การสร้างชุมชน
ของชาวสยาม

การสร้างชุมชนของชาวสยาม

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๓


เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นั้น ชุมชนในตอนใต้ของสยาม เริ่มมีความสัมพันธ์กับพวกนับถือศาสนาฮินดู
จากอินเดีย ปรากฏว่ามีการพบเทวรูปพระนารายณ์ สวมหมวกแขก เทวรูปพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก
เทวรูปพระคเนศ และ ศิวลึงค์ ในหลายท้องที่ เช่น ที่พังแฟม วัดพะโคะ ที่บ้านจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ
จังหวัดสงขลา ที่วัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ที่อำเภอเวียงสระ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (รุ่นเจนละ) ที่เขาคา หมู่ ๑๑ ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล(มีเทวาลัยฮินดูเก่าแก่และคาดว่า
เป็นชุมชนแรกที่ค้าขายกับอินเดีย) ที่อำเภอขนอม และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น


พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลวงจีนเหี้ยนจัง ซึ่งเดินทางจากประเทศจีนไปสืบพระพุทธศาสนา
ที่ประเทศอินเดียได้บันทึกไว้ว่า

“ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนี้ไปตามฝั่งทะเลผ่านภูเขาและหุบเขาไป
แล้วมีแคว้น ชิดหลีซาต๋าล้อ(เชื่อกันว่าคืออาณาจักรศรีเกษตร ลุ่มแม่น้ำอิรวดีประเทศพม่า)
ถัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ตอนปากอ่าวเรียกแคว้น มอลังเกีย (น่าจะเป็นเมืองลังกาสุกะ ซึ่งอาจจะเป็นปัตตานี)
ต่อจากนี้ไปทางทิศตะวันออกเรียกว่าแคว้น โต-โล-โป-ตี้ (คืออาณาจักรทวารวดี มีเมืองสำคัญอยู่ที่นครชัยศรี
นครปฐมและเมืองละโว้ ลพบุรี) ต่อไปทางทิศตะวันออก คือแคว้น อี๋เซียน้าโป้ล้อ (เชื่อกันว่าคือแคว้นอีศานปุระ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน) ต่อนั้นไปทางทิศตะวันออก คือแคว้นม่อออเจียมปอ ซึ่งชาวจีน เรียกว่าหลินยี่
คืออาณาจักรจามปาในเวียดนามใต้ ”


ใน พ.ศ.๑๒๑๔–๑๒๓๘(ค.ศ. 671-695) นั้น หลวงจีนอี้จิง ได้บันทึกการเดินทางกลับ
ของขบวนคาราวานพ่อค้าจากจีน ซึ่งไปสืบหาพระธรรมวินัยในอินเดียโดยผ่านเข้ามายังดินแดนอาณาจักรศรีวิชัย
ซึ่งระบุเส้นทางว่าผ่าน ซิลิโฟซิ (นครชัยศรี นครปฐม?) โมโลยู (ยะริง ปัตตานี?) และ เจียซะ (เคดาห์?)
โดยได้พักอยู่ที่เมือง ชีหลี หุดหลี หรือ หลีโพชี ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวรอเวลาสมมรสุมเปลี่ยนทิศทาง
แล้วลงเรือข้ามอ่าวเบงกอล ไปอินเดีย


พุทธศตวรรษที่ ๑๒ นั้นได้มีการขยายตัวของชุมชนภาคกลางจากลุ่มแม่น้ำท่าจีน ไปยังแถบแม่น้ำแม่กลอง
และแม่น้ำเพชรบุรี และทางเหนือนั้นเข้าไปในแถบลุ่มแม่น้ำน้อย จังหวัดชัยนาท และลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์


ชุมชนที่ตั้งบ้านเมืองนั้นได้ทำการพัฒนาเมืองนครชัยศรี และเมืองคูบัว(ในเขตจังหวัดราชบุรี)
โดยมีการสร้างเจดีย์ และพระพุทธรูปขนาดใหญ่จำนวนมาก ด้วยฝีมือช่างระดับสูง


ก่อนพุทธศตวรรษ ๑๕ ชุมชนสยามโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในแหลมทองนั้นใช้อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี สันสกฤต
ภาษามอญโบราณหรือขอมโบราณเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสมัยนั้น อักษรที่เป็นตัวหนังสือไทยยังไม่มีใช้
ดังนั้นเอกสารเก่า คัมภีร์ ใบลานศักดิ์สิทธิ์และสมุดข่อยโบราณ จึงมักจารเป็นอักษรขอม อักษรธรรมล้านนา
หรืออักษรธรรมอิสาน


ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง มีจารึกระบุไว้ว่า


“…เมื่อก่อน ลายสือไทนี้ บ่มี ปี ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้
ลายสือไทยนี้จึ่งมี…..” แปลความเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า” แต่ก่อนนี้ยังไม่มีอักษรไทย
พ่อขุนรามคำแหงทรงสนใจคิดค้นสร้างอักษรไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖




<< ย้อนกลับ ต่อไป ชุมชนกลุ่มน้อยในไทย >>