การประมวลผลข้อมูลสารสนเทศ

ในปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจต้องอาศัยข้อมูลเป็นหลัก จึงมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการข้อมูลอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ ข้อมูลเป็นหัวใจของการดำเนินงานเป็นแหล่งความรู้ที่จะใช้ในการประกอบการตัดสินใจ บริษัทหรือองค์กรจึงดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล และปกป้องดูแลข้อมูลของตนเป็นอย่างดี

การประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ สำคัญอย่างไร?

การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การรวบรวม การตรวจสอบ การดำเนินการประมวลผลข้อมูล ให้กลายเป็นสารสนเทศ และการดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อใช้งานควรประกอบด้วย

1. การรวบรวมข้อมูล

เป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งมีจำนวนมาก และต้องเก็บให้ได้อย่างทันเวลา เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนเรียนของนักเรียน ข้อมูลประวัติบุคลากร อยู่บ้านมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก เช่น การป้อนข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ การอ่านรหัสแท่ง การตรวจใบลงทะเบียนที่มีการผลดินสอดำในตำแหน่งต่างๆ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

2. การตรวจสอบข้อมูล

เมื่อมีการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข้อมูลที่เก็บเข้าในระบบจะต้องมีความเชื่อถือได้ หากพบสิ่งที่ผิดพลาดต้องแก้ไข การตรวจสอบข้อมูลมีหลายวิธี เช่น การให้ผู้ป้อนข้อมูลสองคนป้อนข้อมูลชุดเดียวกันเขาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

การประมวลผล ข้อมูล ให้เป็น สารสนเทศ (Information processing)

คือ การกระทำของเครื่องคอมพิวเตอร์กับข้อมูล เช่น การรวบรวมข้อมูลเป็นแฟ้มข้อมูล การคำนวณ การเปรียบเทียบ การเรียงลำดับ การจัดกลุ่มข้อมูล การทำรายงาน เป็นต้น

ข้อมูลเข้า(input)

ข้อมูลนักเรียนแต่ละคน เช่น ชื่อ ผลการเรียน เป็นต้น

การประมวลผล (Process)

คอมพิวเตอร์ประมวลผลโดยการเรียงข้อมูลและจัดกลุ่มข้อมูล

  • การรวบรวมเป็นแฟ้มข้อมูล หมายถึง การพิมพ์ข้อมูลและบันทึกไว้เป็นแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว

  • การคำนวณ หมายถึง การนำข้อมูลที่เป็นตัวเลขคำนวณด้วยการดำเนินการทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก การลบ การคูณ การหารข้อมูลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้ใช้ต้องการอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

  • การเปรียบเทียบ หมายถึง การดำเนินการเปรียบเทียบทางตรรกะ เช่น มากกว่า น้อยกว่า เท่ากับ หรือไม่เท่ากับ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

  • การเรียงลำดับ หมายถึง การเรียงข้อมูลตามลำดับตัวเลขหรือการเรียงลำดับตามตัวอักษรเพื่อให้ค้นหาข้อมูลได้ง่าย

การจัดกลุ่มข้อมูล หมายถึง การจัดกลุ่มข้อมูลตามเพศของนักเรียนเพื่อให้ผู้ใช้เลือกดูข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ข้อมูลออก (Output)

สารสนเทศ กราฟแสดงผลการเรียนของนักเรียนระดับต่าง ๆ

วิธีการประมวลผลข้อมูล

1. การประมวลผลแบบเชื่อมตรง (Online processing)

เป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลแต่ละรายการที่จดบันทึกเข้ามาประมวลผลทันที นิยมใช้งานที่ต้องได้ผลลัพธ์ให้กับผู้ใช้ทันที หรืองานที่ข้อมูลจะต้องทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อนักเรียนเบิกเงินจากตู้ ATM รายการการเบิกเงินของนักเรียนแต่ละครั้งจะไปประมวลผลที่เครื่องหลักที่อาจอยู่ห่างไกลทันที โดยข้อมูลจะถูกนำไปคำนวณและบันทึกยอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากของนักเรียนทันที เป็นต้น

การประมวลผลแบบกลุ่ม (Batch processing)

เป็นการรวบรวมข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาหนึ่ง และนำข้อมูลที่ได้รับในช่วงเวลาดังกล่าวมาประมวลผลพร้อมกัน เช่น การเก็บข้อมูลเวลาเข้าออกของนักเรียน เมื่อถึงสิ้นเดือนโรงเรียนจะนำข้อมูลมาประมวลผลเป็นรายงานในการเข้าชั้นเรียนของนักเรียนประจำเดือน เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง: ณัฏฐ์ โอธนาทรัพ และคณะ. 2562. การจัดการข้อมูลสารสนเทศ. ใน ดร.ฉัททวุฒิ พืชผล(บรรณาธิการ), เทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1(70-72). บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด 142 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200