ผลงานทัศนศิลป์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

1. ผลงานทัศนศิลป์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่ได้ใช้ตัวอักษร การดำรงชีวิตเป็นแบบง่ายๆ อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผา ล่าสัตว์และเก็บพืชผักผลไม้มาเป็นอาหาร เครื่องมือที่มนุษย์สมัยนี้สร้างสรรค์ขึ้นมา ก็คือเครื่องมือต่างๆ ที่ทำด้วยหิน กระดูกสัตว์ ผลงานทัศนศิลป์ที่จัดทำขึ้น มุ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตเป็นหลัก แต่ก็มีบางส่วนที่ทำขึ้นเพื่อใช้ประดับตกแต่งร่างกายให้สวยงามด้วย

อยู่ในช่วงระหว่าง 2.5 ล้านปี – 4,000 ปีล่วงมาแล้ว มนุษย์ในยุคหินจะอาศัยเครื่องมือหินใน การล่าสัตว์เพื่อดำรงชีพ เครื่องมือหินในช่วงเริ่มแรกจะเป็นขวานหินแบบกำปั้น ซึ่งทำขึ้นอย่างง่ายๆ ต่อมาก็มีการขัดเกลาด้านเดียวก่อน หลังจากนั้นก็ขัดเกลาทั้ง 2 ด้าน จนกระทั่งพัฒนานำไม้มาทำ เป็นด้าม เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

นอกจากขวานหินแล้ว ก็ยังมีการนำกระดูกสัตว์มาทำเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วย ผลงานที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในยุคหิน ก็คือ ผลงานทางด้านประติมากรรมการทำเครื่องปั้นดินเผา ประเภทหม้อ ไห จาน ชามที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องปั้นดินเผาเริ่มแรกจะเป็นแบบง่ายๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาก็ทำให้มีลวดลาย มีทั้งลายเชือกทาบ ลายขูดขีดลายเส้นโค้ง บางแห่งก็ทำเป็นขาต่อจากก้นหม้อลงมา

อยู่ในช่วงระหว่าง 3,500 ปีก่อนพ.ศ. พุทธ-ศตวรรษที่ 12 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุจากที่เคยใช้หินก็พัฒนามาเป็นโลหะ ซึ่งโลหะที่นำมาใช้ เริ่มแรกจะใช้สำริดก่อน หลังจากนั้นก็พัฒนามาใช้เหล็ก การที่มนุษย์รู้จักนำโลหะมาใช้ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการสร้างชุมชน การสร้างบ้านแปลงเมือง การพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ด้วย

พัฒนาการที่สำคัญในยุคโลหะอย่างหนึ่ง ก็คือ การรู้จักทำแม่พิมพ์ หรือเบ้าจากหินสำหรับใช้รับโลหะ คือ สำริด เหล็ก ที่หลอมละลาย เพื่อขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ จากหลักฐานที่พบมีทั้งขวาน มีด ใบหอก เครื่องมือสับตัด กลองมโหระทึก สำริด กำไล แหวนต่างหู ฯลฯ นอกจากนี้ ก็มีลูกปัด ทำจากแก้ว หินคาร์นีเลียน นำมาร้อยเป็นสายสร้อย นับเป็นงานประดิษฐ์ทางทัศนศิลป์อีกอย่างหนึ่งที่มีความงดงามมาก

ทางด้านประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา มีการใช้ความรู้ทางด้านทัศนศิลป์มาสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาให้มีความประณีตและมีความสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม โดยนำเอาดินสีแดงมาเขียนลวดลายลงบนเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปทรงต่างๆ ลวดลายที่ออกแบบก็มีอย่างหลากหลายทั้งลายเชือกทาบ ลายเรขาคณิต ลายสี่เหลี่ยม ลายวงกลมลายก้านขด ลายก้นหอย เครื่องปั้นดินเผายุคสำริดที่มีอายุเก่าแก่และมีความงดงาม ขุดพบที่บ้านเชียง อำเภอหนองหานจังหวัดอุดรธานี

ผลงานทัศนศิลป์ในยุคโลหะอีกประเภทหนึ่งที่สำรวจพบ ก็คือ ผลงานด้านจิตรกรรม เป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยผู้คนสมัยนั้นนำสีแดงมาเขียนเป็นรูปต่างๆ เช่น คน รูปฝ่ามือ สัตว์ เครื่องใช้ รูปเรขาคณิตเป็นต้น ไว้ตามหน้าผา ผนังถ้ำ ภาพเขียนสีที่สำคัญพบที่ผาแต้ม ผาหมอนน้อย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

แบบทดสอบท้ายบท หน่วยที่ 7

คำชี้แจง: ให้นักเรียนเขียนโจทย์ และเลือกคำตอบ ใส่สมุด พร้อมเขียนชื่อเลขที่ชั้น

1. รูปแบบศิลปะพื้นเมืองในดินแดนไทยก่อนสมัยสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เนื่องจากปัจจัยในข้อใด

ก. การค้นพบวิธีหลอมโลหะ

ข. การขยายตัวของชุมชน

ค. การเดินทางเข้ามาของชาติอาหรับ

ง. การรับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย

2. ผลงานทัศนศิลป์สมัยเชียงแสนที่เป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในยุคต่อๆ มา คืออะไร

ก. สถูปเจดีย์

ข. พระพุทธรูป

ค. งานไม้แกะสลัก

ง. จิตรกรรมฝาผนัง

3. เจดีย์แบบสุโขทัย มีลักษณะอย่างไร

ก. ฐานทำเป็นทรงกลมซ้อนทับกัน

ข. ทำเจดีย์มีขนาดใหญ่คล้ายเทวาลัย

ค. องค์พระเจดีย์ทำเป็นทรงระฆังคว่ำ

ง. ตอนปลายทำเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

4. ข้อใดกล่าวถึงพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้ถูกต้อง

ก. พระรัศมีทำเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์ รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์ ยิ้มเล็กน้อย

ข. พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน พระรัศมีทำเป็นเปลวเพลิง และขมวดพระเกศาเล็ก

ค. พระเกศมาลาเป็นต่อมสั้น พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย

ง. พระเกศมาลาเป็นต่อมสั้น ไม่มีไรพระศก พระโอษฐ์ แบะ จีวรแนบ

5. พระเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากรูปแบบศิลปะในข้อใด

ก. ศิลปะขอม

ข. ศิลปะอินเดีย

ค. ศิลปะพุกาม

ง. ศิลปะจามปา

6. ข้อใดไม่ใช่ผลงานทัศนศิลป์ที่โดดเด่นในสมัยอยุธยา

ก. เครื่องเบญจรงค์

ข. เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

ค. กลองมโหระทึกสำริด

ง. พระพุทธรูปทรงเครื่อง

7. ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ตามแบบสมัยใหม่ คำว่า “สมัยใหม่” ในที่นี้ หมายถึงงานที่มีลักษณะรูปแบบใด

ก. รูปแบบตะวันตก

ข. รูปแบบตะวันออก

ค. รูปแบบไทยประเพณี

ง. รูปแบบรัตนโกสินทร์

8. การเขียนภาพแบบใด เป็นแนวทางการเขียนภาพของขรัว อินโข่ง

ก. นิยมใช้สีตัดและปิดทองลงบนภาพ

ข. เขียนรูปเกี่ยวกับพุทธประวัติที่ใช้สีน้อยและตัดเส้น ด้วยสีขาว

ค. เขียนลายเส้นสลักบนแผ่นหินชนวน สีที่ใช้คือสีดำและสีขาว

ง. แสดงทัศนียภาพไกลใกล้ และแสดงให้เห็นแสงเงาแบบตะวันตก

9. การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ของไทยได้รับอิทธิพลจากข้อใดมากที่สุด

ก. แนวความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน

ข. อิทธิพลจากอินเดีย จีน และศรีลังกา

ค. ความเชื่อ ความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา

ง. รูปแบบ เทคนิค วัสดุอุปกรณ์จากตะวันตก

10. เหตุผลข้อใดที่สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “ผลงานทัศนศิลป์สามารถสะท้อนวัฒนธรรม” ได้ถูกต้องที่สุด

ก. ผลงานทัศนศิลป์สร้างขึ้นมาจากความคิดของมนุษย์

ข. มนุษย์สร้างผลงานทัศนศิลป์เลียนแบบผลงานทัศนศิลป์ที่มีอยู่

ค. วัฒนธรรมเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ ขณะเดียวกันผลงานทัศนศิลป์ ก็ถ่ายทอด เรื่องราวของวัฒนธรรม

ง. ศิลปินพัฒนาแนวคิด เทคนิค และวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับ วัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น