คดีอาญาลักทรัพย์นายจ้าง อายุความกี่ปี ไกล่เกลี่ยได้หรือไม่

กฎหมายอาญาในคดีลักทรัพย์นายจ้าง และ คดีลักทรัพย์ เราสามารถทำการไกล่เกลี่ยหรือยอมความได้หรือไม่ คดีนี้มีอายุความกี่ปี 


ป.อาญา เกี่ยวกับ คดีอาญาลักทรัพย์


ม.334

ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

องค์ประกอบ ม.334

1. ทรัพย์เคลื่อนที่

2. ปราศจากสิ่งยึดติด

3. ครอบครอง

4. โดยทุจริต(เจตนาพิเศษ เกิดขึ้นขณะเอาทรัพย์ไป)

ม.335 ลักทรัพย์ เหตุฉกรรจ์ ดังนี้

ผู้ใดลักทรัพย์

(1) ในเวลากลางคืน

(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ

(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ

(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้

(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้

(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน

(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ

(9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือ สาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณ

(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

  วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

วรรคสาม ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

สำหรับคดีลักทรัพย์นายจ้าง เหตุฉกรรจ์

ตามมาตรา 335 (11) ที่เป็นของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ซึ่งในเมื่อต้นเหตุแห่งการกระทำความผิดเป็นการลักทรัพย์ โดยเป็นการลักทรัพย์ของนายจ้าง ดังนั้นจึงเป็นการลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์มีบทลงโทษหนักกว่าธรรมดา  (ตาม ม.334 มีโทษคือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท แต่ตาม ม.335 วรรคสอง มีโทษคือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท )

โดยความสัมพันธ์ของผู้ลักทรัพย์ กับผู้เสียหายต้องเป็นลักษณะที่ผู้ลักทรัพย์ คือลูกจ้าง และผู้ที่เสียหายก็คือนายจ้าง ตามกฎหมาย


ถ้ากระทำความผิดเหตุฉกรรจ์หลายข้อ 

 ตาม ม.335 วรรคสาม กระทำความผิดตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

* ท่านเห็นว่าโทษหนักกว่าเดิมมากขึ้นทีเดียว 

คดีลักทรัพย์ ยอมความได้ไหม คนสงสัย?

ข้อหาลักทรัพย์ไม่ว่าลักทรัพย์ธรรมดาหรือลักทรัพย์เหตุฉกรรจ์ เป็นอาญาแผ่นดิน อันไม่อาจยอมความได้ แม้ท่านไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายชดใช้เงินหรือคืนทรัพย์ไปแล้ว แต่ขั้นตอนตามกฎหมายก็ต้องทำการดำเนินคดีต่อไปจนถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 


แล้วการที่ท่านนำเงินหรือใช้คืนทรัพย์ให้กับผู้เสียหายมันมีผลดีอะไรบ้างทำไมต้องทำ

เมื่อคดีดำเนินไปจนถึงศาลมีคำพิพากษาท่านก็จะดูพฤติการณ์แห่งคดีว่าผู้กระทำความผิดได้บรรเทาความเสียหายให้กับผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดอันอาจจะมีผลในการกำหนดโทษของท่านเช่นอาจจะลงโทษจำคุกแต่อาจจะมีการรอลงอาญาให้กับท่านก็ได้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งเราเองก็ไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบไหน


ใดๆที่สุดแล้วการที่ท่านได้สำนึกผิดหรือทำพฤติการณ์ให้ดีย่อมเป็นผลดีกับท่านเองทั้งหมด เมื่อถูกตั้งข้อหาในข้อหาลักทรัพย์ไม่ว่าข้อหาลักทรัพย์เหตุฉกรรจ์ใดก็ตาม ท่านก็จะต้องทำการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ และอาจจะต้องมีการประกันตัวด้วย 

คดีลักทรัพย์ สามารถรอลงอาญา ได้ไหม?

ากตอนที่แล้วเมื่อเราได้มีการบรรเทาความเสียหายไปให้กับผู้เสียหายบ้างแล้วหรือบรรเทาความเสียหายไปทั้งหมดเมื่อถึงขั้นตอนที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษาตามพฤติการณ์ที่ท่านปฏิบัตินี้อาจจะทำให้มีความเห็นใจและอาจจะรอลงโทษหรือรอลงอาญาท่านก็ได้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ชัดเจนเสมอไปเพราะเป็นสิ่งที่ท่านผู้พิพากษาจะเป็นผู้ทำคำพิพากษาซึ่งเราเองไม่อาจก้าวล่วงในดุลพินิจของท่านได้ 

 

เจตนาโดยทุจริต ในการลักทรัพย์

ความผิดข้อหาลักทรัพย์นี้จะต้องมีเจตนาพิเศษนั่นก็คือเป็นการมีเจตนาโดยทุจริต ถ้าไม่มี เจตนานี้ก็จะไม่สามารถแจ้งข้อหาความผิดในฐานความผิดลักทรัพย์ได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความผิดในบางข้อหาจะต้องมีเจตนาโดยทุจริต


ยกตัวอย่างเช่นเราไม่ได้มีเจตนาทุจริตหยิบร่มของเพื่อนกลับไปยังบ้านเราเราเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของเราซึ่งสีมันอาจจะเหมือนกันอย่างนี้ถ้าเราไม่มีเจตนาเราก็ไม่มีความผิดข้อหาลักทรัพย์ผิดกับกรณีที่เราตั้งใจหยิบร่มของเพื่อนทั้งๆที่รู้ว่าเป็นของเพื่อนเราจงใจหยิบไปกลับบ้านอันนี้อาจจะผิดข้อหาลักทรัพย์แล้วถ้าเขาแจ้งความเพราะว่าเราทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไปเรียบร้อยแล้ว


เจตนาเป็นเรื่องสำคัญมาก

คดีลักทรัพย์นั้นมีอายุความกี่ปี

ตามมาตรา 334 ลักทรัพย์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

มาตรา 335 (11) ลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี

ดังนั้น ตาม ป.อาญา มาตรา 95

(3) มีอายุความสิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

* สำหรับอายุความในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ 


คดีอาญาลักทรัพย์นายจ้าง(เหตุฉกรรจ์ ) หรือลักทรัพย์ มีอายุความ 10 ปี และเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือยอมความกันได้ เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์โดยผู้เสียหายหรือมีการฟ้องตรงต่อศาลโดยผู้เสียหาย จึงต้องมีการดำเนินพิจารณาคดีต่อไปตามกระบวนการทางกฎหมายจนกว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดต่อไป ดังนั้นหากใครมาบอกว่าการลักทรัพย์แล้วไม่ติดใจดำเนินคดีอะไรแบบนั้น มันเป็นไปไม่ได้