เทคโนโลยีกับชีวิต

การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของเทคโนโลยี

มนุษย์ได้พยายามศึกษาค้นคว้าความรู้ต่าง ๆ จนเกิดความรู้ใหม่ และนำมาสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง หรือสังคม รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ดีกว่าเดิม จึงทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนายานพาหนะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงาน

พัฒนาการของยานพาหนะจากอดีตถึงปัจจุบัน
พัฒนาการของยานพาหนะจากอดีตถึงปัจจุบัน

ปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

เทคโนโลยีทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาคิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายต่อชีวิตมนุษย์ได้อย่างมากมาย อีกทั้งเป็นตัวการสำคัญในการเข้ามาเสริมปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นอย่างดี และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีด้านการผลิตทำให้สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้สินค้ามีราคาถูกลง เทคโนโลยีด้านบริการได้มีส่วนช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว

ในปัจจุบันมนุษย์ได้ค้นพบ และสร้างองค์ความรู้มากมายหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมาก คือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กล่าวคือ วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เช่น กาลิเลโอพบว่าก้อนหิน 2 ก้อนที่มีมวลไม่เท่ากัน เมื่อปล่อยจากระดับความสูงเดียวกันให้ตกลงมาพร้อม ๆ กันก้อนหินจะตกถึงพื้นพร้อมกันทุกครั้ง ต่อมานิวตันจึงได้นำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ คือเข้ามาพิสูจน์สิ่งที่สังเกตจึงสามารถใช้สมการเพื่อไขความลับการตกของวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่มีการอธิบายในรูปแบบของสมการทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำจึงช่วยให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย เช่น เทคโนโลยีอวกาศที่อาศัยแรงดันมหาศาลและความเร็วสูงมากๆที่จะทำให้ยานเคลื่อนที่หลุดออกจากแรงโน้มถ่วงของโลก

วิวัฒนาการของโทรศัพท์

กิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องใช้พลังงานในการทำงาน ความต้องการพลังงานอย่างมหาศาลจึงเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีเชื้อเพลิงจาก ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานธรรมชาติ และทรัพยากรเหล่านี้มีจำนวนจำกัด สามารถหมดไปได้ในอนาคต ดังนั้น ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน คือ การใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งก่อให้เกิดเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลมใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหรือสูบน้ำจากกังหันลม พลังงานความร้อนใต้พิภพใช้ในการนำความร้อนหรือทำความร้อนให้บ้านเรือนโดยใช้ปั๊มความร้อน

ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง คือ การตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ความก้าวหน้าของศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่เทคโนโลยีที่สะดวกสบายก็ก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่างต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การใช้รถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ที่ปล่อยเขม่า ฝุ่น ควันดำออกมา ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ดังนั้น เราควรเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรง 3 ด้าน คือ ด้านมนุษย์และสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม

1. ด้านมนุษย์และสังคม

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีผลโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต หรือรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ดังนี้

การนำโดรนมาใช้ในการเกาตร

1.1 ความต้องการของสังคม

แรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี คือ สังคมบริเวณนั้นต้องการเทคโนโลยีในรูปแบบใด เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น นำไปแก้ปัญหาทางการเกษตร การสื่อสารของชุมชน ระบบรักษาความปลอดภัย การเดินทาง เครื่องมือช่วยเหลือผู้สูงอายุ

การรวมองค์ความรู้และประสบการณ์มาสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ

1.2 ความก้าวหน้าของวิทยาการ

เป็นการนำองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ หรือแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เพื่อนำไปสู่การสร้างเครื่องมือทางเทคโนโลยี และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งได้นำความรู้ใหม่ ๆ หลายแขนงมาปรับเปลี่ยนจากเดิม หรือทำขึ้นใหม่ทดแทน จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยู่เสมอซึ่งความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยศาสตร์ที่มีความสำคัญก็คือวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั่นเอง

1.3 การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ว่า “วิถีการดำเนินชีวิต ( the way of Life)” ของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่ วิธีการแต่งกาย วิธีทำงาน วิธีพักผ่อน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีสื่อความหมาย วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธีแสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิตที่คนส่วนใหญ่ในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมใดตอบสนองความต้องการมนุษย์ได้มากกว่า ก็จะถูกนำมาใช้แพร่หลายอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นกว่าจะทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายมากกว่า และก็จะนำมาแทนเทคโนโลยีที่เก่ากว่า จนกระทั่งในที่สุดมนุษย์อาจจะเลิกใช้วัฒนธรรมเดิม ดังนั้นเทคโนโลยีที่มาที่มาของวัฒนธรรมใหม่หลายอย่าง เช่น การค้นหาข้อมูลในการเรียน ในอดีตนักเรียนจะต้องเข้าห้องสมุดค้นหาความรู้ ปัจจุบันนักเรียนสามารถค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วแต่ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องเนื่องจากบางแหล่งข้อมูลเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วัฒนธรรมในสังคมจะเปลี่ยนแปลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสังคมนั้นมีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมภายนอกได้สะดวกมากน้อยหรือไม่ โอกาสที่วิทยาการต่าง ๆ เข้าสู่สังคมย่อมมีผลกระทบต่อวัฒนธรรม ปัจจุบันวิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้าไปมากประกอบกับมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อกันทั่วโลกจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว

2. ด้านเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อการดำเนินธุรกิจโดย ส่งผลให้ระบบการทำงานขององค์กรดีขึ้น และสร้างกำไรให้ธุรกิจมากขึ้น เช่น การผลิต การตลาดและการขาย การเงินและการบัญชี

การค้าขายส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ
การคมนาคมส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

3. ด้านสิ่งแวดล้อม

สภาพแวดล้อมแต่ละที่ย่อมแตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดความต้องการหรือพัฒนาเทคโนโลยีแตกต่างกันไป เพราะเจอปัญหาจากสภาพแวดล้อมจึงต้องมีเทคโนโลยีในการป้องกัน เพื่อดำรงชีวิตให้ได้ แต่บางพื้นที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างพลังงานได้เช่นกัน เช่น พลังงานลมพลังงาน น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้นเมื่อใช้เทคโนโลยีในการสร้างพลังงานแล้วยังต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และมลพิษที่ต้องมีการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้มลพิษถูกปล่อยสู่ธรรมชาติหรือต้องมีการบำบัดให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติเพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้คนในบริเวณนั้นที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตด้วย

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถจัดการหรือควบคุมธรรมชาติได้และเพื่อให้มนุษย์สะดวกสบายมนุษย์ได้รับประโยชน์มากขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง: เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล. 2562. เทคโนโลยีกับชีวิต. ใน ดร.ฉัททวุฒิ พืชผล(บรรณาธิการ), เทคโนโลยี(การออกแบบและเทคโนโลยี) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2(2-8). บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด 142 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200