๔.๒ การจัดการเรียนรู้
และการจัดการชั้นเรียน

ตัวชี้วัดที่ ๑ ครูมีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งในวิชาที่สอนและจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

  ครูมีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งในวิชาที่สอนและจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการสอนที่ได้ออกแบบไว้ โดยครูมีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอและใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ครูทุกคนได้มีการวางแผนและดำเนินการพัฒนาตนเองตามมาตรฐานขั้นวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และจะได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานอื่นเพื่อพัฒนาตนเอง อย่างน้อย ๒๐ ชั่วโมงต่อปี คือ

    ๑. สนับสนุนให้มีการจัดเตรียมสถานที่ สื่อ อุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนให้มีสภาพที่พร้อมใช้และเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน
    ๒. ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ
    ๓. สรุปบทเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
    ๔. ประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ส่งผลต่อนักเรียนโรงเรียนปากเกร็ดอย่างชัดเจน

. นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสมองที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้เรียน  เรียนรู้เรื่องที่ต้องการเรียนรู้ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ บรรยากาศของการเอื้ออาทรและเป็นมิตร ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้

๒. นักเรียนได้เรียนรู้จากการได้คิดและลงมือปฏิบัติจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เรียนด้วยสมองและสองมือ” เป็นผลจากการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้คิด ไม่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์หรือคำถามก็ตาม และได้ลงมือปฏิบัติจริงซึ่งเป็นการฝึกทักษะที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหา ความมีเหตุผล

๓. นักเรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และเรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่น เป้าหมายสำคัญด้านหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญคือ ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน สถานที่ต่างๆของชุมชน

๔. นักเรียนได้เรียนรู้แบบองค์รวมหรือบูรณาการ เป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ ได้สัดส่วนกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ความดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกรายวิชาที่จัดให้เรียนรู้

ตัวชี้วัดที่ ๒ ครูให้เวลานักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทำงานเป็นกลุ่ม อภิปรายและนำเสนองานโดยใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา

  ครูให้เวลานักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทำงานเป็นกลุ่ม อภิปรายและนำเสนองานด้วยวิธีการที่เหมาะสมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษาอย่างเปิดกว้าง มีการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนปฏิบัติจริงโดยใช้กระบวนการกลุ่มและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม ได้แสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดซึ่งกันและกัน สอบถามหรือแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อครูผู้สอนได้

  ๑. การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและบูรณาการคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ อภิปราย และนำเสนองานโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา
๒. การจัดกิจกรรมค่ายทักษะต่างๆ ในกลุ่มงานและสาระการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจทักษะ การปฏิบัติจริง
๓.กิจกรรมแข่งขันทักษะทางวิชาการ เช่น ประกวดโครงงาน การวาดภาพ การตอบปัญหา เปิดสารานุกรม ประกวดเรียงความ ประกวดโต้วาที หนังสือเล่มเล็ก โครงงานสิ่งประดิษฐ์
๔. กิจกรรมนำนักเรียนไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ 

ตัวชี้วัดที่ ๓ ครูให้เวลานักเรียนได้คิด ตอบปัญหา แก้ไขปัญหา ได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียนและนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

  สนับสนุนนักเรียนได้คิด ตอบปัญหา แก้ไขปัญหา ได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียนและนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนทักษะการใช้คำถาม (Problem Based Learning : PBL)

ตัวชี้วัดที่ ๔ ครูกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองและใส่ใจใฝ่รู้ อดทนต่อการแสวงหาคำตอบ

  ครูมีการกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเองและใส่ใจ ใฝ่รู้ อดทนต่อการแสวงหาคำตอบ ด้วยเทคนิควิธีการสอนที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนานและตอบสนองตรงกับความต้องการของนักเรียน

ตัวชี้วัดที่ ๕ ครูจัดกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และปลูกฝังให้นักเรียนยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น

  จัดกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในการกำหนดวิธีการเรียน ปลูกฝังให้นักเรียนยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น

ตัวชี้วัดที่ ๖ ครูบูรณาการการเรียนรู้วิชาที่สอนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นแต่ใช้เวลาน้อยลง

  ครูบูรณาการการเรียนรู้วิชาที่สอนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นได้อย่างกลมกลืนโดยใช้เวลาเรียนน้อยลงกว่าเดิม แต่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้หรือสอดแทรกในการเรียนการสอน มีการเชิญวิทยากร หรือบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้ความรู้แก่นักเรียน เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

ตัวชี้วัดที่ ๗ ครูจัดสอนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียน เพิ่มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ

  มีการจัดสอนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียน เพิ่มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ดูแลนักเรียนให้เรียนรู้ตามศักยภาพได้อย่างทั่วถึง โดยโรงเรียนมีระบบการจัดสอนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องหรือมีอุปสรรคต่างๆ ในการเรียน รวมไปถึงการเพิ่มพูนศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อส่งเสริมความสามารถของนักเรียนและสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดหรือแข่งขันในเวทีที่นักเรียนสนใจ ในกิจกรรมด้านต่างๆ

ตัวชี้วัดที่ ๘ ครูจัดการชั้นเรียนที่ช่วยให้นักเรียนสนใจเรียน เห็นประโยชน์ของการเรียนและตั้งใจเรียน

  ครูจัดการชั้นเรียนด้วยการตอบสนองความต้องการของนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข เกิดความสนใจและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย มีการกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิดวิเคราะห์อยู่เสมอ