อาณาจักรทวารวดี

อาณาจักรทวารวดี

(พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๖)


ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้นดินแดนอาณาจักรสุวรรณภูมิได้ถูกครอบครองโดย

แคว้นอิศานปุระของอาณาจักรฟูนัน(หรือฟูนาน) และอาณาจักรเจนละ (หรือเจินละ)

ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ขณะที่อาณาจักรฟูนันสลายตัวลงในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น

ได้มีชนชาติอีกพวกหนึ่งที่แตกต่างกับชาวเจนละ ในด้านศาสนาและศิลปกรรม

ได้มีอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนทางตะวันตกของอาณาจักรเจนละตั้งแต่เมืองเพชรบุรี

เมืองราชบุรีขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองลำพูนได้ จดหมายเหตุของภิกษุจีนชื่อเหี้ยนจั๋งหรือ

พระถังซัมจั๋ง(Hieun Tsing) ซึ่งเดินทางจากเมืองจีนไปประเทศอินเดียทางบก ราว

พ.ศ. ๑๑๗๒–๑๑๘๘ และภิกษุจีน อี้จิง (I-Sing) ได้เดินทางอินเดียไปทางทะเลในช่วงเวลา

ต่อมานั้น ได้เรียกอาณาจักรใหญ่แห่งนี้ตามสำเนียงชนพื้นเมืองในอินเดียว่า โลโปตี้ หรือ

จุยล่อพัดดี้(ทวารวดี) เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร(อยู่ในพม่า)

ไปทางตะวันออกกับเมืองอิศานปุระ(อยู่ในเขมร) ปัจจุบันคือส่วนที่เป็นดินแดนภาคกลาง

ของประเทศไทย


พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า “สามารถเดินเรือจาก

เมืองกวางตุ้งถึงอาณาจักรทวารวดีได้ในเวลา ๕ เดือน” หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๓ คือเหรียญเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๙ ม.ม. พบที่นครปฐม

และอู่ทองนั้น พบว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “ศรีทวารวดีศวร”และ มีรูปหม้อน้ำกลศอยู่อีกด้านหนึ่ง

ทำให้เชื่อได้ว่า ชนชาติมอญโบราณได้ตั้งอาณาจักรทวารวดี(บางแห่งเรียกทวาราวดี)

ขึ้นในภาคกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ และมีชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีสำคัญหลายแห่งได้แก่

เมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำท่าจีน)

เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรีในลุ่มแม่น้ำท่าจีน) เมืองพงตึก(จังหวัดกาญจนบุรี

ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ) เมืองละโว้(จังหวัดลพบุรีใน ลุ่มแม่น้ำลพบุรี) เมืองคูบัว(จังหวัดราชบุรี

ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง) เมืองอู่ตะเภา(บ้านอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จังหวัดชัยนาท

ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) เมืองบ้านด้าย(ต.หนองเต่า อ.เมืองจ.อุทัยธานี ในแควตากแดด)

เมืองซับจำปา(บ้านซับจำปา จังหวัดชัยนาทในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ) เมืองขีดขิน(อยู่ในจังหวัดสระบุรี)

และบ้านคูเมือง(ที่อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) นอกจากนั้นพบเมืองโบราณสมัยทวารวดี

อีกหลายแห่ง เช่น ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งหมู่บ้าน

ในเขตอำเภอบ้านหมี่ และโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีเป็นต้น ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีในภาคเหนือ

พบที่เมืองจันเสน(อยู่ที่ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มแม่น้ำลพบุรี)

เมืองบึงโคกช้าง (อยู่ในตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานีในแควตากแดด

ลุ่มน้ำสะแกกรัง) เมืองศรีเทพ(ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก) เมืองหริภุญชัย(ที่จังหวัดลำพูน

ในลุ่มแม่น้ำปิง) และ เมืองบน(อยู่ที่ อำเภอพยุหคิรี จังหวัดนครสวรรค์ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

ชุมชนเมืองสมัยทวารวดีที่ในภาคตะวันออก มีเมืองโบราณสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษ

ที่ ๑๑–๑๘ อยู่ที่เมืองพระรถ (อยู่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ซึ่งพบเครื่องถ้วยเปอร์เซียสีฟ้า)มีถนนโบราณติดต่อกับเมืองศรีพะโล ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัย

พุทธศตวรรษที่ ๑๕–๒๑ (อยู่ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง)

ซึ่งพบเครื่องถ้วยจีนและญี่ปุ่นจากเตาอะริตะแบบอิมาริ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และ

ติดต่อถึงเมืองสมัยทวาราวดีที่อยู่ใกล้เคียงกันเช่นเมืองศรีมโหสถ (ที่อำเภอโคกปีบ

จังหวัดปราจีนบุรี) เมืองดงละคร(ที่นครนายก) เมืองท้าวอุทัย และ บ้านคูเมือง(จังหวัดฉะเชิงเทรา)

ชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีเมืองฟ้าแดดสงยาง หรือ

ฟ้าแดดสูงยาง(ที่อำเภอกมลาไสยจังหวัดกาฬสินธุ์) ภูพระบาท(ที่อุดรธานี) เมืองโบราณ

ที่พบในอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม

จังหวัดสกลนครและเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ส่วนชุมชนเมืองสมัยทวาราวดีในภาคใต้นั้น

ปรากฏว่าอิทธิพลของอาณาจักรทวาราวดีนั้นสามารถแพร่ลงไปถึงเมืองไชยา(สุราษฎร์ธานี)

เมือง นครศรีธรรมราช และเมืองยะรัง( ปัตตานี) ของอาณาจักรศรีวิชัยด้วย

อาณาจักรทวารวดีนั้นจึงเป็นดินแดนเป็นของชนชาติมอญโบราณ มีศูนย์กลางที่เมือง

นครปฐมโบราณ( ลุ่มแม่น้ำท่าจีนหรือนครชัยศรี) กับเมืองอู่ทองและเมืองละโว้(ลพบุรี)

ต่อมาได้ขยายอำนาจขึ้นไปถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน มีหลักฐานเล่าไว้ว่า ราว พ.ศ.๑๑๐๐

พระนางจามเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองลวปุระหรือละโว้ลพบุรี ได้อพยพผู้คนขึ้นไป

ตั้งเมืองหริภุญชัยที่ลำพูน ส่วนที่เมืองนครปฐมนั้นมีการพบ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่า

บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อแรกสร้างมีลักษณะคล้ายสถูปแบบสาญจี

ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ในอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ และมีการพบจารึก

ภาษาปัลลวะ บาลี สันสกฤต และภาษามอญ ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียง

พบจารึกภาษามอญอักษรปัลลวะ บันทึกเรื่องการสร้างพระพุทธรูป เสาหงส์ วิหาร และ

แนวต้นมะพร้าวเป็นอาณาเขตพระอารามที่วัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม อายุราว พ.ศ.๑๒๐๐

(ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์) และพบจารึกมอญที่ลำพูนอายุราว พ.ศ.๑๖๒๘

(ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน)

สำหรับเมืองอู่ทองนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพันโบราณเป็นสาขาของ

แม่น้ำท่าจีน ซึ่งเปลี่ยนทางเดิน ด้วยปรากฏมีเนินดินและคูเมืองโบราณเป็นรูปวงรี

กว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลง

มีการพบโบราณวัตถุอายุสมัย พ.ศ.๖๐๐–๑๖๐๐ จำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้สำรวจพบ

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกหลายแห่งเช่น แหล่งโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดิน

ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น พบเงินเหรียญสมัยทวารวดีเป็นตรารูป

แพะ สายฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และรูปหอยสังข์ บางเหรียญจารึกอักษรปัลลวะและ

พบปูนปั้นรูปสตรีหลายคนเล่นดนตรีชนิดต่างๆ เป็นต้นเป็นหลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่า เมืองอู่ทอง

มีฐานะเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี เมืองนครไชยศรีโบราณ ซึ่งอยู่บริเวณ

ที่ตั้งของวัดจุลประโทณ จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน และถัดออกจากองค์พระปฐมเจดีย์

ไปทางทิศใต้ประมาณ ๕๒ กิโลเมตรนั้นมีที่ดอน สำรวจพบคูเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม

ขนาด ๓,๖๐๐ x ๒,๐๐๐ เมตร มีลำน้ำบางแก้วไหลผ่านกลางเมืองโบราณออกไปตัดคลอง

พระประโทณ ผ่านคลองพระยากง บ้านเพนียด บ้านกลาง บ้านนางแก้ว แล้วออกสู่

แม่น้ำนครไชยศรี พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจำนวนหนึ่งของเมืองนครไชยศรีโบราณแห่งนี้

ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมืองโบราณกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

มีลักษณะคล้ายสำเภาโบราณ ขนาดประมาณ ๓๒๕ ไร่ ( ปรากฏคันดินคูน้ำ สระน้ำและ

ทางน้ำเก่าต่อกับห้วยยาง ปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะตื้นเขิน) เป็นเมืองใหญ่ของอาณาจักร

ทวารวดีโบราณ มีวัดพระประโทณเป็นศูนย์กลาง ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส

มีการขุดสระน้ำขนาดต่าง ๆ มีคลองขุดจากคลองพระประโทณผ่านไปยังดอนยายหอม

ยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร มีเส้นทางน้ำหลายสายที่ยังปรากฏอยู่ เช่น คลองบางแก้ว

คลองรังไทร และคลองรางพิกุล เป็นต้น การพบศิลาสลักรูปวงล้อพระธรรมจักร์กับ

กวางหมอบ เปลือกหอยทะเล สมอเรือ และสายโซ่เรือขนาดใหญ่ในเมืองนครปฐมโบราณ

เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าในสมัยก่อนนั้นเมืองโบราณแห่งนี้อยู่ติดกับทะเลหรือ

เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีการพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปจำนวนมาก

และยังได้พุทธรูปหินทรายสลักประทับนั่งขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี จำนวน ๔ องค์

ที่วัดพระเมรุ ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันนี้พระพุทธรูปองค์หนึ่งได้อัญเชิญไปไว้

ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจังหวัดอยุธยา องค์ที่สองอยู่ในอุโบสถ

วัดพระปฐมเจดีย์ องค์ที่สามอยู่ที่ลานประทักษิณด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ และ

องค์ที่สี่ อยู่ในวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูป

นั่งห้อยพระบาทศิลปทวารวดีสลักอยู่ในถ้ำฤาษี เขางู จังหวัดราชบุรี ด้วย

จากหลักฐานที่พบสถาปัตยกรรมศิลปสมัยทวารวดี จากลายปูนปั้นประดับฐานเจดีย์

ที่วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลประโทณที่เมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณนั้นปรากฏว่า

เป็นศิลปที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่พุกาม ประเทศพม่า

นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่สำรวจพบเมืองโบราณ และชิ้นส่วนรูปปั้นดินเผา

ปูนปั้นลายผักกูดศิลปสมัยทวารวดีอีก เช่น ที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี

ในจังหวัดเพชรบูรณ์ขุดพบธรรมจักรศิลาขนาดใหญ่ สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๔

ที่เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้นเป็นหลักฐานที่แสดงว่าชุมชน

แห่งนี้ได้มีการนับถือศาสนาพุทธแล้ว ส่วนหลักฐานสำคัญของพุทธศาสนาสมัยทวารวดีนั้น

พบที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง(หรือฟ้าแดดสูงยาง) อำเภอกมลาไสย

จังหวัดกาฬสินธุ์ ใกล้แม่น้ำชี ซึ่งพบเสมาหินจำนวนมากเป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดี

ขนาดใหญ่อายุราว ๑,๒๐๐ ปี มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยขอมนครวัด ใบเสมานั้นจำหลักเรื่อง

พุทธประวัติโดยรับอิทธิพลมาจากศิลปแบบคุปตะของอินเดีย พบเสมาหินบางแท่งมีจารึก

อักษรปัลลวะ ของอินเดียใต้ไว้ด้วย บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ

จังหวัดอุดรธานี พบภาพสลักภาพนูนสูงอยู่ในซอกผนังหินทราย เป็นพระพุทธรูปศิลปทวารวดี

ประทับนั่งขัดสมาธิ ในบริเวณที่เรียกว่าถ้ำพระ เศียรพระพุทธรูปองค์นี้ถูกทำลายต่อมา

ได้ซ่อมแซมให้สมบูรณ์แล้ว สำหรับดินแดนภาคใต้นั้นมีการขุดพบดินเผาลวดลายดอกบัว

ศิลปสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี ใช้สำหรับตกแต่งโบราณสถาน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของอาณาจักรทวารวดีไว้ว่า

“พระเจ้าอนุรุทรมหาราชแห่งเมืองพุกามประเทศพม่า ทรงยกกองทัพเข้ามาโจมตีของ

อาณาจักรทวาราวดี จนทำให้อาณาจักรทวารวดีสลายสูญไป”

ต่อมาอาณาจักรขอมหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตใน พ.ศ. ๑๗๓๒ อำนาจก็

เริ่มเสื่อมลงทำให้บรรดาเมืองประเทศราชที่อยู่ในอิทธิพลของขอมต่างพากันตั้งตัวเป็นอิสระ

ดังนั้นใน ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง

เจ้าเมืองราด ซึ่งได้พระนางสิขรเทวีพระธิดาขอมเป็นมเหสีและได้รับพระนามว่า

”ขุนศรีอินทราทิตย์”พร้อมพระขรรค์ชัยศรี ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจจากขอม และ

ให้พ่อขุนบางกลางหาว สถาปนาเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย

เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พ่อขุนรามคำแหง พระราชโอรสของขุนศรีอินทราทิตย์

ได้ครองราชย์และทรงดัดแปลงอักษรขอมและมอญมาประดิษฐเป็นลายสือไทย

ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงได้ระบุชื่อเมืองที่อยู่ในอำนาจของ

สุโขทัยหลายเมือง ก่อนนั้นเมืองเหล่านี้เคยอยู่ในอาณาจักรทวารวดีโบราณ เช่น

เมืองสุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองแพรก(ชัยนาท) เป็นต้น

ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าไชยศิริ โอรสของพระเจ้าพรหมแห่งโยนกนครทางเหนือ

ถูกกษัตริย์เมืองสุธรรมวดียกกองทัพมารุกราน พระเจ้าไชยศิริสู้ไม่ได้จึงหนีข้าศึกมาเมือง

กำแพงเพชร และอพยพหนีลงมาถึงดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดี แล้วตั้ง

ราชวงศ์อู่ทองขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายราชธานีจากเมืองอู่ทอง

มาตั้งมั่นที่บริเวณใกล้เมืองอโยธยาเดิมที่ปละคูจาม ใกล้หนองโสน (อาจเป็นเพราะ

แม่น้ำจรเข้สามพันเปลี่ยนทางเดิน หรือ เกิดโรคระบาด) แล้วพระองค์ได้ทรงสถาปนา

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นามว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาฯ”


<< ย้อนกลับ ต่อไป อาณาจักรศรีวิชัย >>