เส้นทางการติดต่อ
ในสมัยโบราณ

เส้นทางการติดต่อในสมัยโบราณ


พื้นที่ในบริเวณแหลมทองของไทย ประกอบด้วยภูเขาและที่ราบ กลุ่มชนที่ชอบทำการเพาะปลูกโดยการทดน้ำ
มักจะเลือกที่ใกล้แม่น้ำลำคลองสร้างบ้านสร้างเมือง ทำให้มีกำลังทางเศรษฐกิจและการทหาร
บางทีก็ทำการขับไล่ชุมชนอื่นที่มีกำลังด้อยกว่า ให้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่สูงกันดารแห้งแล้งหรือป่าลึก


ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทางผ่านของพ่อค้านักเดินทางจากยุโรปและอินเดียไปยังประเทศจีน
มาแต่ครั้งโบราณ โดยมีทั้งเส้นทางน้ำและทางบก การเดินเรือทางทะเลต้องผ่านช่องแคบมะละกา ระหว่าง
แหลมมลายูกับเกาะสุมาตรา หรือช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตรากับชวา ดังนั้นดินแดนบริเวณเส้นทางเดินเรือดังกล่าว
จึงมีเมืองท่าหลายแห่ง ที่เรือทะเล จะมาจอดแวะซึ่งทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองจน เกิดเป็นเมืองป้อมค่ายหรืออาณาจักร
เช่นเมืองมะริด เมืองตะโกลา เมืองมะละกา และอาณาจักรอะแจ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะ สุมาตรา เป็นต้น


เนื่องจากการเดินทางในสมัยก่อนใช้เรือใบ ที่ต้องอาศัยทิศทางลมซึ่งจะเปลี่ยนทิศทางไปตามฤดูกาล
ดังนั้นพ่อค้าที่เดินทางจากอินเดียมายังเมืองมะละกา จึงต้องรอเวลาจนกว่าลมจะพัดกลับทิศทาง เพื่อให้สามารถ
แล่นใบกลับไปยังอินเดียได้ ประกอบกับการมีโจรสลัดชุกชมในช่องแคบทั้งสอง ทำให้มีการใช้เส้นทางเดินบก
เพื่อเดินลัดข้ามคาบสมุทร ซึ่งเสียเวลาน้อยกว่าและไม่ต้องรอฤดูกาลที่ลมจะเปลี่ยนทิศทาง


เส้นทางบกที่ใช้ข้ามคาบสมุทรดังกล่าวนั้นมีหลายเส้นทาง เช่นเส้นทาง ระหว่างมะริดกับเพชรบุรี
เส้นทางระหว่างตะกั่วป่ากับอ่าวบ้านดอน ผ่านเขาศก เส้นทางระหว่างตรังกับอ่าวบ้านดอนผ่านแม่น้ำตาปี
เส้นทางระหว่างตรังกับนครศรีธรรมราชผ่านทุ่งสง เส้นทางระหว่างคลองลาว อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ไปทางคลองชะอุ่นออกแม่น้ำตาปี ไปบ้านดอน เส้นทางระหว่างคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ไปทางคลองสินปุน
ผ่านบ้านบางปลาตาย อำเภอพระแสงไปทางแม่น้ำตาปีออกบ้านดอน ซึ่งเป็นท่าจอดเรือใหญ่ในสมัยโบราณ
เส้นเส้นทางอื่นนอกนั้นก็มีเส้นทางระหว่างเคดาห์กับปัตตานีและสงขลา เป็นต้น และบางเส้นทางสามารถใช้
ช้างเกวียนหรือเรือเล็กเป็นพาหนะ โดยมีเส้นทางสำคัญผ่านแม่น้ำตาปี ออกสู่อ่าวบ้านดอน




<< ย้อนกลับ ต่อไป ถิ่นฐานบ้านเมืองโบราณ>>