สุวรรณภูมิ
ยุคช้างดึกดำบรรพ์

สุวรรณภูมิยุคช้างดึกดำบรรพ์

นอกจากพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์แล้ว ยังพบว่ามีการสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ของช้างดึกดำบรรพ์
เป็นจำนวนมากใน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแผ่นดินที่อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา

พื้นที่ในตำบลท่าช้างและตำบลช้างทอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา มีการพบซากดึกดำบรรพ์(FOSSIL)
ที่เป็นกระดูก ฟัน งา จำนวนมาก เป็นหลักฐานที่แสดงว่าบริเวณพื้นที่ประมาณ ๖พันไร่นั้น ในโลกยุคก่อนเมื่อ
ประมาณ ๒๕ ล้านปี บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งที่อยู่ของช้างดึกดำบรรพ์มาก่อน และ พบว่ามีหลายสกุลที่สูญพันธ์
ไปแล้วอยู่จำนวนมาก คาดว่ามีไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เชือก

ซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นชิ้นส่วนของช้างโบราณนั้น ได้มาจากบ่อทรายหรือเหมืองทรายหลายแห่งในพื้นที่ตำบลท่าช้าง
และตำบลช้างทอง จากการตรวจสอบโดยศาสตราจารย์ จัง จาคส์ เจเจร์ นักโบราณคดีชีววิทยา จากประเทศฝรั่งเศส
ดร.วราวุธ สุธีธร และดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักโบราณชีววิทยา ของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์
ชิ้นส่วนของช้างโบราณที่เป็นส่วนกระดูก งา ขากรรไกรและฟันกราม ของช้างสกุลต่างๆ ได้แก่

ช้างกอมโฟธีเรียม ช้างโบราณที่มี ๔ งา มีอายุอยู่เมื่อ ๒๕-๑๓ ล้านปี

ช้างสเตโกโลโฟดอน ช้างโบราณมีงาคู่บน ๑ คู่ มีอายุอยู่เมื่อ ๒๕ -๕ ล้านปี

ช้างไดโนธีเรียม ช้างโบราณที่มีงา ๑ คู่อยู่ด้านล่างในลักษณะงาจอบ มีอายุอยู่เมื่อ ๒๕-๑.๗ ล้านปี

ช้างสเตโกดอน ช้างโบราณที่มีงาคู่บน ๑ คู่ มีอายุอยู่เมื่อ ๕-๐.๐๑ ล้านปี

ช้างพาลีดอโลโซดอน และช้างเอลลิฟาส ช้างโบราณที่เป็นสกุลของช้างในยุคปัจจุบันอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้พบซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นชิ้นส่วนของช้างโบราณในพื้นที่อื่นๆอีกคือพบในเหมืองถ่านหิน
จังหวัดลำปาง ลำพูน พะเยา เป็นต้น ทำให้ได้ข้อมูลว่า พื้นที่แหล่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของช้างดึกดำบรรพ์เช่นกัน
แต่มีจำนวนน้อยกว่าที่พบในจังหวัดนครราชสีมา

เช่นเดียวกันในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติที่พบซากดึกดำบรรพ์ของชิ้นส่วนช้างโบราณนั้น ได้พบซากดึกดำบรรพ์
ที่เป็นชิ้นส่วนของแรดโบราณ จระเข้โบราณ หอยหินขนาดใหญ่ ต้นไม้และไผ่ที่กลายเป็นหิน และโครงกระดูกมนุษย์
สมัยดึกดำบรรพ์หรือก่อนประวัติศาสตร์

อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการเป็นแผ่นดินในโลกยุดดึกดำบรรพ์ที่วิวัฒนาการแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต
มาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์และยุคช้างดึกดำบรรพ์มาจนถึงยุคมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณส่วนที่เป็นพื้นที่ชายทะเลในอ่าวไทยนั้น ได้สำรวจพบว่าเคยเป็นแหล่งน้ำจืดมาก่อน จากหลักฐานสุสานหอย
ที่พบบริเวณ ชายทะเลบ้านแหลมโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ปรากฏว่าเป็น ทรากหอยขมสกุลวิวิพารัส(VIVIPARIS)
ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดครั้งโลกยุคดึกดำบรรพ์ซึ่งมีจำนวนมากจนทับถมกันเป็นแผ่นบนชั้นถ่านหิน
มีอายุอยู่ประมาณ ๒๕–๗๕ ล้านปี

และที่เหมืองถ่านหินลิกไนท์ บ้านหนองปูดำ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ นั้นได้ขุดพบซากหินของลิงดึกดำบรรพ์
ที่กลายเป็นฟอสซิลแล้ว ปรากฏว่าเป็นลิงชนิด “สยามโมพิเคทัสอีโอซีนิค” คือลิงที่มีลักษณะคล้ายลิงอุรังอุตัง
เกิดขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ ๓๕–๔๐ ล้านปี ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธ์เดียวกับมนุษย์วานร เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นเดียว
ที่มีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีการขุดพบกระโหลกมนุษย์ชวาที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเชีย และ
โครงกระดูกของมนุษย์ปักกิ่งที่ประเทศจีน

สรุปได้ว่าในแผ่นดินทางใต้ของประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งที่เคยมีมนุษย์คล้ายวานรอาศัยอยู่บริเวณนี้(คือ กระบี่)
ในโลกดึกดำบรรพ์ และเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันกับเกาะชวาและจีน ก่อนที่โลกจะเกิดการไหวตัวแยกแผ่นดินเป็นเกาะ
หรือทวีปขึ้น







<< ย้อนกลับ ต่อไป สุวรรณภูมิยุคมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ >>