ระบบทางเทคโนโลยี

เทคโนโลยีกับมนุษย์

เทคโนโลยี มีองค์ประกอบของหลายส่วนที่ถูกออกแบบทำให้ทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกออกแบบและจัดวางให้ทำงานร่วมกัน การทำงานของแต่ละชิ้นส่วนจะสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเราเรียกองค์รวมของการทำงานที่สัมพันธ์นี้ว่า “ระบบ”

ระบบ คืออะไร?

ระบบ(System) หมายถึง การรวมกันของกลุ่มขององค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป ที่ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เดียวกัน หรือเป็นการทำงานร่วมกันของส่วนแต่ละส่วนที่มีความเกี่ยวข้องและความสัมพันธ์กัน สามารถจำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ระบบของธรรมชาติ

หมายถึง ระบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ระบบนิเวศ ระบบร่างกายมนุษย์(ระบบเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร) เป็นต้น

2. ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น

หมายถึง ระบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการ หรือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้เพื่ออํานวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น ระบบรถ ระบบเครื่องบิน ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น ระบบทางเทคโนโลยีถือว่าเป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์

เป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้พลังงานทดแทน และยังเป็นพลังงานธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน

เป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อบริหารจัดการลำเลียงไฟฟ้า ไปใช้งานในที่ต่างๆ ภายในบ้าน

ระบบทางเทคโนโลยี คืออะไร?

ระบบทางเทคโนโลยี (Technology System) หมายถึง กลุ่มของส่วนต่างๆ ตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไปประกอบเข้าด้วยกันและทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ โดยในการทำงานของระบบทางเทคโนโลยีประกอบไปด้วย ตัวป้อน(input) กระบวนการ (process) และผลผลิต (output) ที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ระบบทางเทคโนโลยีอาจจะมี ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) เพื่อใช้ในการปรับปรุงการทำงานได้ตามวัตถุประสงค์

การวิเคราะห์ระบบทางเทคโนโลยีช่วยให้เข้าใจองค์ประกอบและการทำงานของเทคโนโลยี รวมถึงสามารถปรับปรุงให้เทคโนโลยีทำงานตามความต้องการ

ข้อมูลหรือสิ่งที่ป้อนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของมนุษย์

ขั้นตอนหรือวิธีการดำเนินการในระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ต้องการ

ผลที่ได้จากกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบ อาจได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือการทำงานใหม่ๆ เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลที่ใช้ป้อนกลับสู่ระบบ เพื่อให้ระบบเกิดการทำงานอย่างสมบูรณ์หรือบรรลุตามความต้องการ โดยระบบแต่ละระบบอาจจะมีข้อมูลย้อนกลับหรือไม่มีข้อมูลย้อนกลับได้

การวิเคราะห์การทำงานของเทคโนโลยี การที่ระบบจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเราจำเป็นต้องวิเคราะห์การทำงานของระบบเทคโนโลยี นั่นคือ การตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของระบบเทคโนโลยีในทุกองค์ประกอบ ว่ามีการทำงานอย่างเป็นระบบหรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไร การวิเคราะห์ระบบเทคโนโลยีจะทำให้ทราบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไข ก่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังรวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะที่เกิดจากเทคโนโลยี เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์ระบบทางเทคโนโลยี

การทำฝนเทียม เป็นวิธีการดัดแปรสภาพอากาศทำให้เกิดฝน โดยทำจากเมฆที่มีลักษณะพอเหมาะที่จะเกิดฝน จากนั้นใช้สารเคมีช่วยเร่งให้เมฆเกิดควบแน่นและเกิดการกลั่นตัวกลายมาเป็นฝน