- คนตายแล้วไปเกิดได้อย่างไร?

คนตายแล้วไปเกิดได้อย่างไร?

กลับหน้าแรก

นตายแล้วไเกิดได้อย่างไร ?โดยหลวงพ่อ จรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

*     *     *     *     *

        คำว่า กรรม หมายความว่า การกระทำกรรมในชาตินั้นแล้วให้ผลในชาตินั้น การแสดงการให้ผลของกรรมในชาติเดียวกันเป็นการแสดงง่าย มีเหตุผลอ้างอิงมากมายและบางเรื่องสามารถพิสูจน์เห็นจริงได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับเรื่องกรรมที่กระทำในชาติก่อนนำผลมาให้เราในชาตินี้ก็ดี หรือกรรมที่กระทำในชาตินี้แล้วไปแสดงตัวหรือแสดงผลของมันชาติหน้าก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจยากที่สุดและยิ่งกว่านั้นก่อนที่จะเข้าใจว่ากรรมที่กระทำในชาตินี้แสดงผลของมันในชาติหน้าไดจำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องตายเรื่องเกิดเสียก่อนด้วยเหตุนั้น

        โอกาสนี้อาตมาจึงได้รวบรวมนำเอาเรื่องการเกิดการตายของสัตว์มาชี้แจงเพื่อปรารถนาจะให้ท่านได้ทราบว่า กรรมที่กระทำในชาตินี้ไปแสดงผลในชาติหน้าได้อย่างไร ถ้าหากเข้าใจในเรื่องการเกิดการตายดีแล้วการกล่าวเรื่องกรรมที่นำไปให้ผลในภพหน้าก็จะเป็นการง่าย แต่ปัญหาของเรื่องการเกิดการตายนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาเล็กน้อย ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือศาสดาเป็นอันมาก ได้พยายามคิดค้นหาทางที่จะให้ทราบว่าคนตายแล้วสูญไปเลยหรือคนตายแล้วไปเกิดได้อีก ถ้าไปเกิดได้เอาอะไรไปเกิด ไปอย่างไรและเกิดอย่างไร การค้นคว้าในเรื่องเหล่านี้สืบต่อมาจนนับชั่วอายุคนไม่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นปัญหาโลกแตกอยู่นั่นเอง หาได้คลี่คลายออกไปจนถึงสามารถยืนยันได้ไม่

        เรื่องคนตายไปแล้วจะไปเกิดหรือไม่นั้น มีความเข้าใจกันไปหลายกระแส บางท่านก็เข้าใจว่าร่างกายของคนเรานี้ประกอบขึ้นด้วยรูปหรือวัตถุ ดังนั้นเมื่อคนตายร่างกายก็ฝังจมดินไปไม่สามารถจะไปเกิดอีกได้บางท่านเข้าใจว่าตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีก

ในบรรดาผู้ที่เข้าใจว่าตายแล้วไปเกิดอีกได้นี้ ก็มีความเข้าใจแตกแยกออกไปมาก เช่นผู้ตายจะต้องไปเกิดอยู่ในสวรรค์หรือในนรกก็แล้วแต่หรือให้รางวัลตลอดนิรันดร โดยไม่กลับมาเป็นมนุษย์อีก บางท่านเข้าใจว่าคนที่ตายจะต้องไปเกิดเป็นคนเท่านั้น ไปเกิดเป็นสัตว์ไม่ได้ แต่บางท่านว่าไปเกิดเป็นคนหรือสัตว์ก็ได้ บางคนเข้าใจว่า จิตหรือวิญญาณ หรือเจตภูตนี้เป็นอมตะ เมื่อร่างกายของคนแตกดับไปแล้ววิญญาณก็จะออกจากร่างกายล่องลอยไปเกิดใหม่ บางคนที่ศึกษาวิชาทางโลกทางวิทยาศาสตร์มามากๆ ก็เข้าใจว่าถ้าบุคคลใดมีลูกเต้าสืบต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็จะไปเกิดได้อีก ตามหลากของชีววิทยา เพราะลูกทุกๆ คนนั้นก็สืบต่อมาจากเซลล์ของพ่อแม่นั่นเอง เมื่อสืบต่อไปหลายๆ ชั่วคนแล้ว ชีวิตเดิมก็จะปรากฏขึ้นมาอีก แต่บางคนกลับมีความเห็นว่าร่างกายนั้นประกอบไปด้วยรูปหรือวัตถุความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นหน้าที่ของมันสมองซึ่งได้วิวัฒนาการทีละน้อยๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนมีอำนาจในการนึกคิดและรู้สึกได้ แต่เมื่อตายแล้วก็เป็นอันหมดเรื่องกันไม่สามารถที่จะเกิดได้อีกเลยเรื่องนี้เป็นเรื่องมากคนก็มากความคิดเห็น แม้เจ้าของลัทธิศาสนาใหญ่ๆ หลายศาสนา ก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะเรื่องคนเกิดหรือคนตายเราเห็นได้ง่ายๆ แต่เรื่องตายแล้วไปเกิดหรือไม่เป็นเรื่องลึกลับเป็นปัญหาโลกตกมาจนบัดนี้

        สำหรับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า คนตายแล้วไปเกิดอีกได้และจะไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์อีกก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี พระองค์มิได้สอนไว้เฉยๆ ลอยๆ ว่าคนตายแล้วไปเกิดได้เท่านั้น หากแต่ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ไว้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างพิสดารถึงวิธีไปเกิดได้อย่างไร มีอะไรบ้างไปอย่างไรเกิดอย่างไรพระองค์สอนไว้ยากง่ายเป็นขั้นๆ แล้วแต่ที่วุฒิของบุคคลผู้สนในศึกษามีพื้นฐานมาดีก็สามารถเข้าในได้ละเอียดขึ้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า คนตายไปแล้วไปเกิดได้ก็ดีแต่ความคิดเห็นของศาสดาอีกหลายท่านนั้น ก็ตรงกันในหลักใหญ่ๆของบพระพุทธศาสนาที่ว่า " เกิดอีก " เท่านั้น เช่นศาสนาพราหมณ์ถือว่าคนตายแล้วจิตหรือวิญญาณก็ล่องลอยออกจากร่างไปปฏิสนธิใหม่ เหตุนี้จิตหรือวิญญาณก็เป็นอมตะไม่มีวันตาย เมื่อจากคนนี้ก็ไปสู่ยังคนนั้นเมื่อจากคนนั้นก็ไปสู่คนอื่นๆ ต่อไปตามลำดับเหมือนคนอาศัยอยู่ในบ้าน เมื่อบ้านพังลงแล้วจะอาศัยอยู่ไม่ได้ก็ต้องเดินทางไปหาบ้านอยู่ใหม่ต่อไป แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ตรงกันข้าม พระองค์สอนว่า จิตหรือวิญญาณนั้นมิได้เป็นอมตะไม่มีวันตาย หากแต่เกิดดับสืบต่อไปไม่ขาดสาย และจิตใจก็ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ไม่ได้เลย จะเทียบคนย้ายจากบ้านที่จะพังหาได้ไม่ ยิ่งกว่านั้นความเขข้าใจที่ว่าการที่ไปเกิดได้ก็ไปแต่จิตหรือวิญญาณเท่านั้น ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะยังมีรูปอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กัมมชรูป หรือรูปอันเกิดแต่กรรมก็ร่วมในการปฏิสนธิด้วย สำหรับในข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ท่านจะได้เห็นความพิสดารน่าอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา เพราะไม่ว่าใครหรือศาสดาองค์ไหนที่ว่า คนตายแล้วไปเกิดได้ก็จะต้องไปแต่จิตหรือวิญญาณเท่านั้น มิได้แสดงการตายการเกิดอย่างไรให้ชัดแจ้ง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า นอกจากจิตไม่ใช่ล่องลอยไปแล้ว รูปบางชนิดก็ไปเกิดได้ ส่วนจะไปได้อย่างไรรูปอะไรบ้าง มีเหตุผล หลักฐาน ข้อเท็จจริงอย่างไรนั้น ขอได้โปรดฟังต่อไป

        การที่เข้าใจว่าคนตายแล้วไปเกิดได้นั้นจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องจิตเรื่องรูปเรื่องกรรมและเรื่องความตาย ว่าเหตุใดจึงตาย ความตายมีกี่อย่างขณะใกล้ตายมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีความรู้สึกอย่างไรและจิตใจทำงานกันอย่างไร ฯลฯ ให้เข้าใจดีเสียก่อน ดังนั้นท่านจึงจะเห็นได้ว่าเรื่องตายเรื่องเกิดนี้จะกล่าวกันง่ายและให้เข้าใจดีด้วยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

        ก่อนอื่น อาตมาขอย้อนไปถึงเรื่องจิตอีกครั้งหนึ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นตอนๆ ว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ รู้จักนึกคิดจดจำจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีความเกิดดับสืบต่อกันเสมอเป็นนิจ มิได้หยุดนิ่งและจิตนั้นเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่ก็มีอำนาจในการสั่งสมสันดาน หรือสามารถเก็บเอาอารมณ์ต่างๆ ไว้ในจิตแล้วก็แสดงออกซึ่งอารมณ์นั้นๆ ได้

เมื่อแยกงานของจิตออกก็จะได้เป็นสอง คือ

        ๑.การงานที่จิตกระทำ ได้แก่การที่จิตขึ้นวิถีรับอารมณ์ต่างๆ จากทางทวารหรือประตูทั้ง ๖ คือรับอารมณ์จากทางตาดู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น เห็น ได้ยิน คิด เป็นต้น

        ๒.จิตเป็นภวังค์ ได้แก่จิตมิได้ขึ้นวิถีอารมณ์จากทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเลยแต่จะทำงานอยู่ตลอดเวลา คือ เกิด ดับ และมีอารมณ์ที่ติดมาตั้งแต่ปฏิสนธิ

        การที่อาตมาได้แยกการงานของจิตออกเป็นสองเช่นนี้ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่รับอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ นั้น จิตก็ทำงานและจิตที่เป็นภวังค์ คือ มิได้ขึ้นวิถีรับอารมณ์ จิตก็ทำงานเหมือนกัน

        ข้อ ๑. การขึ้นวิถีรับอารมณ์ของจิตนั้น จิตจะรับอารมณ์หรือจะเกิดอารมณ์ขึ้นได้ก็จะต้องอาศัยมี ผัสสะ คือ การกระทบ หากมิได้กระทบรูปมิได้กระทบตาแล้วก็จะไม่เห็น และอารมณ์หรือเรื่องที่จะเป็นตัวยืนให้คิดไม่กระทบกับจิตแล้วก็คิดนึกไม่ได้เลย

        ข้อ ๒. ภวังคจิต คำว่า ภวังค์ หรือจิตภวังค์นี้มีพูดกันอยู่เหมอโดยทั่วไป แต่ความเข้าใจของคนเป็นส่วนมากนั้นเข้าใจว่า ภวังค์ หมายถึงจิตมีความสงบ คือนั่งอยู่เฉยๆ หรือนั่งใจลอย แต่ตามหลักของปรมัตถธรรมนั้นตรงกันข้าม คำว่า ภวังค์ หมายถึง องค์แห่งภพ หมายถึง จิตตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติคือ ตาย ขณะใดที่จิตมิได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ และขณะนั้นจิตก็เป็นภวังค์

        ภวังคจิตที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือคนกำลังหลับสนิท ขณะหลับสนิทจะไม่มีความรู้สึกตัวเลย ขณะใดจิตมีความรู้สึกขึ้นในอารมณ์จากทวารทั้ง ๖ แล้ว ขณะนั้นจิตก็พ้นไปจากเป็นภวังค์ ความจริงขณะที่เราเห็นหรือได้ยินหรือคิดนั้น จิตก็ขึ้นวิถีรับอารมณ์ แล้วก็มีภวังคจิตขึ้นสลับอยู่ตลอดไปทั้งนี้เป็นไปโดยรวดเร็วมาก ดังนั้นเราจึงไม่รู้สึก

        การที่อาตมานำท่านมาสู่ความเข้าใจที่สับสนนี้ ก็เพราะปรารถนาจะให้ท่านทราบว่าในขณะที่จิตมิได้ขึ้นวิถีรับอารมณ์นั้น จิตก็เป็นภวังค์จิตเป็นภวังค์นี้จะไม่มีความรู้สึก แต่ถึงจะไม่รู้สึกก็ดี จิตก็ทำงานคือเกิดดับสืบเนื่องกันไปอยู่เป็นเนืองนิตย์และมีอารมณ์เหมือนกัน แต่เป็นอารมณ์ที่อยู่ในจิต มิได้แสดงออกมาให้เราเห็น ได้ยินหรือรู้สึกได้เป็นอารมณ์เก่าที่สืบเนื่องต่อมาจากปฏิสนธิ ถ้าจะเปรียบกับไดนาโมทำไฟ ก็คือไดนาโมที่กำลังหมุนอยู่ มิได้หยุดนิ่งนั่นเองมันพร้อมที่จะส่งกระแสไฟไปจุหลอด ถ้าเปิดสวิทช์ขึ้นภวังคจิตก็มิได้หยุดนิ่งอยู่เฉยๆ แต่กำลังทำงานอยู่เหมือนกันพร้อมที่จะรับอารมณ์อยู่เสมอ

        การที่อาตมาแสดงจิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์และภวังคจิตนั้นก็เพื่อจะได้นำท่านเข้าไปสู่เรื่องของความตายว่าบุคคลที่กำลังจะตายนั้นจิตกำลังทำงานอะไรอยู่

        ต่อไปนี้อาตมาจะได้แสดงถึงเรื่องว่าด้วยความตายเสียก่อนว่ามีเหตุอะไรบ้างที่จะมาทำให้ตาย

ตามพุทธภาษิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบ่งความตายออกเป็นส่วนใหญ่ๆ ไว้เป็นสองประการคือ

        กาลมรณะ หมายความว่า ถึงเวลาที่จะต้องตาย

        อกาลมรณะ หมายความว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตาย ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าความตายนั้น เมื่อถึงเวลาหรือถึงที่แล้วจึงตายก็มีและเมื่อยังไม่ถึงเวลาหรือถึงที่แล้วตายก็มี

        คำว่า มรณุปปัตติ แยกศัพท์ออกเป็น ๒ คือ มรณะ และอุปปัตติ มรณะ แปลว่าตาย อุปปัตติ แปลว่าเกิดขึ้น หมายถึงความตายและความเกิดขึ้น มรณุปปัตตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มี ๔ ประการคือ

        ๑.อายุกขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นอายุ

        ๒.กัมมักขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นกรรม

        ๓.อุภยักขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นอายุ และสิ้นกรรม

        ๔.อุปัจเฉทกกัมมะ หมายถึง ตายด้วยอุบัติเหตุต่างๆ มาตัดรอนคือยังไม่สิ้นทั้งอายุและยังไม่สิ้นกรรม

    ๑. อายุกขยะ ตายโดยสิ้นอายุ ข้อนี้ได้แก่สัตว์ทั้งหลายต้องตายไปโดยสิ้นอายุ เพราะสัตว์ทุกขนิดย่อมจะมีชีวิตอยู่ภายในขอบเขตของอาขุขัย เช่นเต่ามีอายุ ๑๓๐ ปี ช้างมีอายุ ๓๐๐ ปี ยุงมีอายุ ๑๕ วัน เป็นต้น

มนุษย์ในปัจจุบันนี้มีอายุขัยเพียง ๗๕ ปีก็ตาย แม้ว่าจะมีผู้มีอายุกว่า ๗๕ ปี บ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การที่โลกในปัจจุบันค้นคว้าในสรีระของมนุษย์ จนมีความรู้ละเอียดประณีต ค้นคว้าในเรื่องอาหารและการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าไปสักเพียงไหนก็เป็นการช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการมีอายุยืนหรืออายุสั้น มิได้มีเหตุเพียงในด้านวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงมีเหตุอื่นที่สำคัญมากอีกหลายประการ ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป

        ๒. กัมมักขยะ ตายโดยสิ้นกรรม ในข้อนี้หมายถึงว่าการที่สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาและเป็นไปนั้น อาศัยกำลังของกรรมที่หล่อเลี้ยงหรือสนับสนุนให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างไร อาตมาจะให้เหตุผลข้อเท็จจริงในภายหลัง ขณะนี้กำลังกล่าวถึงเรื่องความตาย การที่จะต้องกล่าวถึงกรรมก็เพราะเกี่ยวพันไปถึง

        ๓. อุภยักขยะ ตายเพราะสิ้นอายุและกรรม ข้อนี้ไม่มีปัญหาอะไรมาก ด้วยความตายที่เกิดขึ้นเพราะสิ้นอายุนั้น หมายถึงแก่เฒ่าอายุมากแล้ว ร่างกายก็หมดกำลังที่จะอยู่ต่อไปได้ ทั้งกรรมที่สนับสนุนให้คงชีวิตอยู่ก็หมดลงด้วย บุคคลผู้นั้นถึงแก่ความตายด้วยเหตุทั้งสอง

        ๔. อุปัจเฉทกกัมมะ หมายถึงตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ มาตัดรอน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงอายุขัยและยังไม่สิ้นกรรม เช่นตกต้นไม้ตายหรือถูกรถทับตาย ความตายในข้อนี้เป็นความตายโดยเหตุต่าง ๆ อันเป็นปัจจุบันมิได้สิ้นอายุหรือมิได้มีกรรมแต่อดีตมาตัดรอน แต่ถึงแม้ดังนั้นก็อาศัยกรรมแต่อดีตเป็นแรงส่ง เช่นกรรมแต่อดีตเป็นตัวส่งให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ แล้วไปติดโรคระบาดตายภายในเรือนจำเป็นต้น

        เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับความตายทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านได้เปรียบเทียบไว้กับดวงประทีปที่ใช้น้ำมัน คือ ชีวิตทั้งหลายเปรียบเสมือนประทีปหรือโคมไฟที่อาศัยน้ำมัน ธรรมดาโคมที่อาศัยน้ำมันนั้นไฟจะดับได้ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการ

            เหตุที่ทำให้ไฟดับ ๔ ประการ คือ :-

                ๑. เพราะเหตุที่หมดน้ำมัน

                ๒. เพราะเหตุที่หมดไส้

                ๓. เพราะเหตุที่หมดทั้งน้ำมันและหมดไส้

                ๔. เพราะเหตุที่มีอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลมพัดหรืออะไรมาทับให้ดับ

        ๑.เมื่อโคมไฟหมดน้ำมันไฟก็จะดับ ข้อนี้หมายถึงชีวิตทั้งหลายจะถึงแก่ความตายเมื่อสิ้นอายุ

        ๒. เมื่อโคมไฟหมดไส้ไฟก็จะดับ หมายถึงชีวิตทั้งหลายเมื่อสิ้นกำลังของกรรมที่สนับสนุนให้ชีวิตคงอยู่แล้วก็จะถึงแก่ความตาย

        ๓. เมื่อโคมไฟหมดทั้งน้ำมันและหมดทั้งไส้ ข้อนี้ได้แก่ชีวิตทั้งหลายต้องสิ้นไปเพราะหมดอายุและกำลังของกรรมที่จะให้คงอยู่

        ๔. เมื่อโคมไฟถูกลมพัดดับ ข้อนี้ได้แก่ยังไม่สิ้นอายุและกรรม แต่ต้องตายด้วยรับอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

            สำหรับในข้อ ๑,๒,๓ ตายเพราะถึงเวลาที่จะต้องตาย

            สำหรับในข้อ ๔ ข้อเดียวเท่านั้นที่ผู้ตายยังไม่ถึงคราวที่จะต้องตาย แต่ก็ตายลงไปเพราะเหตุในปัจจุบัน

        เมื่อท่านได้ทราบเหตุของความตายโดยย่อๆ แล้ว ก็ควรจะทราบต่อไปว่า ขณะใกล้จะตายนั้นเกิดอะไรขึ้น ทั้งจิตใจและร่างกายทำงานกันอย่างสลับซับซ้อนอย่างไร การแสดงในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้วก็จะต้องใช้เวลามากและจะต้องมีภาพของวิถีจิตในวิถีต่างๆ และตารางแสดงรูปอันเกิดแก่กรรม จิต อุตุ และอาหารด้วย ว่าเกิดดับสืบต่อกันไปยังภพใหม่ได้อย่างไร

อาตมาได้กล่าวมาแล้วถึงเรื่องจิตว่ามีการงานอยู่ ๒ อย่าง คือ ขณะรับอารมณ์ทางทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และจิตในขณะเป็น ภวังค์ คือไม่รู้สึกตัวเลย บุคคลผู้ซึ่งใกล้จะถึงแก่ความตายนั้นจะต้องเกิดอารมณ์ขึ้นไม่ทางทวารใดก็ทางทวารหนึ่งทั้ง ๖ ทวารนี้

การเกิดอารมณ์ขึ้นตอนใกล้ตายนั้นเป็นธรรมดา บุคคลใดจะตายลงโดยไม่เกิดอารมณ์ขึ้นก่อนจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะตายโดยฉับพลันทันทีอย่างไรก็ตาม เพราะจิตนั้นย่อมเกิดดับโดยรวดเร็วมาก และจะต้องอาศัยกำลังของกรรมที่เกิดขึ้นขณะใกล้จะตายนั้นเป็นตัวนำส่งให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น

        บุคคลที่ใกล้จะตายนั้นย่อมมีอารมณ์ แต่อารมณ์จะดีหรือร้ายก็ได้ เช่นได้เห็นสิ่งสวยงามเป็นที่น่านิยม คนไข้ก็จะมีหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้ม แต่ถ้าได้เห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวหรือหวาดเสียว คนไข้ก็แสดงอาการตื่นเต้นตกใจ ขวัญหายหน้าตาบูดเบี้ยว คนที่ดูแลคนไข้ที่ใกล้จะตายมักจะไปประสบ

        การที่อารมณ์ได้เกิดขึ้นขณะเมื่อใกล้ตายให้เห็นไปต่างๆ ก็เป็นการประกาศว่าบุคคลผู้นั้นจะไปเกิดในสุคติหรือทุคติอย่างไร ดังนั้นเราจึงเห็นว่า โดยมากคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ตายจึงบอก พระอรหัง แก่คนไข้ และศาสนาอื่นก็บอกสิ่งที่ดีงามต่างๆ ชี้ทางสวรรค์ให้แก่คนไข้

        เรื่องของความตายเป็นเรื่องสำคัญชิ้นสุดท้ายของชีวิต ผู้ใดเข้าใจดีก็จะเป็นเครื่องช่วยตัวเองและคนอื่นได้มาก ความไม่เข้าใจหรือผิดพลาดไปเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดการเสียหายร้ายแรงอย่างยิ่งแก่ชีวิตไปชั่วกาลนานได้

แต่อาจมีผู้สงสัยว่า เหตุใดคนที่ใกล้จะตายทำไมจึงต้องเกิดอารมณ์ขึ้น อะไรทำให้เกิดอารมณ์ หรือเห็นไปต่างๆ นานา เพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นจะนำไปสู่สุคติหรือทุคติได้จริงหรือ คนที่กำลังจะตายมีความรู้สึกหรือเจ็ยปวดอย่างไรบ้าง การงานที่จิตและร่างกายได้กระทำไปขณะชีวิตใกล้จะตายแตกดับ ตลอดจนถึงมีอะไรบ้างปฏิสนธิ เพราะตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ผู้ใดเข้าใจว่าจิตของผู้ตายนั้นเองล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ก็เป็นความเห็นผิด และเข้าใจว่าจิตเท่านั้นที่ปฏิสนธิได้ก็เป็นความเห็นที่ผิด ความเห็นที่ถูกนั้นอย่างไร อาตมาจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

ตามหลักปรมัตถธรรมหรือตามสภาวะนั้น คนตายหรือสัตว์ตายไม่มี คนตายหรือสัตว์ตายเป็นแต่เพียงเราสมมุติพูดกันให้เข้าใจเท่านั้น อันหมายถึงว่า คนที่ไม่หายใจแล้วคือคนตาย แต่สภาวธรรมกลับตรงกันข้าม คนจะตายหรือคนกำลังมีชีวิตอยู่ธรรมชาติของจิตก็เกิดดับสืบต่อกันไปและทำการงานเช่นนั้น เจตสิกซึ่งมีหน้าที่ประกอบกับจิตก็เกิดดับสืยต่อกันไปเช่นนั้น หรือแม้แต่รูปที่เกิดขึ้นในร่างกายก็เกิดสืบต่อกันเช่นนั้นเหมือนกัน

ความแตกต่างกันมีอยู่เพียงว่า จิต เจตสิก และรูปของคนตายได้ปรากฏอยู่ยังภพใหม่หรือที่ใหม่เท่านั้นเอง ถ้าถอนเอาความยึดถือที่สมมุติว่าเป็นคนหรือสัตว์ออกเสีย ก็เหมือนกับไฟฟ้าที่เกิดอยู่ที่นี่ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยก็ไปเกิดอยู่ที่โน่นอันเป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติแม่เหล็กก็จะต้องมีความดึงดูดอยูเสมอ ธรรมชาติของจิตก็จะต้องรับอารมณ์อยู่มิได้หยุดหย่อนเช่นเดียวกัน คนที่กำลังมีชีวิตอยู่หรือคนที่ใกล้จะตายก็เหมือนกัน จิตย่อมรับอารมณ์อยู่อันเป็นไปตามธรรมชาติ ต่างกันแต่ว่า เมื่อคนใกล้จะตายเราเรียกชื่ออารมณ์นั้นว่า กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต

อาตมาได้กล่าวถึงอารมณ์เกิดขึ้นได้อย่างไรมาบ้างแล้ว แต่ได้พูดไปเพียงย่อๆ เท่านั้น จึงขอเพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้นอีกเล็กน้อย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า สภาวะ คือธรรมชาติทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยเหตุ ถ้าปราศจากเหตุเสียแล้วก็หาเกิดขึ้นมาได้ไม่ แต่เหตุที่ว่านี้มีหลายชั้น เป็นเหตุใกล้ๆ ตื้นๆ เผินๆ เห็นง่ายก็มี และเหตุที่ไกลๆ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากก็มี ปัญหาต่างๆ ของชีวิต เช่น ชีวิตคืออะไร มาจากไหน เป็นเรื่องล้ำลึก ถ้าไม่ได้อาศัย "สัพพัญญุตญาณ" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะเข้าไม่ถึงเลย

อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนกัน อยู่เฉยๆ มันจะเกิดขึ้นมาเองก็หาไม่ อารมณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยเหตุเหมือนกัน เช่นอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตาและหูต้องมีเหตุดังนี้ :-

(๑) อารมณ์ที่จะเกิดขึ้นทางตา คือจะเห็นได้นั้นต้องอาศัยเหตุ ๔ ประการ มาประชุมพร้อมกันคือ :-

๑. จักขุปสาทะ ได้แก่ ประสาทตา

๒. รูปารมณ์ ได้แก่ รูป คือ สีต่างๆ

๓. อาโลกะ ได้แก่ แสงสว่าง

๔. มนสิการ กระทำอารมณ์ให้แก่จิต พูดง่ายๆ ก็คือ ความตั้งใจนั่นเอง

เมื่อมีเหตุทั้ง ๔ ประการนี้มาประชุมหรือจรดพร้อมกันเข้าแล้วการเห็นก็มักจะเกิดขึ้นทันทีถ้าเหตุทั้ง ๔ นี้มาประชุมพร้อมกันแล้วจะไม่เกิดการเห็นขึ้นก็ไม่ได้ แต่ถ้าหากขาดไปเสียอันใดอันหนึ่งหรือหลายอันแล้ว การเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน เช่น ประสาทตาไม่ดี รูปารมณ์อันได้แก่คลื่นแสงไม่มี ขาดแสงสว่างหรือขาดความตั้งใจที่จะเห็น

(๒) เหตุให้เกิดการได้ยินมี ๔ ประการ คือ

๑. โสตปสาทะ ได้แก่ ประสาทหู

๒. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง คือความสั่นสะเทือนของอากาศ

๓. วิวรากาสะ ได้แก่ ช่องว่างในหู

๔. มนสิการ ได้แก่ การทำอารมณ์ให้แก่จิต คือ ตั้งใจ

เมื่อเหตุทั้ง ๔ ประการนี้มาประชุมหรือจรดพร้อมกันเมื่อนั้นก็จะปรากฏการณ์ได้ยินขึ้นทันที การได้ยินที่จะปรากฏการณ์เกิดขึ้นได้โดยขาดเหตุไปแม้อันหนึ่งอันใดแล้ว การได้ยินก็ไม่เกิดขึ้นเลยเป็นอันขาด

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องนี้ไว้ก็มิได้ประสงค์จะให้ศึกษาวิชาสรีรศาสตร์ หากแต่พระองค์ต้องการแสดงเหตุ แม้แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา หรือหู ก็ต้องอาศัยเหตุให้เกิด ธรรมทั้งหลายต้องอาศัยเหตุจึงจะเกิดขึ้นมาได้ มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เป็นการให้ผู้ศึกษาเข้าใจในเหตุผล ไม่ให้ยึดมั่นในความจริงที่สมมุติอันเป็นมายาและเป็นการปฏิเสธความเข้าใจที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าหรือพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกโดยสิ้นเชิง

อาจจะมีผู้คิดเห็นว่าเหตุให้เกิดเห็น การได้ยิน ต้องมีคลื่นแสงและคลื่นเสียง คือความสั่นสะเทือนของอากาศ และคิดว่าทางวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานมานี่เอง เรากำลังหันเหให้เรื่องสภาวะธรรมเข้าไปอิงวิชาวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าขึ้นมาได้

ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พระองค์ทรงสอนมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว เพียงแต่ถ้อยคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ส่วนความหมายนั้นเป็นอันเดียวกัน ในข้อนี้อาตมาขอยกกล่าวสักเล็กน้อย

พระองค์สอนว่า รูปารมณ์ (รูปที่เห็น) ที่เกิดขึ้นแล้วมากระทบกับตาทำให้เห็นได้นั้น จะต้องอาศัยแสงสว่างและรูปารมณ์ดังกล่าวมานี้จะเกิดดับสลับซับซ้อนที่ตา และประสาทตาที่รับการกระทบของรูปารมณ์ที่ว่านั้น ก็ตั้งอยู่ตรงตาดำซึ่งมีขนาดโตเท่าหัวของเหา

ประสาทที่ตั้งอยู่ตรงตาดำโตเท่าหัวเหานี้เองเป็นตัวรับการกระทบรูปารมณ์ ซึ่งได้แก่คลื่นของแสงนั้นเอง ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังแสดงถึงรูปารมณ์นี้ว่ามีความเกิดดับในจำนวนหนึ่งต่อจำนวนจิตที่เกิดดับ ๑๗ ขณะใหญ่ หรือ ๕๑ ขณะเล็ก

ในเรื่องการได้ยินก็เหมือนกัน.... สัททารมณ์คือเสียงย่อมกระทบที่ประสาทหูโดยการเกิดดับสลับซับซ้อนกันอยู่ พระองค์ชี้ถึงขนอันละเอียดอ่อนในจำนวนเท่าใด ตั้งอยู่ภายในแอ่งน้ำสีอะไรภายในช่องหู และจิตจะมารับอารมณ์ที่ตรงนี้ ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือเหตุที่จะได้ยิน ๔ ประการนั้นมี วิวรากาสะ คือ ช่องว่างภายในหูรวมอยู่ด้วย ซึ่งตรงกับหลักวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าไม่มีช่องว่างคืออากาศภายในช่องหูเสียแล้วความสั่นสะเทือนของอากาศก็จะไม่สามารถเข้าไปกระทบกับประสาทหูได้ การได้ยินก็จะไม่บังเกิดขึ้น

อาตมาได้กล่าวมาเพียงย่อๆ และเพียงสองทวาร คือตากับหูเท่านั้น ส่วน จมูก ลิ้น กาย ใจ จะงดเสีย เพราะจะเสียเวลามาก ที่อาตมาได้กล่าวมานี้เป็นการนำเอาคำสอนที่แสดงเหตุใกล้ๆ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจเรื่องการเกิดอารมณ์และคลายความยึดมั่นในตัวตน คน สัตว์ เพราะการที่คลื่นของแสงและคลื่นเสียงมากระทบกับประสาทตลอดเวลาเหล่านั้น เราได้ไขว่คว้าหาอารมณ์อยู่เรื่อยๆ ประเดี๋ยวเราก็ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการคิด ต้องการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ความต้องการหรือความปรารถนาเหล่านั้นมิได้หยุดยั้งเลย มีแต่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราได้อะไรสมความปรารถนาแล้ว เราก็ปรารถนาอย่างอื่นและอย่างอื่นๆ ต่อไปอีกโดยมิได้ว่างเว้นเลยตลอดชีวิต เพื่อความดำรงอยู่ของชีวิต เพื่อให้ชีวิตแจ่มใสสดชื่นเบิกบาน เพื่อให้ทุกข์เบาบางหรือหายไป เราปรารถนาที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้อง ได้คิดนึกเรื่องที่ดีๆ ที่เราพอใจนั้นๆ อยู่เสมอ ครั้นเมื่อได้อารมณ์อันเป็นที่พึงพอใจแล้วก็ติดอกติดใจในอารมณ์นั้นๆ อย่างแน่นหนาแล้วหาลู่ทางที่จะได้มาซึ่งอารมณ์ที่ตนพอใจนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นก็ย่อมประทับไว้ในจิตอย่างมั่นคง มิได้หลุดถอน

ความปราถนาที่จะได้อารมณ์ความยินดี ติดใจในอารมณ์ต่างๆเหล่นี้ ทางธรรมเรียกว่า โลภะ ตัณหา

คำว่า ตัณหา นี้ผู้ที่มิได้ศึกษาพุทธศาสนาก็เข้าใจว่าหมายถึงในเรื่องชู้สาวหรือเรื่องของเซ็กส์เท่านั้น แต่ความจริงตัณหามีความหมายยิ่งกว่านั้นคือ หมายถึงความยินดีติดใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ นั้นเอง เช่นยินดีติดใจในการเห็น ได้กลิ่นได้ลิ้มรสและสัมผัส ได้คิดนึกต่างๆ

แม้แต่อารมณ์ที่เป็นโทสะ คือความไม่พอใจในอารมณ์ก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน เช่นเมื่อเราเห็นสิ่งที่ไม่ดีหรือได้ยินเสียงอันระคายโสตประสาทเราก็ไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจแล้วเราทำอย่างไร เราก็หลีกหนี เราหลีกหนีไปไหน เราก็หลักหนีเพื่อหาสิ่งที่ดีที่พอใจต่อไปใหม่ หรือเราได้กลิ่นเหม็นเราก็ไม่ชอบใจเพราะมันเป็นอารมณ์ที่เราไม่พึงปราถนา เราก็ไปให้พ้นจากกลิ่นเหม็นนั้น แต่ก็หนีไปไม่พ้นจากการที่จะแสวงหากลิ่นที่หอมหรืออารมณ์ที่ต้องใจอื่นๆ ต่อไปใหม่ นี่ก็แสดงว่าอารมณ์ที่ไม่พอใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยนำไปสู่อารมณ์ที่พอใจจนได้

เมื่อเราได้อารมณ์ที่พอใจแล้ว เราก็มีความยินดี ติดใจในอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นๆ ก็จะฝังมั่นประทับไว้ในจิตใจ ความยึดมั่นนี้ทางธรรมเรียกว่า อุปาทาน เช่นเรารับประทานอาหารอะไรอย่างหนึ่งมีรสอันโอชะเป็นพิเศษ จนทำให้เราติดใจ ความติดอกติดใจนั้นจะเก็บประทับเอาไว้แน่นหนา ถ้ามีโอกาสเราก็พยายามหาให้ได้ซึ่งรสหรืออารมณ์นั้นอีก หรือเราดูภาพยนต์เรื่องที่สนุกมากๆ เราก็ติดอกติดใจอยากจะดูเรื่องที่สนุกๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกถ้ามีโอกาส

ความยินดีติดใจในอารมณ์หรือตัณหานี้มีกำลังมากเกินที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะคาดคิดว่ามันจะเป็นไปได้ ถ้ามิได้ศึกษาให้เข้าใจถึงความละเอียดในพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีทางทราบได้เลย แม้แต่เพียงคิดก็ไม่มีใครได้คิดไปถึงเสียแล้วว่า กำลังของตัณหานี้เองที่เป็นตัวนำให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นชาติแล้วชาติอีกมิได้หยุดหย่อน ซึ่งก็คือการที่เราปรารถนาที่จะเกิดต่อไปนั่นเอง

บัดนี้ก็ถึงปัญหาที่ว่า เหตุใดเมื่อเจตนาหรือตัณหาประทับลงไว้ในจิตอยู่เสมอแล้ว กำลังของเจตนาหรือตัณหานั้นจึงผูกมัดรัดรึงสัตว์ทั้งหลายไว้ให้คงอยู่ในวัฏฏะ จนไม่สามารถดิ้นรนให้รอดไปได้

กำลังของกรรมคือตัณหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาหลับสนิทนั้น วันหนึ่งๆ มิใช่เล็กน้อย ถ้ารวมกันตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายแล้ว ก็หมดปัญญาที่ผู้ใดจะคิดหรือคาดคะเนได้ว่ามากสักเท่าใด ประเดี๋ยวก็อยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้ลิ้มรส และอยากนึกคิด ฯลฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีกวันยังค่ำ และเมื่อได้รับอารมณ์เหล่านั้นสมความปรารถนาแล้วก็อยากได้อารมณือื่นๆ อีกไม่มีวันจบสิ้น

นักอาชญาวิทยา นักจิตวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพ เมื่อพบเด็กที่เหลือขอและชอบขโมย ก็จะกล่าวว่าเด็กคนนี้ได้สืบสันดานมาจากพ่อแม่ที่เป็นผู้ร้าย การที่เขาเป็นผู้ร้ายก็เพราะมีสันดานหรือมีเลือดของพ่อแม่ของเขาติดมา ซึ่งความจริงนักอะไรต่อนักอะไรทั้งหลายเหล่านี้ ได้สืบสวนค้นคว้ามาได้แต่เหตุผลใกล้ๆ ตื้นๆ เผินๆ แค่เกิดมาเท่านั้นเอง เพราะเขายังไม่เข้าใจเลยว่าจิตนั้นคืออะไร สามารถสืบต่อกันไปได้อย่างไร เขาจะเข้าใจให้ถูกต้องได้สมบูรณ์หรือ เพราะเขามิได้ศึกษาจากพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำอย่างไรก็จะให้ความเข้าใจของเขาถูกต้องสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะเขาได้เข้าใจผิดไปว่ามันสองนั้นเป็นตัวจิตซึ่งได้วิวัฒนาการมาแล้วนับจำนวนเวลาเป็นพันเป็นหมื่นล้านปี จนสามารถมีความคิดอ่านจนจำทุกข์สุขได้ มนุษญ์ทั้งหลายเกิดสืบต่อกันมาตามสายโลหิตจากสเปอร์มาโตซัวของบิดาและโอวัมคือไข่ของมารดา และอุปนิสัยใจคอของเด็กจะสถิตอยู่ภายในยีนส์ซึ่งอยู่ในเซลล์นั้น ซึ่งเราได้ตรวจสอบค้นคว้ามาได้ และจากกล้องขยายหลายพันเท่า อันเป็นรูปหรือวัตถุ ซึ่งเขาจะรู้ได้แน่แต่ทางเดียวเท่านั้น

อาตมาได้กล่าวมาแล้วว่า จิตนั้นเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหรือตายจะหลับหรือตื่น และมีอำนาจสั่งสมสันดานเหตุ ฉะนั้น อุปนิสัย, สันดานหรือสัญชาตญาณของเด็กเหล่านั้นจึงมิได้สืบสายโลหิตมาจากพ่อแม่ เพราะจิตเป็นนามธรรม ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกจิตของพ่อแม่แยกออกมาเป็นของเด็กได้ หากแต่เป็นจิตดวงใหม่ คือผู้ที่ตายต่างหากมาปฏิสนธิ

คงจะมีบางท่านที่สงสัยว่า ถ้าเป็นจิตดวงใหม่มาปฏิสนธิ มิได้ถ่ายทอดมาตามสายเลือดแล้ว ก็เหตุใดเล่า อุปนิสัยใจคอของเด็ก เช่นชอบในทางศิลปะหรือมีสันดานเป็นผู้ร้าย จึงไปเหมือนกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นได้

ปัญหานี้ ผู้ที่ศึกษาธรรมะมาพอสมควรก็จะไม่ประหลาดใจเลย เพราะเขาจะเข้าใจเรื่องการปฏิสนธิของจิต ว่าจิตจะต้องปฏิสนธิไปตามความเหมาะสม ไปตามเหตุปัจจัย เช่น ถ้าอาตมาเอาแก้วน้ำร้อนมาตั้งไว้บนโต๊ะนี้ ภายนอกของแก้วก็จะไม่มีไอน้ำมาจับได้เลย แต่ถ้าอาตมานำแก้วน้ำแข็งมาวาง ในไม่ช้าเราก็จะเห็นน้ำติดอยู่เป็นหยดๆ โดยรอบแก้ว ทั้งนี้เพราะความเย็นของน้ำแข็งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอองของน้ำมาจับได้

ถ้า ก. มีสันดานหยาบคายเป็นผู้ร้ายเต็มตัว ข. ซึ่งเป็นสุภาพบุรุษร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่อาจจะร่วเป็นร่วมตาย สนิทสนมหรือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ เพราะไม่มีความเหมาะสมกันเลย

โดยนัยนี้ จิตที่มีอุปนิสัยในทางชั่ว จึงปฏิสนธิในพ่อแม่ที่มีสันดานผู้ร้าย และจิตที่โง่เง่าหรือไม่สู้จะเต็มจึงชอบปฏิสนธิในพ่อแม่ที่เป็นคนจิตทราม

การศึกษาเรื่องจิตตามหลักของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจแล้วก็จะเห็นได้ว่ามีเหตุผลข้อเท็จจริงที่จะเป็นไปดังนั้นอีกมากมายอาตมาเห็นว่าเวลามีน้อยก็จะของดเสียBR> แน่นอน ช่างเขียนที่สามารถ นักประพันที่มีคารมคมคายซึ่งประชาชนชอบอกชอบใจทั่วทิศ นักประดิษย์เรืองนาม นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ หรือตัวตลกลิเก ละครที่มีคนหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง หรือนักอะไรๆ เหล่านี้จะไม่มีเลยที่จะฝึกฝนจนกลายเป็นบุคคลชั้นนำเพียงในชาตินี้ชาติเดียว ความจริงบุคคลเหล่านี้ย่อมมีวาสนา คือได้รับการอบรมมาแล้วหลายๆ ชาติทั้งนั้น เขาว่า กำลังของความปรารถนาแต่อดีตนั้นสามารถส่งผลให้จนถึงปัจจุบันและอนาคตได้

อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ นั่น ทุกอารมณ์ก็ย่อมประทับสั่งสมลงไว้ในจิตอย่างสลับซับซ้อนมากมาย กำลังของอารมณ์ก็ย่อมมีเจตนาหรือความปรารถนารวมอยู่ด้วย ความปรารถนามีกำลังมากก็ย่อมเป็นไปตามปรารถนานั้นๆ ความปรารถนาที่จะได้ภพชาติใหม่หรือที่จะเกิดใหม่นั้นเองที่ทำให้ชาติมิได้สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาโดยตรงหรือโดยปริยายก็ตาม

ธรรมชาติของ กรรม ที่กระทำนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิศวง เพราะไม่มีตัวตนที่เราจะถูกต้องได้ จะวัดหรือจะชั่งตวงก็ไม่ได้ แต่ก็มีอำนาจแสดงกำลังความสามารถได้

เมื่อหญิงสาวและชายหนุ่มผูกสมัครรักใคร่กัน ยิ่งนานวันก็จะยิ่งเพิ่มพูนความรักมากขึ้น เพราะเห็นใจกัน เอาอกเอาใจกันทุกอย่าง ความรักของชายหนุ่มหญิงสาวคู่นี้เป็นไปอย่างดูดดื่มมั่นคงอยู่หลายปี เมื่อจะต้องพรากจากกันไปโดยเด็ดขาดเมื่อใด ทั้งสองฝ่ายก็จะตกอยู่ในความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง จะเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงกันอยู่มิรู้วาย วันละหลายสิบหรือหลายครั้ง ทั้งนี้เพราะอะไรเรื่องความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันก็เป็นอดีตไปแล้ว เป็นเรื่องเก่าที่ดับไปแล้ว เหตุใดกรรมที่ทำไว้ในอดีตจึงได้ก่อให้เกิดความทุกข์หรือเศร้าเสียใจอยู่มิได้หยุดหย่อน

อาตมาได้กล่าวมาแล้วว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีเหตุจะเกิดขึ้นลอยๆ หาได้ไม่ เช่น การที่จะเห็นได้ก็ต้องมีคลื่นแสงมากระทบตา จะได้ยินก็ต้องมีคลื่นเสียงมากระทบหู และจะคิดได้ก็จะต้องมีเรื่องที่คิดนั้นมากระทบใจ เหตุนี้จึงเห็นได้ว่า ในกรณีของหนุ่มสาวเกิดความเศร้าเสียใจคู่นี้ก็จะต้องมีเรื่องมากระทบใจเป็นแน่นอน มิฉะนั้นความเศร้าเสียใจจะเกิดขึ้นมาหาได้ไม่ แต่อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์เสียใจเหล่านั้นขึ้น

ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้เลยว่าอารมณ์เหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นมาแต่อารมณ์เก่าๆ คือ เจตนาหรือความปรารถนาที่จะเป็นขิงซึ่งกันและกัน รักกัน เอาใจกันและจะแต่งงานอยู่กินด้วยกันนั่นเองเป็นเหตุเป็นปัจจัย

จิตจึงได้สร้างให้เห็นหน้า เห็นกิริยาท่าทาง เห็นความดีของแต่ละฝ่าย อารมณ์เก่าๆ เหล่านั้น คือ กรรมแต่อดีตที่ดับไปแล้วนั่นเอง แต่มิได้สูญหายไปไหน อารมณ์เก่าหรือกรรมเก่าหรือความปรารถนาเก่านั้นเองได้เกิดกำลังอำนาจขึ้น กำลังอำนาจนี้ได้มากระทบจิตอยู่เสมอมิได้หยุดหย่อน ซึ่งกระทำให้กรรมที่ทำไว้แล้วๆ นั้น กลับยกขึ้นมาสู่อารมณ์ใหม่อีก ภาพเก่าๆ ก็ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ซ้ำๆ ซากๆ ทำให้มองเห็นหน้าคู่รักที่กำลังยิ้มหวาน เห็นความน่ารักน่าเอ็นดู เห็นความเอาอกเอาใจหรือความเสียสละของแต่ละฝ่าย ภาพประทับใจทั้งหลายแหล่ก็ได้ถูกยกขึ้นมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เหมือนกำลังดูภาพยนตร์หรือมีเสียงกระซิบมากระซิบอยู่ที่ข้างหูว่า รัก รัก มิได้หยุดหย่อน

การที่อาตมานำตัวอย่างนี้ขึ้นมาแสดง ก็เพื่อจะให้ท่านได้เห็นกำลังของกรรม กำลังของความปรารถนาหรือตัณหาว่าแม้มันไม่มีตัวตนก็ดี แม้มันจะเกิดขึ้นในอดีตและดับไปแล้วก็ดี มันก็ยังมีความสามารถที่จะแสดงออก ซึ่งการกระทบกับจิตอันก่อให้เกิดอารมณ์ขึ้นได้มิหยุดหย่อน ทั้งนี้เพื่อให้ท่านได้เห็นหน้าตาไว้เพียงนิดเดียวก่อน กำลังของกรรมหรือตัณหานี้ยังมีกว่านั้นมากมายนัก สามารถสร้างภพสร้างชาติก็ยังได้อีกและคนที่ตายแล้วไปเกิดก็ด้วยต้องอาศัยกำลังของกรรมนี่เองผลักดัน ทั้งมิได้สืบต่อไปแต่จิตอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ด้วยอำนาจของกรรมหรือตัณหานี้ยังมีอานุภาพสร้างรูปขึ้นในภพใหม่ได้ด้วย แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย อาตมาขอนำวิชาทางโลกเข้ามาประกอบด้วย

ร่างกายของเรานี้ คือ รูปหรือวัตถุ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ย่อยให้เล็กลง ๆ ส่วนที่เล็กที่สุดได้แก่ ปรมาณู

ปรมาณูประกอบด้วยนิวเคลียส์อยู่ตรงกลางมีอนุภาคโปรตอน คือ ประจุไฟฟ้าบวกวิ่งวนรอบแกนกลาง แล้วยังมีอนุภาคอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีประจุไฟฟ้าเลย เรียกชื่อว่า นิวตรอน

เมื่อว่าโดยรูปหรือวัตถุแล้ว ร่างกายของเรานี้ก็ไม่มีอะไรนอกจากประจุไฟฟ้าและพลังงาน ตรงตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์และนักคำนวนผู้ยิ่งใหญ่ของโลกขณะนี้ ซึ่งได้กล่าวว่า พลังงานก็คือสสารและสสารก็คือพลังงาน มันเป็นการน่าประหลาดมหัศจรรย์เพียงใดหรือไม่ที่ร่างกายโตๆ ที่มองเห็นและสัมผัสได้ของคนเรานี้มาจากพลังงานที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ ชั่งตวงไม่ได้

อาตมาได้กล่าวถึงรูปและวัตถุจากวิชาการทางโลกมาเล็กน้อยแล้ว อาตมาจะขอกล่าวถึงรูปหรือเรื่องวัตถุทางพระพุทธศาสนาให้ท่านฟังดูบ้างว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย่อยวัตถุทั้งหลายออกเป็นอย่างไร

พระองค์ทรงสอนว่า เมล็ดข้าวสารเมล็ดหนึ่ง เมื่อแยกออกเป็น ๗ ส่วน ส่วนหนึ่งนั้นก็จะเท่าหัวของเหา ใน ๑ หัวของเหานี้ย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ๑ ส่วนก็จะเป็น ลิกขา ๑ ลิกขานี้ย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ๑ ส่วนก็จะเป็น รถเรณู ๑ รถเรณูย่อยออกไปอีก ๓๖ ส่วน ก็จะเป็น ตัชเชรี ใน ๑ ตัชเชรีนี้ย่อยออกอีก ๓๖ ส่วนแล้ว ๑ ส่วนนั้นจะเป็น ๑ อณู และ ๑ อณูนี้ย่อยออกเป็น ๓๖ ส่วน ๑ ส่วนนั้นก็จะได้แก่ ๑ ปรมาณู

อาตมาไม่สามารถจะตอบได้ว่า คำว่า ๑ ปรมาณูของทางวิทยาศาสตร์กับ ๑ ปรมาณูของธรรมะนั้น แตกต่างกันเท่าใด แต่ขอให้ท่านลองคูณดูว่าทางธรรมะนั้นย่อยออกไปจากหัวของเหาจนถึงปรมาณูนั้นจะเป็นขนาดไหน

ในขณะนี้เราไม่สามารถที่จะเห็นหรือถูกต้องได้แล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นรูปอยู่ คือเป็นรูปที่สุขุมละเอียดมาก

และนอกจากนี้พระองค์ยังแสดงต่อไปว่า ใน ๑ ปรมาณูนั้น ทุกๆ ปรมาณูโดยมิได้ยกเว้นย่อมจะมีธาตุ ปถวี อาโป เตโช วาโย ได้แก่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม (โปรดทำความเข้าใจในธาตุ ๔ ตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย มิได้มีความหมายตรงไปตามตัวหนังสือ เช่น ธาตุน้ำ ก็ไม่ใช่น้ำที่เราดื่ม เพราะธาตุน้ำเป็นสุขุมรูป มองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้เป็นต้น) แล้วยังมี วรรณะ คันธะ รสะ โอชะ คือรูปร่างหรือสี มีกลิ่น มีรสและโอชะ (หมายถึงร่างกายย่อยให้เป็นประโยชน์ได้) ดังนั้น ๑ ปรมาณูจึงมี ๘ เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘

และพระองค์ยังได้สอนต่อไปว่า ปรมาณูทั้งหลายเหล่านั้นหาได้ติดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ แม้เราจะเห็นวัตถุใดเป็นแท่งทึบ ปรมาณูทุกปรมาณูย่อมถูกคั่นด้วย ปริเฉทรูป คือ ช่องอากาศหรือช่องว่างนั่นคือ รูปทั้งหลายที่เราเห็นเป็นแท่งทึบนั้น แท้จริงมีรูปร่างโปร่งโดยตรง

พระองค์ทรงสอนเรื่องปรมาณูก็มิได้มีความประสงค์ปรารถนาจะสอนให้ศึกษาวิชาสรีรวิทยา หรือให้ทำลูกระเบิดปรมาณูเพื่อจะได้ทิ้งใส่กัน พระองค์ปรารถนาจะชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนคงทนของรูป เพราะย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะมิได้หยุดนิ่ง อย่าได้ยึดถือเป็นจริงเป็นจังมั่นคง และเพื่อไม่ให้หลงงมงายเชื่อเฉพาะที่ตามองเห็นเท่านั้น

ถ้าเชื่อเพียงเท่านั้นก็จะได้ชื่อว่าโง่เขลามองไม่เห็นความจริงของธรรมชาติแล้วก็หาว่าธรรมชาตินั้นเจ้าเล่ห์เจ้ามายา และยิ่งกว่านั้นพระองค์ต้องการแสดงสภาวะของรูปเหล่านั้นว่า กรรมหรือตัณหาย่อมมีอานุภาพสร้างรูปอันปราณีตนี้ในรูปของปรมาณูหรือในรูปของพลังงาน ในขณะที่ปฏิสนธิตั้งต้นขึ้นในภพใหม่ได้ด้วย แต่ส่วนจะสร้างรูปอะไรในภพใหม่อย่างไรนั้น จะได้กล่าวต่อไป

ได้กล่าวมาแล้วว่า จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รับอารมณ์ มีอารมณ์อยู่เสมอและอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็ด้วยเหตุต่างๆ กัน แต่สำหรับคนที่ใกล้จะตาย อารมณ์เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายเรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์

๑. ผู้ใดทำกรรมอะไรไว้ ไม่ว่าจะเป็นดีหรือชั่วก็ตาม เมื่อทำไว้มากๆ กรรมเหล่านั้นก็มักจะกระทบกับจิตทำให้เกิดอารมณ์ขึ้น คือทำให้จิตได้สร้างเป็นมโนภาพโดยอาศัยอานุภาพของกรรมในอดีตให้เป็นไปต่างๆ นานา เป็นต้นว่า ฆ่าสัตว์มากๆ ก็มักจะเห็นการฆ่าสัตว์ เช่น ยิงนก ตกปลา ทำบุญให้ทานมากๆ หรือรักษาศีล เจริญภาวนาก็มักจะเห็นการทำบุญให้ทาน อารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็น กรรมอารมณ์

๒. บุคคลผู้ใกล้จะตายเห็นนิมิตต่างๆ อาจจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ เช่น เห็นอุปกรณ์การทำกุศลหรืออกุศลที่ตนได้เคยกระทำมา เห็นธงทิวเครื่องตกแต่งหรือขบวนแห่บวชนาค ทอดกฐินซึ่งเป็นกุศล ทางฝ่ายอกุศลก็เห็น แห อวน มีด ไม้ เคื่องดักหรือจับสัตว์ เห็นเครื่องมือการพนัน หรือคิดอะไทำอะไรก็มองเห็นเป็นเลขท้าย ๓ ตัว อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่า กรรมนิมิตอารมณ์

๓. บุคคลผู้ใกล้ตาย เกิดนิมิตขึ้นเห็นถ้ำ เห็นเหว เห็นปล่อง เห็นการทรมานสัตว์ก็ดีหรือเห็นปราสาทราชวังที่ทำด้วยทองคำ เห็นราชรถอันวิจิตร บางทีไม่มีในเมืองมนุษย์ก็ดี อารมณ์ที่เกิดนี้เรียกว่า คตินิมิตอารมณ์

สัตว์ทั้งหลายขณะที่ใกล้จะจุติ คือ ตาย จะต้องเกิดอารมณ์ขึ้น ไม่กรรม ก็ กรรมนิมิตหรือคตินิมิตอันใดอันหนึ่ง สัตว์ที่จะตายจะไม่เกิดอารมณ์ขึ้นเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะตายช้าหรือโดยทันทีอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะอารมณ์กรรมนั้นๆ ย่อมเป็นกำลังอันสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดปฏิสนธิขึ้น กรรม กรรมนิมิต คตินิมิตนั้น เป็นอารมณ์ครั้งสุดท้ายในชาตินั้นๆ ที่ทรงอิทธิ ทำให้มีภพชาติสืบต่อไป

อารมณ์ที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายนี้เป็นที่หมายได้แน่นอนว่าจะต้องไปเกิดตามที่ตนได้เห็น เหมือนเราทำแบบแปลนแผนผังไว้แล้วปลูกสร้างที่อยู่อาศัยตามแบบแปลนนั้นๆ เช่น ผู้ที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเห็นครรภ์ของมารดา, ผู้ที่จะไปเกิดยังเทวภูมิย่อมเห็นเทพยดานางฟ้าหรือวิมาน, ผู้ที่จะไปเกิดในนรก ก็ย่อมเห็นการเผาผลาญสัตว์ เห็นเปลวไฟ, ผู้ที่จะไปเกิดเป็นเปรต ก็เห็นปล่องเห็นหุบเขาอันตกอยู่ในความมืดมิด,ผู้ที่จะไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน ก็ย่อมจะเห็นสัตว์หรือเชิงเขา ชายน้ำเป็นต้น

ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายปลายทางคือ ความตาย ไม่ว่าพระราชาหรือกระยาจก ไม่ว่าเทวดาหรือสัตว์นรก ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญ สำหรับผู้ที่ฉลาดในเรื่องของชีวิตควรจะต้องศึกษาให้รู้ เมื่อเช่นนี้การศึกษาเรื่องความตายจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง จะได้ชื่อว่าไม่ตกอยู่ในความประมาท เพราะศึกษาเล่าเรียนเรื่องความตายเสียให้เข้าใจดีแล้วก็ย่อมมีหวังอยู่เป็นอันมากที่จะไปเกิดในสุคติภูมิ

การมองดูคนไข้ที่ใกล้ตาย จะแสดงกิริยาอาการต่างๆ แม้จะทายที่ไปของผู้นั้นไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ก็จริง แต่ก็มีส่วนถูกเป็นอันมากด้วย การที่คนไข้เกิดอารมณ์ขึ้นเหมือนความฝัน ภาพนั้นย่อมชัดเจนแจ่มใสมาก จิตของคนไข้จะมีความยินดีหรือตกใจกลัวก็ย่อมจะมองเห็นจากการแสดงกิริยาอาการต่างๆ เช่น ถ้าคนไข้เห็นนายนิรยบาลถือหอกโตเท่าลำตาล กำลังเงือดเงื้อจะพุ่งลงมาทรวงอก หรือเห็นน้ำทองแดงกำลังเดือดพล่านจะไหลเข้าปาก หรือเห็นแร้งกา ๓ ตัวโต มีปากเป็นเหล็กกำลังจะฉีกเนื้อตัวกิน หรือเห็นอสุรกายโตใหญ่ราวกับภูเขาดำทะมึนกำลังผ่านเข้ามาทำร้าย

เมื่อคนไข้เห็นเช่นนี้ก็จะมีความตกใจ ก็จะต้องโอดครวญด้วยเสียงอันดัง ก็แสดงอาการหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวอย่างน่าสงสาร หรือแลบลิ้นปลิ้นตาร้องโวยวายให้คนช่วย เช่นนี้อบายภูมิก็มีหวังได้

ถ้าคนไข้เห็นนิมิตที่มาปรากฏนั้นเป็นพระเป็นเณร เห็นปราสาทราชวัง เห็นอารมณ์อันปราณีต เห็นคนรักษาศีลคนให้ทาน และคนไข้ก็ยิ้มย่องผ่องใสหน้าตาอิ่มเอิบเห็นหัวเราะ เช่นนี้สุคติก็มีหวังได้

เมื่อเราเอื้อมมือไปหยิบอะไรอย่างหนึ่งบนโต๊ะที่อยู่ข้างหน้า ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มเคลื่อนมือไป จิตย่อมจะสั่งการโดยตลอด เหตุนี้เองถ้าหากมือที่เอื้อมไปนั้นยังไม่ถึงสิ่งของที่ต้องการ เกิดมีเสียงเอะอะขึ้นจิตก็จะสั่งให้หันไปดูที่เสียงนั้น มือที่เอื้อมไปนั้นก็จะค้างอยู่ คือ เกร็ง โดยทำนองเดียวกันนี้ คนที่ใกล้จะตายเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นครั้งสุดท้าย จะเป็นยินดีหรือตกใจก็ตามก็ย่อมแสดงกิริยาท่าทางน่ากลัวหรือยิ้มแย้ม ทันทีจุติจิต (ตาย) ก็เกิดขึ้น ซากศพของผู้นั้นก็ปรากฏอาการค้างอยู่ ซึ่งทำให้เราพอทายว่าจะไปสุคติหรือทุคติได้เป็นส่วนมาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแยกกรรมที่จะเป็นเหตุนำให้สัตว์ไปปฏิสนธิ ๔ ประการ คือ :-

๑. ครุกกรรม (อ่นว่า คะ รุ กะ กัม = กรรมหนัก) ทางฝ่ายกุศลเช่นทำฌาน ทางฝ่ายอกุศลเช่น ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เป็นต้น กรรมนี้เป็นกรรมหนักมีกำลังมาก ดังนั้นเมื่อเวลาจุติคือตาย กำลังของกรรมนี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นชนกกรรม (อ่านว่า ชะนะกะกัม) นำไปสู่การปฏิสนธิ ไม่มีกรรมใดมาขัดขวางได้ เพราะเป็นกรรมหนักมีกำลังมากต้องให้ผลก่อน

๒. อาสันนกรรม (อ่านว่า อา สัน นะ กัม = กรรมใกล้ตาย) บุคคลใกล้จะตายจะได้รับอารมณ์อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นติดชิดกับความตาย เช่น ขณะนั้นเห็นพระพุทธรูป ได้ยินเสียงสวดมนต์ เป็นต้น

๓. อาจิณณกรรม (อ่านว่า อา จิน นะ กัม = กรรมที่ทำอยู่เสมอ) ถ้าอาสันนกรรมมิได้ให้ผลแล้ว อาจิณณกรรมก็จะมาให้ผล ข้อนี้ก็คือบุคคลทั้งหลายย่อมกระทำกรรมอยู่เสมอ เมื่อเช่นนี้กรรมที่กระทำอยู่เสมอนี้ก็มีโอกาสมากที่สุด จะกระทบจิตทำให้อารมณ์ขึ้น แล้วแต่อารมณ์นั้นจะเป็นกุศลหรือ อกุศล

๔. กตัตตากรรม (อ่านว่า กะ ตัด ตา กัม = กรรมเล็กน้อย) ถ้ากรรมอื่นๆ ทั้งหมดไม่ให้ผลแล้ว กรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมาปรากฏในอารมณ์นำไปสู่การปฏิสนธิได้

ทั้ง ๔ ข้อนี้ ขอกล่าวแต่เพียงย่อๆ เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาอ่านมากเกินไป

อารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาใกล้จะตายนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกออกเป็นสองคือ :-

๑. มรณาสันนกาล

๒. มรณาสันนวิถี

จิตที่ขึ้นวิถีรับอารมณ์นี้ ท่านจะเห็นว่ามี ๑๗ ขณะใหญ่ จิตแต่ละดวง มีขณะเล็ก ๓ คือ อุปปาทขณะ ฐิติขณะ ภังคขณะ ฉะนั้นในวิถีหนึ่งก็มี ๕๑ ขณะเล็กใน ๑๗ ขณะใหญ่ หรือวิถีหนึ่งนี้เกิดดับวนเวียนอยู่เป็นอันมากจึงได้ยินครั้งหนึ่ง เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วยิ่งนัก จนเราไม่สามารถจะจับจังหวะขาดได้เลย

ดังได้กล่าวมานี้เรียกว่า มรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้จะตายคนไข้จะมีอารมณ์อยู่เสมอ ไม่ทวารใดก็ทวารหนึ่ง นอกจากจะถึงแก่วิสัญญี ได้แก่สลบไป มรณาสันนกาลนี้ อาจเป็นอยู่เร็วหรือช้าก็ได้ เช่น วินาทีหนึ่งหรือสัปดาห๋หนึ่ง หรือหลายสัปดาห์ คนไข้ที่อยู่ในเขตนี้มีโอกาสที่จะกลับคืนชีวิตขึ้นมาอีก เมื่อเหตุของความตายต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นยังไม่แสดงผล แต่ถ้าหากถึง มรณาสันนวิถี คือวิถีต่อมา อันเป็นวิถีสุดท้ายของชาตินี้ แล้วก็จะไม่มีหวังที่จะคืนชีพได้อีกเลย

.ในขณะมรณาสันนกาลนี้ ถ้าเป็นเวลาหลายนาทีหรือหลายวัน คนไข้ก็จะเกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นอย่างสับสนกลับไปกลับมา ถ้าไม่มี ครุกกรรม คือกรรมอันหนักแล้ว ก็จะเป็น อาสันนกรรม คือกรรมใกล้ๆ ตายนั้น เช่น เห็นอะไร ได้ยินอะไร หรือผู้ดูแลคนไข้จะให้อารมณ์ เป็นต้นว่า เอาภาพวัดวาอารามหรือพระพุทธรูปมาให้ดู นิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ได้ยิน บอกให้ระลึกถึงพระอรหันต์ ให้ระลึกถึงบุญกุศลหรือข้อธรรมะต่างๆ ถ้าเคยทำกรรมฐาน ก็ให้ทำสมถะหรือวิปัสสนากรรมฐาน ฯลฯ

ถ้าคนไข้เคยศึกษา หรือเคยสนใจในธรรมมาก่อน การพูดเรื่องตายเรื่องเกิดหรือให้สติอะไรก็ได้ แต่ถ้าคนไข้ไม่ค่อยสนใจในธรรมะมาก่อนหรือคนไข้เป็นคนเหตุผลน้อยชอบทำบุญให้ทานอย่างเดียว ไม่ชอบศึกษา หรือคนไข้มีความกลัวตายมากเป็นทุนอยู่แล้ว การให้สติดังกล่าวคนไข้รู้เท่าทันก็จะบังเกิดความตกใจหรือเสียใจว่าตัวจะต้องตาย หรือคิดว่าลูกหลานจะแช่งให้ตายเพื่อจะเอาสมบัติหรือเกิดความอาลัยเสียดายชีวิตขึ้นมา หรือเป็นห่วงทรัพย์สินเงินทอง เรือกสวนไร่นาที่ยังมิได้แบ่งปันส่วน เมื่อตายลงก็มีหวังไปสู่ ทุคติ

ในขณะมรณาสันนกาลนี้ ถ้าคนไข้ทำอกุศลมามาก คนไข้ก็จะแสดงกิริยาอาการต่างๆ ที่น่ากลัว บางทีก็หลายวัน เพราะได้เห็นหรือได้ยินเสียงหรือจิตได้สร้างภาพอันน่าหวาดเสียวขึ้น ถ้าคนไข้มิได้ตกอยู่ในวิสัญญี คือ สลบหรือเข้าไปตกอยู่ในความหลงมีโมหะมากแล้ว เราก็มีหวังจะแก้อารมณ์ได้โดยวิธีการต่างๆ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าคนไข้ขาดสติและหลงอยู่เสมอแล้ว ความหวังเช่นนั้นก็จะอยู่ห่างไกลหรือสิ้นหวังเอาเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ที่พยาบาลคนไข้ที่มีใจอารีย์ มีจิตเป็นกุศล ก็ย่อมจะพยายามจนสุดความสามรถ เพราะเสียสละเวลาเพียงเล็กน้อยนั้นอาจจะให้ประโยชน์อันมหาศาลแก่คนไข้ เขาย่อมไม่ให้เวลาอันเป็นนาทีทองเหล่านั้นสูญเสียไป

ในขณะมรณาสันนกาล อารมณ์ที่มักจะเกิดกับคนไข้ได้มากที่สุดก็คือ อาจิณณกรรม ซึ่งได้แก่กรรมที่กระทำอยู่เสมอในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมที่ทำมาชำนาญเหล่านั้นก็มักปรากฏแก่คนไข้ เช่นเคยทำกุศลหรืออกุศลในทางใดเสมอๆ กรรมเหล่านั้นก็จะกระทบกับจิต ทำให้เห็นไปต่างๆ นานาเด่นชัด เหมือนว่าภาพนั้นเป็นจริงเป็นจังต่อหน้าต่อตา

ข้อนี้ขอให้ท่านเทียบกับความฝันของท่านในคืนวันที่ความฝันนั้นชัดเจนมากๆ เช่นการเห็นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เห็นวัดวาอาราม บางทีก็แสดงกิริยาอาการออกมาด้วย คนไข้จะยิ้มแย้ม จะหัวเราะ จะเอื้อมมือไขว่คว้าด้วยหน้าตาชื่นบาน

ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็จะเอะอะโวยวาย จะทำท่าทางถอยหนีด้วยความกลัว ถ้าตกเบ็ดล่อปลาชำนาญก็มักจะทำมือยกๆ เหมือนยกคันเบ็ด ถ้าชอบชนไก่ก็มักจะเอาหัวแม่มือชกกันจนเลือดออก ถ้าชอบฆ่าหมูก็มักจะร้องอิ๊ดๆ เป็นเสียงหมู ถ้าหมั่นฆ่าสัตว์อยู่บ่อยๆ ก็มักจะเห็นสัตว์ เห็นอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องมือประหารสัตว์ เห็นสัตว์กำลังได้รับการทรมานเห็นเลือดไหลนอง เห็นภาพตัวเองอยู่ในกระทะน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน ถ้าชอบเล่นหวย ก.ข. ภาพหวย ก.ข.ก็จะปรากฏขึ้น

ขณะมรณาสันนกาลนี้ ถ้าคนไข้ไม่กลับฟื้นขึ้นแล้ว ก็นับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งของชีวิต เพราะอาจจะไปมีความสุขอย่างสุดแสนที่จะพรรณนา หรือได้รับทุกขเวทนาสาหัสก็ได้ ดังนั้นเราผู้ซึ่งยังไม่ถึงมรณาสันนกาล ก็เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะไม่ประมาท จะต้องหมั่นกระทำอาจิณณกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเอาไว้ จะเป็นทำทาน รักษาศีลหรือเจริญกุศลภาวนาก็ได้ ถ้ายิ่งศึกษาธรรมะให้มากๆ ก็ยิ่งดี

ถ้าเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่งในเวลาค่ำคืนเดือนมืด ท่านก็จะต้องถือตะเกียงไปด้วย ท่านจึงจะเดินทางไปได้สะดวก แต่ถ้าท่านเดินทางนี้บ่อยๆ จนชำนาญเสียแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องถือตะเกียงไป ท่านก็จะเดินไปได้ง่ายๆ เกือบจะไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือตรงไหนจะรกคดเคี้ยว มีก้อนอิฐก้อนหินอยู่ที่ไหนอย่างไร ท่านก็จะก้าวข้ามหลยหลีกและเลี้ยวไปได้คล่องแคล่วโดยไม่ต้องการแสงสว่าง ทั้งนี้เพราะทางนี้เป็นทางเดินสะดวกเสียแล้ว

เหตุนี้ ผู้ที่มรณาสันนกาลยังมิได้มาถึง ผู้ที่มฤตยูยังไม่ได้เรียกร้องถามหา หรือผู้ที่เห็นภัยร้ายแรงในวัฏฏะ ก็ย่อมไม่ตกอยู่ในความประมาท เขาจะพยายามทำอาจิณณกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเข้าไว้ให้ชำนาญ ให้เป็นทางเดินสะดวกทุกๆ คืน ก่อนจะนอนก็จะกราบพระเพื่อรักษาจิตที่กิเลสทั้งหลายได้เข้ามาเกลือกกลั้วตลอดวันมาแล้วให้สงบระงับเป็นสมาธิ จะตั้งจิตอธิษฐานขอให้ พ่อ แม่ พี่ น้อง ครู อาจารย์ เพื่อนฝูง ไม่ว่าศรัตรูหรือมิตร ตลอดจนสัตว์ทั้งหลายจงอย่าเบียดเยนซึ่งกันและกัน จงมีความสุขความเจริญ ขณะนี้จิตก็จะเป็นสมาธิ สะอาด บริสุทธิ์ขึ้น นิสัยเห็นแก่ตัวเพราะเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งที่ติดมากับสัตว์ทั้งหลายก็จะหยุดลงชั่วขณะหนึ่ง กุศลก็จะประทับลงไว้ในจิต ฝุ่นละอองสีดำคล้ำทั้งหลายที่เข้ามายึดกันไว้ก็ได้ถูกฝุ่นละอองสีขาวบริสุทธิ์แม้เพียงเล็กน้อยปะปนเข้าไป ทำให้ความคล้ำนั้นไม่มืดมิดสนิทจริงๆ

ต่อจากการแผ่ส่วนกุศลแล้ว ถ้าทำสมถะหรือวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก ๑๐ - ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็จะเป็นประโยชน์มากที่สุดทั้งชาตินี้ ชาติหน้า

ผู้ทำอกุศลมากๆ บางคนเมื่อได้ศึกษาเข้าใจในสภาวะธรรมแล้วก็มักมีความเสียใจในอกุศลที่ตนทำแล้วๆ นั้น มักจะครุ่นคิดเป็นกังวลว่าตัวจะได้รับโทษภัยในขณะจะตายหรือชาติหน้า

การครุ่นคิดถึงเรื่องเช่นนั้ก็คือ เป็นการที่กำลังสร้างอกุศลขึ้นนั้นเอง เป็นการชักชวนอกุศลหรืออารมณ์อะไรที่ไม่เป็นที่พอใจหรือเจ็บใจ ที่เกิดแล้วดับแล้วให้เกิดขึ้นซ้ำเติมอยู่เรื่อย ๆ

บางคนชอบเอาเรื่องเสียใจครั้งเก่าๆ มาสร้างรูปใหม่แล้วคิดเสียใจอยู่ทุกๆ วัน เป็นการสร้างอกุศล สร้างทางเดินสะดวกให้แก่จิตใจ จึงไม่ควรกระทำ

อกุศลที่แล้วควรจะคิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งคราวเดียวเพื่อเป็นบทเรียนเท่านั้น จะต้องหักใจทำลายลงได้เด็ดขาด ถ้าผู้ใดชอบนึกคิดอยู่จนชำนาญเสียแล้วจะเลิกได้ยาก ก็สร้างอารมณ์ที่เป็นกุศลทับถมให้บ่อยๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ก็จะช่วยได้มาก ยิ่งกว่านั้นเหตุการณ์ข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง บางคนก็ชอบคิดวาดภาพที่ไม่ดีอยู่เรื่อยๆ เช่นกลัวจะต้องถูกออกจากงาน กลัวอดอยาก กลัวครอบครัวจะเดือดร้อน กลัวเจ้านายจะดุ กลัวเพื่อนฝูงจะโกรธ กลัวจะอับอายขายหน้า กลัวคนรักจะทอดทิ้ง กลัวจะเจ็บป่วย ตลอดจนกลัวความตาย ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เหล่านั้นยังมาไม่ถึงและส่วนมากบางทีก็ไม่เกิดขึ้นเลย แต่เป็นเพราะตัวชอบสร้างภาพขึ้นเองจนชำนาญเป็นเหตุ

จริงอยู่ แม้ว่ามนุษย์จะฝังมั่นอยู่ในความกลัวทุกรูปทุกนามก็ตาม แต่ผู้ใดเข้าใจสภาวะธรรม ผู้ใดมีศิลปะในการแก้ปัญหาของชีวิตอยู่บ้าง เรื่องเล็กน้อยที่จะทำอารมณ์ให้ขุ่นมัวย่อมจะเกิดน้อย ยิ่งน้อยเท่าไรยิ่งดี เพราะเป็นการฝึกจิตให้เกิดทางเดินสะดวก

บางท่านอาจสงสัยว่า ความสำคัญของคนที่จะตายนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ตอนใกล้จะตาย ถ้าเช่นนั้นเราก็ทำชั่ว คดโกง คอร์รัปชั่น เบียดเบียนกันให้เต็มที่ แล้วภายหลังก็หมั่นสร้างอารมณ์แก้เสียก็สิ้นเรื่อง

สำหรับข้อนี้ถ้าเข้าใจธรรมะอยู่บ้างแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะรู้ว่า กรรมที่ทำแล้วๆ นั้นมิได้สูญหายไปไหน จะต้องให้ผลในวันหนึ่งจนได้ แต่การที่คนได้กระทำความชั่วมาแทบล้มแทบตาย ครั้นเวลาจะดับจิตบังเอิญมาให้อารมณ์ที่ดีเข้าก็เลยไม่ต้องไปนรก ข้อนี้บางครั้งก็เป็นความจริง เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในบั้นปลายของชีวิตนั้นก็เป็นกรรมเหมือนกันและกรรมนั้นเป็นผู้ส่ง แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยนี้ก็จะนำไปสู่สุคติได้ในเวลาไม่มาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงตัวอย่างไว้เป็นอันมากในเรื่องนี้แต่อย่างไรก็ดีเราจะต้องแก้อารมณ์คนใกล้ตายให้ดี ถึงแม้ว่าจะไปรับกรรมนั้นในเวลาอันสั้น เพราะอาจไปเกิดเป็นแมวไม่นานเท่าไรตายก็จริง แต่ทว่าแมวนั้นก็จะไปสร้างอกุศลกรรมจับหนูกินอยู่ตลอดเวลาชั่วชีวิตของมันเพิ่มอกุศลเข้าไปอีก

อาตมาได้กล่าวรายละเอียดอันเป็นส่วนปลีกย่อยมากเกินไปสักหน่อย แต่คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยังมิได้ศึกษาธรรมะมาจริงๆ บ้าง ที่ได้กล่าวมาเป็นเรื่องในเขตมรณาสันนกาล

บัดนี้ก็ได้แสดงถึงมรณาสันนวิถีที่อยู่ติดกับความตาย ว่าขณะนั้นจิตทำงานกันอย่างไร ตนเราทำไมจึงตาย ขณะจุติและปฏิสนธิมีความพิสดารอย่างไรบ้าง

ได้กล่าวมาแล้วว่ามรณาสันนกาล คือ เวลาใกล้กับความตาย อาจจะอยู่ไปหลายวันก็ได้ คนไข้อาจจะหนักบ้างเบาบ้างหรือสลบไปบ้าง ต่อมาในตอนปลายของมรณาสันนกาล กำลังของจิตและรูปเริ่มจะอ่อนลงมากที่สุด บัดนี้คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นว่า จิตและรูปอ่อนลงมากนั้นเพราะเหตุใด ได้แสดงมาแล้วตอนต้นๆ ว่า การที่รูปของเรายังยืนหยัดเป็นรูปอยู่ได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ กัมมชรูป (อ่านว่า กำ มะ ชะ รูป) คือรูปอันเกิดแต่กรรมรักษาเอาไว้ ในที่นี้อาตมาจะไม่บรรยายให้ละเอียดนักเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องกว้างใหญ่จะต้องใช้เวลามาก จะขอกล่าวไว้พอได้เห็นบ้าง และในตอนต่อไป เมื่อถึง รูปวิถี ก็จะได้กล่าวเรื่อง กัมมชรูป คือ กรรมสร้างรูปขึ้นได้อย่างไรเพิ่มเติมอีก

จิตจะเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้น วิถีหนึ่งมี ๑๗ ขณะใหญ่และ ๕๑ ขณะเล็ก เมื่อจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ ๑๗ ขณะดับลงแล้ว รูปก็จะดับ ๑ ขณะ เพราะรูปดับช้ากว่าจิตมาก เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ตอนต้นๆ ว่า จิตมิใช่มันสมอง ทั้งจิตก็มิได้อาศัยอยู่ในสมอง มันสมองเป็นเพียงทางแสดงออกของจิตเท่านั้น แท้จริงจิตอยู่ภายในช่องหนึ่งของหัวใจที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายนั่นเอง คือ หทัยวัตถุ ที่อาศัยของจิตเป็นบ่อเล็กๆ โตเท่าเมล็ดบุนนาคและมีน้ำสีต่างๆ ๖ สี ประมาณ ๑ ฟายมือ อันเป็นการแสดงจริตหรืออุปนิสัยของผู้นั้น ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มาก ท่านผู้ใดสงสัยไปถามอาตมาได้ ยินดี

ที่ตั้งที่อาศัยอยู่ของจิต (มิใช่กล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมด) นั้น ประกอบด้วยขึ้นมาได้ด้วยกำลังของกรรม กรรมซึ่งเคยกล่าวมาแล้วว่าไม่มีรูปร่างหน้าตาตัวตนนั่นเอง ได้สร้างที่ตั้งอาศัยของจิต เรียก กัมมชรูป และกำลังของกรรมก็ปกปักรักษารูปนี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ากรรมมิได้รักษาที่ตั้งอาศัยของจิตไว้แล้ว จิตก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ ผู้นั้นก็จะถึงแก่ความตายทันที

สันนกาลตอนท้ายๆ กัมมชรูปทำให้หทัยวัตถุ คือ รูปอันเป็นที่ตั้งอาศัยของจิตอ่อนกำลังลงเต็มที ที่ตั้งที่อาศัยหมดกำลังที่ทรงตัวอยู่ด้วยดีเหมือนกับรถไฟที่กำลังวิ่งมา ขณะถึงสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานข้ามแม่น้ำชำรุดเสียแล้วดังนั้นรถไฟจะต้องชะลอฝีจักรลง มิฉะนั้นก็จะตกจากสะพานลงไป ขณะนี้ใกล้จะถึงความตายมาก คนไข้ถูกโมหะครอบคลุม ขาดสติ ความรู้สึกของคนไข้จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย อาจจะหมดลงและเมื่อถึงท้ายวิถีของมรณาสันนกาล กัมมชรูปก็เริ่มจะดับ คือตามธรรมดากัมมชรูปย่อมจะดับและเกิดทดแทนกันอยู่ทุกขณะจิต แต่ครั้นถึงปฐมภวังค์ของมรณาสันนวิถีไปจนถึงจุติ กัมมชรูปจะดับโดยไม่มีการเกิดทดแทนอีกเลย เมื่อถึงจุติติดกันนั้นก็ปฏิสนธิ ต่อจากนั้นจิตก็เป็นภวังค์

กำลังของกรรมที่ส่งให้ไปปฏิสนธินั้น สืนเนื่องมาแต่มรณาสันนกาล เช่น ได้ยินเสียงพระสวดมนต์ จิตก็รับอารมณ์สวดมนต์ ในมรณาสันนกาลเป็นตัวส่งไปปฏิสนธิเพราะยังมีกำลังมากกว่า ส่วนในมรณาสันนวิถีเป็นแต่รับอารมณ์กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต มาจากมรณาสีนนกาลแล้วสืบต่อไปจนถึงจุติเท่านั้น และเพราะเหตุที่กัมมชรูปเริ่มดับโดยไม่เกิดอีกมาตั้งแต่ภวังค์ดวงที่ ๑ ในมรณาสันนวิถีจนถึงดวงที่ ๑๗ เหตุนี้จิตดวงที่ ๑๗ จุติคือดับหรือตายจึงได้เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้อีกต่อไป ทิ้งแต่ซากศพเอาไว้

ที่ได้กล่าวมาแล้ว คนเราจะมีชีวิตอยู่หรือจะตายก็ตาม จิตย่อมเกิดดับสืบต่อกันไปอยู่เช่นนั้นตามธรรมชาติ ข้อที่แปลกสักหน่อยก็อยู่ที่จุติเกิดขึ้น คือ จิตดับลงแล้วก็พ้นจากชาติเก่าร่างเก่าเท่านั้น ในทันทีนั้นก็ปฏิสนธิเลย ได้แก่การเกิดขึ้นติดต่อกันด้วยความรวดเร็วมาก โดยมิให้มีอะไรมาคั่นกลางเหมือนกับจิตที่เกิดดับอยู่ตามธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ คำว่าจิตล่องลอยไปเกิดก็ดี หรือจิตท่องเที่ยวไปตามอำนาจของกรรมก็ดี จึงได้ชื่อว่าเป็นความเห็นผิด

การที่ผู้ตายไปสู่สุคติหรือทุคตินั้นก็แล้วแต่ "กรรม" แล้วแต่ "อารมณ์" ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้จะตาย ดังนั้นผู้ดูแลคนไข้ที่ฉลาดในเรื่องของชีวิตและมีเมตตากรุณาจึงยอมเสียเวลา สละประโยชน์อันพึงได้อื่นๆ มาช่วยเหลือให้สติแก่คนไข้ด้วยความระมัดระวัง

ถ้าคนไข้ได้เคยศึกษาธรรมะ ได้เคยพูดเรื่องตายมาเสมอๆ โดยความไม่ประมาทแล้ว การให้สติแก่คนไข้ก็ง่ายมาก แต่ถ้าคนไข้ไม่เข้าใจธรรมะเลยแล้ว การมีเจตนาให้สติด้วยความหวังดีจะกลับเป็นร้ายไป

คนไข้บางคนพูดเรื่องตายไม่ได้ ใจไม่สบายทันที เราจำเป็นต้องหาเรื่องอันเป็นกุศลอื่นๆ ที่คนไข้ชอบ คนไข้บางคนได้ยินการให้สติก็ทราบว่าตัวนั้นใกล้จะตายก็เกิดมีความเสียใจเสียดายชีวิตเป็นกำลัง มีความหวาดหวั่นต่อความตายอย่างสุดแสน

หรือคนไข้บางคนได้ยินคำว่าให้ระลึกถึงพระอรหันต์ไว้ ก็มีความโกรธแค้นโดยคิดว่าลูกหลานจะมาแช่งให้ตายเพราะจะได้แบ่งสมบัติ เหล่านี้นับว่าเป็นทางนำไปสู่อบายทั้งนั้น ขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จะต้องระมัดระวังให้จงหนัก การให้อารมณ์ที่ดีแก่คนไข้ก็มีมากมายแล้วแต่จะคิด เช่น นิมนต์พระมาสวด หาพระพุทธรูปมาตั้งให้คนไข้เห็น เล่าธรรมะหรือเรื่องอันเป็นกุศลต่างๆ สำหรับผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมมาดีแล้วก็เป็นการง่ายดาย เขาจะหาอารมณ์ที่ดีที่สุดของเขาเองได้เป็นส่วนมากมาตั้งแต่ต้น เพราะเขาย่อมรู้ส่าขณะนั้นสำคัญอย่างไร และรู้ว่า ความตายนั้นเป็นเรื่องสมมติกันเท่านั้นเอง จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็สืบต่อไปยังภพใหม่ชาติใหม่ ไม่เห็นจะแปลกประหลาดพิสดาร น่าหวาดหวั่นอะไรสักกี่มากน้อย

จะได้ยกตัวอย่างคนใกล้จะตาย คืออยู่ในมรณาสันนกาล เป็นเวลาหลายวันสักเรื่องหนึ่ง

ชายผู้นี้เป็นคนจีน อายุราว ๕๐ ปี ชอบฆ่าสัตว์อย่างทรมานเป็นประจำ สุนัขของใครเพ่นพล่านเข้ามาต้องโดนตีตายหรือโดนยาเบื่อ ถ้าไม่มีสุนัขของใครเข้ามา บางทีก็อุตส่าห์เอายาเบื่อไปวางถึงถนนหลวงช่วยกระทรวงสาธารณสุข สัตว์ที่เอาไปกินเป็นอาหารก็ชอบฆ่าสดๆ ร้อนๆ เช่น จะกินปลาก็ต้มน้ำให้เดือดแล้วเอาปลาเป็นๆ ใส่ลงไป ฟังเสียงมันดิ้นด้วยความร้อนรนเหมือนได้ฟังเสียงดนตรีอันไพเราะ บางทีก็เอาปลาลงไปทอดแล้วกดให้แน่นมองเห็นตาของปลาแจ๋วแหว๋ว กล้ามเนื้อด้านบนยังเต้นอยู่ไปมา ถ้าไก่ตัวใดเป็นโรคระบาด เขาจะติดไฟถ่านให้ลุกแดงแล้วจับรวบขาทั้งสองเอาศีรษะปักกดลงไปในเตาอันร้อนระอุนั้นทีละตัวๆ จนกว่าจะหมด เป็นเคล็ดที่จะแก้โรคระบาด อาชีพของเขาฝืดเคืองลงมามาก ต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา

ต่อมา ตอนที่เขาจะตายนั้น เขาเริ่มเป็นบ้าทีละน้อย กลางวันชอบนอนตากแดดเสมอ กลางคืนตี ๑ ตี ๒ ก็ชอบลงไปลอยคออยู่ในน้ำ ปลิงเกาะกัดโลหิตไหลโทรม เป็นอยู่เช่นนี้วันละหลายหนที่พวกเราจะต้องช่วยกันจับ เขาชักดิ้นชักงออยู่ครั้งละนานๆ อาหารกินได้น้อยที่สุด ญาติพี่น้องก็ไม่เอาใจใส่ เราคนภายนอกที่มีจิตเมตตาช่วยกันเอง

ก่อนเมื่อจะตายนั้น ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ตัวกระดุกกระดิกไม่ได้เลย อาหารและน้ำอาศัยพวกเราหยอดให้ ตาพองแข็งอยู่ตลอดเวลา หายใจรัวๆ แสดงว่ายังไม่ตาย ขณะนี้คงอยู่ในมรณาสันนกาล ถ้าว่าตามหลักแล้ว กิริยาอาการที่เป็นมาแต่ต้นชวนให้เห็นว่าได้อารมณ์ที่ไม่ดี ที่ใบหน้าแสดงความหวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา แต่ร้องไม่ออก บุคคลผู้นี้ขอให้ท่านทายว่าตายแล้วจะไปไหน

ในขณะมรณาสันนกาลนั้น คนไข้ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ นอกจากจะอยู่ในวิสัญญีคือสลบ แต่แม้ว่าจะมีความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ก็ดี แต่มีกำลังอ่อนมาก การที่มีกำลังอ่อนมากนั้น ก็เพราะว่า กัมมชรูป คือ รูปอันเกิดขึ้นจาก "กรรม" เป็นผู้สร้าง ได้แก่รูปอันเป็นที่ตั้งของจิตนั่นเอง และเมื่อรูปอันเป็นที่ตั้งของจิตมีกำลังน้อย การแสดงออกของจิตก็อ่อนกำลังไป แต่เมื่อถึงมรณาสันนวิถี วิถีสุดท้ายที่อยู่ติดกับความตายแล้วคนไข้จะไม่รู้สึกจากทวารทั้ง ๕ เลย ไม่ว่าจะทุบตีหรือเอาไฟไปเผา แต่อย่างไรก็ดี การให้สติแก่คนไข้ก็ต้องเริ่มให้กันตั้งแต่ตอนต้นๆ ของมรณาสันนกาลก็ยิ่งดี ในขณะที่สติของคนไข้ยังดีอยู่ อารมณ์นั้นจะได้สืบต่อไปจนถึงจุติ

ทันทีที่"จุติ" (ตาย) เกิดขึ้น ปฏิสนธิก็สืบต่อกันไม่ขาดสายเหมือนน้ำที่ไหลติดต่อกันในลำธารไม่มีอะไรมาคั่นกลางเลย แม้ว่าจะตายที่นี่แล้วไปเกิดที่เชียงใหม่ เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วยิ่งนัก ลัดนิ้วมือเดียวถึงแสนโกฏิขณะ ฉะนั้น ทันทีที่จุติเกิดขึ้น จิตที่สืบติดต่อกันนั้นก็ต้องพ้นปฏิสนธิจิตด้วยอำนาจของกรรมเป็นตัวส่ง........

* * * * * * *

ขึ้นข้างบน     กลับหน้าแรก