หน่วยการเรียนรู้ 3

การวาดภาพสื่อความหมาย

และเรื่องราว

1. ขั้นตอนการวาดภาพสื่อความหมายและเรื่องราว

การวาดภาพสื่อความหมายและเรื่องราวนั้น การพิจารณาถึงความสำเร็จของงานจะดูที่ผลงานนั้นว่าสามารถจะสื่อความหมายหรือเรื่องราวต่างๆ ได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือไม่ ดังนั้น ก่อนการลงมือวาดภาพผู้สร้างสรรค์ต้องรู้จักวางแผน และออกแบบไปตามลำดับขั้น ดังนี้

1.1. ขั้นกำหนดกรอบแนวคิด

กำหนดกรอบทำงานอย่างคร่าวๆ เพื่อให้การทำงานกระชับ ประเด็นที่อยู่ในกรอบแนวความคิดคือ วาดภาพใด เพื่อสื่อความหมายและเรื่องราวใด จะใช้เทคนิคการวาดแบบใด พยายามจินตนาการภาพที่สื่อออกมาให้อยู่ในความคิดของตนเอง

1.2 ขั้นกำหนดชื่อภาพ

ผู้สร้างสรรค์ควรตั้งชื่อภาพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

1.3ขั้นร่างภาพ

วิเคราะห์เนื้อหาที่ต้องการจะถ่ายทอดออกมาเลือกประเด็นสำคัญสร้างเป็นจุดเด็นของภาพ ร่างภาพด้วยดินสอเบามือให้เป้นรูปร่างตามจินตนาการ

1.4 ขั้นระบายสี

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างสรรค์ผลงาน จะใช้เทคนิดใดขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ควรเปลี่ยนแปลงเทคนิคในระหว่างปฎิบัติงาน อาจจะส่งผลถึงคุณภาพของงาน

2. เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำ

การวาดภาพสีน้ำ เป็นงานสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ด้านจิตรกรรม เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวาดภาพแรเงา โดยเปลี่ยนจากการใช้ดินสอดำระบายน้ำหนักอ่อน-แก่ ของแสงเงาบนรูปทรงที่จะทำการวาด มาเป็นการใช้พู่กันระบายด้วยสีน้ำแทนการใช้ดินสอดำ

การวาดภาพสีน้ำ จะต้องใช้เทคนิคในการระบายสีเป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ผลงานที่มีความสวยงามตามความต้องการนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้สร้างสรรค์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผู้สร้างสรรค์จะต้องได้รับการฝึกฝนจนเกิดทักษะ เมื่อมีทักษะความชำนาญแล้วก็สามารถจะถ่ายทอดผลงานออกมาได้ตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือสร้างสรรค์ผลงานควรทำความเข้าใจคุณสมบัติของสีน้ำและเทคนิคเฉพาะในการระบายสีน้ำเป็นพื้นฐานความรู้ก่อน ดังนี้

1. สีน้ำ เป็นสีที่มีลักษณะโปร่งแสง เนื้อสีบาง และมีสีสันสวยงาม เมื่อระบายสีน้ำลงบนพื้นกระดาษ จะเห็นความใสของสีบนพื้นผิวกระดาษ

สีน้ำใช้น้ำเป็นตัวละลายความเข้มข้นของสี โดยสามารถระบายด้วยวิธีการต่างๆ ไปจนถึงเทคนิควิธีการระบายสีที่ต้องอาศัยทักษะทางศิลปะชั้นสูง และยังสามารถใช้วัสดุอื่นมาทำให้เกิดความแปลกใหม่และสวยงามได้อีกด้วย

2. การระบายสีน้ำ ต้องรู้จักรอคอยเวลา เพื่อกำหนดความชุ่มเปียก ความหมาดของพื้นผิวกระดาษ ในขณะที่ระบายสีให้อยู่ในพื้นที่ตามกำหนด เพื่อให้ได้ภาพตามต้องการ เช่น การระบายสีน้ำให้ชุ่มเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วเน้นด้วยสีเข้ม ขณะที่ภาพยังเปียกอยู่ ใช้พู่กันจุ่มน้ำพรมฉากหลัง ทำให้ปรากฏเป็นจุดขาวๆบางครั้งจะพบว่า การระบายสีน้ำชุ่มบ้าง แห้งบ้าง จะเกิดคราบของสีปรากฏบนภาพ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของสีน้ำ เป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น

3. เมื่อต้องการให้สีดูสดใสชุ่มฉ่ำ ให้ระบายน้ำสะอาดลงบนพื้นผิวกระดาษก่อนพอหมาดๆ แล้วจึงลงสี สีที่ลงไปจะซึมเห็นความใสสวยงาม ซึ่งในการใช้สีน้ำจะไม่นิยมใช้สีขาวและสีดำผสมกัน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการระบายสีทับซ้อนกันหลาย ๆ ครั้ง

การวาดภาพด้วยสีน้ำนั้น ส่วนใดของภาพที่สว่างเป็นสีอ่อนก็ผสมกับน้ำมากขึ้น หรือเว้นเป็นที่ว่างขาวงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคการวาดสีน้ำ สามารถใช้กับภาพทุกประเภท เช่น ภาพหุ่นนิ่งประเภทสิ่งของเครื่องใช้ผัก ผลไม้ ภาพทิวทัศน์ ป่า ภูเขา ทิวทัศน์ ทะเล ภาพเหมือนของบุคคล เป็นต้น

การวาดภาพสีน้ำ เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะความงามของภาพแสดงให้เห็นมิติของสีและความซับซ้อนของภาพ ซึ่งลักษณะพิเศษเหล่านี้เกิดจากการระบายสีด้วยเทคนิค หรือกลวิธีที่ซับซ้อน นอกจากนั้นแล้ว การวาดภาพด้วยสีน้ำยังสะดวกต่อการออกไปวาดภาพยังสถานที่ต่างๆ และสีน้ำยังใช้ระบายเป็นภาพร่าง หรือต้นแบบสำหรับการวาดสีน้ำมันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เทคนิคในการวาดภาพด้วยสีน้ำ มีหลากหลายวิธี แบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด ดังนี้

การระบายสีแบบเปียกบนเปียก (Wet into Wet)

การระบายสีแบบแห้งบนเปียก (Dry on Wet)

การระบายสีแบบเปียกบนแห้ง (Wet over Dry)

การระบายสีแบบแห้งบนแห้ง (Dry on Dry)

การระบายสีน้ำ จำเป็นต้องใช้เทคนิคทั้ง ๔ แบบผสมผสานกันไป ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณส่วนนั้นๆ ของภาพจะต้องใช้เทคนิคแบบใดถึงจะเหมาะสม การวาดภาพสีน้ำเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ขั้นตอน หมั่นฝึกฝน ลองผิดลองถูก สั่งสมประสบการณ์ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และจะสามารถค้นพบเทคนิคการระบายสีน้ำที่หลากหลายขึ้นอย่างน่าประทับใจ

3. เทคนิคการวาดภาพด้วยสีโปสเตอร์

การวาดภาพด้วยสีโปสเตอร์ มีกระบวนการเช่นเดียวกับการวาดภาพด้วยสีน้ำ สีโปสเตอร์เป็นสีที่มีความหนาแน่นของเนื้อสี ทึบแสงเหมือนสีฝุ่น เนื้อสีมีลักษณะคล้ายแป้ง ผสมกับน้ำเมื่อต้องการระบายภาพและสามารถระบายทับซ้อนกันได้หลายครั้ง เมื่อระบายเสร็จและแห้งสนิทดีแล้วจะได้ภาพที่เรียบร้อยสวยงามดี แต่ไม่ทนแดดทนฝน จึงไม่เหมาะสำหรับงานกลางแจ้ง

สีโปสเตอร์ สามารถผสมด้วยสีขาวให้มีน้ำหนักอ่อนลงได้เช่นเดียวกับสีน้ำมันแต่ไม่คงทนเท่า สีโปสเตอร์ใช้ในการวาดภาพที่ต้องการความประณีตสวยงาม สามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลาย ได้แก่ งานออกแบบต่างๆ ภาพประกอบเรื่องราว ภาพการ์ตูน โปสเตอร์ภาพยนตร์ งานจิตรกรรมทั่วไป โดยเฉพาะงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการที่มีขนาดใหญ่

การวาดภาพด้วยสีโปสเตอร์ ไม่มีเทคนิคซับซ้อนมากนัก อาศัยการฝึกปฏิบัติบ่อยครั้งก็จะสามารถเข้าใจถึงคุณสมบัติของสีและเข้าใจวิธีการใช้ ทุกครั้งของการวาดภาพภาพหนึ่งจะประกอบไปด้วยรูปร่าง รูปทรง และแสงเงา ซึ่งกำหนดความเข้มของสี หรือความอ่อน-แก่ของสี บนวัตถุ ฉะนั้น ผู้สร้างสรรค์ผลงานจึงต้องฝึกทักษะของการไล่น้ำหนักสีโปสเตอร์จนเข้าใจแล้วก็จะสามารถระบายสีแสงเงาของวัตถุได้อย่าง

วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดภาพด้วยสีโปสเตอร์นั้น สิ่งสำคัญจะประกอบไปด้วยสีโปสเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะบรรจุอยู่ในขวดแก้ว มีเนื้อข้น สีสดใส มีขนาดต่างๆ ให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ส่วนพู่กันสำหรับระบายสีโปสเตอร์ จะมีทั้งชนิดกลมและแบน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสีน้ำในกรณีที่วาดภาพขนาดใหญ่ ถ้าวาดภาพบนกระดาษธรรมดาสามารถใช้พู่กันสีน้ำแทนได้ นอกเหนือจากนี้อุปกรณ์ต่างๆ ในการวาดภาพสีโปสเตอร์จะใช้เช่นเดียวกับการระบายสีน้ำ

4. เทคนิคการวาดภาพด้วยเทคนิคผสม

การวาดภาพด้วยเทคนิคผสม เป็นการวาดภาพด้วยเทคนิคที่มากกว่า ๑ เทคนิค ขึ้นไป มีความหลากหลายของวิธีการและมีเทคนิคที่มีความเปิดกว้างในการแสดงออกทางด้านความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อความหมายหรือเรื่องราวต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้มากกว่า

ในการสร้างสรรค์ผลงาน จำเป็นต้องมีแนวคิด เทคนิควิธีต่างๆ ตามความสนใจ ประสบการณ์ ทักษะของผู้ปฏิบัติประกอบกัน การใช้เทคนิคผสมจะช่วยทำให้ลดข้อจำกัดของเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานแบบใดแบบหนึ่งให้ลดลง ช่วยให้ภาพบางภาพสามารถสื่อความหมายและเรื่องราวได้กระจ่างชัด หรือเร้าความสนใจของผู้ชมได้มากขึ้น

กระบวนการเรียนรู้ทางทัศนศิลป์ในด้านการฝึกปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคต่างๆ ถือเป็นการปฏิบัติเทคนิคไปตามคุณสมบัติของสื่อ หรือวัสดุที่นำมาใช้ อย่างไรก็ตาม การฝึกปฏิบัติการวาดภาพด้วยเทคนิคผสมในที่นี้ไม่ได้หมายรวมถึงการใช้เศษวัสดุมาเป็นสื่อผสมประกอบเป็นผลงาน แต่จะยังคงใช้เทคนิคพื้นฐานของการวาดภาพด้วยการวาดเส้น การระบายด้วยสีน้ำ สีโปสเตอร์ มาใช้เป็นหลักร่วมกันในการสร้างสรรค์ผลงานมาผสมผสานกันในภาพเดียว เพื่อให้เกิดผลงานที่แปลกใหม่ และมีความหลากหลายในการนำเสนอ

ให้นักเรียนอ่านสไลท์แล้วทำแบบทดสอบโดยลอกแบบทดสอบลงกระดาษสมุด แล้วทำส่งทางเชท แล้วค่อยนำกระดาษที่ทำส่งในวันเปิดเรียน(ลอกคำตอบทุกข้อนะคะ)

แบบทดสอบ หน่วยการเรียนรู้ที่3 - 3

คำชี้แจง ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว

1. ขั้นตอนแรกของการวาดภาพสื่อความหมายและเรื่องราวคือข้อใด

ก. การจัดวางรูปร่าง รูปทรง

ข. การร่างภาพโครงสร้างหยาบ

ค. การรวบรวมเรื่องราวที่ต้องการวาด

ง. การกำหนดกรอบแนวคิดและวางแผนการทำงาน

2. ข้อใดมีความสำคัญต่อการจัดหน้ากระดาษ

ก. การวิเคราะห์เนื้อหา

ข. การเลือกประเด็นที่สำคัญ

ค. การร่างภาพด้วยน้ำหนักของดินสอ

ง. ความเป็นเอกภาพ ความกลมกลืน และความสมดุล

3. ขั้นตอนแรกของการเขียนภาพสีน้ำ คืออะไร

ก. การร่างภาพ โครงสร้าง และส่วนรวมของภาพจากภาพจริง

ข. การจัดเตรียมสื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ที่จำเป็น

ค. การกำหนดน้ำหนัก แสงเงาของภาพ

ง. การระบายสีจากซ้ายไปขวา

4. การใช้เทคนิคการระบายสีแบบเปียกบนเปียก พื้นผิวกระดาษควรมีลักษณะอย่างไร

ก. เปียกหรือหมาดพอควร

ข. แห้งสนิทไม่มีความชื้น

ค. เปียกและแห้งอย่างละครึ่ง

ง. ไม่จำกัดขึ้นอยู่กับสีที่จะระบาย

5. เทคนิคในข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับการลงสีน้ำ

ก. ทาสีเข้มก่อนทาสีอ่อน

ข. ทาสีอ่อนก่อนทาสีเข้ม

ค. ทาสีทับไม่จำเป็นต้องรอ

ง. ลงน้ำที่ผิวกระดาษทุกครั้งก่อนระบายสี

6. ส้มระบายสีน้ำโดยให้เกิดการซึมผสมกันเอง แสดงว่าส้มใช้เทคนิคใดในการระบายสี

ก. การระบายสีแบบเปียกบนเปียก

ข. การระบายสีแบบเปียกบนแห้ง

ค. การระบายสีแบบแห้งบนเปียก

ง. การระบายสีแบบแห้งบนแห้ง

7. สีโปสเตอร์ มีคุณสมบัติทึบแสงคล้ายคลึงกันกับสีชนิดใด

ก. สีน้ำ ข. สีฝุ่น

ค. สีชอล์ก ง. สีน้ำมัน

8. ถ้านักเรียนต้องการให้สีโปสเตอร์มีสีอ่อนลง ควรทำอย่างไร

ก. ผสมด้วยสีขาว

ข. ผสมด้วยน้ำสะอาด

ค. ผสมด้วยสีเทาหรือดำ

ง. ผสมด้วยสีคู่ตรงข้าม

9. วัสดุชนิดใดเหมาะที่จะนำมาใช้ในการวาดภาพโดยใช้เทคนิคสีน้ำกับเทคนิคการวาดเส้นมากที่สุด

ก. สีชอล์ก

ข. ดินสอดำ

ค. ปากกาลูกลื่น

ง. ปากกาคอแร้ง

10. ใครใช้เทคนิคผสมในการวาดภาพสื่อความหมายหรือเรื่องราว

ก. กุ้งทำการ์ดวันเกิดให้คุณแม่โดยใช้เทคนิคสีน้ำกับ สีโปสเตอร์

ข. กล้าทำ ส.ค.ส. รูปตลาดน้ำอัมพวาโดยใช้สีโปสเตอร์

ค. กิ่งวาดภาพห้องเรียนโดยใช้เทคนิคเปียกบนแห้ง

ง. แก้ววาดภาพทิวทัศน์โดยใช้สีไม้