สมัยหินเก่า

สมัยหินเก่า

(Palaeolithic PeriodหรือOld Stone Age)ราว ๕๐๐,๐๐๐–๑๐๐,๐๐๐ ปี


แหล่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคนี้พบว่ามีอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินเก่า
นั้นได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆประมาณกลุ่มละ ๓๐–๓๐๐ คน มนุษย์กลุ่มนี้พากันดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์
เก็บเผือกมันและผลไม้เป็นอาหาร ใช้รากไม้-ใบไม้ รักษาการเจ็บป่วย ไม่รู้จักทำไร่ไถนาปลูกพืช ไม่รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา
ไม่รู้จักการเลี้ยงสัตว์ ไม่มีภาษาเขียน มนุษย์บางกลุ่มไม่รู้จักการใช้ไฟ รู้จักที่จะนำกระดูกสัตว์และหินมากระเทาะด้านเดียว
อย่างหยาบ ๆ มาเป็นเครื่องมือสับตัด โดยยังไม่รู้จักขัดถูให้ประณีต ดังจะเห็นได้จากขวานหินกำปั้น(First Axes)
เป็นขวานหินประเภทกระเทาะ รู้จักทำเข็มเย็บหนังสัตว์จากกระดูกสัตว์ บางครั้งมนุษย์ยุคหินเก่านี้ได้ส่วนใหญ่อาศัยถ้ำ
และเพิงผาเป็นที่พัก หรือเร่ร่อนพเนจรหากินไปตามลำธาร ซอกเขาต่าง ๆ ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
โดยไม่ปลูกสร้างบ้านเรือนถาวร เมื่อที่ใดไม่มีแหล่งอาหารหมด ก็จะเคลื่อนย้ายไปแหล่งอาหารใหม่เรื่อยไป
เมื่อตายลงก็จะนำศพไปฝังไม่ไกลจากถิ่นที่อยู่


เมื่อพ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๓๐คณะสำรวจได้สำรวจพบหลักฐานที่แสดงว่าแผ่นดินสุวรรณภูมิมีมนุษย์ยุคหินตอนต้นคือ
โฮโมซาเปี้ยน(Homosapien)ตั้งหลักแหล่งอยู่แล้ว มนุษย์ยุคนี้มีอายุระหว่าง ๓๗,๐๐๐–๒๗,๓๕๐ ปี
ในครั้งนั้นศาสตราจารย์ ดักลาส แอนเดอร์สัน (Dr. Douglas Anderson) นักมานุษยวิทยาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบราวน์
ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับกรมศิลปากร ทำการขุดค้นทางโบราณคดี พบเครื่องมือหินกระเทาะ ถ่านจากเตาไฟ
เครื่องปั้นดินเผา กระดูกสัตว์เผาไฟ และร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคไพลสโตซีน(Plistocence)
อยู่ในถ้ำหลังโรงเรียน (Lang Rongrean) อยู่ที่บ้านทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ หรือเพิงผาหินปูน
เป็นมนุษย์ยุคเดียวกับมนุษย์โครมันยองที่พบในฝรั่งเศส


ต่อมาพ.ศ.๒๕๓๔ ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร นักโบราณคดีไทยได้สำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะและร่องรอยการอยู่อาศัย
ของมนุษย์โบราณยุคไพลสโตซีน ในถ้ำหมอเขียว ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เช่นเดียวกันได้มีการ
นำสิ่งที่ค้นพบไปทดสอบอายุด้วยรังสีนิวเคลียร์ที่สหรัฐอเมริกา พบว่ามีอายุกว่าสี่หมื่นปี


เมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีนั้นแผ่นดินบริเวณนี้ได้เกิดมีระดับน้ำทะเลซึ่งมีความสูงกว่าปัจจุบันราว ๔๕ เมตร
หมายความว่าน้ำได้ท่วมบริเวณแผ่นดินเป็นบริเวณกว้างมีเกาะแก่งในทะเล ต่อมาเมื่อประมาณ๒๕,๐๐๐–๒๒,๐๐๐ ปีนั้น
โลกได้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นโดยภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินไหวไปทั่วโลก จนทำให้น้ำทะเลลดลง
ต่ำกว่าระดับปัจจุบันถึง ๑๒๐ เมตร ทำให้มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และสัตว์สามารถเดินทางทางบกไปมาระหว่างภูเขา
และแผ่นดินต่างๆที่เคยเป็นเกาะแก่งต่างๆอยู่ในทะเลได้สะดวกสบาย หลักฐานที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ
แหล่งเกลือสินเธาว์บนบกและใต้ดินหลายแห่งที่พบว่าในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นเป็นแหล่งน้ำเค็มมาก่อน เช่น
บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และบนภูเขาสูงที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ทำให้สันนิษฐานได้ว่า

บริเวณดังกล่าวนั้นได้เคยเป็นทะเลมาก่อน ต่อมาเมื่อประมาณ ๘,๕๐๐-๕,๗๐๐ ปี ได้เกิดแผ่นดินไหวหรือ
ภูเขาไฟระเบิดซ้ำอีก ทำให้น้ำทะเลกลับขึ้นสูงถึงระดับปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นพื้นดินดั้งเดิมได้กลายเป็นเกาะแก่ง
คนที่อยู่บนบกบางแห่งจึงกลายเป็นชาวเกาะ พบว่ามีการเขียนภาพไว้ในถ้ำเพิงผาอยู่ตามเกาะต่างๆ
มีการใช้แพและเรือในการเดินทางระหว่างเกาะต่างๆ

ข้อสันนิษฐานนี้ให้คำตอบว่า มนุษย์และพืชหรือสัตว์ที่อยู่ต่างทวีปนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นทะเล
และเกาะใหญ่น้อยต่าง ๆขึ้น ได้ทำให้มนุษย์และสัตว์เช่นช้าง ที่อยู่ในเกาะลังกา สุมาตรา และอินเดีย นั้น
จึงมีชาติพันธ์และวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันได้

หลักฐานสำคัญที่พบคือเครื่องมือหินกระเทาะหยาบ และ ขวานหินกำปั้น ที่ใช้ในยุคหิน อายุกว่า ๑๐,๐๐๐ปี
เป็นจำนวนมาก ซึ่งสำรวจพบที่จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณแควน้อยแควใหญ่ ใกล้สถานีรถไฟบ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก
อำเภอเมือง ที่ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ และที่อำเภอไทรโยค

นอกจากนี้ยังสำรวจพบเครื่องมือหินเก่าอีกหลายแห่งเช่น พบขวานหินกระเทาะหยาบและขวานหินกำปั้น
ในจังหวัดกระบี่ พบที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบที่ถ้ำเบื้องแบบ ในจังหวัดลำปาง
พบที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดแพร่ พบที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดเชียงใหม่ พบที่ผาช้าง ออบหลวง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และพบโลงศพทำด้วยไม้รูปร่างคล้ายเรือขุดจากต้นซุง ขวานหิน ลูกปัดและหม้อดินเผาและซากพืช พวกหมาก สมอพิเภก
ดีปลี พลู พริกไทย และแตงกวา ที่ถ้ำผาชัน ถ้ำผีแมน (Spirit Cave) และถ้ำปุงฮุง สำหรับในจังหวัดเชียงรายนั้น
พบขวานหินที่แหล่งโบราณคดีดอยคำ ริมฝั่งแม่น้ำคำ แม่น้ำโขง บ้านสบคำ บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน
อำเภอแม่สาย และอำเภอเมือง จังหวัดเลย พบที่อำเภอเชียงคาน ที่จังหวัดราชบุรี พบที่บ้านตะโกปิดทอง
อำเภอสวนผึ้ง รวมทั้งมีการพบชิ้นส่วนขวานหินบนยอดเนินเขาที่ ๑๒ กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมือง
และ ๑๕ กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดน่าน(เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินโบราณ)
จังหวัดพะเยา พบบริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำคำ และแม่น้ำเมย หลายแห่ง ส่วนใหญ่มักจะพบเครื่องมือหินในที่กลางแจ้ง
ใกล้แม่น้ำหรือทางน้ำเก่า ยกเว้นที่ถ้ำพระ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีแห่งเดียวเท่านั้นที่พบเครื่องมือหินในถ้ำ


สำหรับหลักฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินเก่าในประเทศไทยนั้นพบอีกหลายแห่งเช่น
เรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในถ้ำจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในดอยถ้ำพระ อำเภอเชียงแสน
พบในพื้นที่ดินฝั่งซ้ายของแม่น้ำกก ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายไปทางตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร
พบบนเนินผาใกล้ถ้ำฤาษี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พบในถ้ำกระดำ เขาสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
พบในถ้ำพระ ถ้ำทะลุ เขาหินกรวดระหว่างสถานีรถไฟบ้านเก่า ถึงสถานีท่ากิเลน ใกล้แม่น้ำแควน้อย
พบบริเวณใกล้ทางรถไฟสาย ธนบุรี-น้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี และพบที่ทุ่งผักหวาน ตำบลท่าขนุน
อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เชลยศึกชาวฮอลันดาชื่อ ดร. แวน ฮิกเกอรแรน ซึ่งถูกญี่ปุ่นจับมาทำงาน
เป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบเครื่องมือหินของมนุษย์โบราณที่ริมแม่น้ำแควน้อย
ใกล้สถานีรถไฟบ้านเก่า ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๓๕ ไมล์
จึงได้เขียนรายงานเผยแพร่ ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีนักประวัติศาสตร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
มาศึกษาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยหลายคณะ เช่น คณะของประเทศเดนมาร์ค ของมหาวิทยาลัยฮาวาย
และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้น เรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่พบบริเวณ
บ้านเก่าแห่งนี้ เรียกว่า วัฒนธรรมฟิงนอยเอียน โดยนำคำว่า “แควน้อย”ที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า”แฟน้อย หรือ ฟิงนอย
มาตั้งชื่อวัฒนธรรมของมนุษย์หินเก่าที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนั่นเอง







<< ย้อนกลับ ต่อไป สมัยหินกลาง>>