รู้รักภาษาไทย

วัน พฤหัส ที่ ๓ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒

ขอเสนอคำว่า สีไว้ทุกข์

เดิมการไว้ทุกข์ของคนไทย เสฐียรโกเศศ (อ่านว่า สะ-เถียน-โก-เสด) เขียนไว้ในเรื่อง “ประเพณีเนื่องในการตาย” ว่า มีทั้งนุ่งดำ นุ่งขาว นุ่งน้ำเงิน และนุ่งสีนกพิราบ ลางทีแถมโกนหัวด้วย นิยมกันว่า ถ้าผู้ไว้ทุกข์เป็นผู้ใหญ่กว่าผู้ตาย หรือมีอายุและยศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้ตาย ก็ใช้แต่งดำล้วน ถ้าผู้ไว้ทุกข์เป็นญาติชั้นผู้น้อยหรือเป็นบริวารของผู้ตาย ก็ใช้แต่งขาวล้วน ส่วนผู้ที่ไปร่วมงานจะไม่ใส่ดำล้วน อาจมีเพียงติดปลอกดำพันแขนเสื้อเท่านั้น

ปัจจุบันนิยมแต่งสีดำล้วน ไม่ว่าผู้ตายจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า ส่วนผู้ชายเมื่อแต่งสูทหรือแต่งชุดข้าราชการปรกติขาวหรือชุดเต็มยศ ให้ติดปลอกแขนสีดำที่แขนเสื้อข้างซ้าย

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.