การใช้คำลงท้ายที่ถูกต้อง

คำลงท้ายหมายถึงคำที่ใช้ลงท้ายคำหรือประโยค ในภาษาไทยมีคำลงท้าย ๒ ประเภท คือ คำลงท้ายที่ใช้แสดงความสุภาพ และคำลงท้ายที่ใช้แสดงสถานะของเหตุการณ์
คำลงท้ายที่ใช้แสดงความสุภาพในภาษาไทยใช้แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย คำลงท้ายที่ใช้ทั่วไป ผู้ชายใช้ว่า ครับ เช่น ผมไปครับ ผู้หญิงใช้ว่า ค่ะ เช่น ดิฉันไปค่ะ บางทีก็ใช้ในเชิงรับ เช่น ไปครับ ไปค่ะหรือใช้ลงท้ายคำ “ละ” เป็น “ละครับ” “ละค่ะ” เช่น ลาละครับ ลาละค่ะ
คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ในการแสดงความสุภาพยังมีอีกหลายคำ คือ คำว่า คะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ไปไหมคะ หรือใช้ลงท้ายคำ “นะ” เป็น “นะคะ” เช่น สวยดีนะคะ หรือใช้ลงท้ายคำ “ล่ะ” เป็น “ล่ะคะ” เช่น แล้วอันนี้ล่ะคะ คำว่า ขา ใช้ขานรับ เช่น ขา ได้ยินแล้วค่ะ หรือใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น แม่ขาไปไหมคะ
นอกจากนี้ยังมีคำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้กับคนที่สนิทสนมกันและใช้อย่างไม่เป็นทางการ คือ คำว่า จ้ะ ใช้ในเชิงรับ เช่น ไปจ้ะ คำว่า จ๊ะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ไปไหนจ๊ะ คำว่า จ๋า ใช้ขานรับ เช่น จ๋า ได้ยินแล้วจ้ะ หรือใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น แม่จ๋า ไปไหมจ๊ะ
คำลงท้ายที่ใช้แสดงสถานะของเหตุการณ์มีหลายคำ เช่น คำว่า เถอะ, เถิด ใช้เป็นคำอนุญาตเชิงสั่ง เช่น กินเถอะ ยังมีอีกมาก หรือใช้แสดงการชักชวน เช่น ไปกินกันเถอะ คำว่า นะ, น่ะ, น่า, เถอะนะ, เถอะน่ะ, เถอะน่า ใช้ได้ทั้งสั่ง ทั้งชักชวน เช่น ไปให้พ้นนะ (สั่ง), ไปด้วยกันนะ (ชักชวน) คำว่า “นะ” อาจจะใช้บอกกล่าวก็ได้ เช่น ฉันไปนะ คำว่า ละ, ละนะ ใช้แสดงการบอกกล่าวเพื่อเน้นความให้กระชับขึ้น เช่น ไปละ, ไปละนะ คำว่า ล่ะ ใช้แสดงการยืนยันให้มีน้ำหนักขึ้น เช่น จะไปไหมล่ะ คำว่า ซิ, ซี, ซี่ ใช้เป็นคำอนุญาตเชิงสั่ง เช่น ไปซิ, ไปซี, ไปซี่ เสียงที่ทอดยาวขึ้นแสดงการคะยั้นคะยอ คำว่า ซิน่ะ ใช้ในการรับอย่างหนักแน่น เช่น ไปซิน่ะ คำว่า หรอก ใช้เน้นความบอกเล่า เช่น ไม่ไปหรอก, ก็ดีอยู่หรอก