อาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย


ชาวสยามนั้นมีผู้นำแห่งชนเผ่าดูแลบ้านเมืองและได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้าหรือพระเจ้าแผ่นดินปกครอง
แผ่นดินมาช้านานแล้ว ชนชาติสยามได้รวบรวมหัวเมืองชนชาติเดียวกันตั้งอาณาจักรขึ้นหลายยุคหลายสมัย
ดังจะเห็นได้จากการเติบโตเป็นอาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรเชียงแสน โดยเฉพาะการตั้งอาณาจักรสุโขทัย
และอาณาจักรอยุธยานั้น มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง ตามหลักฐานเดิมหรือข้อมูลใหม่
ที่มีการสำรวจพบภายหลัง


อาณาจักรของชาวสยามที่ตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีอิสระนั้น ได้มีการชิงเอาอำนาจจากผู้ครองเดิมคือขอม
เมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑ (จุลศักราช ๖๐๐ หรือ มหาศักราช ๑๑๖๐) โดยพ่อขุนบางกลางหาว (เดิมว่า ขุนบางกลางท่าว
นัยว่าน่าจะมีชื่อ “ร่วง”) กับขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด เชื้อสายคนไทยที่แต่งงานกับพระนางสิขรมหาเทวี
พระธิดาของกษัตริย์ขอม ครั้งนั้นพระยาขอมได้พระราชทานพระขรรค์ชัยศรีและพระราชทานนาม
“ศรีอินทราทิตย์” ให้ขุนผาเมือง ราชบุตรเขยผู้นี้ เพื่อที่จะแต่งตั้งให้มีอำนาจในอาณาจักรของชาวสยาม


แต่กลับกลายว่า พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว นั้นได้ร่วมกันชิงอำนาจจากขอม
ซึ่งขณะนั้นมีโขลญสมาดลำพง ปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ เมื่อทำการยึดอำนาจขอมได้สำเร็จขุนผาเมืองหรือ
หมรเดงอัญผาเมือง จึงตั้งพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยให้ใช้นาม “ศรีอินทราทิตย์” (ศรีอินทรบดินทรทิตย์)
แทนเพื่อรักษาไมตรีและทำให้พระยาขอมเข้าใจว่าราชบุตรเขยได้ครองบ้านเมืองของชาวสยามแล้ว


พ่อขุนผู้ครองเมืองสุโขทัยนั้นมีพระนามยกย่องเป็น “พระร่วง” ซึ่งแปลว่า “รุ่งเรืองหรือรุ่งโรจน์”
ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองจึงมีพระอิสริยยศเป็นเพียง “ขุน” หรือ “พญา” (พระยา) ส่วนเจ้านายที่สูงก็เป็นเพียง
“พระ” อาณาจักรสยามยุคสมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี


๑.ขุนศรีอินทราทิตย์

ในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นั้น อาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณได้มีอำนาจครอบครองดินแดน
ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ได้ทั้งหมดและมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้หรือ ลวรัฐ ต่อมา ในปลายรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
อำนาจของอาณาจักรขอมได้เริ่มอ่อนแอลง คนเชื้อสายชาวสยามหรือคนไทย ภายใต้การนำของพ่อขุนศรีนาวนำถม
จึงได้คิดหาทางก่อตั้งรัฐอิสระ ไม่ขึ้นต่ออำนาจการปกครองของพวกขอม ที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย


จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) นั้นปรากฏข้อความที่ได้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า


แคว้นสุโขทัยมีพ่อขุนศรีนาวนำถมปกครอง พ่อขุนศรีนาวนำถมมีโอรสองค์หนึ่ง คือพ่อขุนผาเมือง
ต่อมาได้อภิเษกกับ นางสิขรเทวี ธิดาของกษัตริย์ขอม จึงมีฐานะเป็นราชบุตรเขยกษัตริย์ขอม ได้รับพระราชทานนามว่า
“ศรีอินทรบดินทราทิตย์”พร้อมกับพระขรรค์ชัยศรี ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขุนนางขอมชื่อ
“สบาดโขลญลำพง”ได้ เข้ายึดกรุงสุโขทัย


ศิลาจารึกวัดศรีชุม

ประมาณ พ.ศ.๑๘๘๔ - ๑๙๑๐ อาณาจักรสุโขทัยได้มีการสร้างศิลาจารึกสำคัญอีกหลักหนึ่ง
เรียกชื่อต่อมาว่า “ศิลาจารึกวัดศรีชุม” ศิลาจารึกนี้พลโท หลวงสโมสรพลการ(ทัด สิริสัมพันธ์)
เป็นผู้ค้นพบในอุโมงค์วัดศรีชุมจังหวัดสุโขทัยเมื่อพ.ศ.๒๔๓๐ แล้วส่งมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ


ศิลาจารึกนี้มีความสำคัญที่จารึกเรื่องราวของพ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้เป็นพ่อของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด
เรื่องผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ ที่ยกลูกสาวชื่อ “นางสิงขรมหาเทวี” ให้เป็นชายาพ่อขุนผาเมือง และ
เรื่องของพ่อขุนบางกลางหาวรบกับขอมสบาดโขลญลำพง เรื่องการสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว
ขึ้นเป็น “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”เรื่องเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย และจารึกคำสรรเสริญ
สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นหลานปู่ของพระยาศรีนาวนำถม
พระมหาเถรฯ เกิดในนครสรลวงสองแคว เคยเดินทางไปยังเขาสุมนกูฎในลงกาทวีป
แล้วนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากนครสิงหลมา ปลูกไว้ในศรีรามเทพนคร เบื้องใต้กรุงสุโขทัย(เมืองอโยธยา)
พระมหาเถรฯเคยเดินทางไปยังเมืองซึ่งขอมเรียกว่าพระธม อยู่ใกล้นครพระกฤษณ์ (น่าจะเป็นนครปฐม)
พระมหาเถรฯ พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่หักพัง บางชิ้นต้องใช้สี่คนหามหรือใช้ล้อเกวียนชักลาก
บางชิ้นได้แต่มือ บางชิ้นได้แต่ตีน และพบพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่กลางป่า
จึงทำการซ่อมแซมโดยใช้โป่งปูนในบริเวณใกล้เคียง นำชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่พบมาต่อมือต่อตีนเข้าด้วยกัน
แล้วนำพระพุทธรูป ไปไว้บริเวณพระเจดีย์ธาตุหลวงเก่าองค์ใหญ่ สูงร้อยสองวาที่พระมหาเถรฯดำเนินการซ่อมแซม
ในคราวเดียวกัน(เข้าใจว่าจะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์)


นับเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์อาณาจักรสุโขทัย


การก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

ต่อมาราว พ.ศ. ๑๗๘๓( ค.ศ.1240) พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด(โอรสพ่อขุนศรีนาวนำถม) ได้ร่วมกับ
พ่อขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง(เข้าใจว่าคืออำเภอนครไทย อยู่ในจังหวัดพิษณุโลก)
รวบรวมกำลังทำการขับไล่ขอม สบาดโขลญลำพง ขุนนางขอมออกจากกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ
แล้วได้ทำการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของอาณาจักรของชาวสยาม เนื่องจากพ่อขุนผ่าเมืองนั้นมีฐานะเป็น
พระราชบุตรเขยของกษัตริย์ขอม ดังนั้นพ่อขุนผาเมืองจึงได้นำนาม”ขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์”และพระขรรค์ชัยศรี
มอบให้พ่อขุนบางกลางหาวสำหรับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ในนาม“พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”(เพื่อให้ครองเข้าใจว่า
พระราชบุตรเขยของขอมได้ครองเมืองนี้อยู่) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีมเหสีพระนามว่า “นางเสือง”
ทรงมีพระโอรสธิดารวมห้าองค์ เป็นราชโอรสสามองค์ ราชธิดาสององค์ โอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต ราว พ.ศ.๑๘๐๒ พ่อขุนบานเมืองหรือพญาปาลราช โอรสองค์ที่สอง
ทรงครองเมืองสุโขทัยต่อมา


ขุนศรีอินทราทิตย์ เดิมคือ ขุนบางกลางหาว (ชื่อ “ร่วง” ในสิหิงคนิทานว่า รณรงโค แปลว่า พระร่วงนักรบ)
เจ้าเมืองบางยาง (เมืองนครไทย) ได้ร่วมกับขุนผาเมือง ทำการยึดอำนาจขอม และขึ้นเสวยราชย์ พ.ศ. ๑๗๘๑
(บ้างว่าระหว่าง พ.ศ. ๑๗๖๒– ๑๗๘๑ บางแห่งว่าครองราชย์ราว พ.ศ. ๑๗๙๒) ไม่ปรากฏปีสวรรคต
มีบางแห่ว่าพระองค์ทรงตั้งอาณาจักรสยามที่เมืองสุโขทัย โดยการขับไล่ขอมเมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๒
บางแห่งกลับระบุว่าปีครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระองค์ทรงมีพระโอรสและพระธิดา ๕ พระองค์
องค์ใหญ่ไม่ปรากฏพระนามด้วยสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังเยาว์วัย องค์ที่สองคือ บาลเมืองหรือปาลราช
องค์ที่สามเดิมไม่มีพระนาม แต่พอไปชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (เมืองตาก) มีความชอบ
จึงพระราชทาน (หรือชื่อตามยศศักดิ์) ชื่อว่า พระรามคำแหงแต่ในหนังสืออื่นเรียก รามราช และพระธิดาอีก ๒ คน
ไม่ปรากฏนาม


๒.ขุนปาลราช


ขุนบางเมืองหรือพ่อขุนปาลราช โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ขึ้นครองในปีใดไม่ปรากฏ ประมาณว่า
พ.ศ. ๑๘๐๐ สวรรคตปี พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๒๒


๓. ขุนรามคำแหง

ขุนรามคำแหง โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์หรืออนุชาของพ่อขุนบางกลางเมืองขึ้นครองราชประมาณก่อน
พ.ศ. ๑๘๒๐ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๑๘๒๒) พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๒๖ ในราชการของพระองค์นั้น
มีมอญชื่อว่า “มะกะโท” เข้ามาทำราชการอยู่ในกรุงสุโขทัย แล้วได้พระธิดาออกไปตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองรามัญ
ด้วยการสนับสนุนของพ่อขุนเมืองสุโขทัย มีความว่าใน พ.ศ. ๑๘๒๔ มะกะโท สามารถเอาชนะอลิมาง ได้เมืองเมาะตะมะ
ทำให้ชื่อว่าทำให้เชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัยมาก่อนแล้ว ในศิลาจารึกนั้นยังว่าเมืองหงสาวดีนั้น
เป็นเมืองขึ้นสุโขทัยในครั้งพ่อขุนรามคำแหง


ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ได้ทำการขยายอาณาจักรสุโขทัยให้กว้างขวาง ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า


ทิศเหนือ ได้เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนเมืองชวา (คือเมืองหลวงพระบาง) ไว้ในพระราชอาณาจักร


ทิศตะวันออก ได้เมืองสระหลวง (โอฆบุรี-เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก) เมืองสองแคว (เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก)
เมืองลม (เมืองหล่มเก่า) เมืองบาจาย ในลุ่มน้ำป่าสัก) เมืองสระคา (น่าจะเป็นเมืองบาจาย ในลุ่มน้ำป่าสัก)
เมืองสระคา (น่าจะเป็นเมืองหนองหาน-สกลนคร) รวมไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง ถึงเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงคำ
(อยู่ใต้เมืองเวียงจันทน์ ยังไม่รู้ว่าที่ใด)


ทิศใต้ ได้เมืองคณที (เข้าใจว่าเมืองพิจิตร) เมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์) เมืองแพรก (เมืองสรรคบุรี)
เมืองสุพรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงทะเลหน้านอกเป็นอาณาเขต


ทิศตะวันตกได้เมืองฉอด และเมือง…(ศิลาจารึกลบแต่คาดว่าเป็นเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย
เมืองเมาะตะมะ เมืองตองอู) เมืองหงสาวดีจนถึงเมืองสมุทรห้า คือ อ่าวเบ็งกอล เป็นอาณาเขต


เมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยนั้นมีประเทศราชอยู่หลายเมือง ที่รู้แน่ชัดมีอยู่ ๗ เมืองคือเมืองชวา (หลวงพระบาง)
เมืองน่าน เมืองอู่ทอง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองเมาะตะมะ เมืองหงสาวดี เมืองตองอู เมืองเหล่านี้ล้วนมีเจ้าครองเมือง
และเกี่ยวดองกับราชวงศ์สุโขทัย นับว่าสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้นมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก


ใน พ.ศ. ๑๘๕๖ พ่อขุนรามคำแหง ทรงตั้งพระนามพระเจ้ารามประเดิด ให้มะกะตา ผู้เป็นอนุชาของ
พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ซึ่งขึ้นครองราชย์แทน และใน พ.ศ. ๑๘๕๗ พระองค์ก็ทรงพระราชทานนามพระเจ้าแสนเมืองมิ่ง
ให้ผู้ขึ้นเป็นกษัตริย์มอญ และในปี พ.ศ. ๑๘๖๑ พระเจ้าแสนเมืองมิ่งยกกองทัพตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี
จึงน่าเข้าใจว่าพ่อขุนรามคำแหงน่าจะสวรรคตแล้วเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๖๐(ศักราชนี้เป็นข้อมูลเก่า
บางแห่งว่าสวรรคต พ.ศ. ๑๘๔๑)


เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๐(บางแห่งว่าพ.ศ.๑๘๑๒) โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์ที่สามคือ
พ่อขุนรามคำแหง พระชนมายุ ๓๘ พรรษา ได้ครองกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์และ
ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนแบบพ่อปกครองลูก และโปรดให้แขวนกระดิ่งอันหนึ่งไว้ที่ประตูพระราชวัง
เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็สามารถมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพ่อขุนรามคำแหงให้ออกมาตัดสินปัญหาได้
พ่อขุนรามคำแหงทรงให้สร้าง พระแท่นมนังคศิลาบาตรด้วยขดารหินชนวนจากภูเขาใกล้กรุงสุโขทัยตั้งไว้กลางดงตาล
เพื่อให้พระสงฆ์นั่งเทศนาสั่งสอนธรรมแก่ไพร่ฟ้าประชาชนในวันพระ ปัจจุบันพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ


พ.ศ.๑๘๒๕ สมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้นได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรไปยังดินแดนใกล้เคียง
ในประวัติศาสตร์กัมพูชาได้บันทึกว่า กองทัพสยามเข้ารุกรานกัมพูชา และจดหมายเหตุญวนก็บันทึกว่า
กองทัพสยามไปรุกรานจามปา ทำให้อาณาจักรของชาวสยามมีอาณาเขกว้างขวางไปยังดินแดนกัมพูชาและ
อาณาจักรจามปา


แต่พ่อขุนรามคำแหงจะไม่ขยายอาณาเขตไปทางดินแดนเหนือ ด้วยพระองค์ทรงมีพระสหายสนิท
ที่เป็นผู้นำของชาวสยามเช่นกันคือ พระยาเม็งราย ผู้ครองอาณาจักรล้านนา และพระยางำเมือง ผู้ครองอาณาจักรพะเยา
ซึ่งทั้งสามพระองค์ได้มีสัมพันธ์ไมตรี


พ.ศ.๑๘๒๕ ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้นได้มีสัมพันธ์ไมตรีกับชาติจีน ในจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ว่า
กุบไลข่าน หรือพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ได้ส่งคณะทูตเดินทางมาสุโขทัย แต่คณะทูตจีนเดินทางมาไม่ถึง
เพราะในระหว่างการเดินทางนั้นคณะฑูตได้ถูกพวกจามจับกุมประหารชีวิตเสียก่อน


การประดิษฐ์อักษรไทย


เมื่อพ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์ลายสือไทยหรืออักษรไทยขึ้น
แล้วโปรดให้ทำการจารึกไว้ในแท่งศิลาหินชนวนสี่เหลี่ยมสูง ๑๑๑ เซนติเมตร ในปี พ.ศ.๑๘๓๕
มีข้อความปรากฏในตอนหนึ่งว่า


“ เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทนี้
ลายสือไทยนี้จึงมีเมื่อพ่อขุนผู้นั้นใส่ไว้” แปลเป็นความได้ว่า “แต่ก่อนนี้อักษรภาษาไทยยังไม่มี เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖
พ่อขุนรามคำแหงได้มีความสนใจ ประดิษฐ์อักษรภาษาไทย อักษรภาษาไทยจึงเกิดขึ้น แล้วพ่อขุนรามคำแหง
ทรงให้จัดทำอักษรไทย)ใส่ไว้ในศิลาจารึกนี้” (ปัจจุบันศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นี้ เก็บรักษาไว้ที่
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ )


นอกจากนี้ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ยังมีข้อความที่กล่าวถึงคนไทกลุ่มอื่นที่มีความสัมพันธ์กับ
สุโขทัย คือ “ชาวอู ชาวของ” ซึ่งหมายถึงชนชาติที่อยู่ลุ่มแม่น้ำอูแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังกล่าวถึง
บ่อน้ำในตระพังโพยกลางกรุงสุโขทัย ว่ามี“สีใสกินดีเหมือนน้ำโขงเมื่อแล้ง” แสดงว่าชาวสุโขทัยสมัยนั้น
ได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำอูและแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด


อาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย

ศิลาจารึกหลักนี้ยังได้จารึกถึง อาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงไว้ด้วยว่า
มีเมืองสำคัญคือ เมืองสุโขทัย กับเมืองชเลียง(ศรีสัชนาลัย) ดินแดนทิศเหนือถึงเมืองแพร่ อำเภอปัว
จังหวัดน่าน (เมืองพลัว) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงหลวงพระบาง(ชะวา) ดินแดนด้านทิศใต้ถึงคณที( บ้านโคน อำเภอเมือง
จังหวัดกำแพงเพชร ) พระบาง( นครสวรรค์) แพรก( อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) สุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) ราชบุรี
เพชรบุรี ศรีธรรมราช(นครศรีธรรมราช)จรดฝั่งทะเล ดินแดนด้านทิศตะวันออก ถึงสรวลวง(พิจิตร)
สองแคว( พิษณุโลก) ลุมบาจาย(อำเภอหล่มเก่า ในเพชรบูรณ์) เวียงจันทน์ เวียงคำ ถึงฝั่งแม่น้ำโขง
ดินแดนด้านทิศตะวันตกถึงฉอด(อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) หงสาวดี จด สมุทรห้าเป็นแดน(อ่าวเบงกอล)


พ.ศ.๑๘๓๙ พ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ได้ร่วมกับพ่อขุนเม็งราย
แห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสน และพ่อขุนงำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน
ได้กระทำสัตย์สาบานจะเป็นพันธมิตรกัน ที่ริมฝั่งแม่น้ำอิง เมืองเชียงราย


ต่อมาพ่อขุนเม็งรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนวิสาขะ
จุลศักราช ๖๕๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๑๘๓๙ เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา(หลักฐานจากจารึกวัดเชียงมั่น)


ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

อาณาจักรสุโขทัยนั้น ได้มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ลังกา มอญ จีน มลายู และ
อิหร่าน ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๓ กล่าวว่า


“เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้มีตลาดปสาน”


ตลาดปสาน นี้หมายถึง ตลาดขายของแห้ง เป็นห้องแถว เชื่อว่า ปสาน นี้ได้ศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย
ของอิหร่านว่า บอร์ซอร์ หรือ บารซาร์ แสดงว่า ชาวเปอร์เซียได้เข้ามาทำมาค้าขายในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้ว


ในพ.ศ.๑๘๒๙ สมัยพ่อขุนรามคำแหง พระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท)ได้เป็นกษัตริย์มอญนั้น และ
มีฐานะเป็นราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงโดยได้อภิเษกกับพระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงครั้งเมื่อเป็นมะกะโท
เข้ามารับราชการเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง จึงทำให้อาณาจักรสุโขทัยได้อาศัยเมืองเมาะตะมะ(Martaban)
เป็นเมืองท่าสำหรับค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดีย เปอร์เซียและอาหรับ โดยใช้เส้นทางเดินบกผ่านเมืองกำแพงเพชร
และเมืองตาก ทางด่านแม่ละเมาที่เมืองฉอด(อำเภอแม่สอด)


ในหลักฐานของจีนในราชวงศ์หงวน สมัยจักรพรรดิ์หงวนสีโจ๊วฮ่องเต้(กุ๊ปไลข่าน)ได้ระบุไว้ว่า
อาณาจักรเสียนหรือสุโขทัย(เสียมก๊ก) สมัยพ่อขุนรามคำแหง นั้นได้ส่งทูตไปติดต่อกับจีนรวม ๑๐ ครั้ง ใน ปี ๑๘๓๘,๑๘๔๐,๑๘๔๑,๑๘๔๒,๑๘๔๓,๑๘๕๗,๑๘๖๑ และ ๑๘๖๕ ส่วนจีนนั้นได้ส่งฑูตมา ๓ ครั้ง
ในปี พ.ศ.๑๘๓๖,๑๘๓๗,๑๘๓๘ (ทูตจีนนั้นส่งมาทั้งหมด ๔ ครั้ง ในครั้งแรกในปี พ.ศ.๑๘๒๕ นั้น
คณะฑูตเดินทางมาไม่ถึงเพราะถูกพวกจามจับกุมประหารชีวิตเสียก่อน)


นอกจากนี้ยังมีปรากฏในรายงานว่า ในฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เรือสำเภาจากจีนจะมาจอด
ที่สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมื่อถึงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาถึง เรือสำเภาก็จะแล่นใบ
กลับไปเมืองจีน จักรพรรดิ์จีนที่ติดต่อในสมัยพระเจ้าเลอไทนั้นคือ จักรพรรดิ์หงวนเสงจงฮ่องเต้
เป็นพระโอรสของจักรพรรดิ์กุ๊ปไลข่าน


สินค้าที่อาณาจักรสุโขทัยส่งออกไปค้าขายในจีนนั้น ได้แก่ ของป่า ไม้สัก ไม้ฝางและข้าว
ส่วนสินค้าเข้าจากจีนได้แก่ ผ้าแพร ผ้าไหม และภาชนะเคลือบดินเผา


ในบันทึกของสำนักพระราชวังของจีน สมัยจักรพรรดิ์กุ๊ปไลข่าน ได้กล่าวไว้ว่า

“แผ่นดินจี่หงวน ปีที่ 28 ซินเบ๊าจับหง้วย(ตรงกับ เดือน 12 ปีเถาะ จุลศักราช 625 พ.ศ.1834)
หลอฮกก๊กอ๋องให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยทองกับเครื่องบรรณาการคือ ทองคำ งาช้าง นกกะเรียน
นกแก้วห้าสี ขนนกกระเต็น นอแรด อำพันทอง มาถวาย”

(จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน พระเจนจีนอักษรแปลจากหนังสือจีน
ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
หลวงศักรินทรภักดี พ.ศ.๒๕๐๕)


ในปี พ.ศ.๑๘๓๖จักรพรรดิ์หงวนเสงจงฮ่องเต้ พระเจ้ากรุงจีน ส่งทูตจีนเชิญพระราชสาส์น
มาขอให้อาณาจักรเสียนข่านมู่ตึง Hsien (เสียน หมายถึงสุโขทัยหรือสุพรรณบุรี) Kan Mu Ting (หมายถึงชื่อกษัตริย์ )
อย่ารุกรานดินแดน หลอหู (คือ ละโว้) และดินแดนมลายู

พุทธศาสนาสมัยสุโขทัย

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงนั้นได้ ระบุว่า ปู่ครูมหาเถรสังฆราชในกรุงสุโขทัย
นั้นได้อาราธนามาจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งสืบพระพุทธศาสนามาจากลังกา จึงมีการสร้างสถูปเจดีย์แบบลังกาไว้
ในกรุงสุโขทัยด้วย

พ่อขุนรามคำแหงสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๘๖๐ หลังจากครองราชย์ได้ ๔๐ ปี พระยาเลอไทราชโอรส
ครองราชย์ต่อมา


๔.ปู่ไสสงคราม

ปู่ไสสงคราม โอรสอีกองค์หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหง มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์
หรือมีพระราชพิธีราชาภิเษกได้ถวายราชสมบัติคืนให้พระยาเลอไท ซึ่งเป็นรัชทายาทที่มีสิทธิ์ครองราชย์
ซึ่งเสด็จกลับมาจากประเทศจีนใน พ.ศ. ๑๘๔๒ (น่าจะเป็น พ.ศ. ๑๘๖๐-๑ และไม่ได้ครองราชย์)


๕. พญาเลอไทย

พญาเลอไทย หรือ พญาเลือไทย (ในไตรภูมิพระร่วงว่าพญาเลลิไทย) โอรสของพ่อขุนรามคำแหง
และเป็นพระเชษฐาของปู่ไสสงคราม ในจารึกขอมเรียกว่าหฤทัยชัยเชษฐสุริวงศ์ และในชินกาลมาลินีก็ว่า
อุทกโชตถตราช (แปลว่าพระยาจมน้ำ) ครองราชประมาณ พ.ศ. ๑๘๖๐ - ๑ (บางแห่ง พ.ศ. ๑๘๔๑ )
แต่พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ นี้ครองราชสมบัติสืบมา ๓๖ ปี พ.ศ. ๑๘๙๗ ในราชกาลนี้มีแต่เรื่องเล่าว่า
เมื่อ พ.ศ. ๑๘๗๓ เมืองรามัญเป็นกบฏหลังจากที่พระเจ้าแสนเมืองมิ่งสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ
ได้ยกกองทัพไปปราบปรามไม่สำเร็จ จึงเป็นเหตุให้เมืองรามัญแข็งเมืองตั้งแต่นั้นมา
แม้ว่าในพงศาวดารพม่าจะกล่าวถึงไทยตีได้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรีมาเป็นเมืองขึ้นก็น่าจะเรื่องราวของกษัตริย์
ในกรุงศรีอยุธยามากกว่าด้วยขณะนั้นอาณาจักรสยามด้านใต้ได้สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีแล้ว

ในสมัยพระยาเลอไท เมื่อพ.ศ.๑๘๖๑ นั้น กองทัพสุโขทัยอ่อนแอไม่เข้มแข็งทำให้
พวกมอญแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอาณาจักรสุโขทัย และชาวสยามทางภาคกลาง พวกเมืองละโว้
และผู้คนทางเมืองสุพรรณบุรี ภายใต้การนำของพระเจ้าอู่ทองได้อพยพมาตั้งอาณาจักรใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่กรุงศรีอยุธยา

พ.ศ.๑๘๙๐ พม่าได้ตั้งเมืองหลวงที่เมืองตองอู ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสะโตง

๖.พญางั่วนำถม


พญางั่วนำถม อนุชาของพญาเลอไทย ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๘๘๒–๑๗๙๐ ไม่มีรายละเอียดว่าครองราชย์หรืออย่างไร



๗.พระมหาธรรมราชาลิไทย


พระมหาธรรมราชาลิไทย หรือ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไทย) โอรสของพระยาเลอไทยในจารึกว่า
“พระธรรมราชา” แต่ความปรากฏในศิลาจารึกภาษาขอมของ พระบาทกะมะระเดงอัดศรีสุริยพงษราม (คือพญาลิไทยมหาธรรมราชา) ว่าเมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๘๗๐ (จ.ศ.๗๐๙) พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ ตั้งให้พญาลิไทยอันได้รับพระนามบัญญัติว่า
พระศรีธรรมราช เป็นมหาอุปราชไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อมา ๓ ปีคือ พ.ศ. ๑๘๙๓ (จ.ศ. ๗๑๒) ปีขาล
พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามทางแม่น้ำลุ่มเจ้าพระยา


พระศรีธรรมราช หรือ พระมหาธรรมราชา เป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๗ ปี จนถึงปีมะเมียจุลศักราช ๘๑๖ (พ.ศ. ๑๘๙๗)
พระเจ้าหฤทัยชัยเชษฐฯ พระบิดาทรงประชวรหนักพระองค์จึงยกพยุหเสนาลงมาจากเมืองศรีสัชนาลัยถึงเมืองสุโขทัย
เมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ มีความเล่าในศิลาจารึกว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทัพเข้าประตูเมืองทิศพายัพปราบศัตรูหมู่
ปัจจามิตร ประหารผู้คิดมิชอบเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นครองราชแทนพระบิดาที่สวรรคต
พระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าศรีสุริยพงศราม มหาธรรมมิกราชาธิราช ในหนังสืออื่นเรียกพระยาลิไทยบ้าง
พระมหาธรรมราชาลิไทยบ้างถือเป็นพระองค์เดียวกัน


ส่วนเรื่องการครองราชนั้นระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐–๑๙๑๒ คงนับเอาเวลาที่ครองราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยไว้ด้วย
พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องพระไตรปิฎกแตกฉานมาก “รู้บุญรู้ธรรม มีปรีชาแก่คม บ่มิกล่าวถี่เลย”
จึงมีพระราชนิพนธ์สำคัญคือ ไตรภูมิพระร่วง แต่เมื่อศักราช ๒๓ ปี สำหรับใช้สั่งสอนอาณาประชาราษฎร์และ
ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทรงชำนาญด้านโหราศาสตร์ ซึ่งมีข้อความว่าพระร่วงลบศักราชน่าจะเกิดขึ้นในสมัยนี้
ทรงชำนาญทางไสยศาสตร์ มีบัญญัติศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียม (เหมือนแบบพิธี ๑๒ เดือน)
ทรงสร้างมหาปราสาทราชมนเทียร ก่ออิฐถือปูนดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศว่ากรุงสุโขทัยนั้นมีพระที่นั่งอิทราภิเษก
พระที่นั่งอดิเรกภิรมย์ พระที่นั่งอุดมราชศักดิ์ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งชลพิมาน พระที่นั่งไพศาลเสารส
พระทีนั่งปรัศรัตนนารี พระที่นั่งปรัศศรีอัปสร รัชกาลนี้พระองค์ให้ราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากลังกาทวีป
ได้มาบรรจุไว้ที่นครชุมและสร้างพระมหาธาตุขึ้นไว้ในวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา จ.ศ. ๗๑๙ (พ.ศ. ๑๙๐๐)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๐๔ พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชมาจากเมืองลังกา
จำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง (วัดอัมพวนาราม) เมื่อออกพรรษาในปีนั้นได้มีงานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดเท่าพระองค์
ที่สร้างประดิษฐานไว้กลางเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออกของพระมหาธาตุ (คือ วัดศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม)
และพระองค์ทรงพระราชศัทธาสมาทานศิลเป็นดาบส แล้วรับพระไตรสรณคมน์ต่อพระมหาสวามีสังฆราช
ทรงผนวชเป็นสามเณรในราชมณเฑียร แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปกับคณะสงฆ์ ไปรับอุปสมบถเป็นพระภิษุ ณ วัดป่ามะม่วง
มีกล่าวในศิลาจารึกนั้นว่า

“ขณะเมื่อพระมหาธรรมราชาทรงผนวชนั้น บังเกิดแผ่นดินไหวเป็นโกลาหลและอัศจรรย์ต่างๆ นานา”


เสนาข้าราชการกราบทูลวิงวอนอัญเชิญพระภิษุพระมหาธรรมราชาลาผนวชออกมาราชาภิเษกใหม่
โดยถวายพระนามว่าพระเจ้าศรีมหาธรรมิกราชาธิราช แล้วพระมหาสวามีสังฆราชได้ถวายพระนามเพิ่มให้อีกเป็น
พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชตสุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช


พระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองโดยการให้ทำการขุดครอง และทำถนนจากกรุงสุโขทัย
ไปจนถึงเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองน้อยใหญ่ เป็นการถวายเป็นพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา
ถนนนี้เรียกว่าพระร่วง มีความยาวจากเมืองกำแพงเพชรไปเมืองสุโขทัยต่อไปจนถึงเมืองสวรรคโลก


พ.ศ. ๑๙๐๒ สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทนั้น พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงสร้าง
พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่หลายองค์ เช่น พระศรีศากยมุนี (เดิมเป็นพระประธานอยู่ในวิหารหลวงวัดมหาธาตุ
เมืองสุโขทัย ปัจจุบันได้อัญเชิญลงมาไว้ที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ)


พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทได้เสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา ๗ ปี (พ.ศ.๑๙๐๕–๑๙๑๒)
พระองค์ทรงโปรดให้เขียนหนังสือชื่อไตรภูมิพระร่วง และโปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทจากลังกามาไว้ที่เมืองสุโขทัย
พร้อมกับอาราธนาพระสังฆราชลังกามาจำพรรษาที่เมืองสุโขทัยด้วย


อาณาจักรสยามในสมัยของพระองค์จึงมีความเจริญสุขสำราญร่มเย็นถ้วนหน้า ไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย
และไม่มีข้าศึกศัตรูเข้ามารุกรานหรือเบียดเบียน พระองค์ครองแผ่นดินด้วยธรรมานุภาพเช่นเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง
พระมหาธรรมราชาลิไทยสวรรคตปีใดไม่ปรากฏ ประมาณกันว่า พ.ศ. ๑๙๑๒ (บ้างประมาณว่า พ.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๗)
บางแห่งว่าพระองค์อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี (ประมาณ พ.ศ.๑๘๙๗–๑๙๑๙)


๘.พระมหาธรรมราชาที่ ๒


พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พญาลือไทย) โอรสของพระมหาธรรมราชาลิไทย ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๑๒
(บ้างว่า พ.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๗) – พ.ศ. ๑๙๔๒ มีเหตุการณ์ใน พ.ศ. ๑๙๒๑ ว่าเมืองเหนือนั้นยอมแพ้ยอมอ่อนน้อม
และกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาตีกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๔ รบกันอยู่ ๖ ปี จนถึง พ.ศ. ๑๙๑๒ รวมครองราชย์ได้ ๙ ปี
พระองค์ก็สวรรคต บางแห่งว่าทรงครองราชย์ได้ ๒๒ ปี คือ พ.ศ. ๑๙๑๒–๑๙๒๔ ศักราชก็ต่างกันมากมาย


๙.พระมหาธรรมราชาที่ ๓


พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พญาไสเลอไทย) โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ในพงศาวดารเรียกพระนามว่า
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ในพระราชพงศาวดารเรียกพระนามว่า พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก
ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๐ เพียงปีเดียว แต่บางแห่งว่าครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๔๓ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๑๙๔๒)
สวรรคต พ.ศ. ๑๙๖๒ (๒๐ ปี) ศักราชแตกต่างกันมาก รัชกาลของพระองค์ทำสงครามกับ
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ตีได้หัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ในอำนาจ
จึงขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ราชธานีจึงย้ายมาอยู่ที่เมืองสองแคว (เมืองพิษณุโลก)


๑๐.พระมหาธรรมราชาที่ ๔

พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พญาปาลราชหรือพระบรมปาล) โอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ครองราชย์ที่เมืองสองแคว (เมืองพิษณุโลก) ใน พ.ศ. ๑๙๖๒–๑๙๘๑ (๑๙ ปี) ขณะนั้นกรุงสุโขทัยได้ยอมอ่อนน้อมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีเหตุการณ์อะไรสำคัญ


หมายเหตุ ศักราชการครองราชย์ของกษัตริย์กรุงสุโขทัยยังสรุปแน่ชัดไม่ได้


<< ย้อนกลับ ต่อไป อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา >>