บริษัทอักษร เอ็คดูเคชั่น จำกัน (มหาชน) ร่วมกับสถาบันภาษาไทยและวิทยากรทรงคุณวุฒิ สัมมนาวิชาการ "ภาษาไทย ภาษาชาติ" ตามกรอบแนวคิด สมรรถนะภาษาไทยกับการพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนไทย สู่การศึกษาประเทศไทย 4.0 ฯลฯ
วันที่โพสต์: Dec 15, 2017 3:21:2 AM
ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาไทยก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรได้รับการพัฒนาควบคู่ไปด้วย ซึ่งหากนับในเรื่อง "ภาษา" การใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ "ภาษาไทย" ที่เป็นรากเหง้าของคนไทย เป็นภาษาประจำชาติ ที่ยังมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 บริษัทอักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการ "ภาษาไทย ภาษาชาติ" ตามกรอบแนวคิด สมรรถนะภาษาไทยกับการพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนไทย สู่การศึกษาประเทศไทย 4.0 ซึ่งภายในงานมีทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งคณาจารย์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เข้าร่วมสัมมนา
ประเด็นในการสัมมนาตลอดทั้งวัน เน้นในเรื่องการพัฒนาผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนสู่การศึกษาประเทศไทย 4.0 เริ่มต้นที่บทบาทของครู นับเป็นความท้าทายใหม่ของครูภาษาไทย ที่ควรปรับให้เป็นการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) เพื่อกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของนักเรียน เมื่อผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้จะสามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ สามารถใช้ "ภาษาไทย" เพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง ในยุคที่ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ไม่ใช่แค่ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ยังต้องมีทักษะการวิเคราะห์ และประยุกต์ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นสากลที่พึงประสงค์ของเด็กยุคใหม่
"ภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญ เพราะคนไทย ไม่ว่าจะคิดหรือทำอะไร จะอยู่ในพื้นฐานของภาษาไทย การเรียนในวิชาอื่นๆ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผู้เรียนต้องคิด ซึ่งการคิดให้ได้ดี ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ภาษาที่ดี ถ้าเราทำให้เด็กมีพื้นฐานการใช้ภาษาที่แม่นยำ ก็จะทำให้เด็กสามารถคิดได้ดี และจะต่อยอดไปเรื่องต่างๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ การเรียนภาษาไทย ไม่ใช่เรียนเพื่อพูดเป็น สะกดเป็น แต่ต้องเรียนเพื่อให้สื่อสารอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นภาษาไทยจะจำเป็นมาก" นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ อาจารย์ดวงใจ บุญยะภาส ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังได้ฝากถึงเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องทั้งในบทบาทของครูและนักเรียน "เมื่อเรายังใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันอยู่ ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ทั้งคุณครูผู้สอน นักเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน แม้จะมีสื่อโซเชียลต่างๆ แต่ถ้าครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนโดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง นักเรียนก็จะซึมซับได้ ต่อให้ภาษาไทยจะมีคำวัยรุ่น คำสแลง เกิดขึ้นมากมาย แต่คำเหล่านี้อยู่ได้ไม่นานก็จะหายไป แต่ภาษาที่ถูกต้องมันจะยังคงอยู่ สพฐ. เอง จึงมีนโยบายให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องอยู่เสมอ"