแห่งกรรม กรรมเสกสรรค์ให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ให้เราเกิดมาเป็นคนไทย เกิดเป็นผู้หญิง เกิดเป็นผู้ชาย เกิดอายุสั้น เกิดอายุยืน เกิดยากจน เกิดร่ำรวย สวย ไม่สวย โง่ ฉลาด กรรมเป็นตัวกำหนด กรรมที่เป็นตัวกำหนดให้มีกำเนิดอย่างนี้ นี้คือชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด แต่คำว่า "เรามีกรรมเป็นกำเนิด" นั้น ไม่ใช่ว่าแต่งให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็เสร็จอย่างเดียว แต่หมายความว่า แม้แต่เรามานั่งอยู่ที่นี่กรรมก็กำหนดให้เรามา แม้แต่ข้าพเจ้านั่งพูดอยู่ที่นี้ก็กรรมกำหนดให้ต้องมานั่งพูดวันนี้ ไม่อย่างนั้นมาไม่ได้ มันต้องมีตัวกรรม คือตัวกำหนดให้มา บางคนก็มาด้วยอำนาจกรรมดี บางคนก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพราะเรามีกรรมเป็นกำเนิด

     กฏข้อที่ ๔ กมฺมพนฺธู เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือเรามีกรรมเป็นพวกพ้อง คือ เรามีกรรมเป็นพี่น้อง ถ้าเรามีพี่น้องดีเราก็ดี ถ้าเรามีพี่น้องไม่ดีเราก็แย่ ถ้าเรามีกรรมดีเราก็เจริญ มีกรรมไม่ดีเราก็แย่ ทีนี้ เราทำกรรมพนธุ์ไหนไว้ พันธุ์ของกรรมนั่นเป็นพันธุ์ไหน ? ถ้าเราทำพันธุ์ดีไว้เราก็ได้รับกรรมพันธุ์ดี ถ้าเราทำพันธุ์ไม่ดีไว้เราก็ได้รับพันธุ์ไม่ดี อย่างเราปลูกข้าวพันธุ์ไหนล่ะ ? พันธุ์ กข. หรือพันธุ์ไหน ? เราปลูกชนิดไหนก้ต้องได้รับผลชนิดนั้น เป็นพันธุ์อะไรล่ะ สมมุติว่าเราสร้างกรรม พันธุ์ด่าเขาไว้ เมื่อด่าเขาไว้มาก เราก็ได้รับพันธุ์ด่า ถ้าเราสร้างกรรม พันธุ์ให้ทานเอาไว้ พันธุ์อันนี้ก็ทำให้เรามีความร่ำรวย มันแล้วแต่พันธุ์ของกรรม เป็นกรรมชนิดไหน พันธุ์ตัวนี้แปลว่าพวกพ้อง เผ่าพันธุ์ เชื้อสายที่เราหว่านลงไป เราทำลงไป

     กฏข้อที่ ๕ กมฺมปฏิสรณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอย่างไหนเราต้องอาศัยกรรมอย่างนั้น อย่างเราทำกรรมที่ให้เกิดมาเป็นมนุษย์เราก็มีชีวิตแบบมนุษย์ ถ้าเราทำกรรมที่ให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีชีวิตเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าทำกรรมที่ให้เกิดเป็นเทวดาก็มีชีวิตอาศัยแบบเทวดา ถ้าทำกรรมที่เป็นสัตว์นรกก็มีความเป็นอยู่แบบสัตว์นรก ถ้าเราสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่สบายก้อยู่ไม่สบาย เราทำกรรมชนิดไหนเราก็ได้อาศัยกรรมชนิดนั้นเป็นอยู่ เราทำงานได้เงินเท่าไรก็ได้เงินเท่านั้นเป็นอยู่

     แต่บางคนบอกว่า "อ้าว ถ้าหากว่าทำกรรมชั่วล่ะ แล้วมีกรรมชั่วเป็นที่อยู่อาศัย อยู่ได้อย่างไรล่ะ กรรมชั่วเป็นที่อาศัยได้อย่างไร" ก็ตอบได้ อย่างพวกที่ติดคุกติดตะราง ทำชั่วก็ได้อาศัยคุกตะรางเป็นที่อาศัย ถ้าตกนรกก็ได้อาศัยนรกเป็นที่อยู่อาศัย ถ้าคนขี้เกียจไม่ทำงานก็ได้อาศัยกระท่อมหรือที่อยู่ด้วยความยากลำบากเป็นที่อยู่อาศัย ทำอะไรไว้ก็ต้องอาศัยอย่างนั้น

     แต่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโสมนัสวิหาร ท่านแปลคำนี้แปลกกว่าใครอื่นอย่างหนึ่งว่า มีกรรมเป็นที่อาศัยแล่นไป" คำว่า "สรณะ" นั้น ท่านแปลว่า "แล่นไป" คือเราทุกคนนั้นแล่นไปตามกรรม ตามรางของกรรมที่เราสร้างไว้ ถ้าเราสร้างรางรถไฟไว้รถไฟก็วิ่งไปตามรางอันนั้น เพราะรางนั้นเราทำไว้ ถ้าเราทำกรรมไว้ เป็นรางดีก็วิ่งไปตามรางที่ดีนั้น ถ้าเราทำกรรมไว้ที่รางไม่ดีก็วิ่งไปตามรางที่ไม่ดีนั้น เพราะฉะนั้น เราแล่นไปตามกรรมที่เราทำไว้ อย่างคนที่เครื่องบินตก เขาก็แล่นไปตามนั้น ก็ทำไมบางคนงดเสีย ไม่ไปในเที่ยวบินนั้น บางคนก็มาแทนที่เพื่อน มันก็แล้วแต่กรรมก็ทำให้แล่นไป ชักนำไป แล่นไปตามกฏแห่งกรรม

      กฏข้อที่ ๖ ทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องได้รับผลของกรรมอันนั้น เหมือนบุคคลหว่านพืชชนิดใดย่อมได้รับผลชนิดนั้น ถ้าหว่านข้าวต้องได้รับข้าว หว่านถั่วต้องได้รับถั่ว หว่านข้าวจะไปรับถั่วไม่ได้ ปลูกมะพร้าวจะไปได้ตาลก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทำกรรมใดต้องได้รับกรรมนั้น

      นี้คือกฏแห่งกรรม ชาวพุทธเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรม เราให้ท่นบ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังธรรมบ้าง เจริญภาวนาบ้าง อย่างนี้ชื่อว่าทำกรรมดี กรรมดีนี้จิตเป็นตัวเก็บเอาไว้ จิตเก็บไว้หมดทั้งดีและชั่วแล้วจะส่งผลออกมาตามระยะกาลของมันที่จะให้ผล มันมีลักษณะที่เป็นกฏธรรมชาติอยู่ในเรื่องกฏแห่งกรรม นี้คือกฏแห่งกรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งควบคุมชีวิตของเราทุกคน

      ข้าพเจ้าเมื่อศึกษาพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร รู้สึกตัวว่าสิ่งที่พิสูจน์ได้ง่ายในคำสอนของพระพุทธเจ้าคือกฏแห่งกรรม กฏอย่างอื่นเช่น กฏการเวียนว่ายตายเกิดต้องใช้เวลานานในการศึกษาพิสูจน์ แต่กฏแห่งกรรมนี่เห็นชัด อย่างเราขยันหมั่นเพียรนี้เห็นชัดว่าได้ผลเร็ว ถ้าเราทำไม่ดีก็เห็นชัดว่าเราได้ผลไม่ดีไว มันพอเห้นกันอยู่ในชาตินี้ และกรรมที่จะให้ผลผ่านไปในชาติต่อไปก็เกี่ยวพันกัน กรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ใช่มีกรรมชาตินี้อย่างเดียว ไม่ใช่กรรมชาติหน้าอย่างเดียว แต่ก็เกี่ยวพันกันหลายอย่าง 

      นี้คือกฏแห่งกรรมที่ควบคุมชีวิตทุกชีวิต ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พุทธศาสนาของเราไม่เชื่ออำนาจดวงดาว ไม่เชื่ออำนาจพระเจ้า ไม่เชื่ออำนาจสิ่งภายนอก ไม่เชื่อความบังเอิญว่าจะมาดลบันดาลชีวิตของเราให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็เชื่อว่าเราจะสุข เราจะทุกข์ จะเสื่อม หรือจะเจริญ ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมดีและกรรมชั่วซึ่งเราได้ทำไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้วและในชาติปัจจุบัน เพราะเราทุกคนกำลังสร้างอนาคตด้วยปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้จากอดีต.

จบตอนที่ ๓