การสร้างบ้านเมทัลชีท

การสร้างบ้านด้วยเมทัลชีท

การก่อสร้างอยู่ที่ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ สร้างเป็นอาคารสองชั้นขนาด 6x12 เมตร บนพื้นที่ 1 งาน ยังเหลือพื้นที่ด้านหลังใช้ประโยชน์ได้อีก ค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 330,000 บาท โดยทำ 1 ห้องนอน ขนาด 3x6 เมตร 1 ห้องน้ำ ขนาด 1.80x2.50 เมตร ยังไม่ได้ทำชั้นสองราคาค่าก่อสร้างจึงอยู่ที่สามแสนบาท ในอนาคต การทำห้องนอนอีก 2 ห้อง บนชั้นสอง และห้องน้ำ ประมาณค่าก่อสร้างน่าจะไม่เกินสองแสนบาท

อาคารนี้เป็นของแอดมินเพจรับสร้างบ้าน made2home ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ตั้งใจจะทำเป็นร้านเสื้อผ้ามือสอง เปิดห้องพักให้เป็นโฮมสเตย์ และเป็นศูนย์ประสานงานของ made2home ด้วย จึงวางแผนจะทำห้องพักอีกสองห้องบนชั้นสองเพื่อรองรับผู้ที่จะเข้าพักได้มากขึ้น เพื่อนบ้านหลังข้างๆ เขาให้เช่าเหมาหลังได้ราคา 6,000 บาทต่อวัน ในช่วงแข่งมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก

แบบในการก่อสร้างอาคารนี้มีรายละเอียดไม่มาก ช่างทั่วไปก็สามารถสร้างได้ บทความนี้อยากจะแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่มีงบประมาณจำกัดแบบเรา

การก่อสร้างเริ่มจากเตรียมพื้นที่ วัดและวางแนวตามแบบก่อสร้าง ขุดหลุมเพื่อทำตอหม้อเสาลึก 2 เมตร หล่อเสาปูนพร้อมเหล็กเส้น มัดเหล็กตะแกรงไวเมทกับเหล็กเส้นโครงเสาให้ติดกัน เทปูนลงหลุมรอบเสา ให้ก้านเหล็กพ้นเสาขึ้นมาเพื่อนำไปยึดกับแผ่นเพลท โดยเจาะรู้ให้เหล็กเส้นทะลุขึ้นมาแล้วเชื่อมให้ติดกับแผ่นเพลท เสาปูนและเพลทจะเป็นฐานให้เสาเหล็กนำมาเชื่อมให้ติดกัน ทำให้โครงสร้างเสาเป็นชุดเดียวกัน การตั้งเสาต้องให้ตั้งฉากมิฉนั้นจะทำให้เสาไม่ตรงมีผลต่อโครงสร้างของอาคารทั้งหมดได้ ทางช่างใช้ลูกรอกมาช่วยยกเสาและวัดระบบน้ำให้ตั้งตรงจนเชื่อมเสากับเพลทติดกันแน่น เสาที่ใช้เป็นเหล็ก i beam ขนาด 10 เซนติเมตร ซึ่งเล็กไปสำหรับโครงสร้างอาคารสองชั้น ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงไม่ได้เพิ่มขนาดเสา มีคานเหล็ก i beam เชื่อมกับเสาทุก ๆ สามเมตรและคานนี้จะเป็นโครงสร้างในการวางพื้นแบบสำเร็จบนชั้นสอง จะมีการทำพิธีลงเสาเอกตามภาพก่อนเทปูนทำตอหม้อเสา ตรงนี้แล้วแต่ความเชื่อถ้าทำได้ก็จะเป็นขวัญกำลังใจที่ดีของเจ้าของบ้าน

หลังจากทำตอหม้อและหล่อเสาปูนแล้ว บนพื้นดินจะมัดเหล็กเส้นยึดกับเสาปูนเพื่อทำคานคอดินตามแนวขอบของอาคารทั้งหมดและทำทุก ๆ 3 เมตร แต่ในการก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้ทำครบทุกช่วง คานคอดินจะเป็นโครงสร้างฐานของอาคาร เมื่อถมดินปรับระดับพื้นแล้วเทพื้นด้วยปูนซีเมนต์ คานคอดินจะช่วยไม่ให้พื้นแตกและทรุดตัวได้ การก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้ลงเสาเข็มเพราะดินแข็งและมีหินจำนวนมาก พื้นดินจึงจะไม่ทรุดตัวได้ง่ายเหมือนพื้นดินทั่วไป เมื่อถมดินได้ระดับแล้ว ก่อนเทพื้นปูนวางเหล็กตะแกรงไวเมทลงไปก่อนพร้อมผูกเหล็กให้ติดกับคานคอดิน การเทพื้นช่างผสมปูนเทพื้นเนื่องจากพื้นที่ไม่กว้างมากแล้วฉาบแบบหยาบ เพราะยังไม่ปูกระเบื้อง แต่ตั้งใจว่าอยากจะได้พื้นปูนเปลือย หรืออาจจะเทพื้นด้วยปูนผสมเสร็จจากรถผสมปูนจะทำให้งานเสร็จเร็วกว่า

ห้องนอนและห้องน้ำก่อกำแพงด้วยอิฐบล็อก ด้านที่ติดกับผนังเมทัลชีทจะก่ออิฐเป็นกำแพงอีกชุดขึ้นมาเลย จะก่อด้วยอิฐมวลเบาหรืออิฐมอญจะดีกว่าถ้ามีงบประมาณ ทางเราสร้างแบบเหมาราคาผู้รับเหมาก็จะใช้วัสดุที่ถูกลง หน้าต่างเป็นอลูมิเนียมทั้งหมด 6 บาน มีเหล็กดัดและมุ้งลวดครบชุด จะมีวงกบหน้าต่างที่เป็นเหล็กทำรอไว้ ประตูก็จะทำวงกบรอไว้เหมือนกัน คือจะไม่ได้ใช้วงกบสำเร็จรูป จะก่อกำแพงสูงสามเมตรแล้วปิดด้วยเพดานยิปซั่ม พื้นที่ที่เหลือจะใช้สำหรับขายเสื้อผ้ามือสอง ประตูทางเข้าหลักเป็นอลูมิเนียมแบบบานเลื่อนมีเหล็กดัดและกระจกในบานเดียวกัน ด้านหน้าจั่วมีประตูขนาด 80x200 ซม. อีกหนึ่งบาน สิ่งที่ได้ท้งหมดนี้อยู่ในราคาจ้างเหมาที่ผู้รับเหมาเสนอและจัดให้ตามงบประมาณที่ตกลงกันในราคาสามแสนบาท พื้นห้องนอน ห้องน้ำปูกระเบื้องแบบปกติ ตอนแรกว่าจะทำพื้นขัดมันแต่ครอบครัวไม่ชอบ ช่างบอกคิดราคาเท่ากันแต่พื้นหรือผนังขัดมันจะทำยากกว่า

เดินไฟฟ้าทั้งแสงสว่างและปลั๊กไฟ 8 จุด ต่อน้ำประปาและไฟฟ้าให้พร้อมเข้าอยู่ได้เลย ผู้รับเหมาให้สปอร์ตไลท์พลังงานแสงอาทิตย์สองดวงใหญ่ติดนอกบ้าน การก่อสร้างพื้นที่ขนาด 6x12 เมตร 72 ตร.ม. ในราคาสามแสนนี้ถือว่าสมเหตุสมผล บอกได้เลยว่าท่านจะไม่ได้ราคาถูกกว่านี้ในพื้นที่ที่เท่ากัน และมีความสูงอีก 6 เมตร ถ้าวัดที่ยอดหน้าจั่วจะสูง 7.80 เมตร

การเดินสายไฟต้องใช้ท่อ PVC รอยสายไฟไปตามโครงเหล็ก การเดินสายโดยไม่มีท่อจะทำได้ไม่สะดวกเพราะไม่มีผนังให้ติดคลิ๊ปรัดสายได้ ส่วนในห้องนอนมีการเดินสายไฟในท่ออลูมิเนียมเพื่อเพิ่มความแปลกตาไม่ให้ห้องนอนดูน่าเบื่อ

ผนังด้านในจะไม่ได้ปิดคือมีพนังด้านนอกด้านเดียวเป็นเมทัลชีท ส่วนห้องนอนและห้องน้ำทำด้วยอิฐบล็อกและทาสี ปูกระเบื้องแบบทั้วไปจึงไม่มีปัญหาเรื่องผนัง โดยปกติจะปิดผนังด้านในด้วยสมาร์ทบอร์ดเพื่อความสวยงาม ที่ไม่ได้ทำเพราะจะทำเป็นร้านขายของและมีงบประมาณจำกัดจึงปล่อยผนังด้านในเปลือย ในอนาคตสามารถปิดผนังด้วยสมาร์ทบอร์ดได้เลยเพราะมีโครงเหล็กของโครงสร้างเดิมอยู่แล้ว

ในส่วนของหลังคาใช้เมทัลชีทแบบมีโฟมหนา 5 ซม. กันความร้อนติดมาด้วยกัน จะช่วยกันความร้อนและช่วยไม่ให้หลังคาเสียงดังในเวลาที่ฝนตก หลังคาแบบนี้จำเป็นสำหรับอาคารเมทัลชีทและราคาจะสูงกว่าเมทัลชีทแบบธรรมดา นอกจากผู้สร้างจะพักอาศัยเองแล้วจะมีผู้เข้าพักที่มาใช้บริการด้วยจึงต้องใช้แบบที่มีฉนวนกันความร้อน

จุดที่ต้องให้ความสนใจอีกจุดคือ ช่วงคานคอดินและพื้นซีเมนต์ที่ชนกับเมทัลชีท จะมีโฟมอุดรูตรงจุดนี้เพื่อป้องกันน้ำและสัตว์เลื้อยคลานที่อาจจะเข้ามาทางช่องนี้ได้ ส่วนประตูและหน้าต่างจะมีการทาซิลิโคนเพื่อปิดร่องหรือรู้ที่แนบกับโครงเหล็กของผนังอาคาร จะมีการทำบัวรอบหน้าต่างและประตูเพื่อช่วยไม่ให้น้ำฝนซึมเข้ามาด้านในอีกด้วย

หน้าจั่วทั้งด้านหน้าและหลังปิดด้วยสมาร์ทบอร์ดที่มีช่องระบายอากาศขนาดเล็ก นกหรือแมลงตัวใหญ่จะเข้ามาไม่ได้แต่ลมจะเข้ามาได้เพื่อช่วยระบายอากาศภายในอาคาร

อาคารที่แบบก่อสร้างไม่ยุ่งยากแบบนี้เราอาจจะให้เจ้าหน้าที่ของ อบต. เขียนแบบให้เพื่อขออนุญาตก่อสร้างก็จะสะดวกกับผู้สร้างและลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแบบและเขียนแบบให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด


by made2home


*** งานเมทัลชีท จะรับงานได้ใน กรุงเทพ ขอนแก่น นะครับ บทความนี้เป็นการให้ข้อมูลความรู้ สำหรับผู้ที่อยากสร้างบ้านโครงสร้างเหล็ก งบประมาณไม่สูง

การทำหน้าต่าง ใช้กรอบบัวทำด้วยอลูมิเนียม จะยื่นพ้นกำแพงออกมาเพื่อเป็นคิวกันน้ำฝนรั่วเข้าไปในห้องนอน ยาแนวร่องระหว่างผนังด้วยซิลิโคนเพื่อกันน้ำเข้า เมื่อชุดหน้าต่างเสร็จจะยกเข้ามาใส่ในบัวนี้ได้เลย และยางแนวระหว่างสองส่วนด้วยซิลิโคนเช่นกัน

การวางท่อระบายน้ำจะวางจากด้านข้างด้านในและต่อเป็นมุนฉากออกไปที่ด้านหน้าของอาคารแล้วลงท่อระบายน้ำรวมที่ถนนทางเข้า ส่วนบ่อเกรอะมีหลายอันเพราะทำเผื่อไว้สำหรับการทำห้องพักชั้นสองที่พักได้ 8 คน และจะทำห้องน้ำเพิ่มอีก 4 ห้อง

ข้อบกพร่องในการก่อสร้าง

อันดับแรกคือ เสาเหล็กโครงสร้าง ขนาดเล็กไปเพราะได้ราคารับเหมาที่ไม่แพง บ้านข้าง ๆ สร้างโรงรถกับต่อเติมห้องเก็บของ พื้นที่เล็กกว่าเราประมาณ 1 ใน 3 ช่างรับเหมาที่ 250,000 บาท ของเรา 72 ตร.ม. สูง 7 เมตร ได้ราคา 310,000 บาท เสา i beam 10 ต้น ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ส่วนคานดันใหญ่กว่าขนาด 15 เซนติเมตร การต่อเหล็กไม่มีน็อตยึด แก้ไขโดยให้มีแผ่นเหล็กรองรับที่จุดเชื่อม การใช้เสา i beam จะแข็งแรงกว่าใช้เหล็กกล่อง

จากที่ได้เสาต้นเล็กทำให้ในการจะต่อเติมชั้น 2 ในโอกาสต่อไปจะต้องตั้งเสารับแผ่นพิ้นชั้นสองขึ้นมาใหม่ ถ้าได้เสาใหญ่ขนาด 20 เซนติเมตร จะสามารถวางพื้นชั้นสองได้เลยโดยไม่ต้องตั้งเสาใหม่ เสาใหม่ที่ว่าต้องมีเสาตรงกว่าห้องด้วยรวมแล้ว 15 ต้น ที่ต้องตั้งใหม่ แต่จะใช้เสาเหล็กกล่องที่ราคาถูกกว่าได้ และจะปูพื้นด้วยสมาร์ทบอร์ดหนา 20 ซ.ม. ถ้าใช้พิ้นคอนกรีตสำเร็จจะมีน้ำหนักมากเกินไป ด้วยเหตุที่มีงบ ฯ จำกัด ทำให้ต้องมาเพิ่มเสาอีก 15 ต้น แต่จำเป็นต้องทำเพราะชั้น 2 จะทำห้องพักอีกสองห้อง ให้พักห้องละ 4 คน รวมแล้ว 8 คน โครงสร้างจึงต้องแข็งแรงไว้ก่อน

กำแพงอิฐบล็อกก็ได้มาตามราคาที่ตกลงกัน ถ้าอิฐมอลเบาก่อนละ 20 บาท งบประมาณก็จะเกินที่ตั้งไว้ พื้นในห้องนอน ห้องน้ำ ปูกระเบื้อง แต่พื้นนอกห้องจะทำปูนเปลื่อยทีหลังเพราะเกินงบ ฯ หรือ อาจจะใช้สีกรดย้อมซีเมนต์เอามาทาเอง 4 ลิตร 890 บาท ทาได้ประมาณ 40 ตร.ม. ราคาถูกดี

ประตูห้องน้ำขนาด 70x180 ซ.ม. ความสูงน้อยไปควรเป็น 200 ซ.ม. เผื่อให้ลูกค้าฝรั่งที่ตัวสูงใหญ่ ประคูเข้าห้องนอน 200 ซ.ม. และประตูบานเลื่อนทางเข้าบ้าน หน้าต่าง เหล็กดัด ไม่มีปัญหาขนาดได้ตามต้องการ โถสุขภัณฑ์ได้ขนาดยาว 75 ซ.ม. เป็นขนาดที่ฝรั่งนั่งได้ไม่เล็กเกินไป

บ้านที่เสร็จและจะเห็นได้ว่ามีชายคายื่นออกมาไม่เหมือนแบบบ้านภาพสามมิติในภาพด้านบน เหตุเพราะทางครอบครัวไม่คุ้นชินกับบ้านที่ไม่มีชายคา จากแบบทรงโมเดิร์นจึงกลายเป็นบ้านแบบ Farmhouse แทน จุดนี้สำคัญสำหรับคนที่จะสร้างบ้านเองจะต้องคุยให้เข้าใจตรงกันก่อนแล้วค่อยสรุปเป็นแบบที่ทุกคนพอใจออกมา และการทำบ้านด้วยเมทลชีทก็ไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไปจะถูกมองว่าเป็นโกดังสินค้ามากกว่าจะเป็นบ้านได้ แต่ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่มีการใช้เมทัลชีทสร้างบ้าน

มีในส่วนเสาโครงสร้างที่ทำให้มีปัญหาในการต่อเติมชั้นสอง ส่วนอื่น ๆ มีปัญหาเพียงเล็กน้อย ในงบประมาณสามแสนนี้ถือว่าพอรับได้หลังจากสร้างเสร็จแล้ว