กฏแห่งกรรม ตอนที่ 2

กลับหน้าแรก     หน้าสารบัญ

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒   ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕   ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘   ตอนที่ ๙   ตอนที่ ๑๐   ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒

กฏแห่งกรรม ตอนที่ ๒

กรรม ๑๒ (สองหมวดแรก)

     กฏแห่งกรรมนั้นเป็นหลักธรรมที่มีความซับซ้อน มีเหตุผลเชื่อมโยงกันมาก เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ในตอนนี้จะพูดถึงกฏแห่งกรรมอีกระดับหนึ่ง นั้นคือ กรรม ๑๒ แต่จะอธิบายในตอนนี้เพียง ๒ หมวดแรก เท่านั้น

     พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้นเป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้ค้นพบความจริง กฏแห่งกรรมเป็นกฏธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แม้พระองค์จะแสดงไว้ แต่ก็ยังมีผู้เข้าใจไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราต้องถูกควบคุมด้วยกฏแห่งกรรม ซึ่งเป็นกฏธรรมชาติ ก็ควรจะทราบให้แน่ชัดว่า มีกรรมอันใดบ้างที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว และกรรมข้อนั้นๆ ท่านเรียกตามภาษาทางพุทธศาสนาว่าอะไร

     เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ขอให้ศึกษาเรื่องกรรม ๑๒ ประการ ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา กรรม ๑๒ ประเภทนั้น ท่านแบ่งเป็น ๓ หมวด ๆ ละ ๔ ข้อ คือ

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามกาล มี ๔ ข้อ

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มีอยู่ ๔ ข้อ

หมวดที่ ๓ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามลำดับ มีอยู่ ๔ ข้อ

     หมวดที่ ๑ กรรมที่ให้ผลตามกาล ๔ ข้อ คือ

(๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ในชาติปัจจุบัน (อ่านว่า            ทิด-ถะธัม-เว-ทะ-นี-ยะ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๒) อุปปัชชเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า      หรือชาติที่ถัดไปจากชาตินี้ (อ่านว่า อุบ-ปัด-ชะ-เว-ทะ-นี-ยะ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๓) อปราปรเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป (อ่านว่า อะ-ปะ-รา-ปะ-ระ-เว-ทะนี-ยะ-กัม *ผู้จัดทำ)

(๔) อโหสิกรรม => กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือกรรมไม่มีผล

     จะอธิบายกรรมในหมวดนี้ก่อน

     กรรมทั้ง ๔ ประการนี้พวกเรากำลังได้รับกันอยู่ แต่ได้รับในลักษณะไหนก็ให้พิจารณาดูเอา กรรม ๓ ข้อแรก เป็นกรรมที่ให้ผลในชาตินี้ข้อหนึ่ง กรรมที่ให้ผลในชาติถัดไปหรือในชาติหน้าข้อหนึ่ง กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป อีกข้อหนึ่ง

     มีปัญหาว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า กรรมอย่างไหนให้ผลในชาตินี้ กรรมอย่างไหนให้ผลในชาติหน้า กรรมอย่างไหนให้ผลในชาติต่อๆ ไป สำหรับเราซึ่งเป็นปุถุชนนี้รู้ยากว่ากรรมชนิดไหนให้ผลในชาติไหน ให้รู้แน่นอนนั้นรู้ยาก แต่ถ้าสังเกตคร่าวๆ พอจะรู้ แต่ในปัจจุบันกรรมที่เราทำไว้ เป็นกรรมที่ให้ผลในปัจจุบันนั้นมีมาก มากชนิดด้วย แม้กรรมบางอย่างที่ทำไว้ยังไม่ให้ผล แต่บางทีไม่กี่ปีก็ให้ผลชัดขึ้น

     แต่ถ้าว่าตามลักษณะของจิตที่เป็นตัวทำกรรมไว้แล้ว กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันจนถึงกรรมที่ให้ผลในชาติหน้าหรือในชาติต่อๆ ไป ทั้ง ๓ ข้อนี้ ท่านกล่าวความละเอียดไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรมว่า ในบรรดาชวนจิต* ๗ ดวง (*อ่านว่า ชะ-วะ-นะ-จิต *ผู้จัดทำ) ที่เกิดขึ้นในขณะที่มนุษย์ทำกรรม คือในเวลาเราทำกรรมดีกรรมชั่ว ในขณะที่จิตของเราวิ่งไปได้ ๑๗ ขณะจิต ใน ๑๗ ขณะจิตนั้นมีชวนจิตอยู่ ๗ ดวง

     ในชวนจิต ๗ ดวงนั้น ความสำรวมหรือไม่สำรวม บุญบาป จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ช่วงอื่นไม่เกิด แต่จะเกิดช่วงที่ชวนจิตวิ่ง ๗ ขณะ มันไวมาก ไวกว่ากระแสไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด แต่ถึงจะไวอย่างไร จิตมันจะเก็บพฤติกรรมไว้ทั้งหมดด้วยตัวของมันเอง เป็นเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกได้ข้อมูลได้อย่างละเอียด

ท่านกล่าวว่า

- ผู้ใดทำกรรมด้วยชวนจิตดวงที่ ๑กรรมนั้นเป็นกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

- ผู้ใดทำกรรมด้วยชวนจิตดวงที่ ๑ กรรมนั้นเป็นกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

- ผู้ใดทำกรรมด้วยชวนจิต ๕ ดวงในท่ามกลาง คือ ดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ กรรมนั้นจะให้ผลในชาติต่อๆ ไป

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ? ก็เพราะกฏแห่งกรรมเป็นอย่างนี้เอง

     ถ้าเราเทียบกับชีวิตในปัจจุบันว่า กรรมให้ผลในชาตินี้เปรียบเหมือนการกระทำบางอย่างที่ให้ผลในวันนี้ กรรมให้ผลในชาติหน้าเปรียบเหมือนการกระทำบางอย่างที่ไม่ให้ผลในวันนี้แต่จะให้ผลในวันพรุ่งนี้ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปเปรียบเหมือนกรรมบางอย่างที่ไม่ให้ผลในวันนี้หรือในพรุ่งนี้ แต่จะให้ผลในวันต่อๆ ไป จนเราถึงวันตาย

      พระพุทธศาสนาของเรานั้น ไม่ยอมรับเรื่องกรรมที่ให้ผลในชาตินี้ชาติเดียวหรือในวันนี้อย่างเดียว แต่หากยอมรับว่า กรรมที่สลักหลังเราอยู่หรือที่ติดตามเราอยู่ทั้งดีและชั่วนั้นเป็นกรรมในอดีตด้วย เป็นกรรมในปัจจุบันด้วย 

     กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันนี้เห็นง่ายๆ อย่างเราศึกษาเล่าเรียน เราทำมาหากิน เราซื่อสัตย์สุจริต เราขยันหมั่นเพียร ที่เป็นกรรมดีก็ให้ผลในชาติปัจจุบัน เราเห็นๆ กันอยู่ หรือถ้าหากใครทำชั่ว เช่นลักขโมยเขา มีความประพฤติเหลวไหล ขี้เกียจทำงาน สูบฝิ่นสูบเฮโรอีน ดื่มเหล้า ไม่มีศีลธรรม คนนั้นก็รับกรรมชั่วของเขาในปัจจุบัน เช่นคนที่ติดคุกติดตพรางในปัจจุบัน แม้ในเมืองไทยนี้ก็นับเป็นหมื่นๆ คนอยู่ในคุก ก็เพราะกรรมปัจจุบัน บางอย่างอาจจะเป็นกรรมในชาติปางก่อนติดมา แต่ส่วนใหญ่แล้วคือกรรมในปัจจุบัน

     ส่วนมากคนเรา ถ้ากรรมดีให้ผลคนก็ไม่ค่อยพูดกันเท่าไร คือไม่ค่อยคิด แต่ถ้าคนทำกรรมชั่วแล้ว กรรมชั่วไม่ให้ผลก็มักจะพูดกันว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เพราะเขาไม่เห็นผลของกรรมทันตา

     การพิสูจน์กฏแห่งกรรมนั้นจะต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เราจะให้ทำทันทีทุกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะกรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ เหมือนการกระทำบางอย่างให้ผลในวันนี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า เหมือนการกระทำบางอย่างให้ผลในวันพรุ่งนี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติต่อๆ ไป เหมือนการกระทำบางอย่างให้ผลในวันต่อๆ ไป ในเดือนหรือปีต่อๆ ไป

     เท่าที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) สังเกตดู ถ้าใครทำกรรมชั่วแต่กรรมชั่วยังไม่ให้ผลในขณะนี้หรือในปีนี้ปีหน้าก็ขอให้รอดูต่อไป แต่เท่าที่สังเกตดูแล้วไม่เกิน ๓๐ ปี ไม่เห็นใครเกิน ๓๐ ปีเลย ต้องได้รับผลแน่นอนไม่ต้องรอชาติหน้าเลย พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าเห็นใครทำกรรมชั่วแล้ว เขายังไม่ได้รับผล ขอให้รอดูหน่อยถ้าเราไม่ตายก่อนเราจะเห็นเอง เราจะเห็นชัดเลยว่าเขาต้องได้รับแน่ แม้เราเองก็เหมือนกัน ที่เราทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ทั้งหมด รอหน่อยเราต้องได้รับแน่เป็นกฏแห่งกรรม แต่เราต้องรอหน่อย เพราะการกระทำนั้นบางทีขึ้นอยู่กับเจตนา เจตนาน้อยเจตนามาก บางทีขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เราไปทำไว้ บางทีเขามีคุณน้อยบางทีเขามีคุณมาก อันนี้มันขึ้นอยู่กับเหตุผลหลายอย่างเชื่อมโยงกัน

     ทีนี้ กรรมบางอย่างถ้ามันให้ผลในปัจจุบันแล้ว คือ ถ้ามันให้ผลเสร็จแล้วก็หมดกัน อย่างสมมุติว่าเราไปด่าเขา เขาก้ด่าเรา ก้ให้เสร็จกันไปเลย เราไปพูดดีกับเขา เขาก็พูดดีกับเรา ก็เสร็จกัน ก็ให้ผลในชาตินี้ไปเลย ถ้ากรรมนั้นมันให้ผลในชาตินี้ชาติเดียวมันก็เสร็จกันเมื่อมันให้ผลเสร็จแล้ว สมมุติว่าในชาตินี้มันกำหนดเลยว่า เมื่อทำแล้วมันจะให้ผลในชาตินี้เท่านั้น จะไม่ให้ผลในชาติอื่นแต่ถ้าหากว่ากรรมนั้นให้ผลแล้วก็กลายเป้นอโหสิกรรมไป หรือถ้ากรรมนั้นรอคิวให้ผลอยู่ สมมุติว่ารอคิวว่าจะให้ผลในชาตินี้ แต่กรรมอื่นมีจำนวนมากหรือมีกำลังมากกว่า ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว รอคิวกันอยู่ กรรมนี้จะหมดพลังลงไม่ให้ผล เป็นอโหสิกรรมไป เปรียบเหมือนพืชบางชนิดที่เก็บไว้ เช่นข้าวเปลือก เก็บไว้ว่าจะปลูกในปีนี้แต่ยังไม่ได้ปลูก เมื่อนำไปหว่านในปีต่อไป ข้าวเปลือกนั้นก็ปลูกไม่ขึ้นเพราะหมดยางเหนียวแล้ว เนื่องจาดเก็บค้างปี กรรมบางอย่างก็เหมือนกันจะให้ผลในชาตินี้แต่มันรอคิว รอแล้วรออีกก็ไม่ให้ผลสักที มันก็หมดพลังลง ก็เป้นอโหสิกรรมไป แต่กรรมที่เป็นอโหสิกรรมประเภทนี้มักจะเป็นกรรมเล็กกรรมน้อย ไม่ใช่กรรมใหญ่ ถ้ากรรมใหญ่มันจะให้ผลของมันแน่นอน เพราะมีกฏอยู่ว่า กรรมใดไม่ว่าดีหรือชั่ว ถ้าหนัก กรรมนั้นจะต้องให้ผลก่อน ไม่ว่ากรรมนั้นจะทำก่อนหรือทำทีหลัง 

     การกระทำบางอย่างของคนเรา เช่นหุงข้าววันนี้ ถ้าเราไม่ได้กินในวันนี้ จะไปกินวันพรุ่งนี้มันบูดหมดแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรมไป มันเป็นเรื่องธรรมดา หรือเราปลูกไม้ผลหรือปลูกพืชผัก เช่นปลูกข้าว ปลูกถั่วในปีนี้ เราก็ได้กินปีนี้ แต่ถ้าปลูกของบางอย่าง เช่นปลูกมะม่วงหรือทุเรียน ปลูกในปีนี้จะไม่ได้กินในปีนี้ แต่ต้องไปกินในอีก ๔-๕ ปีล่วงแล้ว ยิ่งปลูกมะพร้าวบางชนิดหรือปลูกต้นตาล บางทีใช้เวลา ๗-๘ ปีขึ้นไป จึงจะได้ผล นี้เพราะธรรมชาติของพืชผล กรรมนี้ก็เหมือนกัน 

     ทีนี้ กรรมที่ให้ผลในชาติถัดไป คือกรรมบางชนิด พอทำไปแล้วชาตินี้จะไม่ให้ผล เหมือรการกระทำบางอย่างของพวกเรา วันนี้ไม่ให้ผลแต่ให้ในวันต่อไป กรรมที่เป็นอุปปัชชเวทนียกรรมนี้ก็เหมือนกัน กรรมนี้จะไม่ให้ผลในชาตินี้ แต่จะให้ผลในชาติต่อไป พอชาติต่อไปเมื่อเกิดขึ้นมาจะไม่ให้ผลทันที คือ เป็นคนยากจนหรือเป็นคนร่ำรวยทันที เป็นคนเดือดร้อนหรือเป็นคนมีสุขในทันที แต่ถ้าหากว่ากรรมนั้นรอให้ผลอยู่ พอถึงชาติหน้าแล้วมันยังไม่มีคิวจะให้ผล กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรมไป หรือเมื่อถึงชาติหน้าแล้วมันให้ผลเสร็จแล้ว กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วก็เรียกอโหสิกรรมเหมือนกัน

     ต่อไป กรรมให้ผลในชาติถัดๆ ไป กรรมนี้รุนแรงมาก คือไม่ให้ผลในชาตินี้ไม่ให้ผลในชาติหน้า แต่จะให้ผลในชาติถัดๆ ไปเรื่อยๆ เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตราบใด กรรมนี้ก็ติดตามให้ผลอยู่ตลอดเวลา ได้โอกาสเมื่อใดมันจะให้ผลเมื่อนั้น กรรมประเภทนี้เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อหรือหมาไน หรือหมาป่าที่มันวิ่งตามเนื้อทราย กวางหรือเก้งเข้าไปในป่า ทันเข้าเมื่อไรมันกัดกินเมื่อนั้น ทั้งกรรมดีกรรมชั่วที่ตามเรามาก็เช่นกัน แม้ในขณะนี้ ก็ตามเรามามากมาย ตามตัวเราเหมือนเงาตามตัวอยู่ตลอดเวลาเรามองไม่เห็น แต่มันติดตามอยู่ในใจของเราเองเพราะเราเก็บเอาไว้ จิตใจของเราเองที่เป้นตัวเก็บบุญบาปเอาไว้ รวมทั้งกรรมนี้ด้วยซึ่งเป็นบุญและเป็นบาป พอถึงเวลามันก็ให้ผล แต่ว่าบางคนนั้นกรรมกำลังตามให้ผลอยู่สมมุติว่ากรรมชั่วที่ทำไว้ เช่นเคยฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์มาเมื่อชาติก่อน กรรมนั้นตามเขาอยู่ แต่มันยังไม่มีโอกาสให้ผล ถ้าเขาผู้นั้นทำกรรมดีอยู่เรื่อยๆ มันก็ตามไม่ทัน แต่ถ้าเมื่อไรเราหยุดทำกรรมดี กรรมชั่วก็จะตามมาทันมาเจอเข้าพอดี หรือเราไม่ทำกรรมดีไว้เราอยู่เฉยๆ ไม่ทำดีหรือทำชั่วต่อ มันก็ตามทัน แต่บางคนนอกจากไม่ทำกรรมดีแล้ว ยังไปทำกรรมชั่วเข้าอีก เหมือนกับวิ่งเข้าหามันเลย มันกำลังตามหาอยู่ เราวิ่งเข้าหาก็เจอทันที ถ้ากรรมชั่วมาเจอเรามันก็ให้ผล แม้เราไม่อยากจะได้รับมันแต่เราก็จะต้องรับเพราะผลที่เราสร้างไว้เอง การสร้างแต่กรรมดีไม่เป็นไร มันตามเรามาเราก็อยากจะพบมันอยู่ บางครั้งอุตส่าห์อ้อนวอนอธิษฐานว่า "เจ้าประคุ้น ด้วยอำนาจกรรมดีที่สร้างไว้ขอให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ สมความปรารถนาเถิด" อธิษฐานต้องการให้ทันมาแต่บางอย่างมันไม่มา เพราะยังไม่ถึงเวลาให้ผลของมัน บางทีอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก เพราะว่ากรรมบางชนิดมันดักเอาไว้ มันดักให้ผลอยู่ เพราะฉะนั้น การที่เราได้รับผลกรรมแต่ละวันๆ นั้นอย่าได้คิดว่าเกิดโดยเหตุบังเอิญ เพราะเหตุบังเอิญไม่มีในพุทธศาสนา มันเกิดจากกรรมที่เราทำไว้เองทั้งสิ้น

      ดังที่เคยย้ำไว้แล้วว่า พุทธศาสนาของเราไม่เชื่ออำนาจดวงดาว ไม่เชื่ออำนาจพระเจ้า ไม่เชื่ออำนาจอื่นใดว่าจะมาดลบันดาลชีวิตของเราให้สุข ให้ทุกข์ ให้เสื่อมให้เจริญ ให้เป็นอย่างโน้นให้เป็นอย่างนี้ได้ แต่เชื่อว่าเราจะสุข เราจะทุกข์ จะเสื่อม จะเจริญ จะจิตใจสะอาด จะจิตใจไม่สะอาด จะเข้าสู่นิพพานหรือไม่เข้าสู่นิพพาน อยู่ที่เราเองทั้งสิ้น อย่างการฝึกจิต ถ้าเราไม่ฝึกเองให้คนอื่นฝึกให้ เช่นบอกว่า "เออ ท่านไปฝึกให้ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีเวลาเลย แล้วขอให้จิตของข้าพเจ้าสะอาดด้วย" อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องสร้างเอาเองต้องทำเอาเอง กฏแห่งกรรม นี้คือกฏแห่งการพึ่งตนเอง

     สรุปย่อ กฏแห่งกรรม คือกฏแห่งการพึ่งตนเอง กรรมที่ให้ผลในชาติถัดๆ ไปนี้ มันให้ผลบ้างแล้วมันก็เป็นอโหสิกรรมไป แต่ถ้ามันยังไม่ให้ผลมันจะติดตามผู้นั้นไปอยู่ตลอด แต่ถ้าหากว่าผู้นั้นเข้าสู่นิพพาน อย่างพระองคุลิมาลทำกรรมชั่ว ฆ่าคนมามาก แต่เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน ไม่เวียนว่ายตายเกิดแล้ว กรรมที่ท่านสร้างไว้ทั้งหมดไม่อาจตามท่านไปได้ เพราะท่านไม่เกิดอีกแล้ว กรรมดีท่านก็ทำไว้มาก กรรมชั่วก็ทำไว้มาก แต่เมื่อท่านนิพพานแล้วกรรมทั้งหมดที่ท่านทำไว้กลายเป็นอโหสิกรรมสิ้น

     เพราะฉะนั้น คำว่า "อโหสิกรรม" จึงมีความหมาย ๓ อย่าง (ขอทำความเข้าใจ) คือ ;-

     (๑) กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว

    (๒) กรรมที่รอให้ผลอยู่แต่ไม่มีโอกาส หมดวาระของมันก็เป็นอโหสิกรรมไป อย่างกรรมให้ผลในปัจจุบันเมื่อมันไม่มีโอกาสให้ผลมันก็หมดพลัง หรือกรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปเมื่อมันไม่มีโอกาสให้ผลมันก็หมดพลัง

     (๓) กรรมที่เป็น อปราปรเวทนียกรรม คือกรรมในชาติต่อๆ ไป ติดตามบุคคลใดๆ ไป เมื่อบัคคลนั้นเข้าสู่พระนิพพานแล้วไม่มีโอกาสจะติดตาม กรรมนี้ก็เป็นอโหสิกรรมไป

     เพราะฉะนั้น คำว่า "อโหสิกรรม" ในภาษาไทย กับความหมายของอโหสิกรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ตรงกัน

     อโหสิกรรมในภาษาไทยนั้น สมมุติว่าเราประพฤติล่วงเกินใครคนใดคนหนึ่ง แล้วพูดว่า "ขอให้อโหสิกรรมเสียเถอะนะ อย่าได้ถือโทษโกรธกัน" อันนี้พูดได้ว่าให้เป็นอโหสิกรรม แต่ตัวกรรมมันไม่ได้มาอโหสิกับเราหรอก เช่นเราฆ่าคนไว้หรือด่าพ่อแม่ พ่อแม่อาจจะไม่ถือโทษโกรธเรา แต่กรรมมันไม่ยอม มันเอาจนได้ มันต้องไปตามกฏของมัน เพราะกรรมมันเป็นกฏของธรรมชาติ

     ถ้าเราทำผิดต่อพ่อแม่ เราก็อาจจะขอความกรุณาว่า นี้เป็นความผิดครั้งแรก พ่อแม่อาจยกโทษให้ได้เพราะเป็นพ่อแม่ของเรา หรือกับครูของเรา เราก็อาจขอให้ท่านยกโทษให้ได้ แต่ถ้ากฏแห่งกรรมนี้ไม่ได้เพราะเป็นกฏของธรรมชาติ อย่างไฟเป็นของร้อนเป็กฏของธรรมชาติ เราไม่รู้ว่าไฟร้อน เราไปจับไฟเข้า เราจะไปอุทธรณ์กับไฟว่า "อย่าให้ข้าร้อน ข้าไม่รู้ว่าเอ็งร้อน" ขอร้องไม่ได้เลย เพราะเป็นกฏของธรรมชาติ

     กฏที่มนุษย์ตั้งขึ้นนั้นยังมีข้อยกเว้น ข้อผ่อนปรนได้ แต่กฏธรรมชาติวางไว้นั้นไม่มีข้อผ่อนผัน เมื่อใครทำไว้แล้วต้องได้รับผลของกรรมอันนั้นไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะไปพูดว่า "เออ อโหสิกรรมกันเสียนะ" พูดเช่นนั้นย่อมพูดได้ อโหสิกรรมที่ว่าเราไม่ถือโทษโกรธ แต่กรรมมันไม่ยอม คนนั้นอาจจะพูดว่า " เออ อโหสิ" แต่กรรมนั้นเมื่อประทับอยู่ในใจเราแล้วมันต้องมาให้ผลเราในครั้งต่อๆ ไป เราจะต้องถูกด่า ไม่ใช่คนนั้นด่าเรา คนนั้นเขาอาจจะไม่ถือโทษโกรธเราแล้ว แต่คนอื่นซิ เพราะกรรมมันตามสลักเราอยู่ มันจะต้องมาให้ผล

     รวมความว่า กรรมที่ให้ผลตามกาลมี ๔ อย่าง คือ

      (๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน 

     (๒) อุปปัชชเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในชาติถัดไป

     (๓) อปราปรเวทนียกรรม => กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป 

     (๔) อโหสิกรรม => กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือกรรมไม่ให้ผล

     กรรมทั้งหมดนี้เราได้สร้างเอาไว้เองและกำลังติดตามเราอยู่นั้น ให้ผลในปัจจุบันก็มี และที่เราได้รับผลอยู่ในปัจจุบันก็คือกรรมที่เราทำไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้ว คือชาติที่ติดกับชาตินี้ของเราก็มี กรรมที่เราได้รับในชาติปัจจุบันนี้บางทีก็เป็นกรรมในชาติที่ล่วงไป ที่ถัดๆ ต่อไปก็มีมาก บางคนเดือดร้อน เช่นป่วยไข้อยู่ บางคนเจริญรุ่งเรือง อันนี้เกิดจากกฏแห่งกรรมทั้งสิ้น 

     แม้แต่ทุกท่านมานั่งอยู่ในที่นี้ก็ด้วยกฏแห่งกรรมบันดาลให้ท่านได้มานั่งฟังธรรม ได้มาพบอาจารย์ แม้แต่อาจารย์เองมาสอนกรรมฐานอยู่ที่นี้ก็กฏแห่งกรรมบันดาลให้มาสอน ถ้าไม่มีกฏแห่งกรรมก็อาจจะป่วย ติดธุระมาไม่ได้ พวกเราก้อาจติดธุระมาไม่ได้ แต่กฏแห่งกรรมทำให้วันนี้ต้องมาจนได้ เพราะกฏแห่งกรรมมันว่าไว้อย่างนั้น ต้องมา และถ้ากฏแห่งกรรมบอกว่าแม้มาแล้วก็ไม่ได้สอน เพราะว่ามีกฏแห่งกรรมอื่นขวางไว้ ก็ทำไม่ได้

     แม้แต่เราเดินๆ อยู่ มีคนราดน้ำจากหน้าต่างลงบนหัวเรานี้ อย่าคิดว่าเหตุบังเอิญ นั่นคือมันตรงกับกฏแห่งกรรมพอดี ทำไมเวลาคนอื่นเดินไปไม่มีใครราดน้ำ แต่พอเราเดินไปเขาราดน้ำลงพอดี

     แม้แต่ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราเดินๆ ไปเหยียบขี้หมา (ขออภัยสมมุตินะ) อันนั้นก็คือกฏแห่งกรรม ทำไมคนอื่นเดินไม่เหยียบ แต่เมื่อเราเดินมาเหยียบเอาล่ะ ก็เพราะสร้างกรรมเอาไว้ อาจจะทำขี้เลอะๆ สกปรกไว้ในชาติก่อนให้คนเหยียบ

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์เสด็จไปที่ไหนๆ มีคนบูชา มีคนโปรยดอกไม้ มีคนทำทางสะอาดสะอ้านเรียบร้อย อันนั้นก็คือกฏแห่งกรรมที่พระองค์ได้สร้างไว้ ไม่ใช่เกิดโดยเหตุบังเอิญ และทำไมเมื่อเราเดินไปไม่มีใครโปรยดอกไม้บ้างล่ะ ไม่มีใครปราบทางให้เรียบร้อยบ้างล่ะ ก็เพราะกรรมของเราไม่ถึงขนาดนั้น

     เพราะฉะนั้น สุขทุกข์ทั้งหมดที่เราได้รับขึ้นอยู่กับกฏแห่งกรรมทั้งสิ้นนี้ คือกรรมที่ให้ผลตามกาล

     ต่อไปจะได้กล่าวถึง

     หมวดที่ ๒ กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

     (๑) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด (อ่านว่า => ชะ-นะ-กะ-กัม *ผู้จัดทำ)

    (๒) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน (อ่านว่า => อุ-ปัด-ถัม-ภะ-กะ-กัม *ผู้จัดทำ)

    (๓) อุปปีฬกกรมม กรรมบีบคั้น (อ่านว่า => อุ-ปะ-ปี-ระ-กะ-กัม *ผู้จัดทำ)

    (๔) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน (อ่านว่า => อุ-ปะ-คา-ตะ-กะ-กัม *ผู้จัดทำ)

     กรรมนี้ทำหน้าที่ของมันโดยตรง หน้าที่ใครหน้าที่มัน  คือกรรมนี้เขาแบ่งส่วนงานกันว่า งานนี้เอ็งเอาไปทำนะ เขาไม่ก้าวก่ายกัน มันแบ่งส่วนเหมือนยีน (gene) ในร่างกายของเรา เช่นยีนที่สร้างผมมันก็ไปในเรื่องผม ยีนที่สร้างเล็บก็ไปในเรื่องเล็บ ยีนที่สร้างด้านเนื้อหนังมันก็ไปในด้านเนื้อหนัง 

กรรมที่เราสร้างไว้ในใจของเราก็เช่นกัน มันแบ่งหน้าที่กัน เรียกว่ากรรมให้ผลตามกิจ หรือให้ผลตามหน้าที่   

     (๑) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด กรรมนี้มีหน้าที่แต่งให้เกิดอย่างเดียว คือแต่งให้เกิดมา อย่างให้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์เสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ กรรมอื่นทำหน้าที่ต่อไป เหมือนหน้าที่ของพ่อแม่ให้เกิด พอเกิดก็เสร็จไปแล้ว เช่นกรรมแต่งให้เกิดมาเป็นคน ก็เสร็จแล้ว ให้เกิดในนรกก็เสร็จไป ให้เกิดในสวรรค์ก็เสร็จไป ให้เกิดเป็นคนรวย ให้เกิดเป็นคนมีทุกข์ ให้เกิดเป็นคนดี ให้เกิดเป็นคนไม่ดี ก็เสร็จหน้าที่ของมัน กรรมนี้มาทำหน้าที่ให้เกิด แล้วมันก็เสร็จแล้ว เรียกว่า ชนกกรรม เหมือนอย่างพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เราเรียกว่า ชนกชนนี แปลว่า ผู้ให้กำเนิด

     (๒) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน กรรมสนับสนุนนี้คือหนุนชนกกรรม กรรมนี้เป็นฝักฝ่ายกับข้อแรก คือถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาดี อุปัตถัมภกกรรมก็หนุนให้ดียิ่งขึ้น เช่นถ้าเกิดมาเป็นลูกรัฐมนตรีแล้วก็มีหัวดีอีก รูปหล่อ รูปสวยอีก มันหนุนให้ดียิ่งขึ้นไป ถ้าเกิดเป็นลูกคนจน มันก็หนุนให้ยิ่งลำบากอีก ยิ่งไม่มีพี่เลี้ยงอีก ยิ่งพ่อแม่ตายไปอีก มันหนุนให้เดือดร้อนเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น อุปัตถัมภกกรรมนี้ ถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาดีมันก็จะหนุนให้ดี ถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาไม่ดี มันก็หนุนให้ไม่ดี มันเข้ากัน หนุนกัน เพราะฉะนั้น เราบางทีป่วยไข้อยู่แล้วก็เป็นความเข้าไปอีก หรือรถชนเข้าไปอีก มันซ้ำมาอีกทั้งๆ ที่เราแย่อยู่แล้ว แต่บางคนตำแหน่งสูงอยู่แล้วก็ถูกล๊อตเตอรี่เข้าไปอีก ยิ่งรวยเข้าไปอีก ทำไมเป็นอย่างนี้ ? ก็เพราะกรรมมันหนุนกันอยู่

     ส่วนกรรมข้อที่ ๓ กับข้อที่ ๔ เป็นกรรมที่ตรงกันข้าม เป็นฝ่ายค้าน คือ

     (๓) อุปปีฬกกรมม กรรมบีบคั้น คือบีบชนกกรรมและบีบอุปัตถัมภกกรรมไม่ให้ผลเต็มที่ บีบอย่างไร ? สมมุติว่าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาดี อุปัตถัมภกกรรมสนับสนุนให้ดียิ่งขึ้น แต่พออุปปีฬกกรรมตามมาทันมันขัดขวาง คือกรรมเดิมจะถูกบีบ เช่น ขึ้นตำแหน่งสูงยิ่งกว่านั้นไม่ได้มันบีบเอาไว้ แต่ถ้าหากว่ากรรมนั้นแต่งให้เกิดมาชั่ว สมมุติว่าเป็นลูกคนจนก็ทำให้ไร้การศึกษาเล่าเรียนขึ้นมาอีก แต่พอกรรมนี้เข้ามาบีบก็กลับมีคนสนับสนุนขึ้นมา จนหาสถานที่ศึกษาเล่าเรียนได้ มีคนให้ทุนการศึกษาเล่าเรียน ถ้าป่วยไข้หนักแต่กลับมีคนมาคอยช่วยเหลือ มีผู้มาสนับสนุน เช่นคนที่ป่วยหนักไม่มีใครจะรักษาแล้ว แต่พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงพบเข้าก็ทรงให้การอุปถัมภ์ คือมันบีบสิ่งที่เดือดร้อนอยู่มากนั้น ไม่ทำให้เดือดร้อนมากขึ้น มันบีบฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว พวกเรานี่ถูกกรรมมันบีบเราไม่รู้ ถ้าเราดีอยู่มันบีบไม่ให้ดีมาก ถ้าเราเสื่อมอยู่มันบีบไม่ให้เสื่อมมาก มันบีบเอาอย่างนั้น

     (๔) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่ตรงกันข้ามกับสองข้อแรก แต่สนับสนุนข้อที่ ๓ อุปฆาตกกรรมคือกรรมฆ่า อุปฆาตก แปลว่ากรรมฆ่า หรือกรรมเพชฒฆาต คือถ้ามีกรรมบีบแล้ว อุปฆาตกกรรมนี้จะทำลายเลย สมมุติว่าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาดี เป็นลูกกษัตริย์หรือเป็นกษัตริย์ มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี ครองราชสมบัติ พออุปฆาตกกรรมตามมาผู้นั้นก็ถูกล้างราชบัลลังก์เลย เช่น บางคนเคยเป็นรัฐมนตรีถึงกับติดคุกก็เคยมี บางคนเป็นเศรษฐีถึงกับหมดเนื้อหมดตัว เช่น ถูกฟ้องล้มละลาย บางคนถึงตายเลย

     แต่ถ้าเป็นอุปฆาตกกรรมฝ่ายดีตามมา มันจะฆ่าฝ่ายชั่วเสีย เช่นบางคนเกิดมายากจนข้นแค้น ลำบากเดือดร้อน พอกรรมนี้ตามมาทันก็ทำให้เขาถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ กลับตรงข้ามไปเลย หรือคนบ้านนอกคอกนาบางคนก็ได้เป็นรัฐมนตรีเลย เพราะกรรมนี้มันตัด ตัดกรรมส่วนไม่ดีออกเสีย เป็นอุปฆาตกกรรม

     เพราะฉะนั้น บางคนเมื่อกรรมเหล่านี้ตืดตามมา ใครๆ ก้ไม่คิดเลยว่าเขาจะตายไว บางคนกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พอเราได้ทราบข่าว อ้าว เครื่องบินตกตายเสียแล้ว หรือรถชนตายเสียแล้ว เพราะกรรมนี้ตามมาทัน บางคนนั้นใครๆ ก็คิดว่าจะตายแน่แล้ว เขาไม่มีทางรอด ใครไปเยี่ยมก็ว่าตายเพราะป่วยหนักเหลือเกิน แต่พอกรรมนี้ตามมากลับหายไปได้อย่างปาฏิหาริย์ เช่น คนเป็นโรคมะเร็งควรจะตายก็ไม่ตาย แต่กลับหาย เป็นไปได้อย่างไร เพราะกรรมนี้มันตัดรอนกรรมฝ่ายไม่ดี

     เพราะฉะนั้น เรื่องกฏแห่งกรรมมันสนับสนุนกันหรือตัดกันอยู่ อย่างนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจกฏแห่งกรรม เราจะไปโทษว่า นี้ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น 

     นี้คือกฏแห่งกรรมอันเราควรจะเข้าใจ ซึ่งตอนนี้อธิบายได้แค่ ๘ ข้อ สองหมวดเท่านั้น ยังมีอีกหมวดสุดท้ายซึ่งเป็นหมวดสำคัญ คือ กรรมให้ผลตามลำดับ จะพูดในตอนต่อไป

      เฉพาะตอนนี้ย้ำให้เห็นกฏแห่งกรรมว่า กรรมใดเราทำไว้เราต้องได้รับทั้งสิ้น เช่นเรามานั่งฝึกสมาธิ ฝึกกรรมฐานก็เป็นกรรมดีของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น หรือเราให้ทานรักษาศีล ก็เป็นกรรมดีของเรา คนอื่นจะมาทำแทนเราไม่ได้ เราต้องทำเองแล้วเป็นกรรมฝ่ายดีที่เรากำลังสร้างขึ้น เพื่อจะหลีกหนีกรรมฝ่ายชั่ว ถ้าเราทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ กรรมชั่วที่ติดตามเรามาก็ตามเราไม่ทัน กรรมดีก็หนุนกัน จะทำให้เราประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตได้มาก แม้แรงอธิษฐานของผู้ทำกรรมดีนี้มีพลังเพิ่มขึ้น ในเมื่อเราตั้งใจทำแต่กรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว.

====================

จบตอนที่ ๒