มาตรฐานการเรียนรู้

มาตรฐาน ส 4.3 เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรักความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย

ตัวชี้วัด

1. วิเคราะห์พัฒนาการของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในด้านต่างๆ (ส 4.3 ม.3/1)

2. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ (ส 4.3 ม.3/2)

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. วิเคราะห์สาเหตุการเลือกกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีได้

2. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้


การสถาปนาราชธานี (กรุงรัตนโกสินทร์)

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงปราบจลาจลภายในกรุงธนบุรีและสร้างความมั่นคงภายในประเทศแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตั้งชื่อใหม่ว่ากรุงเทพฯ ทั้งนี้เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ คือ

  1. พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายอาณาเขตของพระราชวังให้กว้างขวางขึ้นได้

  2. พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้พระนครแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางเป็นเสมือนเมืองอกแตก ดังเช่น เมืองพิษณุโลก สุพรรณบุรี เพราะหากข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำ ก็สามารถบุกตีใจกลางเมืองหลวงได้ ทำให้ยากแก่การป้องกันพระนคร ครั้นจะสร้างป้อมปราการทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองมาก ทำให้ยากแก่การเคลื่อนพลจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ดังนั้นพระองค์จึงย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว โดยมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตก และใต้ ส่วนทางด้านตะวันออกและทางด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร

  3. ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใดๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ

กรุงรัตนโกสินทร์มีความเหมาะสมในการเป็นราชธานี ดังนี้

1) พื้นที่เป็นหัวแหลมมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองด้านตะวันตกและด้านใต้ ขุดคลองด้านเหนือและด้านตะวันออกสามารถป้องกันข้าศึกได้เป็นอย่างดี

2) พื้นที่นอกคูเมืองด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่มทะเลตม เป็นด่านป้องกันข้าศึกได้เป็นอย่างดี

3) สามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากเป็นท้องทุ่งโล่ง สิริมงคลแก่ราชธานีใหม่

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีรับสั่งให้สร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณหัวโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธนา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”

ในการสร้างพระมหาบรมราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นภายในด้วย คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐาน ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กรุงเทพฯ

ปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ จนเป็นกรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบัน มีดังนี้

1) มีเส้นทางออกสู่ทะเล ทำให้สะดวกในการติดต่อค้าขายกับชาติต่างๆ ได้สะดวก

2) มีลมมรสุมพัดผ่านทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุก เหมาะในการประกอบอาชีพเพาะปลูกของราษฎร

3) มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านลงสู่อ่าวไทยทำให้เหมาะสมในการเพาะปลูก และเป็นประโยชน์ในการค้าขาย

4) เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมทั่วโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งมาจากการหยุดพักเรือที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

5) พระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี

แบบฝึกหัดหลังเรียน

ให้นักเรียน ดาวน์โหลด แบบฝึกหัดโดย "คลิก" ที่ปุ่มกดด้านล่าง แล้วทำแบบฝึกหัดให้เรียบร้อย โดย 1. นักเรียนสามารถดาวน์โหลดแบบฝึกหัดแล้วปริ้นเองที่บ้านได้ 2. นักเรียนทำแบบฝึกหัดโดยการจดลงในสมุด 3. นักเรียนสามารถมารับใบงานได้ที่ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ โรงเรียนวารินชำราบ ห้อง 138

แล้วนำมาส่งที่ครูที่โรงเรียน

ข้อมูลเพิ่มเติม การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ : พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย

ณรัชช์อร คงลิ้มกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม[narachon1187@gmail.com]