ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของคนเรา ทั้งการจัดเก็บรวบรวม ค้นคว้าข้อมูล หรือการศึกษาและความสนุกเพลิดเพลิน ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานจึงต้องมีการจัดวางระบบเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานหรือจัดเก็บข้อมูลตามที่เราต้องการ ที่เรียกกันว่า “ซอฟต์แวร์” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ใช้งานกับการทำงานของคอมพิวเตอร์

ซอฟต์แวร์ คืออะไร?

ซอฟต์แวร์ (Software)

คือ ชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตรงตามความต้องการและถูกต้อง รวมถึงการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การทำงานของซีดีรอม การทำงานของฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น ซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่สามารถรับรู้การทำงานของมันได้ ซึ่งต่างจากฮาร์ดแวร์ ที่สามารถจับต้องได้ ซอฟต์แวร์จึงหมายรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภทที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้

ประเภทของซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์มีมากมาย ซอฟต์แวร์เหล่านี้อาจได้รับการพัฒนาโดยผู้ใช้งานเอง หรือผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ผลิตจำหน่าย ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทดังนี้

1. ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)

คือซอฟแวร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการระบบ การจัดสรรทรัพยากร และดำเนินงานพื้นฐานต่างๆในระบบ เช่น การจัดสรรหน่วยประมวลผลกลาง การจัดสรรหน่วยความจำต่างๆ การจัดการข้อมูลในแฟ้มข้อมูลบนหน่วยความจำสำรอง การรับข้อมูลจากแป้นพิมพ์แล้วแปลความหมายให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ การนำข้อมูลไปแสดงบนจอภาพหรือนำออกไปยังเครื่องปริ้น เป็นต้น ซอฟต์แวร์ระบบนับว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่มีความสำคัญต่อคอมพิวเตอร์ เนื่องจากโปรแกรมแรกที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานหลังจากเปิดเครื่อง คือ ซอฟต์แวร์ระบบ หากไม่มีซอฟต์แวร์ระบบคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง

ซอฟต์แวร์ระบบสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ระบบปฏิบัติการ (Operating system: OS) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมและประสานงานระหว่างอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์ทั้งหมดตั้งแต่ CPU หน่วยความจำไปจนถึงหน่วยนำเข้าและส่งออก บางครั้งนิยมเรียกรวมว่า แพลตฟอร์ม(Platform) คอมพิวเตอร์จะทำงานได้จำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการติดตั้งอยู่ภายในเครื่องก่อน ตัวอย่างระบบปฏิบัติการที่สำคัญ และควรรู้ มีดังนี้ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์(Microsoft Windows) ระบบปฏิบัติการแมคอินทอช(Macintosh) ระบบปฏิบัติการลินุกซ์(Linux) ระบบปฏิบัติการดอส (dos) และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android)

2. ตัวแปลภาษา(Translator) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่เขียนขึ้นด้วยภาษาที่ไม่ใช่ภาษาเครื่อง หรือภาษาเครื่องที่ไม่เข้าใจให้เป็นภาษาเครื่องที่สามารถรู้และเข้าใจได้ และเครื่องนำไปปฏิบัติได้ เช่น ภาษา BASIC, COBOL, C, PASCALFORTRAN, ASSEMBLY เป็นต้น

2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์(Application Software)

เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้กับงานด้านต่างๆ ตามความต้องการของผู้ใช้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ปัจจุบันมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานทางด้านต่างๆ ออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การประยุกต์งานคอมพิวเตอร์จึงกว้างขวางและแพร่หลาย อาจแบ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ซอฟต์แวร์สำเร็จ และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเฉพาะงาน ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน เป็นต้น

1. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไป (General purpose Software)

เป็นซอฟต์แวร์ เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเพื่อไปประยุกต์ใช้งานกับ เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเพื่อไปประยุกต์ใช้งานกับงานทั่วไปงาน ผู้ใช้ต้องเลือกซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน เช่น การพิมพ์รายงาน การสร้างตารางทำงาน การนำเสนอผลงาน เป็นต้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทั่วไปแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้

ซอฟต์แวร์ประมวลคำ (Word processing Software)

เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้สำหรับการพิมพ์เอกสาร สามารถแก้ไข เพิ่ม แทรก ลบ และจัดรูปแบบเอกสารได้อย่างดี เอกสารที่พิมพ์ไว้จัดเป็นแฟ้มข้อมูล เรียกมาพิมพ์หรือแก้ไขไม่ได้ การพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ก็มีรูปแบบตัวอักษรให้เลือกหลายรูปแบบ เอกสารจึงดูเรียบร้อยและสวยงาม ปัจจุบันมีการเพิ่มขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประมวลคำอีกมากมาย ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Microsoft Word เป็นต้น

ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน (Spreadsheet Software)

เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการคิดคำนวณ การทำงานของซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ใช้หลักการเสมือนมีโต๊ะทำงานที่มีกระดาษขนาดใหญ่วางไว้มีเครื่องมือคล้ายปากกา ยางลบ และเครื่องมือคำนวณเตรียมไว้ให้เสร็จ บนกระดาษมีช่องให้ใส่ตัวเลข ข้อความหรือสูตร สามารถสั่งให้คำนวณตามสูตรหรือตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซอฟต์แวร์ตารางทำงานที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Microsoft Excel เป็นต้น

ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล (Database management Software)

เป็นการใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง คือ การใช้เก็บข้อมูล และจัดการกับข้อมูลที่เก็บในคอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล การรวบรวมข้อมูลหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกันไว้ในคอมพิวเตอร์ เราเรียกว่า ฐานข้อมูล(database) ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจึงหมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการเก็บ การเรียกค้นมาใช้ การทำรายงาน การสรุปข้อมูล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Microsoft Access, dBase, Paradox, FoxBase เป็นต้น

ซอฟต์แวร์นำเสนอ (Presentation Software)

เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับนำเสนอข้อมูล การแสดงผลต้องสามารถดึงดูดความสนใจ ซอฟต์แวร์เหล่านี้จึงเป็นซอฟต์แวร์ที่นอกจากจะสามารถแสดงข้อความในลักษณะที่จะสื่อความหมายได้ง่ายแล้ว จะต้องสร้างแผนภูมิ กราฟ และรูปภาพได้ ตัวอย่างของซอฟต์แวร์นำเสนอ เช่น Microsoft Powerpoint, Open Office impress เป็นต้น

ซอฟต์แวร์ทางด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย (Graphic and Multimedia Software)

เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการจัดการทำงานด้านกราฟิกและมัลติมีเดีย มีความสามารถเสมอว่าเป็นผู้ช่วยในการออกแบบชิ้นงานเกี่ยวกับการตกแต่งภาพ วาดภาพ ปรับเสียง ตัดต่อภาพเคลื่อนไหว รวมถึงการสร้างและออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ทางด้านกราฟิกและมัลติมีเดียที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น Adobe indesign, Adobe Illustrator, Adobe Photoshop เป็นต้น

ซอฟต์แวร์การใช้งานบนเว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร (Website and Communication Software)

จากการเจริญเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่องานเฉพาะอย่างเพิ่มมากขึ้น มีทั้งกันตรวจเช็คอีเมล เข้าเว็บไซต์ การจัดการและการดูแลเว็บไซต์ ส่งข้อความติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการประชุมทางไกลผ่านเครือข่าย ตัวอย่างซอฟต์แวร์การใช้งานบนเว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร เช่น Microsoft Outlook, Microsoft netmeeting, Skype, Line เป็นต้น

2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน

เป็นโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับนำไปใช้เฉพาะด้านหรือในสาขาใดสาขาหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้ โดยที่ผู้เขียน คือ โปรแกรมเมอร์ ที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ และต้องศึกษาทำความเข้าใจการทำงานและรายละเอียดของการประยุกต์นั้นเป็นอย่างดี เช่น โปรแกรมเช็คการเข้าแถวของโรงเรียนโนนจานวิทยา โปรแกรมช่วยเหลือจัดการด้านการเงิน โปรแกรมช่วยจัดการบริการลูกค้า เป็นต้น โดยปกติแล้วจะไม่สามารถเห็นซอฟต์แวร์ประเภทนี้ในท้องตลาดทั่วไป แต่จะซื้อหาได้จากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูงกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานทั่วไป แบ่งออกได้ดังนี้

- ซอฟต์แวร์สำหรับงานธุรกิจ ได้แก่ ระบบงานบัญชีเจ้าหนี้ ระบบบัญชีทรัพย์สินถาวร

- ซอฟต์แวร์ระบบงานจัดจำหน่าย ได้แก่ ระบบงานรับใบสั่งซื้อสินค้า ระบบงานบริหารสินค้าคงคลัง

- ซอฟต์แวร์ระบบในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ระบบงานกำหนดโครงสร้างผลิตภัณฑ์ การวางแผนกำลังการผลิต

- ซอฟต์แวร์อื่น ๆ ได้แก่ ระบบสร้างรายงาน การบริหารการเงิน การเช่าซื้ออหังสาริมทรัพย์ การเช่าซื้อรถยนต์

ข้อมูลอ้างอิง: ณัฏฐ์ โอธนาทรัพ และคณะ. 2562. การจัดการข้อมูลสารสนเทศ. ใน ดร.ฉัททวุฒิ พืชผล(บรรณาธิการ), เทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1(73-85). บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด 142 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200