รู้ รัก ภาษาไทย

วัน อังคาร ที่ ๑๑ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า หมาเห่าใบตองแห้ง

หมาเห่าใบตองแห้ง เป็นสำนวน มีความหมายว่า พูดเอะอะแสดงวาจาว่าเป็นคนเก่งกล้าไม่กลัวใคร แต่จริง ๆ แล้วขี้ขลาดและไม่กล้าจริง

หมาเห่าใบตองแห้ง เป็นสำนวนที่เปรียบเทียบกับสุนัขที่ชอบเห่าใบตองแห้ง คือเห่าใบกล้วยที่แห้งติดอยู่กับต้น เวลาลมพัดใบกล้วยแห้งจะแกว่งหรือเสียดสีกัน มีเสียงแกรกกราก. สุนัขเห็นอะไรไหว ๆ หรือได้ยินเสียงแกรกกรากก็จะเห่าขึ้น แต่ก็เห่าไปอย่างนั้นเอง ไม่กล้าไปกัดใบตองแห้ง. กิริยาของสุนัขนี้จึงนำมาเปรียบกับคนที่ชอบพูดจาเอะอะในลักษณะที่อวดตัวว่าเก่งกล้า แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้กล้าสมกับคำพูด เช่น พวกนี้หมาเห่าใบตองแห้งทั้งนั้น ได้แต่ตะโกนด่าเขาลับหลัง ถ้าเขาเอาจริงก็ขี้คร้านจะวิ่งหนีไม่ทัน.

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน พุธ ที่ ๑๒ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า ยักษ์วัดโพธิ์

ยักษ์วัดโพธิ์ เป็นประติมากรรมอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑปหรือหอไตรจัตุรมุขของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มีลักษณะเป็นรูปยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ การสร้างรูป “ยักษ์” รักษาประตูวัดพระเชตุพนนั้น มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยักษ์ปูนปั้นที่เฝ้าประจำประตูทั้ง ๔ ประตูชำรุด จึงโปรดให้รื้อแล้วนำลั่นถันหรือรูปตุ๊กตาศิลาจีนมาตั้งแทน. และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ขนาดเล็กสูงประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร จำนวน ๘ ตน ตั้งไว้ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก ปัจจุบันรูปยักษ์วัดโพธิ์ ที่ซุ้มพระมณฑป ๒ คู่แรกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วน ๒ คู่หลังอยู่ที่ประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ มักมีผู้เข้าใจผิดว่าลั่นถันหรือตุ๊กตาศิลาจีนที่ตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้าวัดโพธิ์นั้นเป็นยักษ์วัดโพธิ์

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน พฤหัส ที่ ๑๓ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า สวรรคต

วัน ศุกร์ ที่ ๑๔ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า เสร็จสู่สวรรคาลัย

วัน จันทร์ ที่ ๑๗ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า เถลิงถวัลยราชสมบัติ

คำว่า เถลิงถวัลยราชสมบัติ (ถะ-เหฺลิง-ถะ-หฺวัน-ละ-ยะ-ราด-ชะ-สม-บัด) เป็นคำกริยาราชาศัพท์ประกอบด้วยคำว่า เถลิง (ถะ-เหลิง)

ถวัลย (ถะ-หวัน) และราชสมบัติ (ราด-ชะ-สม-บัด) เถลิง เป็นคำที่รับมาจากคำภาษาเขมรว่า เฬิง (เลิง) แปลว่า ขึ้น แล้วนำมาแผลงเป็นคำว่า เถลิง คำว่า ถวัลย์ แปลว่า ครองคำว่า เถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงแปลว่า ขึ้นครองราชสมบัติ หมายความว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อสิ้นรัชกาลก่อน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ และครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน อังคาร ที่ ๑๘ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์

ยศถาบรรดาศักดิ์ ประกอบด้วยคำว่า ยศ ถา และ บรรดาศักดิ์

ยศ หมายถึง เกียรติคุณ เครื่องกำหนดฐานะหรือชั้นของบุคคลที่รับราชการเป็นทหารหรือตำรวจ เช่น สิบตรี ร้อยโท พันเอก พลตรี

ถา เขียน ถ ถุง สระอา เป็นคำภาษาไทยถิ่นเหนือ ตรงกับคำว่า ตรา ในภาษาไทยมาตรฐาน หมายถึง เครื่องหมายสำหรับประทับเพื่อแสดงหลักฐานไว้เป็นสำคัญ และหมายถึง เครื่องประดับซึ่งเป็นราชอิสริยาภรณ์

บรรดาศักดิ์ หมายถึง ฐานะของขุนนางซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน เช่น ขุน หลวง พระ พระยา

เมื่อรวม ยศ ถา และ บรรดาศักดิ์ เป็น ยศถาบรรดาศักดิ์ มีความหมายว่า ยศ เกียรติคุณ และฐานะของบุคคล

คำว่า ถา เขียน ถ ถุง สระอา ไม่ใช่ ฐ ฐาน สระอา

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน พุธ ที่ ๑๙ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า พระราชทาน

พระราชทาน เป็นคำราชาศัพท์ แปลว่า การให้ของพระราชา ใช้หมายถึงกริยา ให้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้อื่น สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งของ เช่น พระราชทานบ้าน. อาจเป็นเงิน เช่น พระราชทานทุนการศึกษา พระราชทานทรัพย์ช่วยผู้ประสบภัย. สิ่งที่ให้เป็นยศถาบรรดาศักดิ์ เช่น พระราชทานยศนายพล พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. สิ่งที่ให้เป็นนามธรรม เช่นพระราชทานพระเมตตา. เป็นสิ่งประดิษฐ์ เช่น พระราชทานกังหันชัยพัฒนา.

คำว่า พระราชทาน เป็นคำราชาศัพท์แล้ว จึงไม่ต้องเติมคำว่า ทรง ข้างหน้า. ใช้ว่า พระราชทาน เท่านั้น ไม่ใช่ ทรงพระราชทาน

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน พฤหัส ที่ ๒๐ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า กำหนดการ-หมายกำหนดการ

กำหนดการ คือ ระเบียบการที่บอกขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ เป็นเอกสารแจ้งขั้นตอนงานทั่ว ๆ ไปที่เอกชนหรืองานที่ราชการจัดขึ้น ถึงแม้งานนั้นอาจจะมีการกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินก็ตาม ก็ยังคงใช้ว่า กำหนดการ เช่น กำหนดการเปิดงานวันปีใหม่ของโรงเรียน. กำหนดการพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์. กำหนดการวันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน. กำหนดการพระราชทานปริญญาบัตร. กำหนดการประชุมทางวิชาการ

หมายกำหนดการ คือ เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรม-ราชโองการ คือ ต้องขึ้นต้นด้วยข้อความว่า “นายกรัฐมนตรี (หรือ เลขาธิการพระราชวัง) รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งว่า ” ในทางปฏิบัติ จะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการพระราชวังลงนามสนองพระบรมราชโองการ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

วัน อังคาร ที่ ๒๕ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑

ขอเสนอ คำว่า กุหลาบพระนามสิรินธร

กุหลาบพระนามสิรินธร เป็นไม้ปลูกประเภทกุหลาบพุ่มชนิดดอกโต ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อนแน่น. กุหลาบพระนามสิรินธรเป็นกุหลาบพันธุ์ใหม่ กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ Madras

(อ่านว่า มัด-ดร้าส) ซึ่งเป็นกุหลาบพันธุ์ดอกโตสีชมพูแกมม่วง ที่ได้คัดการเลือกให้เป็นกุหลาบแห่งปีของสหรัฐอเมริกา. เจ้าของฟาร์มกุหลาบแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรีได้สั่งมาปลูก ปลูกได้ประมาณ ๒-๓ เดือน ก็พบว่าเกิดการกลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน ให้ต้นใหม่มีดอกสีชมพูเหลืองเหลือบ เจ้าของฟาร์มได้ทดลองด้วยการติดตาจนแน่ใจได้ว่าเป็นกุหลาบพันธุ์ใหม่ จึงได้ขอพระราชทานชื่อกุหลาบพันธุ์นี้ว่า “พระนามสิรินธร” และได้รับพระราชทานพระราชานุญาต

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.