การทำลวดหนามด้วยมือ

การทำลวดหนามด้วยมือ

ในชุมชนมีการรวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจในระดับรากหญ้าอยู่มากมาย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีขนาดไม่ถึงวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) หรือสหกรณ์ แต่เป็นธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง ธุรกิจในระดับนี้ยังมีปัญหาที่ประสบอยู่ คือ ไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ การสนับสนุนจากภาครัฐไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการไม่ชัดเจน รัฐบาลจึงกำหนดให้มีการออกกฎหมายรองรับการประกอบการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งจำนวนหนึ่งอยู่ในระดับที่ไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้า ให้ได้รับการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ และพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการของหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้น

องค์ประกอบของวิสาหกิจชุมชนมีอะไรบ้าง มี อยู่อย่างน้อย 7 อย่าง คือ

1) ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ

2) ผลผลิตมาจากระบวนการในชุมชน

3) ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน

4) มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากล

5) มีการดำเนินการแบบบูรณาการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

6) มีกระบวนการการเรียนรู้เป็นหัวใจ

7) มีการพึ่งพาตนเองเป็นเป้าหมาย

ชุมชนที่สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพหลัก คือการทำนา เมื่อหมดฤดูกาลทำนาแล้ว ก็จะเกิดการว่างงาน ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัว จึงเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทำลวดหนามด้วยมือขึ้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าว

กระบวนการ วิธีการ และขั้นตอน ของการทำลวดหนามด้วยมือ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

1.เส้นลวด

2.มอเตอร์ปั่นลวด

3.คีมล็อค

4.เครื่องขดลวด/เครื่องม้วนลวดหนาม

5.ลูกรอกรีดลวด

6.คีมปากนกแก้ว

7.มอเตอร์สำหรับบิดลวด

8.กรรไกรตัดลวดหนาม

กระบวนการผลิตลวดหนาม

1.นำเส้นลวดวางในแนวราบ

2.ตีเกลียว

3.ตัดลวดหนาม ยาว 1 นิ้วครึ่ง

4.นำลวดหนามขึงให้แน่น

5.เจาะรูด้วยคีมปากนกแก้ว

6.นำหนามที่ตัดไว้มาสอดเข้ารูที่เจาะไว้แล้วบิดลวดด้วยคีมล็อคระยะห่าง 1 กำมือ

7.ขดให้เป็นลวดหนาม

8.บรรจุเป็นม้วน

9.เตรียมส่งจำหน่าย

ต้นทุนการผลิต : เส้นลวด 2 กิโลกรัม ทำลวดหนามได้ 1 ม้วน ระยะเวลา 1 วัน จะทำได้ 3 ม้วน

สิ่งที่ทำให้งานสำเร็จ

1. ผู้นำกลุ่มและสมาชิกมีความเข้มแข็ง ผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มมีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือกัน ทำให้การบริหารจัดการกลุ่มประสบผลสำเร็จ

2.การยึดหลักการมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการกลุ่มลวดหนาม หากเกิดปัญหาหรือมีข้อขัดแย้งใด ๆ ก็ตาม จะมีการใช้เวทีประชาคมในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ เสมอ

3.ความโปร่งใส การบริหารจัดการกลุ่มลวดหนาม สมาชิกสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ตลอดเวลา

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น

1.จากการดำเนินงานกลุ่มลวดหนามที่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาดูงาน

2. สมาชิกมีรายได้เสริม จากการทำลวดหนาม

3. เกิดความรัก ความสามัคคี ในกลุ่มฯ

4. เกิดหลักประชาธิปไตยในการทำงาน

คำแนะนำ ข้อพึงระวังในการนำไปใช้

1.การทำลวดหนามด้วยมือ ผู้ทำต้องมีความระมัดระวัง เพราะอันตรายอาจเกิดขึ้นได้

2.ต้นทุนการผลิต ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้มีราคาขึ้น-ลง ตามท้องตลาด

3.การทำงานเป็นกลุ่ม พึงระวังปัญหาความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบกัน

ปัญหาและอุปสรรค

-วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตมีราคาสูงและผกผันตามภาวะตลาดทำให้ต้นทุนในการผลิตมีราคาสูง

-มีการขยายเครือข่ายและกิจกรรมของกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานและเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของสินค้า

จะเห็นได้ว่าจากการบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตลวดหนามบ้านหนองแสนที่ประสบผลสำเร็จได้ เนื่องจากสมาชิกกลุ่มมีคุณภาพ ผู้นำกลุ่มมีความสามารถ และเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกภายในกลุ่มองค์ประกอบดังกล่าวเมื่อนามาประกอบรวมกับการบริหารจัดการที่ดีก็จะทำให้กลุ่มประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมได้ในที่สุด

( ภาพประกอบจาก หมู่ 9 ตำบลหนองแสน อำเภอวาปีปทุม จังหวัด มหาสารคาม)