ไม้ไต่คู้ ( ็ )

ไม้ไต่คู้ ( ็ ) เป็นเครื่องหมายกำกับอักษร มีรูปเหมือนเลขแปดไทย (๘) ใช้วางบนตัวอักษรเพื่อทำให้คำที่มีไม้ไต่คู้นั้นมีเสียงสระสั้นลง เช่น ก็ เก็ง เก็บ เต็ม เห็น เด็ก แข็ง

ในหนังสือจินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เรียกไม้ไต่คู้ว่า ไม้คู้ โดยมีคำอธิบายว่า ไม้คู้ที่มีรูปเหมือนเลขแปดและใช้อ่านคำให้สั้นเข้ากึ่งหนึ่งนั้น เปรียบเหมือนกับคนเหยียดแขนออก แล้วคู้เข้ามากึ่งหนึ่ง แขนก็จะสั้นเข้ามา หรือเหมือนกับเชือกที่ยาว 10 วา คู้ทบเข้ามาครึ่งหนึ่งก็จะสั้นเหลือ 5 วา เป็นต้น

ในภาษาเขมรก็มีเครื่องหมายไม้ไต่คู้ เรียกว่า เลขอสฺฎา (อ่านว่า เลก-อัด-สะ-ดา) แปลว่า เลขแปด ซึ่งศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ กล่าวไว้ในหนังสือหลักภาษาเขมรว่า เครื่องหมายไม้ไต่คู้ไม่ปรากฏในอักขรวิธีภาษาเขมรโบราณ เข้าใจว่าภาษาเขมรรุ่นหลังคงจะเขียนตามอย่างไม้ไต่คู้ของไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา

ปัจจุบันเราใช้ ไม้ไต่คู้ ( ็ ) ในคำว่า ก็ และคำที่ประสมด้วยสระเอะ แอะ เอาะ เมื่อมีตัวสะกดเพื่อแสดงเสียงสั้น เช่น เข็ม เป็น แกร็น ช็อก ล็อก ค็อกคัส ย็อกแย็ก ว็อบแว็บ

ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ส่วนไม้ไต่คู้ที่ปรากฏในคำว่า “ก็” หนังสือหลักภาษาไทยของกำชัย ทองหล่อ ให้ข้อมูลว่า ถ้าสระเอาะประสมกับตัว “ก” และไม้วรรณยุกต์โท
แต่ไม่มีตัวสะกด ให้ลดรูปทั้งหมด แล้วใช้ไม้ไต่คู้แทน เป็น “ก็” อ่านว่า “เก้าะ” มีใช้อยู่ในภาษาไทยปัจจุบันเพียงคำเดียวเท่านั้น


ที่มา : กำชัย ทองหล่อ. (2525). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น.

ภาพและข้อมูล สำนักงานราชบัณฑิตยสภา