4.4 ทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา

สาระน่ารู้ : รู้เท่าทันลิขสิทธิ์

ที่มา: thunyamon charoensuttikul

https://www.youtube.com/channel/UCp7nOe8FG6-Ri4cK0B14Kyg

ทรัพย์สินทางปัญญา

คือ ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เป็นทรัพย์สินอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากสังหาริมทรัพย์ คือ สิ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น นาฬิกา รถยนต์ เป็นต้น และอสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น

ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ลิขสิทธิ์


2. สิทธิบัตร


ลิขสิทธิ์

งานแกะสลักไม้

1. ลิขสิทธิ์

คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่เป็นกฎหมายรับรอง ให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ นำออกโฆษณา กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคโนโลยี มีการคุ้มครองตั้งแต่สร้างสำเร็จ และ มีอายุไปอีก 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายเสียชีวิต โดยเป็นการให้ความคุ้มครองอัตโนมัติแก่ทายาทได้ด้วย

1.1 ประเภทของงานที่มีลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามกฎหมายกำหนด ดังนี้

1. งานวรรณกรรม

หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม

งานที่เกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า

3. งานศิลปกรรม

งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม

4. งานดนตรีกรรม

คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน

5. งานสิ่งบันทึกเสียง

เทปเพลง ซีดีเพลง

6. งานโสตทัศนวัสดุ

วีดีโอ เทป วีซีดี ดีวีดี แผ่นเลเซอร์ดิสที่บันทึกข้อมูล

7. งานภาพยนต์

งานภาพยนต์ รวมถึงเสียงที่ใช้ประกอบภาพยนต์

8. การแพร่เสียงแพร่ภาพ

วีดีโอ เทป วีซีดี ดีวีดี แผ่นเลเซอร์ดิสที่บันทึกข้อมูล

9. งานอื่น ๆ

งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือ แผนกศิลปะ

การออกแบบกระถางต้นไม้

1.2 การได้มาซึ่งสิทธิ์

สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างได้สร้างสรรค์ผลงานเสร็จ โดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงว่า ได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป

1.3 เจ้าของลิขสิทธิ์

คือ ผู้ที่มีสิทธิในการจัดการกับงานลิขสิทธิ์ของตนเอง ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ผู้ว่าจ้างในกรณีว่าจ้างให้บุคคลอื่นเป็นคนสร้างสรรค์งาน ผู้ดัดแปลง กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น และผู้รับโอนลิขสิทธิ์

การสร้างสรรค์ชิ้นงาน
การลงลายมือเอกสาร

1.4 เอกสารประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

สำเนาบัตรประชาชนพร้อมคำรับรองสำเนาถูกต้อง(กรณีบุคคลธรรมดา)

  • สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือนของเจ้าของลิขสิทธิ์(กรณีเป็นนิติบุคคล)

  • ผลงาน หรือ ภาพถ่ายงานลิขสิทธิ์ จำนวน 1 ชุด ของเจ้าของลิขสิทธิ์(กรณีเป็นนิติบุคคล)

  • หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาล ใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือ องค์กร รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นขอ(รับรองสําเนาถูกต้อง)

1.5 ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น หรือ ผลงานตามข้อใดข้อหนึ่งตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ในการ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับ หรือ สำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของตน รวมทั้งให้ประโยชน์เกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรือ อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมด หรือ บางส่วนก็ได้ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

สิทธิบัตร

การประดิษฐ์โคมไฟ

คือหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด

2.1 ประเภทของสิทธิบัตร

  1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับองค์ประกอบโครงสร้าง หรือ กลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต และการเก็บรักษา เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ยารักษาโรค มีอายุการคุ้มครอง 20 ปี

  2. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอก องค์ประกอบของลวดลาย หรือ สีของผลิตภัณฑ์ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น การออกแบบแก้วน้ำ มีอายุคุ้มครอง 10 ปี

  3. อนุสิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ มีอายุคุ้มครอง 6 ปี เงื่อนไขในการขออนุญาตอนุสิทธิบัตร ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และยังไม่เคยมีการใช้ หรือ แพร่หลาย ก่อนวันยื่นขอ หรือ ยังไม่เคยมีการเปิดเผยสารสำคัญของการประดิษฐ์นั้น ก่อนวันยื่นขอทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้

2.2 ความแตกต่างระหว่างอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการประดิษฐ์

อนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการประดิษฐ์มีขอบเขตให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์เช่นเดียวกัน แต่อนุสิทธิบัตรเป็นการคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีเทคนิคที่ไม่สูงมากนัก อาจจะเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย ส่วนสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะต้องมีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคของสิ่งที่มีมาก่อน หรือที่เรียกว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

2.3 ประโยชน์ของสิทธิบัตร

นอกจากประโยชน์เชิงวิชาการที่เราจะได้เรียนรู้ความเป็นมาหรือพัฒนาการของความคิด และการประดิษฐ์นั้น ๆ ทำให้เราเห็นข้อบกพร่อง หรือส่วนที่ควรปรับปรุงพัฒนาต่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ตามมาในทางธุรกิจ ข้อมูลจากเอกสารสิทธิบัตรยังทำให้เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนสามารถประเมินความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้

ข้อดี ข้อเสีย ของทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อดี

1) ช่วยให้ผู้ที่คิดค้นเกิดความเป็นธรรมเพราะหากผู้ประกอบการรายใดต้องการนำไปใช้ควรมีการขออนุญาตและจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้คิดค้น

2) ช่วยคุ้มครองเจ้าของผลงานที่เป็นผู้คิดและกลั่นกรองออกมาจนเป็นผลงานที่หลายคนต้องการ

ข้อเสีย

1) การตั้งราคาไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคส่งผลต่อการซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์ต้องเสียเงินแพง

2) ฐานะและกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละประเทศแตกต่างกันจะแพงต่อผู้บริโภคในประเทศที่ยากจนที่ไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้อทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศมาใช้ได้และในบางกรณีอาจมีผลกระทบต่อชีวิตเช่นยาต้านมะเร็ง

ข้อมูลอ้างอิง

ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ และคณะ. 2562. การใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย. ใน ดร.ฉัททวุฒิ พืชผล(บรรณาธิการ), เทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2(102-105). บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด 142 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200