บทหนึ่งที่หายไป ในเพลง "แม่พิมพ์ของชาติ"

แม่พิมพ์ของชาติ เพลงประจำชาติของครูไทย ถ้าจะเรียกแบบนั้น

ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อชอบฟัง แต่คุณแม่บอกว่าไม่ชอบ ช่างรันทด

ลองค้นเนื้อเพลงนี้จากวิกิซอร์ซ (https://th.wikisource.org/wiki/แม่พิมพ์ของชาติ)

พบว่ามีเนื้อหาดังนี้

ประพันธ์คำร้องและทำนอง : สุเทพ โชคสกุล

ขับร้อง : วงจันทร์ ไพโรจน์ ( พ.ศ. ๒๕๐๑)

แสงเรืองเรืองที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย คือแม่พิมพ์อันน้อยใหญ่ โอ้ครูไทยในแดนแหลมทอง

เหนื่อยยากอย่างไรไม่เคยบ่นไปให้ใครเขามอง ครูนั้นยังลำพองในเกียรติของตนเสมอมา

ที่ทำงานช่างสุดกันดารในป่าดงไพร ถึงจะไกลก็เหมือนใกล้ เร่งรุดไปให้ทันเวลา

กลับบ้านไม่ทันบางวันต้องไปอาศัยหลวงตา ครอบครัวคอยท่าไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน

ครูเอ๋ยครูมีความเป็นอยู่แสนยากเย็น ต้องบุกน้ำลุยเลนถึงบ้านก็เย็นยิ่งอ่อนใจ

เช้าตื่นขึ้นมาเตรียมตัวกลัวว่าจะสาย ห่วงหน้าห่วงหลังลังเลใจรีบเดินดุ่มไปด้วยใจอาวรณ์

ถึงโรงเรียนก็เจียนจะสายจวนได้เวลา เห็นศิษย์รออยู่พร้อมหน้า ต้องรีบมาทำการสอน

ไม่มีเวลาที่จะได้มาหยุดพอพักผ่อน โรงเรียนในดงป่าดอนให้โหยอ่อนสะท้อนอุรา

ชื่อของครูฟังดูก็หรูชวนชื่นใจ งานที่ทำก็ยิ่งใหญ่ สร้างชาติไทยให้วัฒนา

ฐานะของครูใคร ๆ ก็รู้ว่าด้อยหนักหนา ยังสู้ทนอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มาเป็นหลายปี

นี่แหละครูที่ให้ความรู้อยู่รอบเมืองไทย หวังสิ่งเดียวคือขอให้ เด็กของไทยในผืนธานี

ได้มีความรู้เพื่อช่วยเชิดชูไทยให้ผ่องศรี ครูก็ภูมิใจที่สมความเหนื่อยยากตรากตรำมา

เห็นแล้วก็สงสัยขึ้นมา เพราะมีเนื้อหาเพิ่มเข้ามาจากเนื้อเพลงถึงหนึ่งบทกลอน (สี่วรรค) ดังที่ขีดเส้นใต้ไว้ข้างบน

ไม่ทราบว่าวิกิซอร์ซเอาข้อมูลมาจากที่ไหน (น่าจะได้ระบุ) เข้าใจว่ามาจากต้นฉบับของครูสุเทพ โชคสกุล ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นเพลง ครั้นนำไปใส่ทำนองอาจจะยาวเกินไป จึงตัดเสีย เนื้อหาก็ไม่ขาดใจความสำคัญไป.

สาเหตุที่คิดว่ามาจากต้นฉบับเดิม ก็เพราะสัมผัสระหว่างบทของกลอนในเพลงขาดไป (ไปอยู่ไหน---- ทำการสอน)

แต่หากมีวรรคที่ขีดเส้นใต้แทรกเข้ามา สัมผัสระหว่างบทจะครบตามปกติของกลอน (อยู่ไหน--- อ่อนใจ, อาวรณ์ --- ทำการสอน)

เห็นจะต้องค้นหาว่าต้นฉบับนี้มาจากที่ไหน ไม่เจอในวิกิซอร์ซ ก็คงต้องหาในวิกิซีอิ๊วต่อไป...

อ่านประวัติครูสุเทพ โชคสกุล ผู้แต่งเพลงแม่พิมพ์ของชาติ

ธเนศ ขำเกิด. "ย้อนรอยอดีตศึกษานิเทศก์ เมื่อคราแรกเริ่ม... อาจารย์สุเทพ โชคสกุล :ผู้ริเริ่มการสอนหนังสือด้วยเพลงเป็นคนแรกของเมืองไทย" https://www.gotoknow.org/posts/631825 (9 สิงหาคม 2561)

โดย