คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ พระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองเป็นวรรณคดีในสมัยอยุธยาเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ และวรรณคดี ประพันธ์ขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อราว พ.ศ.๒๑๘๑ เป็นคำฉันท์ ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์รวม ๗ ชนิด ความยาวทั้งสิ้น (เท่าที่มีในต้นฉบับ) ๓๙๘ บท เนื้อหากล่าวถึงพระราชกรณียกิจในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยเฉพาะพระราชพิธีลบศักราชในปีจุลศักราช ๑๐๐๐ นั้น ผู้ประพันธ์คือพระมหาราชครูมเหธร ซึ่งต่อมาได้รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นผู้ประพันธ์คำฉันท์ที่สำคัญ ได้แก่ เสือโคคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ และสมุทรโฆษคำฉันท์คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองมีความโดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะการใช้คำยืมภาษาสันสกฤตที่มีการสะกดเฉพาะตัว

ความนำ

คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองเป็นวรรณคดีในสมัยอยุธยา แต่เพิ่งจัดพิมพ์ต้นฉบับเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ รวมอยู่ใน วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๓ (วรรณกรรมสมัยอยุธยา. ๒๕๓๑: ๓) โดยกรมศิลปากร ใช้ชื่อว่า “เรื่องเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททอง” จึงน่าจะยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเรียนนักศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยมากนัก แม้ว่าต่อมาในปี ๒๕๔๓ จะมีการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งหนึ่งแยกเป็นเล่มต่างหากให้ชื่อว่า คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง พร้อมทั้งในการอธิบายคำศัพท์เพิ่มเติมก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากมีจำนวนพิมพ์ที่จำกัด (๑,๐๐๐ เล่ม) และไม่ค่อยมีเอกสารอื่นอ้างถึง แม้ในตำราวรรณคดีไทยก็ตาม

นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่คำฉันท์เรื่องนี้ปรากฏต้นฉบับตัวเขียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่พบในปัจจุบันนี้ เป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยเส้นหรดาล ขนาดกว้าง ๑๑.๒ เซนติเมตร ยาว ๓๔.๕ เซนติเมตร เขียนอักษรสองด้าน รวม ๑๐๔ หน้า ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรุงเทพมหานคร มีข้อความบอกประวัติไว้ที่ปกนอกด้านหน้า ว่า “พระสมุดรรเสริญพระเกียรติ ครั้งสมเด็จ์พระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง พระมหาราชครู มเหธรแต่งเป็นคำฉันท์ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรีย์เป็นพระมหาราชครู พระบอโรหิต ๑ฯ” ต้นฉบับดังกล่าวระบุผู้คัดลอกว่าเป็นเจ้ากรมเทพพิพิธ คัดสำเนาเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๐๙ (พุทธศักราช ๒๒๙๐) ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๑๙)

ความปรากฏแล้วว่าผู้ประพันธ์คำฉันท์เรื่องนี้คือพระมหาราชครูมเหธร ผู้รู้พิธีพราหมณ์และมีความรู้ด้านการประพันธ์และวรรณคดีเป็นอย่างดี เป็นพระมหาราชครูในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (ระหว่าง พ.ศ.๒๒๐๐ – ๒๒๓๐) บุญเตือน ศรีวรพจน์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระมหาราชครูผู้แต่งเรื่องเสือโคคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ และสมุทรโฆษคำฉันท์ (แต่แต่งไม่จบเรื่อง เพราะถึงแก่กรรมเสียก่อน ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชนิพนธ์ต่อ แต่ก็ไม่จบ กระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์ต่อจนจบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) ดังปรากฏข้อความในบานแผนกของต้นฉบับสมุดไทยเล่มนี้วา “พระมหาราชครู พระบอโรหิตแต่ง คนนี้ที่แต่งเสือโค คารมอันเดียวกัน เหนจะแต่งสรรเสอรพระเกียรติสมุดนี้ก่อนเสือโค เสือโคแต่งทีหลังเพราะกว่านี้” (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๑๙)

มูลเหตุที่พระมหาราชครูแต่งคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองขึ้นก็เพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์นี้ โดยได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญและพระราชกรณียกิจหลายประการ เช่น พระราชพิธีอินทราภิเษก พระราชพิธีลบศักราช พระราชพิธีออกสนาม โดยมีรายละเอียดที่สามารถตรวจสอบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ จึงนับเป็นหนังสือที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง

เนื้อหาของคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู หรือประณามพจน์ เป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๒ บท เริ่มตั้งแต่นมัสการสมเด็จพระพุทธเจ้า พระธรรม และสงฆ์ และสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวชมพระนคร พระประวัติโดยสรุป ตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชสมบัติ พระราชดำริเรื่องการลบศักราช กระทั่งพระราชพิธิอินทราภิเษก และพระราชพิธีลบศักราชซึ่งจัดขึ้นในคราวเดียวกัน พร้อมกับการบำเพ็ญทานรอบพระ พระราชพิธีออกสนาม พระราชกรณียกิจในกิจการภายในและสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ บางตอนได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ต่างๆ โดยละเอียด โดยเฉพาะเรื่องการจบจุลศักราช และจบลงเมื่อพรรณนามหรสพสิ้นแล้ว โหรเข้ากราบบังคลทูลพระเจ้าอยู่หัว ต้นฉบับเดิมคงมีเนื้อเรื่องต่อไปอีก แต่ไม่สามารถค้นหาเนื้อหาเพิ่มเติมได้

คำประพันธ์ที่ใช้ เป็นคำฉันท์ กล่าวคือ ใช้ฉันท์ร่วมกับกาพย์ มีจำนวนทั้งสิ้น ๗ ชนิด ได้แก่ วสันตดิลกฉันท์ (๒๐ บท) อินทรวิเชียรฉันท์ (๓๓ บท) โตฏกฉันท์ (๗ บท) มาลินีฉันท์ (๑๐ บท) สัทธาฉันท์ (๒๓ บท) กาพย์ฉบัง (๒๒๑ บท) กาพย์สุรางคนาง (๘๔ บท) รวมทั้งสิ้น ๓๙๘ บท จากการแจกแจงจำนวนบทของฉันลักษณ์ จะเห็นว่าส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องด้วยกาพย์ฉบับ จะใช้ฉันท์ก็เมื่อถึงตอนสำคัญที่พรรณนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้าแผ่นดิน ความยาวตอนหนึ่งไม่มากนัก ลักษณะของฉันท์ที่ใช้เน้นการออกเสียงเป็นสำคัญ ไม่ได้ยึดครุลหุจากคำเป็นหลัก และไม่เคร่งครัดเรื่องการส่งและรับสัมผัสมากนัก ดังนั้นจึงมีการส่งสัมผัสระหว่างบทด้วยคำเดียวปรากฏโดยทั่วไป

ต้นฉบับคำฉันท์เรื่องนี้ ระบุไว้ว่าคัดลอกเมื่อ พุทธศักราช ๒๒๙๐ คือช่วงปลายสมัยอยุธยา มีรูปแบบอักขรวิธีที่แตกต่างไปจากปัจจุบันเป็นที่น่าสังเกตหลายประการ ได้แก่ การใช้ไม้หันอากาศ แทนที่จะใช้อักษรซ้อนกันสองตัวดังที่นิยมใช้ในเอกสารเก่า ปรากฏการใช้วิสรรชนีย์น้อยมาก ไม่นิยมใช้สระออหรือสระเออลดรูป คงสะกดโดยมีอักษร อ ช่วย เช่น กอร จอร วอร เตอบ จำเรอญ (ปัจจุบันเขียน กร จร วร เติบ จำเริญ ตามลำดับ) ใช้ ร หันแทน รฺ เมื่อเขียนคำยืมสันสกฤต เช่น สามารรถ (สามารถ) นารรถ (นารถ) และใช้แทนเสียงสะกด อัน ในบางคำ เช่น ยรร (ยัน) ผรร (ผัน) รวมทั้งมีการใช้ไม้ทัณฑฆาตน้อยมาก ไม่นิยมใช้ไม้ไต่คู้ ทั้งพบการสะกดรูปแบบเฉพาะบางคำเช่น ก้อะ (ก็) ดำริะ ตริะ (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๑๗๕) เป็นต้น

การใช้คำศัพท์ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองมีทั้งคำไทย และคำยืมจากภาษาอื่น เช่น เขมร บาลี สันสกฤต ส่วนใหญ่เป็นคำโบราณ ไม่ค่อยปรากฏในพจนานุกรมไทยปัจจุบัน (เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) เช่น หวัว (หัวเราะ) ย่าว (บ้าน เรือน) เฟด (แฟบ) เมือ (ไป) ยองยอย (ยองใย) ทั้งนี้ยังมีคำยืมภาษาเขมร เช่น ลเบง (การละเล่น) ระเมียร (มอง) นอกจากนี้ยังมีคำยืมภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตโดยทั่วไปในคำฉันท์เรื่องนี้ โดยมีคำศัพท์จำนวนมากเป็นรูปแผลงจากคำเดิม ที่ตัดให้เหมาะสมกับฉันทลักษณ์

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งในคำฉันท์เรื่องนี้ก็คือ การใช้คำยืมภาษาสันสกฤต ซึ่งพบได้แทบทุกบทของคำฉันท์ ดังจะได้ยกตัวอย่างบทประณามพจน์มาแสดงต่อไปนี้ คำที่ขีดเส้นใต้คือคำยืมภาษาสันสกฤต นอกจากนั้นเป็นคำที่มีทั้งในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต (เช่น ภพ บอรม พล บาทา พิโรธ นานา อาภอร เทว อุดดอร ฯลฯ)

๏ ขอถวายปรนมบอรมสรรเพชพุทธสาษดา ตัดเบญจพิทธพลมา รมุนินทรเลอศไตร

๏ ลายลักษณอุดมวรา ดุลเรียบรเบียบใน บาทาทุลีบอรมไตรภพโลกยโมลี

๏ นบพระสดัปกรณา อภิธรรมเปรมปรีดิ อันเปนนิยานิกแลตรี ภพย่อมนมัสการ

๏ พระสูตรพระอรรถกถา บอรมารรถยอดญาณ นำสัตวสู่บอรมถาน บทโมกขสิวาไลย

๏ นบพระขิณาสยปอันธรง คุณคามภิเลอศไกร นฤโศกนฤทุกขแลไภ ยพิโรธนานา (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๑๖๔)

ศัพท์ภาษาสันสกฤตที่พบในคำฉันเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นคำที่ใช้ทั่วไปในภาษาไทยปัจจุบัน เช่น กษัตริย์ อาจารย์ สฤษดิ์ สวามี กัลป์ ทศพล ฯลฯ แต่ก็มียังมีคำอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤต ที่พบเฉพาะในคำฉันท์เรื่องนี้ ไม่ปรากฏในพจนานุกรมไทยปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็ไม่ปรากฏรูปแบบอักขรวิธีที่ใช้ ทั้งนี้เพราะผู้ประพันธ์มีความรู้ด้านพิธีพราหมณ์เป็นอย่างดี น่าจะได้ศึกษาตำราของพราหมณ์ทั้งที่เป็นภาษาสันสกฤตและเป็นภาษาอื่น ที่มีคำศัพท์ภาษาสันสกฤตปะปนอยู่ อย่างไรก็ดี ในการพิมพ์คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองครั้งนี้ ผู้จัดพิมพ์ (กรมศิลปากร) ได้ชำระปรับปรุงต้นฉบับโดยใช้คำศัพท์ที่คุ้นเคยในภาษาไทย ทำให้ผู้อ่านไม่ทราบว่าเดิมนั้นผู้เขียนใช้คำศัพท์เช่นไร แต่นับว่าโชคดี ที่การพิมพ์เป็นเล่มต่างหากใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้จัดพิมพ์ได้ถ่ายภาพต้นฉบับสมุดไทยแนบไว้ในภาคผนวก ทำให้ผู้อ่านสามารถศึกษาคำศัพท์และวิธีการสะกดแบบเดิมได้โดยสะดวก ตัวอย่างเช่น คำว่า ในต้นฉบับสมุดไทย เขียนว่า “ประสิทธิโดยอวกาศ” (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๑๗๒) แต่ในการพิมพ์ได้ปรับปรุงต้นฉบับเป็น “ประสิทธิโดยอวกาส” (บุญเตือน ศรีวรพจน์, ๒๕๔๓: ๘๙) (ใช้ ส เสือเป็นตัวสะกด) ผู้อ่านจึงไม่เข้าใจคำศัพท์และเจตนาของผู้เขียนว่า ที่แท้แล้วผู้เขียนใช้คำศัพท์สันสกฤตโดยตรง ซึ่งหมายถึง โอกาส นั่นเอง

อ้างอิง

ธวัชชัย ดุลยสุจริต. "ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับคำยืมภาษาสันสกฤต ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง," ใน จุลสารสาส์นไทย. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1. พ.ศ.2557, หน้า 176-208.