กฏแห่งกรรม ตอนที่ 5

กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

ตอนที่ ๕

บุคคล ๔ ประเภท

      กฏแห่งกรรม คือกฏของธรรมชาติซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เป็นกฏซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ไม่มีใครแสดงชี้แจงให้เห็นชัดเท่าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม กฏอันนี้มีอยู่แล้ว เหมือนกับกฏพระไตรลักษณ์ กฏของพระไตรลักษณ์นั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระตถาคตเจ้าจะอุบัติหรือไม่อุบัติขึ้นในโลกก็ตาม สังขารทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงก็เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงก็เป็นอนัตตา แต่เมื่อพระตถาคตเจ้าได้อุบัติขึ้นแล้ว ทรงเป็นผู้ชี้แจงแสดงบอกให้คนอื่นทราบถึงกฏธรรมชาติอันนี้ เพราะฉะนั้น กฏแห่งกรรมก็คือกฏธรรมชาติ เช่นเดียวกับพระธรรมทางพระพุทธศาสนาทุกอย่างเป็นกฏธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้าสร้างขึ้น ไม่ใช่ใครดลบันดาล

      เพราะฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์เราและสัตว์โลก จึงถูกควบคุมโดยกฏแห่งกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ หมายความว่า การที่เราทุกคนจะสุข จะทุกข์ จะเสื่อม จะเจริญ จะอายุสั้น จะอาขุยืน จะบรรลุมรรคผลหรือไม่บรรลุมรรคผล จะทำสมาธิได้ผลดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำของเราเอง

      การเชื่อในกฏแห่งกรรมก็คือการเชื่อในการพึ่งตนเองนั่นเอง คนที่ไม่เชื่อกฏแห่งกรรม มักจะอ้อนวอน หวังบวงสรวงให้คนอื่นช่วยนั้น แสดงว่าเขาไม่เชื่อกฏแห่งกรรม แต่ไปหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น การเขื่อกฏแห่งกรรมนั้น โดยสรุปก็คือการพึ่งตนเอง การทำตนเองให้ประเสริฐขึ้นนั่นเอง ชาติสกุลกำเนิดก็ไม่สำคัญ ชื่อก็ไม่สำคัญ บางคนบอกว่าคนเราจะเจริญรุ่งเรืองถ้ามีสกุลกำเนิดดี จะเจริญได้ไว ถ้าสกุลกำเนิดไม่ดี ก็จะเจริญช้า หรืออาจจะเสื่อม บางคนบอกว่าชื่อนี้เป็นกาลกิณีไม่ดี ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนจะอับเฉา จะไม่ก้าวหน้า นี้ไปติดอยู่ที่ชื่อซึ่งไม่เชื่อกฏแห่งกรรม แต่ทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่า คนจะดีจะชั่วไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด ไม่ใช่เพราะชื่อ แต่เพราะการกระทำของตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์สุตตนิบาตตอนหนึ่งว่า

    พระองค์ตรัสว่า

            น ชจฺจา วสโล โหติ = คนเราจะเป็นคนเสื่อมเพราะชาติสกุลกำเนิดก็ไม่ใช่

            น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ = จะเป็นคนเจริญรุ่งเรืองเพราะชาติสกุลกำเนิดก็ไม่ใช่

            กมฺมุนา วสโล โหติ = แต่คนเราจะเป็นคนเสื่อมก็เพราะกรรม คือการกระทำของเรา

            กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ. = จะเป็นคนเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะกรรม คือการกระทำของเราเอง.

คำอ่าน @นะ-ชัด-จา-วะ-สะ-โล-โห-ติ @นะ-ชัด-จา-โห-ติ-พรัม-มะ-โน @กัม-มุ-นา-วะ-สะ-โล-โห-ติ @กัม-มุ-นา-โห-ติ-พรัม-มะ-โน

      โดยเฉพาะในด้านการทำดีนั้น สิ่งที่ดีๆ ที่มนุษย์ต้องการนั้นเกิดจากบุญทั้งสิ้น เรียกว่ากรรมที่เป็นบุญหรือว่ากรรมที่เป็นกุศล เช่นการที่คนมีรูปสวย รูปหล่อ ก็เกิดจากกรรมดี การที่คนเราเกิดมารวยเพราะเกิดจากกรรมดี การที่คนเรามีสุขภาพสมบูรณ์ก็เกิดจากกรรมดี การที่เรามีลูกดี มีสามีดี มีภรรยาดี ก็เพราะเกิดจากกรรมดี การที่เราจะมีบริวาร พวกพ้อง พี่น้องที่ดีก็เพราะเราทำดี การที่เราได้เกิดในสวรรค์ หรือเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็เพราะกรรมดี สมบัติทุกชนิดมนุษย์จะได้ก็เพราะกรรมดี แม้แต่นิพพานสมบัติเราจะได้ก็เพราะกรรมดี ไม่ใช่เพราะพระเจ้าบันดาล ไม่ใช่เพราะอำนาจดวงดาว ไม่ใช่เพราะเหตุบังเอิญ ไม่ใช่เพราะมีใครหนุน ตัวหนุนที่สำคัญคือกรรม

       เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร สูตรว่าด้วยการสร้างนิธิคือบุญไว้ตอนหนึ่งว่า

    พระองค์ตรัสว่า

            สุวณฺณตา สุสรตา 

            สุสณฺฐานํ สุรูปตา

            อธิปจฺจํ ปริวาโร 

            สพฺพเมเตน ลพฺภติ

    แปลว่า

            การเป็นคนมีผิวพรรณผ่องใสก็ดี 

            การเป็นคนมีเสียงไพเราะก็ดี

            การมีบริวารมากก็ดี 

            การเป็นใหญ่มีอำนาจก็ดี เป็นต้น

            สิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดได้ด้วยอำนาจบุญนั้น

อ่านว่า =สุ-วัน-นะ-ตา-สุ-สะ-ระ-ตา  =สุ-สัน-ถา-นัง-สุ-รู-ปะ-ตา =อะ-ธิ-ปัด-จัง-ปะ-ริ-วา-โร  =สับ-พะ-เม-เต-นะ-ลับ-พะ-ติ

      เหมือนอย่างที่เรามาฝึกจิตนี้ เรามาสร้างกรรมดีคือสร้างบุญ เราให้ทานเราก็สร้างกรรมดี คือบุญ เรารักษาศีล เราก็มาสร้างกรรมดีคือบุญ

      ดังนั้น ในการเจริญภาวนา คนที่จะผ่านเข้าสู่ขั้นภาวนาได้นั้นต้องผ่านศีลและสมาธิ เข้าไปสู่ปัญญา บุญจึงเกิดมาก เป็นกรรมที่เป็นกุศล ได้มาก

       ในตอนนี้จะพูดถึงคนในโลก ๔ ประเภท ซึ่งตกอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม

       พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวกเท่านั้น เมื่อว่าตามกฏแห่งกรรม คือ เมื่อพูดโดยย่อแล้วเหลือแค่ ๔ )ระเภท ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ข้อ ๘๕ หน้า ๑๐๙-๑๑๐)

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีบุคคลอยู่ ๔ จำพวก คือ

            (๑) ตโม ตมปรายโน คนมืดมามืดไป จำพวกหนึ่ง

            (๒) ตโม โชติปรายโน คนมืดมาสว่างไป จำพวกหนึ่ง

            (๓) โชติ ตมปรายโน คนสว่างมามืดไป จำพวกหนึ่ง

            (๔) โชติ โชติปรายโน คนสว่างมาสว่างไป จำพวกหนึ่ง"

อ่านว่า =ตะ-โม-ตะ-มะ-ปะ-รา-ยะ-โน  =ตะ-โม-โช-ติ-ปะ-รา-ยะ-โน  =โช-ติ-ตะ-มะ-ปะ-รา-ยะ-โน  =โช-ติ-โช-ติ-ปะ-รา-ยะ-โน

      จะได้อธิบายคนทั้ง ๔ จำพวกตามแนวพระบาลีและอธิบายประยุกต์ในบางข้อ เพื่อเกิดความเข้าใจชัดเกี่ยวกับคนในโลกนี้ ๔ จำพวก คือ มืดมามืดไปจำพวกหนึ่ง มืดมาสว่างไปจำพวกหนึ่ง สว่างมามืดไปจำพวกหนึ่ง สว่างมาสว่างไปจำพวกหนึ่ง

ประเภทที่ ๑ คนที่มืดมามืดไป

      คนที่มืดมามืดไป ได้แก่คนประเภทไหน ? ท่านกล่าวไว้ว่า คนบางคนเกิดมาในโลกนี้ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มของมึนเมาให้โทษ ทำแต่ความชั่ว ไม่มีศีลธรรม เมื่ตายจากโลกนี้ไปก็ไปบังเกิดในสถานที่ลำบาก เช่น เกิดในอบาย เกิดในนรก เป็นต้น เมื่อเขากลับมาเกิดในมนุษย์โลกนี้ เขาก็เกิดในสถานที่ลำบากเดือดร้อน กล่าวคือ บางพวกเกิดในดินแดนที่แห้งแล้ง ไร้ความเจริญทุรกันดาร เป็นอยู่ด้วยความลำบากยากแค้น จะหาที่อยู่อาศัยก็ลำบาก อาหารก็ลำบาก ฝืดเคือง ยารักษาโรคก็ไม่ค่อยมี เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ไม่ค่อยพอใช้ ขาดกะรุ่งกะริ่ง

      บางคนเกิดในสถานที่แหล่งเสื่อมโทรม แหล่งสลัม บางคนบางพวกเกิดมาปัญญาอ่อน บางคนตาบอด บางคนหูหนวก บางคนเป็นบ้าเป็นไบ้ บางคนมือขาดแขนขาด บางคนแม้จะอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์ แต่เกิดมาด้วยความยากจนข้นแค้นแสนสาหัส คือบางคนกำพร้าพ่อกำพร้าแม่ การศึกษาเล่าเรียนในเบื้องต้นก็ไม่มี แม้จะมีให้เรียนแต่พวกนี้ก็ไม่สนใจ ซ้ำตนเองยังขี้เกียจ จิตใจกักขฬะ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เกียจคร้านคบแต่มิตนชั่ว

       คนพวกนี้ไม่รู้สึกตัว คือ ไม่รู้ตัวว่าการที่ตัวเองเกิดมาจน เกิดมาลำบาก เกิดมาเดือดร้อน เกิดมาไร้ญาติขาดมิตร เพราะกรรมชั่วที่ตนเองเคยได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน พวกนี้ไม่เชื่อกรรม คือเขาไม่เชื่อบุญ ไม่เชื่อบาป ไม่เชื่อนรก ไม่เชื่อสวรรค์ ไม่เห็นบุญคุณของท่านผู้มีพระคุณ เขาเห็นว่าตายแล้วสูญ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ใครเก่งกาจก็แย่งชิงเอา ถ้าจะหาความสุขความสนุกก็หาเสียชาตินี้ให้พอ ตายแล้วสูญเป็นขี้เถ้าไม่มีอะไรเหลือ คนพวกนี้บางคนตั้งตัวเป็นโจร โกงกิน เห็นการทรมานคนอื่นหรือสัตว์อื่นเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ

       รวมความว่า คนประเภทนี้ทำแต่ความชั่ว ชีวิตของเขาในเบื้องต้นมาด้วยความมืดมน คือเกิดมาด้วยความยากลำบากเดือดร้อนลำเค็ญ เป็นอยู่อดมื้อกินมื้อ แต่พวกนี้ไม่รู้สึกตัว ยิ่งทำความชั่วหนักเข้า เมื่อทำความชั่วหนักๆ เข้า ทั้งๆ ที่ตนเองเกิดมาลำบากแล้ว เช่น เกิดมายากจนหรือเกิดในแหล่งสลัม เกิดในประเทศหรือดินแดนที่เดือดร้อน ไร้การศึกษา เมื่อเขาทำชั่วเข้าไปอีก ก็เป็นเหตุให้ติดคุกติดตะราง บางคนก็ถูกฆ่าตายตั้งแต่ยังวัยหนุ่มสาว

       คนประเภทนี้มีไม่น้อยในโลกปัจจุบัน เราเห็นชัดในแหล่งสลัมหลายแห่ง ทั้งที่ควรจะทำความดีก็ไม่ทำ หรือเห็นชัดอย่างพวกนิโกรในสหรัฐอเมริกา พวกนี้เห็นค่อนข้างชัดมาก เป็นคนค่อนข้างกักขฬะ ซึ่งคนไทยเรียกพวกนี้ว่า "ไอ้มืด" คนไทยเรานั้นมักเรียกคนต่างชาติแปลกๆ เช่น เรียกคนอเมริกันว่า "ไอ้กัน" เรียกคนเม็กซิกันว่า "ไอ้เม็ก" เรียกคนนิโกรว่า "ไอ้มืด" แต่เรียกคนไทยว่า "พี่ไทย" คงจะตรงข้ามกับ "น้องลาว" กระมัง ชอบเรียกอย่างนั้น

       ไอ้มืดหรือคนนิโกรนี้ ถ้าใครไปสหรัฐอเมริกาจะทราบว่ากักขฬะจริงๆ อย่างในเขตบร๊องซ์ในนครนิวยอร์ค เขาเช่าบ้านอยู่เป็นกลุ่มๆ แถบนั้นบ้านมันตีประตูพัง กระจกพัง ขโมยมีมาก ไม่สนใจการศึกษาเล่าเรียน กินแต่แรงงานส่วนเกินของสังคมที่รัฐบาลช่วยเหลือให้ ไม่ค่อยทำงานมีแต่ร้องเพลง แต่งตัวน่าเกลียด พวกนี้ยิ่งทำชั่วเพิ่มขึ้น เดือดร้อนเพิ่มขึ้น นี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

       แม้คนในชาติของเราก็เหมือนกัน เราจะพบคนประเภทแรกนี้ เมื่อเขาตายไปจากโลกนี้ ก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดในสถานที่ลำบาก เพราะเขาทำความชั่ว ไม่ทำความดี จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์นรก จะต้องไปเกิดเป็นอสุรกายในภูมิใดภูมิหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกคนที่มีลักษณะประเภทนี้ว่า ตโม ตมปรายโน ซึ่งแปลว่า มืดมามืดไป

ประเภทที่ ๒ คนที่มืดมาสว่างไป

       ส่วนคนประเภทที่ ๒ คือคนที่มืดมาสว่างไป พวกนี้เป็นลักษณะของคนต้นคดปลายตรง คือคนประเภทแรกที่ว่ามืดนั้นเพราะว่าเกิดมาด้วยความมืดมน ตายไปแล้วก็มืดมน จึงชื่อว่ามืด ไม่พบแสงสว่างแห่งความดี "มืด" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามองอะไรไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่าเกิดในที่มืด แต่หมายถึงว่าชีวิตนั้นประสบแต่ความมืดมน ผู้ที่เป็นบุคคลประเภทที่ ๒ มืดมาสว่างไป

       ท่านกล่าวว่า คนบางพวกที่เกิดมาในโลกนี้เคยทำความชั่วไว้มาก ประพฤติผิดศีลธรรม ตายแล้วไปเกิดในสถานที่ลำบาก เมื่อกลับมาเกิดในโลกมนุษย์ เศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ทำให้เขาเกิดมาลำเค็ญ ลำบากเดือดร้อน เช่นเดียวกับคนประเภทที่ ๑ แต่คนประเภทนี้รู้สึกตัว คือรู้สึกว่าการที่ตนเองเกิดมาจน ตนเองเกิดมาต่ำต้อย ตนเองเกิดมาเดือดร้อน ตนเองเกิดมาไร้การศึกษา พ่อแม่ยากจน กำพร้าพ่อกำพร้าแม่ อยู่ด้วยความลำบาก ลำเค็ญ พวกนี้รู้สึกตัว รู้สึกตัวว่าที่เราด้อยกว่าเขาทั้งหลายนั้น เพราะเราสร้างกรรมดีไว้น้อย กรรมชั่วเราเคยสร้างไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องได้รับความทุกข์อยู่

       คนประเภทนี้เมื่อรู้สึกตัวแล้วก็เร่งทำความดี เร่งสร้างที่พึ่งแก่ตนตั้งแต่วัยเด็กแล้ว เชื่อฟังพ่อแม่ ขยันหมั่นเพียร สนใจในการศึกษาเล่าเรียน แม้พ่อแม่จะไม่มีทุนให้แต่ก็ยังขวนขวายสอบเอาด้วยตนเอง เดือดร้อนลำเค็ญ แม้จะร้องให้เสียใจ ถูกลั่นแกล้งอย่างไรก็ไม่ทอดทิ้งความพยายามที่จะสร้างตัว โดยคิดว่าเราจะสร้างตัวด้วยความดีให้ได้ มุมานะสร้างตน เขาก็ค่อยยกฐานะจากเด็กที่ไร้ที่พึ่ง จากคนซึ่งไม่มีอะไร จากบ้านนอกคอกนาสถานที่อันห่างไกลไร้ความเจริญ ก็พบแสงสีของความเจริญได้ด้วยการศึกษาเล่าเรียน ด้วยการทำงาน ด้วยการทำความดีของตน ทำให้ได้รับการอุปการะจากผู้ใหญ่ จากคนที่เห็นคนทำดีต้องการยกย่อง บางคนก็ได้รับทุนการศึกษาของจังหวัด ของรัฐบาลหรือของประเทศ ให้ไปศึกษาต่อถึงต่างแดนก็มี บางคนอย่างในอินเดียเป็นลูกคนจัณฑาลหรือคนชั้นศูทร สามารถยกตัวขึ้นเป็นถึงกษัตริย์หรือเป็นรัฐมนตรีในที่สุด เพราะสร้างฐานะของตนขึ้น

       ถ้าในปัจจุบัน คนบางคนเคยยากจนมาก เกิดในถิ่นทุรกันดาล ในป่าดงที่ห่างไกลความเจริญ แต่เขากลับรุ่งเรืองในเมืองหลวง ในกรุงบางคนเป็นถึงเศรษฐี บางคนเป็นใหญ่เป็นโตมีเงินถึงร้อยล้านพันล้าน บางคนเป็นถึงรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ เป็นถึงศาสตราจารย์ ชีวิตที่ต่ำต้อยในเบื้องต้นเขาลบทิ้งด้วยกรรมดีของเขา เขาไม่ยอมทำความชั่ว เข้ารับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ฐานะที่ด้อยก็ยกขึ้นด้วยความดีของตน ในที่สุดเขาก็ไปดี คือ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้อง สังคม ประเทศชาติได้มาก

       คนประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อยในโลกปัจจุบัน ทั้งในชาติของเราและในต่างประเทศ ซึ่งมีประวัติตัวอย่างให้ดูอยู่เป็นอันมากว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้แต่เศรษฐีในประเทศไทยหลายคน บางคนมาจากจีนไม่มีอะไรเลย เราเห็นตึกตระหง่านอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นของเขา เขามาจากความยากจนมาแต่เดิม เขาสร้างตนขึ้นมาได้อย่างไร ? เราจะพบว่าบางคนเป็นเด็กบ้านนอก มาเป็นถึงรัฐมนตรีอยู่ในกรุง เขาสร้างตนขึ้นมาได้อย่างไร ? อันนี้ก็ด้วยการสั่งสมกรรมดีของแต่ละคน

เรื่องโจรเคราแดง

       การสั่งสมความดีนั้น ถ้ายิ่งสั่งสมมากก็ยิ่งเกิดคุณค่ามาก ถ้าสั่งสมความดีขั้นภาวนาก็ยิ่งสูงมาก บางคนนี้เดือดร้อน แต่เมื่อทำความดีขั้นภาวนาเขาก็สว่างไปได้ ยกตัวอย่าง ในสมัยพระพุทธเจ้ามีโจรคนหนึ่ง ชื่อโจรเคราแดง โจรเคราแดงนั้นเป็นโจรที่มีชื่อเสียงมาก ตั้งเป็นก๊กปล้นใหญ่อยู่ในแคว้นมคธ ในที่สุดทางราชการส่งกำลังตำรวจออกปราบ จับได้ทั้งก๊กประมาณ ๕๐๐ คน จับแล้วต้องฆ่าทั้งหมด เมื่อจะต้องฆ่าทั้งหมด เจ้าหน้าที่พนักงานบอกนายโจรว่า ถ้าท่านเป็นเพชฌฆาตรับอาสาฆ่าลูกน้องของท่านทั้งหมด เราจะไว้ชีวิตแก่ท่าน นายโจรทำไม่ลงเพราะทั้งหมดเป็นลูกน้องของตน เจ้าหน้าที่ทางการเห็นโจรคนหนึ่งเคราแดง หน้าตาเหลือกเหลือง มองดูว่าคนนี้เป็นคนที่สามารถฆ่าเพื่อนได้ จึงเข้าไปพูดว่า "ถ้าเจ้ารับหน้าที่เป็นเพชฌฆาตฆ่าคน ฆ่าเพื่อนของเจ้าเราจะไว้ชีวิตแก่เจ้า จะไม่ต้องถูกประหารชีวิต และให้ได้รับราชการเป็นเพชฌฆาตฆ่านักโทษประจำ" เขาก็รับเพราะคิดว่าดีกว่าตาย เขารับอาสาฆ่าเพื่อนทั้งหมด แล้วเขาก็ได้เป็นเพชฌฆษตสำหรับฆ่าคนประจำ

      เขาฆ่าคนอยู่นานเป็นเวลา ๕๕ ปี เมื่อเวลาอายุแก่มากแล้ว เขายังฆ่าคนอยู่ เขาฆ่าโจรโดยฟันคอ บางทีฟัน ๒ ที ๓ ทีจึงขาด เจ้าพนักงานเห็นว่าเขาแก่แล้วรับราชการมานาน ทรมานคนมากเหลือเกิน จึงปลดจากราชการ เกษียณอายุ เมื่อเกษียณอายุจากฆ่าคนแล้ว แกกลับมาที่บ้านลูกเมียก็ทำอาหารเลี้ยง ในการที่แกออกจากราชการ

      วันนั้น พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวก หยั่งทราบด้วยญาณของท่านว่าโจรนี้ในชาติปางก่อนเคยสั่งสมความดีไว้ ท่านจะต้องไปโปรด ไปช่วย มิฉะนั้นแล้วเขาต้องตกนรกแน่ เพราะฆ่าคนมานานเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ท่านองค์เดียวไปยืนบิณฑบาตอยู่หน้าบ้านของโจรเคราแดงนั้น โจรนั้นอาบน้ำแล้วมานั่งรับประทานอาหารซึ่งบุตรภรรยาจัดไว้ให้ เหลือบไปเห็นพระยืนอยู่หน้าบ้านก็คิดว่า "เรานี้ฆ่าคนมามาก ทำกรรมมามาก อยากจะทำบุญบ้าง บางทีก็ไม่มีของทำบุญ บางทีมีของทำบุญแต่ไม่มีพระ วันนี้ของจะทำบุญก็พอมี คืออาหารของเราที่เขาจัดไว้ให้ เราจะถวายพระ วันนี้พระก็มายืนบิณฑบาตอยู่หน้าบ้านด้วย เพราะฉะนั้น เราโชคดีแล้วจะได้ทำบุญ" จึงถือจานอาหารของตนเดินไปใส่บาตรพระสารีบุตร

     พอเขาเทอาหารลงในบาตรได้ครึ่งหนึ่ง พระสารีบุตรก็ปิดบาตร บอกว่า "พอแล้วอุบาสก" โจรนั้นบอกว่า "ท่านโปรดกรุณาผม รับให้หมดเถิดครับ" การที่พระสารีบุตรปิดบาตรนั้น เพราะท่านเห็นว่า อีกครึ่งหนึ่งไว้ให้แกรับประทานบ้าง เพราะแกยังไม่ได้รับประทาน

      โจรเคราแดงก็บอกว่า "ขอท่านรับไว้หมดเถิดขอรับ ผมค่อยจัดเอาใหม่" แล้วก็เททั้งหมดลงในบาตร เสร็จแล้วก็นิมนต์ให้ท่านฉันที่บ้าน

      พระสารีบุตรฉันแล้วก็อนุโมทนา การอนุโมทนาของพระในประเทศอินเดียนั้น เขาพูดเป็นภาษาบาลี คนฟังก็เข้าใจ ไม่เหมือนการอนุโมทนาในประเทศไทย เมื่อพระสวดหรือพูดภาษาบาลีเราฟังเอาแต่บุญแต่ไม่ค่อยเข้าใจ ก็ในวันนั้น เมื่อพระสารีบุตรอนุโมทนาอยู่ ท่านก็เห็นว่าโจรนั้นใจลอย ฟังไม่รู้เรื่อง จึงถามว่า "อุบาสก ท่านไม่อาจฟังธรรมได้หรือ ?"

      โจรนั้นจึงบอกท่านว่า "ครับ ท่านครับ ผมฆ่าคนมามากเหลือเกิน ใจไม่สงบเลย ฟังธรรมไม่ได้เลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมฟังท่านไม่รู้เรื่อง"

      พระสารีบุตรท่านเป็นคนฉลาด ท่านเริ่มใช้อุบายทันที อุบายของท่านก็คือท่านถามว่า "ที่ท่านไปฆ่าคนเป็นจำนวนมากนั้น ท่านตั้งใจฆ่าเองหรือเขาใช้ให้ท่านฆ่า ?"

      โจรนั้นบอกว่า "เขาใช้ให้ผมฆ่า ผมจึงต้องฆ่า"

      ทีนี้ พระสารีบุตรถามว่า "ก็เมื่อคนอื่นใช้ให้ท่านฆ่า แล้วท่านจะบาปหรือ ?"

      นี่เรียกว่าล่อ ไม่ใช่ลวง โดยถามว่า "ท่านจะบาปหรือ ?"

      โจรนั้นคิดว่า " เออ ไม่บาปนี่นะ เขาใช้ให้เราฆ่านี่ ไม่บาป" เลยตั้งใจฟังธรรม

      พอคิดว่าไม่บาปก็ตั้งใจฟังธรรม แท้ที่จริงมันบาป แต่โจรนั้นคิดว่าไม่บาปก็ตั้งใจฟังธรรม

      พอตั้งใจฟังธรรม พระสารีบุตรแสดงไป ๆ โจรรั้นก็สำเร็จโสดาบันในที่สุด ด้วยอำนาจบุญที่เคยสั่งสมในชาติปางก่อนหนุนอยู่ เมื่อสำเร็จโสดาบันก็ปิดประตูอบายได้ทันที ปิดประตูอบายได้ ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตหรืออสุรกายมีทางเป็นมนุษย์หรือเกิดในสวรรค์เท่านั้น แต่กรรมชั่วที่โจรนี้เคยทำไว้มันก็ติดตามไปบ้างแม้จะเป็นมนุษย์ แต่ถ้าไปเกิดในสวรรค์แล้วก็ยาก เพราะกรรมชั่วตามยากในช่วงนั้น เพราะมีคติเป็นสวรรค์เสียแล้ว โจรเคราแดงนี้ เมื่อตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ จึงปิดประตูอบายได้

      คนประเภทนี้คือลักษณะของคนมืดมาสว่างไป เพราะไปพบคนดีเข้า ไปทำความดีเข้า คนที่เคยเดือดร้อนลำเค็ญ เคยชั่วมาก่อน แต่ทำความดีดีก็ย่อมดีได้เช่นกัน เหมือนอย่างพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลนั้นจะว่าท่านมืดมาทีเดียวก็ไม่ใช่ ท่านสว่างครั้งแรก แต่ท่านไปทำความชั่วในท่ามกลาง แต่ตอนหลังท่านดี สำหรับองคุลิมาลต้องเรียกว่า สว่างมาตอนต้น มืดตอนกลาง สว่างตอนปลาย ต้องว่าอย่างนั้น

      แต่ในข้อว่าด้วยกรรมของบุคคลประเภทที่ ๒ นี้ หมายถึง คนที่มืดมา สว่างไป คนที่เคยเดือดร้อนลำเค็ญ ลำบากเพราะกรรมของตนแล้วเจริญรุ่งเรืองด้วยอำนาจกรรมดีของตน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า ตโม โชติปรายโน ซึ่งแปลว่า มืดมาสว่างไป เพราะชีวิตเบื้องต้นลำเค็ญแต่เบื้องปลายเจริญรุ่งเรือง เราจะเห็นได้ว่าคนประเภทนี้มีไม่น้อยในโลกปัจจุบัน

ประเภทที่ ๓ คนที่สว่างมามืดไป

      ส่วนคนประเภทที่ ๓ ได้แก่คนบางคนในโลกนี้เกิดมาสร้างแต่ความดี มีศีลธรรม มีความกตัญญูกตเวที เช่นมีศีล ๕ เป็นต้น เมื่อเขาตายจากโลกนี้ไปแล้วเขาไปเกิดในที่ดีมีความสุข เช่นไปเกิดในสวรรค์ เมื่อกลับมาเกิดในโลกมนุษย์เขาก็เต็มไปด้วยความสุขมาก เช่นเกิดในสกุลกษัตริย์ สกุลขุนนางหรือสกุลรัฐมนตรี บางคนปัญญาก็เฉียบแหลมแวดล้อมไปด้วยญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ร่างกายก็สวยงาม สง่า ต้องการอะไรก็ได้ ทั้งบ้าน ที่อยู่ เสื้อผ้า ยารักษาโรค อาหาร ได้สะดวกโดยประการทั้งปวง เหมือนกับอยู่บนกองเงินกองทอง ต้องการอะไรก็มักจะได้ตั้งแต่เริ่มเกิดใหม่แล้ว คือมีแต่ความสบายเพราะกรรมดีที่ตนเองเคยสร้างไว้

      แต่คนประเภทนี้ไม่รู้สึกตัว คือไม่รู้สึกตัวว่าการที่ตนเองเกิดมาดี ร่ำรวย เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พ่อแม่เป็นใหญ่เป็นโต มีทรัพย์สินเงินทองมาก ตนเองก็สง่ามีปัญญามาก เพราะกรรมดีในอดีต แต่คนประเภทนี้ไม่รู้สึกตัวว่าเพราะกรรมดีของตัว เขาไม่เชื่อบุญ ไม่เชื่อบาป ไม่เชื่อนรก ไม่เชื่อสวรรค์ ไม่เชื่อคุณของพ่อแม่ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน ใช้แต่เงิน ใช้อำนาจหน้าที่ของพ่อแม่เบียดเบียนคนอื่น กินแต่เหล้าเมายา ประพฤติผิดศีลธรรม เที่ยวแตร่ เต้นรำ ไม่สนใจต่อการศึกษาเล่าเรียน ต่อการงาน ต่อการช่วยเหลือช่วยเหลือพ่อแม่ พี่น้อง ประเทศชาติ เขาใช้เงินมาก ผลาญเงินพ่อแม่ ผลาญทรัพย์สมบัติ ผลาญประเทศชาติ

      ในเบื้องต้น คนประเภทนี้อาจเจริญรุ่งเรือง อยู่ได้เมื่อพ่อแม่ยังอยู่ แต่เบื้องปลายเมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าหรือตายไป คนประเภทนี้ก็หมดตัว บางทียังไม่ถึงแก่เฒ่าเขานี้ก็หมดตัวแล้ว บางคนติดคุก บางคนตายเมื่ออายุยังน้อย บางคนเคยเป็นคนใหญ่คนโตก็ทรุดลงมาเป็นคนยากจน เราจะเห็นได้ไม่น้อยคนประเภทนี้ เช่นพ่อแม่เคนร่ำรวย พ่อแม่เคยเป็นใหญ่ พ่อแม่เคยมีหน้ามีตาดี แต่ตนเองทำของตัวเองแท้ๆ ไม่ใช่ใครทำให้ จากเศรษฐีกลับยากจน จากรัฐมนตรีกลับเสื่อมทรามถึงติดคุก จากที่เคยใหญ่โตกลับถูกไล่ออกจากงาน เป็นหนี้เป็นสิน ถูกฟ้องล้มละลาย เพราะอะไร ? เพราะกรรมที่ตัวเองสร้างขึ้นแท้ๆ คือกรรมไม่ดี เขาทำแต่ทุจริต ไม่มุ่งสุจริต เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตก็เดือดร้อน ตายไปก็มืดมน คือไปเกิดในสถานที่ลำบาก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า โชติ ตมปรายโน ซึ่งแปลว่า สว่างมามืดไป เพราะชีวิตในเบื้องต้นรุ่งเรือง แต่ชีวิตในบั้นปลายและที่สุดอับเฉามืดมน คนประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อยในชาติของเราและในโลกปัจจุบัน เพราะกรรมของตน

ประเภทที่ ๔ คนที่สว่างมาสว่างไป

      คนประเภทที่ ๔ ได้แก่ คนบางคนซึ่งเกิดมาในโลกนี้ทำแต่ความดี เหมือนอย่างบุคคลประเภทที่ ๓ ก็ไปเกิดดี เมื่อกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกก็มีความเจริญรุ่งเรืองในเบื้องต้นเหมือนคนประเภทที่ ๓ แต่คนประเภทนี้รู้สึกตัว คือรู้ว่าการที่ตนเองเกิดมาดี ร่ำรวย มีความสุข ได้รับการศึกษาเล่าเรียนดี มีร่างกายสมบูรณ์สดสวย ปัญญาเลิศ เป็นต้น เพราะกรรมดีที่ตนเองเคนสั่งสมไว้ในชาติปางก่อน เขาทำความดีต่อ เห็นใจเพื่อนมนุษย์ ประพฤติตามศีลธรรม เชื่อบุญเชื่อบาป สั่งสมแต่ความดี ขยันหมั่นเพียร สร้างตัว สร้างที่พึ่งแก่ตนเพิ่มขึ้น แม้พ่อแม่จะมีทรัพย์สมบัติขนาดไหนเขาก็ไม่มัวเมาประมาท รักษาทรัพย์นั้นไว้ เพิ่มทรัพย์ให้มากขึ้น รักษาเกียรติยศชื่อเสียงของพ่อแม่วงศ์ตระกูล และช่วยเหลือประเทศชาติอย่างเต็มที่ คนประเภทนี้มีอยู่ในโลกปัจจุบัน แต่ไม่มากนัก แต่มีอยู่ เราจะเห็นชัดว่าคนที่บำเพ็ญประโยชน์ประเภทนี้ก็มี

      ยกตัวอย่างให้เห็นชัด อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถของเรา พระองค์ทรงประสูติในราชตระกูลอันสูงศักดิ์ เพรียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ทุกประการ แต่พระองค์ทรงทำแต่ความดี เสียสละทุกอย่างเพื่อความสงบสุขของพสกนิกรของพระองค์ เพื่อประเทศชาติ เพื่อความเจริญของพุทธศาสนา แม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยอย่างไร ก็ทรงทำประโยชน์ไม่หยุดหย่อน พระองค์จึงได้รับความเคารพอย่างสูงจากพสกนิกรและจากคนทั่วไป แม้ในต่างประเทศ ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของคนที่สว่างมาสว่างไป ตรงกับพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

            สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปีโต

            ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต

    ซึ่งแปลว่า

        ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เพรียบพร้อมไปด้วยยศและโภคะ จะไปยังประเทศและสถานที่ใด ๆ ก็ย่อมได้รับการต้อนรับบูชาในสถานที่นั้น ๆ.

คำอ่าน = สัด-โธ-สี-เล-นะ-สัม-ปัน-โน = ยะ-โส-โภ-คะ-สะ-มับ-ปี-โต  =ยัง-ยัง-ปะ-เท-สัง-ภะ-ชะ-ติ = ตัด-ถะ-ตัด-เถ-วะ-ปู-ชิ-โต

      เห็นชัดไหมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ตรงกับพระบาลีบทนี้อย่างชัดเจนทีเดียว ถึงพร้อมด้วยพระราชศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล เพรียบพร้อมด้วยยศ โภคะ ความดีนานัปการ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระองค์จึงได้รับการยกย่องต้อนรับบูชาในที่ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไป

       ใครก็ตามที่ตนเองรุ่งเรืองในเบื้องต้นแล้วไม่มัวเมาประมาท สั่งสมความดีไม่หยุดหย่อน ก็ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองและทำคนอื่นให้เจริญรุ่งเรืองด้วย อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา และคนที่ทำความดีตลอดไปทั้งเบื้องต้น เบื้องปลาย และที่สุดนั้น เมื่อจากโลกนี้ไปก็ไปดีแน่นอนเพราะกรรมดี เช่นเกิดในสวรรค์ แม้การเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่เพรียบพร้อมด้วยความสุข พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า โชติ โชติปรายโน ซึ่งแปลว่า สว่างมาสว่างไป เพราะเบื้องต้นเจริญรุ่งเรือง และเบื้องปลายของชีวิตก็เจริญรุ่งเรือง

      นี้คือบุคคล ๔ ประเภท ซึ่งเป็นไปตามกฏแห่งกรรม ในการพิสูจน์กฏแห่งกรรมนั้น เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของเราเอง และต้องให้กาลเวลาเป็นผู้พิสูจน์ด้วย เพราะมันขึ้นอยู่กับกาลเวลาด้วย ไม่ใช่เพียงวันเดียวสองวัน และยังมีตัวประกอบหรือแฟคเตอร์อีกหลายตัวที่จะทำให้กรรมนั้นให้ผลช้า ให้ผลไว หรือหยุดให้ผลขั่วคราว นั้นก็คือ เจตนาของผู้กระทำ เวลาในการกระทำ กรรมที่กระทำ วัตถุที่กระทำลงไป กรรมที่สนับสนุนอยู่ในชาติก่อน กรรมสนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน กรรมดีและกรรมชั่ว ส่วนประกอบหลายประการเหล่านี้ เป็นตัวทำให้กรรมนั้นให้ผลช้าหรือเร็ว แต่กรรมที่ใครทำไว้ผู้นั้นจะได้รับผลของกรรมอันนั้นอย่างแน่นอน

      จึงขอสรุปว่า ขณะนี้ เราทุกคนกำลังสั่งสมกรรม  คือ หว่านกรรมดี หรือกรรมชั่วลงไว้ และเราจะต้องเก็บเกี่ยวผลของกรรมซึ่งเราได้หว่านไว้อย่างแน่นอน ไม่ว่าเราหว่านพืชชนิดใดลงไป เราจะต้องได้รับผลของพืชชนิดนั้น ถ้าเราหว่านพืชดีลงไปเราจะต้องได้รับพืชดี ถ้าหว่านไม่ดีย่อมได้รับไม่ดี สมดังพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

            "ยาทิสํ วปเต พีชํ = บุคคลหว่านพืชชนิดใด

            ตาทิสํ ลภเต ผลํ = ย่อมได้รับผลชนิดนั้น

            กลฺยาณการี กลฺยาณํ = ผู้ทำกรรมดีย่อมใด้ผลดี

            ปาปการี จ ปาปกํ. = ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว."

คำอ่าน ยา-ทิ-สัง-วะ-ปะ-เต-พี-ชัง  /ตา-ทิ-สัง-ละ-ภะ-เต-ผะ-ลัง / กัล-ยา- ณะ-กา-รี-กัล-ยา-ณัง  /ปา-ปะ-กา-รี-จะ-ปา-ปะ-กัง

      เราทุกคนในขณะนี้กำลังสร้างอนาคตของเราด้วยปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้มาจากอดีต เพราะฉะนั้น จึงขอให้เราทุกคนพยายามที่จะสั่งสมแต่กรรมดีให้เป็นคนสว่างไปให้ได้

      ในบรรดาบุคคลทั้ง ๔ ประเภทนี้ บุคคลประเภทแรกแย่ที่สุด เพราะว่ามืดมาแล้วก็กลับมืด บุคลลประเภทที่ ๓ แย่รองลงมา เพราะแม้ว่าจะสว่างแล้วก็กลับมืด บุคลลประเภทที่ ๔ เลิศที่สุด เพราะว่าสว่างมาแล้วก็สว่างไป ส่วนบุคคลบุคคลประเภทที่ ๒ ดีรองลงมา แม้จะมืดในเบื้องต้นแต่ก็สว่างในที่สุด

      เพราะฉะนั้น จึงขอให้พวกเราทุกคนพยายามสั่งสมแต่กรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว ด้วยการทำจิตของตนให้สะอาด ให้ผ่องแผ้ว แล้วในที่สุดเราก็จะต้องเป็นคนที่สว่างไปอย่างน้อยแม้มืดมาก็ให้สว่างไป ถ้าสว่างมาแล้วก็ให้สว่างไป ก็จะไม่เสียทีที่เราเชื่อในกฏแห่งกรรมตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แล้วเราจะได้รับผลแห่งความดีที่เราได้สั่งสมไว้ในกาลที่ผ่านมาและในปัจจุบันอย่างแน่นอน.

จบตอนที่ ๕