ย้อนกลับไปราว ๆ 30 ปีที่แล้ว การจะติดต่อใครสักคนต้องอาศัยความพยายามเป็นอย่างมาก จดหมายหรือเพจเจอร์มักเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ หรือถ้าจะยกหูโทรศัพท์ก็อาจจะต้องคิดหนักเพราะค่าโทรศัพท์ที่แพงระยิบ ปัจจุบัน เราแค่ยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาส่งข้อความผ่านไลน์ก็คุยกันได้แล้ว หากลากเส้นจากจุดเอเมื่อสามสิบปีก่อนมายังจุดบีคือปัจจุบัน จะเห็นช่องว่างของความสะดวกสบายในการสื่อสารที่ใหญ่มาก ๆ ถูกเติมเต็มด้วยเทคโนโลยี ไม่มีอะไรจะสะดวกรวดเร็วมากไปกว่านี้อีกแล้ว ⁣

แต่เหตุใดมนุษย์เรากลับเผชิญกับความโดดเดี่ยวมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน?⁣

“ความไม่เป็นเหตุเป็นผลนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ผมใจสลาย” – Ryan Jerkins⁣

ในงานวิจัยเชิงลึกของ Ryan เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวของพนักงานในที่ทำงาน บ่งชี้ให้เห็นตัวเลขที่น่าประหลาดใจ เมื่อกว่า 72% ของพนักงานรู้สึกอ้างว้างจริง ๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจากรูปแบบการทำงานแบบ work from home (WFH) หรือ hybrid workplace ⁣

ความรู้สึกดังกล่าวส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายและใจของพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุด เป็นองค์กรเองที่รับผลกระทบไปด้วยเต็ม ๆ เหตุเพราะพนักงานที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีแนวโน้มจะรู้สึกยึดโยงต่อองค์กรน้อยลง 7 เท่า เทียบกับพนักงานที่ไม่มีภาวะดังกล่าว และมีความคิดทบทวนอยากลาออกจากงานสูงกว่าปกติ 2 เท่า ⁣

∷∷∷∷∷∷∷∷⁣

จากงานวิจัยของ Ryan พบว่าปัจจัยที่ทำให้คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวประกอบไปด้วย⁣

🔶 1. Social isolation ⁣

ร่วมสองปีแล้วที่เราถูกปลูกฝังให้รักษาระยะห่างจากคนอื่นเข้าไว้ และไม่ควรสุงสิงกับใคร (ทางกายภาพ)โดยไม่จำเป็น เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อของโรคระบาด เป็นเหตุผลที่คนส่วนมากยอมรับและปฏิบัติตามแต่โดยดี อย่างไรก็ตามทักษะการเข้าสังคมกลับค่อย ๆ เจือจางลง โดยเฉพาะหากตั้งคำถามว่าในกลุ่มวัยเจริญเติบโตจะเป็นอย่างไรต่อไปในระยะยาว เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเข้าสู่โลกของการทำงาน ก็น่าชวนคิดไม่น้อย เพราะปัจจุบันแบบที่เป็นอยู่นี้กำลังนำเราไปสู่อนาคตแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน⁣

🔶 2. Interaction VS Technology⁣

เมื่อสังเกตรอบตัวเราดี ๆ โอกาสที่จะนำพาเราไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนไกลตัวหน่อย ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ ร้านเช่า DVD ถูกแทนที่ด้วย streaming การทำอาหารหรือออกไปทานข้าวนอกบ้านน้อยลงกว่าเมื่อก่อนด้วยทางเลือกอย่าง food delivery ต้องยอมรับว่าข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่สิ่งที่คล้ายกันของความสะดวกสบายเหล่านี้ คือ อาจทำให้เราขยับตัวหรือออกไปไหนมาไหนน้อยลงทุกที⁣

🔶 3. Dependency shift⁣

และด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เอง ที่กำลังพาเราไปสู่คำว่า dependency shift หรือโลกแห่งการพึ่งพาตนเอง ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราคุ้นชินกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยการยื่นมือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น สองหัวดีกว่าหัวเดียวเสมอ ร่วมด้วยช่วยกัน แต่ก็อีกเช่นเคย ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยวิทยาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก๊อกน้ำรั่ว เครื่องใช้ไฟฟ้าเสีย ไม่ต้องเรียกเพื่อนบ้านหรือคนในครอบครัวแล้ว เปิด Youtube ทำเองได้เลย⁣

∷∷∷∷∷∷∷∷⁣

ในโลกอันแสนวุ่นวายนี้ เทคโนโลยีมอบความสะดวกสบายให้เรา ซึ่งแลกด้วยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่น้อยลง ท้ายที่สุด เราอาจพบว่าตนเองมีชีวิตที่ปลีกวิเวกและโดดเดี่ยวขึ้น เว้นเสียแต่ว่าเรามีความตั้งใจมากกว่าคนทั่วไปที่จะพยายามใช้เวลาไปกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริง ๆ และในขณะที่ social media เหมือนจะทำให้เรามีตัวตนที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย แต่นั่นก็เป็นแค่เปลือกนอกสุดเท่านั้นเอง ⁣

ในฐานะองค์กรสามารถช่วยพนักงานได้อย่างไรบ้าง?⁣

🔷 1. สร้างค่านิยมใหม่ว่าความโดดเดี่ยวไม่ใช่เรื่องน่าอาย⁣

ในฐานะองค์กร หรือ HR เราต้องเป็นผู้นำทางความคิดและทำให้พนักงานรู้สึกว่าความอ้างว้างในชีวิตไม่ใช่ปัญหาที่ต้องซุกเอาไว้ใต้พรม ในทางตรงกันข้าม เชิญชวนให้พนักงานได้ระบายออกมาในทุก ๆ ครั้งที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้น address ให้บ่อยจนคำว่า “โดดเดี่ยว” นี้มีผลกระทบเชิงลบต่อเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติในที่สุด⁣

🔷 2. เราเองก็อย่าทำตัวให้ ”ยุ่ง” จนเกินไป⁣

ในฐานะพนักงาน บ่อยครั้งที่เราพยายามขจัดสิ่งรบกวนต่าง ๆ รอบตัวจนบางครั้งก็มากเกินไป แน่นอนว่าการมีสมาธิกับงานที่อยู่ตรงหน้าเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องมองหาจุดสมดุลในด้านอื่น ๆ ด้วย อาจลองถามตัวเราเองว่าเราเป็นใครคนนั้นที่เพื่อนร่วมงานสะดวกใจจะเข้ามาพูดคุยด้วยได้ทุกเมื่อหรือไม่ หรือในแต่ละวัน เราได้แสดงให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเค้ามีคุณค่ามากน้อยเพียงใดผ่านคำพูดและการกระทำของเรา⁣

🔷 3. แบ่งปันเรื่องราวอีกด้านของชีวิต⁣

บ่อยครั้งที่เรากับเพื่อนร่วมงานมักจะใช้เวลาด้วยกันหลังเลิกงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มความสนิทชิดเชื้อ หมูกระทะก็ดี ชาบูก็ดี ออกกำลังกายก็ดี ในกิจกรรมเหล่านี้ เรามักจะลดโล่กำบังทางสังคมลงโดยอัตโนมัติ แสดงความเป็นตัวตนของเราออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม โอกาสเหล่านี้หากพนักงานสร้างขึ้นมาเองอยู่ฝ่ายเดียว คงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก คงจะดีไม่น้อยหากองค์กรเองก็ร่วมเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างโอกาสเหล่านี้ให้กับพนักงาน “ในเวลาทำงาน” เช่น การมอบ airtime ระหว่างการประชุมให้กับพนักงานคนละ 5-10 นาที เพื่อแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัว⁣

⁣ฉะนั้น การฟื้นฟูความรู้สึกอ้างว้างในจิตใจของพนักงานอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรค่าที่สุดที่องค์กรจะเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และประโยชน์ที่ได้อาจไม่จำกัดอยู่ที่ตัวองค์กรแต่เพียงผู้เดียว แต่หมายรวมถึงชีวิตที่ดีขึ้นของคนหนึ่งคน ส่งต่อไปยังสังคมขนาดย่อม และกระจายออกไปสู่วงที่กว้างขึ้น⁣

A Cup of Culture⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣

———–⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣

วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣

Corporate culture⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣

Organizational culture⁣⁣