การรวบรวมข้อมูล

ข้อมูล คืออะไร?

ข้อมูล (DATA) หมายถึง ความจริงที่อยู่ในรูปของตัวเลข ข้อความ ภาพ เสียง ข้อสังเกตที่รวบรวมมาจากเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้นิยามคำว่า “ข้อมูล” คือ ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ

ชนิดของข้อมูล

1. ข้อมูลเชิงปริมาณ

อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น จำนวนเสือโคร่งอินโดจีนในประเทศไทย, จำนวนคนร่วมชมการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook, ปริมาณน้ำฝนรายเดือน

2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ

อยู่ในรูปข้อความ อธิบายความหมาย บรรยายความคิดเห็น ความรู้สึก บทสัมภาษณ์ เช่น สถานที่ทัศนศึกษาที่นักเรียนแต่ละคนในห้อง ม.3 สนใจ, ความรู้สึกที่มีต่อการชมภาพยนตร์, การบรรยายลักษณะนิสัยของบุคคล

แหล่งของข้อมูล

หมายถึง แหล่งกำเนิดของข้อมูล หรือ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล เช่น คน, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่, เหตุการณ์,

ข้อมูลแบ่งตามลักษณะ ของการได้มาซึ่งข้อมูล มีดังนี้

1. ข้อมูลปฐมภูมิ (primary data)

คือ ข้อมูลที่ได้จากแหล่งกำเนิดข้อมูลหรือจุดเริ่มต้นของข้อมูล เช่น ข้อมูลที่ได้จากการทดลอง การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลความสำเร็จ ภูมิปัญญา ข้อมูลสถานการณ์ทางการเมือง ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

2. ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data)

คือ ข้อมูลที่ไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง แต่ได้มาจากการอ้างอิงถึงข้อมูลปฐมภูมิ หรือนำข้อมูลปฐมภูมิมาวิเคราะห์ ประมวลผล ซึ่งอาจอยู่ในรูปสถิติ บทวิจารณ์ บทความ เอกสารต่าง ๆ เป็นต้น

การรวบรวมข้อมูล

1. การสัมภาษณ์ (interview)

อาจเป็นการสัมภาษณ์โดยตรง หรือ ผ่านช่องทางการสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ คำถามที่ใช้ชัดเจน

2. การสำรวจ (survey)

ทำโดยสร้างแบบสำรวจที่กำหนดคำถามเพื่อค้นหาข้อมูล หรือความเห็นที่ต้องการ เช่น การสำรวจความพึงพอใจของการบริหารงานของสภานักเรียน

3. การสังเกต(observe)

เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ หรือพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น การสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 1 ระหว่างรับประทานอาหาร การสังเกตพฤติกรรมการทิ้งขยะของนักเรียน

4. การทดลอง (experiment)

เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง หรือทดสอบที่มีการควบคุมปัจจัยบางประการ เช่น การบันทึกผลการเจริญเติบโตของถั่วงอกเมื่อมีแสงแดดและไม่มีแสงแดด

5. การทบทวนเอกสาร (document)

เป็นการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงาน บทความ หรือแบบฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูล เช่น แบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียน รายงานประจำปี รายงานการประชุม จดหมายข่าว แบบฟอร์มลงเวลาปฏิบัติงาน

6. การสำมะโน(census)

เป็นการรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจจากประชากรเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนด เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำมะโนประชากรและเคหะ ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุก 10 ปี

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบสังเกต ในปัจจุบันการเก็บรวบรวมข้อมูลอาจใช้แอปพลิเคชันหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดภาระในการจัดเก็บข้อมูล ลดข้อมูลผิดพลาด และช่วยทำให้สะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ในการสำรวจอาจมีเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพ เครื่องนับจำนวน เครื่องอ่านบาร์โค้ด (barcode reader)

การวบรวมข้อมูลจะต้องมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อยืนยันว่ามาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นมารยาทที่เหมาะสมในการแสดงคำขอบคุณต่อแหล่งข้อมูล

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรวบรวมข้อมูล

1. ความถูกต้อง (accuracy)

ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพต้องมีความถูกต้อง เช่น ข้อมูลคะแนนสอบเพื่อประเมินผลการเรียนต้องมีความถูกต้อง

2. ความทันสมัย (timeliness)

ข้อมูลจะใช้งานได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้วไม่สามารถนำมาประมวลผลพิจารณาการเติบโตของนักเรียนในปัจจุบันได้

3. ความเกี่ยวข้อง (relevance)

ข้อมูลต้องมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวอาจประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยว เวลาเปิด – ปิด ระยะทาง วิธีการเดินทาง เป็นต้น