คำกวี

หลายปีก่อน ผู้เขียนนั่งอ่านบทร้อยกรองบางชิ้น แล้วคิดในใจเล่นๆ ว่า ทำไมหนอ บทร้อยกรองจึงเขียนด้วยภาษางามๆ คำศัพท์ผิดแผกไปจากการใช้ในชีวิตประจำวัน บางครั้งประโยคก็ไม่ได้เรียงถ้อยคำตามปกติ แต่ผู้อ่านก็เข้าใจได้อย่างน่าประหลาด

ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง มาดูใกล้ๆ กันเลยดีกว่า

เป็นไรเป็นนะไม่ละกัน ขุนแผนกั้นน้องวันทองอยู่

ลาวทองแอบหลังบังผัวดู พวกสายทองกรูจะตบเอา

อย่าอย่าวุ่นวายเจ้าสายทอง เป็นไรน้องมาเป็นเช่นนี้เล่า

ชอบแต่ละปลอบนางให้บางเบา อย่านะเจ้าวันทองจงอดใจ

ไม่แล้วคะหม่อมไม่ฟังสิ้น ถึงพระอินทร์ลงมาห้ามหาฟังไม่ฯ

(จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน)

ท่านคงสังเกตได้ว่าในบทกลอนนี้มีคำพูดของคนสองคน เขียนไว้ในกลอนโดยไม่ต้องเอ่ยถึงคนพูดเลย ถ้าอ่านมาสักพักก่อนหน้านี้ก็จะเข้าใจเรื่องได้โดยง่าย นี่เป็นการใช้ภาษาอย่างง่ายๆ ไม่มีคำศัพท์ใดที่ต้องแปลความ แต่การลำดับถ้อยความนั้นผิดไปจากภาษาพูดทั่วไป เพราะนี่เป็นภาษากลอน หรือบางท่านจะบอกว่าเป็นภาษากวีก็ได้

อีกสักบท

เห็นดาวเดียรดาษห้อง เวหา

เหมือนหมู่สาวสนมมา ใฝ่เฝ้า

พิศดูย่อมดารา เรียงรอบ ไปนา

โอ้อ่อนสาวสนมเหน้า หนุ่มร้างแรมสมรฯ

(จาก ลิลิตพระลอ)

บทนี้ดูยากๆ กว่าบทกลอนข้างบนเล็กน้อย แต่ก็อ่านได้เข้าใจ โดยไม่ต้องอธิบายเช่นกัน

แม้ว่าภาษากลอนกับภาษาในชีวิตประจำวันจะต่างกัน แต่เราก็ยังเข้าใจภาษากลอนได้ และถ้าฝึกฝนสักเล็กน้อย ก็ยังแต่งกลอนด้วยภาษากลอนเช่นนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะความรู้ที่สะสมเรื่อยมา นับตั้งแต่รู้ภาษานั่นเอง

ความรู้ที่สะสมเรื่อยมานั้น จาระไนไม่หมด เรียกว่าสะสมชั่วโมงบินกันมาตั้งแต่เด็ก โดยมีเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อม สังคม และเหตุการณ์บ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักศึกษาวรรณคดีอังกฤษนั้น เบื้องต้นจะต้องถูกสั่งให้ไปอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล (บางบท บางตอน) เพราะคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นพื้นฐานทางความคิดของสังคมตะวันตก นอกจากนี้ยังต้องอ่านเรื่องเทวตำนานของกรีก เพราะเป็นพื้นฐานความคิดของตะวันตก ยุคก่อนที่จะมีศาสนาคริสต์

นักศึกษาวรรณคดีไทยไม่ได้เรียนพระไตรปิฎก แต่ก็มีความรู้เรื่องศาสนาพุทธมาตั้งแต่เด็ก สะสมคติความเชื่อต่างๆ เรื่อยมา ทั้งยังได้ท่องบทอาขยาน ท่องบทกลอนที่ถือควรเอาเป็นแบบอย่าง ทำให้เราซึมซับความเข้าใจบทกลอนเรื่อยมาโดยไม่รู้ตัว

เมื่อเราคุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมอย่างไทยๆ ได้ไปอ่านบทกลอนของชาติภาษาอื่น ก็ย่อมจะไม่ซาบซึ้ง (แม้ว่าจะเข้าใจความหมาย) ได้ไม่เท่ากับเจ้าของภาษานั้นๆ เพราะเขาสะสมความรู้มายาวนานพอๆ กับที่เราเรียนรู้เรื่องไทยและกลอนของไทยมา

เช่นกลอนไฮกุของญี่ปุ่น เป็นบทกลอนสั้นๆ ใช้คำน้อย (3 บรรทัด 5, 7, 5 คำ) แต่ความหมายมาก คนญี่ปุ่นอ่านแล้วซาบซึ้ง ด้วยความไพเราะ แต่คนไทยอ่านแล้วไม่ค่อยรู้สึกจับใจอย่างคนญี่ปุ่นเขา

สระเก่า

กบกระโดดลง

เสียงน้ำจ๋อม..

นี่เป็นไฮกุที่ดีมากบทหนึ่ง มักใช้เป็นแบบอย่างของการเรียนไฮกุโดยทั่วไป อย่างนี้คนญี่ปุ่นว่าไพเราะ งดงามมาก

ไปดูบทกวีมลายูบ้าง เรียกกันว่า ปันตุน (มี 4 วรรค, วรรคละ 4 คำ)

ผลมังคุด และแตงกวา

หลายคนที่มาซื้อ

น้องหวาน ถ้ายิ้ม

ทำให้ใจพี่ตก (หลงรัก)

นี่ไพเราะแบบมลายู

อย่างไรก็ตาม ภาษากลอนนั้นไม่จำเป็นต้องวิจิตรพิสดารพันลึกมากมาย แม้เราท่านจะได้อ่านวรรณคดีสักเรื่อง เจอะศัพท์ยากแล้วต้องวาง ก็ต้องบอกว่า นั่นเป็นรสนิยมของกวี ที่ท่านจะใช้ถ้อยคำภาษาเช่นนั้นเอง

บทกวีเหล่านี้ ก็ไม่ได้ใช้ภาษาพูดภาษาเขียนปกติ แต่ใช้ภาษากวี ไม่ได้เรียงลำดับคำอย่าง “ฉันกินข้าว ฉันไปโรงเรียน” แต่ลำดับเป็นภาษากลอน ที่สามารถอ่านและเข้าใจได้จากความรู้ ความคุ้นเคยที่สะสมมา ในภาษานั้นๆ

ความคิดเดิม ที่ผู้เขียนพยายามจะค้นหาความลับของบทกลอน จึงไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะทุกสิ่งซ่อนเร้นอยู่ในความรู้ที่สะสมนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ประโยคของกลอน ผิดจากประโยคของภาษาทั่วไป พูดให้หรูก็คือ ไวยากรณ์ของร้อยกรองนั้น มีความยืดหยุ่น ไม่ชัดเจนแน่นอนเหมือนภาษาทั่วไป เพราะต้องมีภูมิหลัง และจินตนาการเข้ามาช่วย

เป็นเรื่องน่าสนุก ที่ได้อ่านบทร้อยกรองสักชิ้น และกลั่นคั้นเอาความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงจินตนาการต่างๆ มาประสานกันเพื่อทำความเข้าใจและสนุกไปกับบทร้อยกรองนั้นๆ.