ว่าด้วยการยึดทรัพย์

การยึดทรัพย์คืออะไร?

การยึดทรัพย์สิน คือ การเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ในความดูแลรักษาของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามกฎหมายให้บรรลุผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในการบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเป็นผู้นำยึด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 บัญญัติว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะยึดหรืออายัหรือขายเฉพาะบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์สิน เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องสืบให้ทราบว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ผู้ใดครอบครองทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากทรัพย์สินนั้น เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมนำยึดได้

หมายบังคับคดี

หมายบังคับคดี คือ คำสั่งของศาลที่ตั้งเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมายบังคับคดีแตกต่างจากคำบังคับ คำบังคับเป็นคำสั่งศาลถึงตัวลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งส่วนหมายบังคับคดีเป็นคำสั่งของศาลที่มีไปถึงเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำบังคับกับหมายบังคับคดี เป็นขั้นตอนการบังคับคดีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นลำดับ กล่าวคือเมื่อศาลพิพากษาแล้วศาลก็จะต้องออกคำบังคับกำหนดระยะเวลาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ปฏิบัติตามคำพิพากษา และเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไปเว้นแต่เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาผิดนัดชำระหนี้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถขอศาลออกหมายบังคับคดีได้ โดยไม่จำต้องขอออกคำบังคับก่อน

เหตุที่ต้องขอให้มีการบังคับคดี

เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ถ้าผู้แพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เช่น ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ออกไปจากที่พิพาท กรณีมีการฟ้องขับไล่ งดเว้นการกระทำตามคำพิพากษาก็ไม่จำต้องมีการบังคับคดี แต่ถ้าผู้แพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจึงต้องมีการบังคับคดี ดังนั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จึงเป็นวิธีการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ในกรณีที่ผู้แพ้คดีหรือลูกหนี้

ประเภทของการบังคับคดี

ในการออกหมายบังคับคดีปกติศาลจะระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจะกำหนดสภาพแห่งการบังคับคดีเพียงเท่าที่เปิดช่องให้กระทำทางศาล หรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่น

    1. การยึดทรัพย์ (ที่ดิน,ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง,ห้องชุด,สิทธิการเช่า,รถยนต์,หุ้น เป็นต้น)

    2. การอายัดทรัพย์สิน ( อายัดเงินฝากธนาคาร, เงินเดือน,สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก)

    3. การขายทอดตลาด

    4. การบังคับขับไล่, รื้อถอน

    5. อื่นๆ เช่น การห้ามชั่วคราว

ขั้นตอนการยึดทรัพย์บังคับคดี

สำหรับยึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้จัดเตรียมเอกสารดำเนินการ ดังนี้

      1. ต้นฉบับโฉนดที่ดิน, สัญญาจำนอง (ถ้ามี) ถ้าเป็นสำเนาต้องเป็นสำเนาที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันยึด

      2. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย, ผู้ถือกรรมสิทธิ์, คู่สมรสของจำเลย, ทายาทของจำเลยผู้ตาย ซึ่งนายทะเบียนรับรองไม่เกิน 1 เดือนนับถึงวันยึด

      3. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี) ของโจทก์และจำเลย

      4. แผนที่การเดินทางไปที่ตั้งทรัพย์ที่จะยึด พร้อม สำเนา 1 ชุด

      5. ภาพถ่ายปัจจุบัน ของทรัพย์ที่จะยึดและแผนผังของทรัพย์ที่จะยึดโดยระบุขนาดกว้าง – ยาว

      6. เขียนคำขอยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการ (ตามแบบที่กำหนด) และวางเงินค่าใช้จ่ายสำนวนละ 2,500 บาท

สำหรับยึดห้องชุด ให้จัดเตรียมเอกสารและดำเนินการ ดังนี้

      1. ต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด, สัญญาจำนอง (ถ้ามี)ถ้าเป็นสำเนาต้องเป็นสำเนาที่เป็นปั จจุบัน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันยึด

      2. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย, ผู้ถือกรรมสิทธิ์, คู่สมรสของจำเลย, ทายาทของจำเลยผู้ตาย ซึ่งนายทะเบียนรับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันยึด

      3. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี) ของโจทก็และจำเลย

      4. แผนที่การเดินทางไปที่ตั้งทรัพย์ที่จะยึด พร้อม สำเนา 1 ชุด

      5. ภาพถ่ายปัจจุบัน ของทรัพย์ที่จะยึดและแผนผังของทรัพย์ที่จะยึดโดยระบุขนาดกว้าง – ยาว

      6. หนังสือรับรองนิติบุคคลอาคารชุดที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันยึด

      7. เขียนคำขอยึดทรัพย์ ณ ที่ทำการ (ตามแบบที่กำหนด) และวางเงินค่าใช้จ่ายสำนวนละ 2,500 บาท

สำหรับยึดทรัพย์สิน ให้จัดเตรียมเอกสารและดำเนินการ ดังนี้

      1. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย หรือคู่สมรสของจำเลย (กรณีสินสมรส ซึ่งนายทะเบียนรับรองไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันยึด

      2. เขียนคำขอยึดทรัพย์ตาม (แบบ 7) แจ้งสถานที่ที่จะไปยึดทรัพย์สิน

      3. วางเงินค่าใช้จ่าย สำนวนละ 1,500 บาท

      4. จัดหาหรือเตรียมยานพาหนะ สำหรับรับ – ส่ง เจ้าพนักงานบังคับคดี

      5. ตระเตรียมยานพาหนะและคนเพื่อขนย้ายทรัพย์ที่ยึดไปเก็บรักษาณ สถานรักษาทรัพย์ กรมบังคับคดี หรือสถานที่ของโจทก์

      6. รายละเอียดเอกสารของทรัพย์ที่ยึด เช่น ใบหุ้น

สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่อายัดได้

      1. เงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้อื่นที่มีลักษณะจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเป็นรายเดือน อายัดได้แต่ต้องคงเหลือไม่น้อยกว่า 20,000 บาท

      2. โบนัส อายัดร้อยละ 50

      3. เงินที่ตอบแทนกรณีออกจากงานเงินส่วนที่ไม่ได้อายัดต้องคงเหลือไว้ ไม่น้อยกว่า 300,000 บาท

      4. เงินตอบแทนจากการทำงานเป็นชั่วคราวอายัด ร้อยละ 30

      5. เงินฝากในบัญชีสถาบันการเงิน

      6. เงินปันผลหุ้น

      7. ค่าเช่าทรัพย์สิน

      8. ค่างวดงานตามสัญญาจ้างงาน

สิ่งที่ยึดได้

      • หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

      • หุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

      • สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียนลิขสิทธิ์ สิทธิขอรับสิทธิบัตร

      • สิทธิในชื่อทางการค้าหรือยี่ห้อต่าง ๆ

      • สิทธิตามใบอนุญาตประทานบัตร อาชญาบัตร สัมปทาน

      • ตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือ

      • สิทธิในสิทธิษัตรเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

      • สิทธิการเช่าทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะใช้บริการต่าง ๆ เช่น

      • การใช้บริการโทรศัพท์ หรือโทรคมนาคม

      • ทรัพยสิทธิเที่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน

สิ่งที่ยึดไม่ได้

      • เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้สอยส่วนตัวที่มีราคารวมไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท

      • ทรัพย์สินประเภทสัตว์ สิ่งของ เครื่องมือใช้ในการประกอบอาชีพที่มีราคารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

      • ทรัพย์สินประเภทสัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ในการช่วย หรือแทนอวัยวะเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ *ยกเว้น กรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

      • เงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยงานราชการได้จ่ายให้แก่ คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ

      • เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ที่นายจ้างจ่ายเป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

      • เงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นเป็นจำนวน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

      • เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ

      • เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

      • เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

      • ค่ารักษาพยาบาลที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับจากสำนักงานประกันสังคม

      • เงินตามสัญญากู้ยืมของลูกหนี้

      • สิทธิเรียกร้องซึ่งยังไม่แน่นอนว่าลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับหรือไม่

การถอนการบังคับคดี

      1. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกัน

      2. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิในการบังคับคดี

      3. คำพิพากษาถูกกลับหรือหมายบังคับคดีถูกยกเลิก

      4. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี

การวางทรัพย์ คือ วิธีการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดขึ้น เมื่อการชำระหนี้มีอุปสรรคอันเกิดจากตัวเจ้าหนี้ โดยผู้วางทรัพย์ได้นำเงิน หรือทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งผลของการวางทรัพย์ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ ไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน หรือเบี้ยปรับ และเจ้าหนี้จะร้องต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ไม่ได้ การไถ่ถอนการขายฝากโดยการวางทรัพย์ทำให้ได้กรรมสิทธิ์กลับคืนมาสู่ผู้วางทรัพย์