รูปแบบทัศนธาตุในงานทัศนศิลป์

๓. รูปแบบทัศนธาตุในงานทัศนศิลป์

ในการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ ศิลปินจำเป็นต้องนำเอาองค์ประกอบของทัศนธาตุมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งผลงานทัศนศิลป์หรืองานออกแบบที่มีการจัดวางอย่างถูกต้องตามหลักการนั้น จะทำให้ผลงานมีความน่าสนใจและจูงใจผู้ชม เนื่องจากมีความเหมาะสม ลงตัว ทั้งจังหวะ การเคลื่อนไหว และจุดสนใจ แต่การจะเลือกใช้ ทัศนธาตุได้อย่างเหมาะสม จำเป็นต้องรู้จักวิเคราะห์ทัศนธาตุที่จะนำมาใช้ด้วย

รูปแบบของทัศนธาตุ

ทัศนธาตุ (Visual Element) เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นโครงสร้างของงานทัศนศิลป์ หรือที่ปรากฏในงานออกแบบ หรือหมายถึง สิ่งที่เป็นปัจจัย หรือส่วนประกอบสำคัญในผลงาน ซึ่งเราสามารถจะเห็นได้เป็นเบื้องต้นอันประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้


จุด (Point , Dot)

เป็นทัศนธาตุอันดับแรก ไม่มีมิติ แต่เมื่อนำมาเรียงต่อกัน จะทำให้เกิดเป็นเส้น และถ้านำจุดหลายๆ จุดมารวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นก็จะเกิดเป็นรูปร่าง หรือการรวมกันของจุดที่มีน้ำหนักและปริมาตรก็จะเกิดรูปทรงต่างๆ ขึ้น

เส้น (Line)

เป็นทัศนธาตุที่สำคัญที่สุดในทางศิลปะและเป็นพื้นฐานโครงสร้างของสิ่งต่างๆ ที่ให้อารมณ์ ความรู้สึกแก่ผู้ชม ทั้งนี้เส้นจะมีคุณค่าทางด้านกายภาพ โดยเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงขนาด ลักษณะและทิศทาง

เส้นมี ๒ ลักษณะ ได้แก่ เส้นตรงและเส้นโค้ง ส่วนเส้นลักษณะอื่นๆ เกิดจากการประกอบกันของเส้นตรง และเส้นโค้งทั้งสิ้น

รูปร่างและรูปทรง (Shape and Form)

เป็นรูปธรรมของการแสดงออกเพื่อสื่อความหมายในงานทัศนศิลป์ โดยทั่วไปคำสองคำนี้มักจะใช้คู่กัน เพราะมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ในทางทัศนศิลป์จะมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

รูปร่าง(Shap)

รูปร่าง เป็นภาพ ๒ มิติ คือ มีความกว้าง และความยาว มีเนื้อที่ภายในเส้นขอบเขต

รูปทรง (Form)

รูปทรง เป็นภาพ ๓ มิติ คือ มีความกว้าง ความยาว ความหนา เนื้อที่และปริมาตรมีการก่อรูปรวมตัวกันขึ้นเป็นผลงานทัศนศิลป์

พื้นที่ว่าง (Space)

ที่ว่างจะอยู่คู่กับรูปทรงโดยเป็นคู่ที่มีความหมาย ตรงข้ามกัน หรือขัดแย้งกันกับรูปทรง แต่ก็มีส่วนช่วยทำให้รูปทรง มีความเด่นชัดมากขึ้น ความหมายของที่ว่างมีอยู่หลายประการ เช่น หมายถึง อากาศที่โอบล้อมรูปทรง หรือระยะห่างระหว่างรูปทรง หรือที่เรียกว่า “ช่องไฟ” เป็นต้น

พื้นผิว (Texture)

ลักษณะพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เช่น หยาบ ด้าน มัน ละเอียด เนียน ขรุขระ เป็นต้น พื้นผิวจะมีผลต่อการรับรู้จากการมองเห็นและการสัมผัส ซึ่งพื้นผิวของงานทัศนศิลป์มีทั้งพื้นผิวตามธรรมชาติและพื้นผิวที่เกิดจากการกระทำของศิลปิน

สี (Color)

มีคุณสมบัติของตัวเองในเรื่องของความเข้ม หรือระดับสี โดยจะมีลักษณะเฉพาะที่ให้ความรู้สึกทั้งในด้านดีและไม่ดีตามลักษณะของสีแต่ละสี และอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ หรือแต่ละภูมิภาค สีจึงช่วยทำให้ผู้พบเห็นเกิดการรับรู้และสามารถจำแนกทัศนธาตุอื่นๆ ได้ง่าย