การวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละคร

1. บุคลิกลักษณะของตัวละคร

วรรณคดี วรรณกรรม ตลอดจนผลงานการประพันธ์ต่างๆ ย่อมจะมีตัวละครเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งเมื่อเราอ่านผลงานการประพันธ์แต่ละเรื่อง สามารถจะจินตนาการได้ว่า ตัวละครในเรื่องมีบุคลิกลักษณะอย่างไร ซึ่งเราสามารถใช้ทักษะฝีมือทางการวาดภาพ ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวจากจินตนาการออกมาเป็นภาพวาดที่เป็นรูปธรรมได้

บุคลิกลักษณะที่ปรากฏในตัวละคร

บุคลิกลักษณะ ลักษณะจำเพาะตัวของบุคคลแต่ละคน ซึ่งแต่ละบุคคลก็มีลักษณะประจำตัวแบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่นๆ เช่น ชาตรี เป็นผู้ชายรูปร่างสูงโปร่ง ผิวคล้ำ ผมหยิก ดวงตา เป็นผู้หญิงใบหน้ากลม ผิวขาว เป็นต้น ตัวละครเหล่านี้เป็นลักษณะของตัวละครในวรรณกรรมไทยทั่วๆ ไป แต่หากเป็นตัวละครในวรรณคดี นิทาน หรือตำนานต่างๆ ลักษณะของตัวละครจะมีความแปลกแตกต่างออกไป ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของตัวละครในอุดมคติ หรือในจินตนาการ

ตัวละคร หมายถึง ผู้แสดง ซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องในวรรณกรรมประเภทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ ที่แต่งขึ้นมา เพื่อสร้างความบันเทิงใจให้กับผู้อ่าน ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยตัวเอกซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ตัวรองที่มีความสำคัญรองลงมา ตัวร้ายซึ่งจะเป็นศัตรูต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กับตัวเอก และตัวประกอบที่มีบทบาทช่วยเสริมให้ละครมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การสังเกตบุคลิกลักษณะของตัวละคร

ควรพิจารณาไปตามบท ซึ่งปกติตัวละครต่างๆ จะถูกกำหนดให้มีบุคลิกลักษณะจำเพาะแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน การวาดภาพตัวละครจึงต้องพยายามสังเกตให้เห็นถึงลักษณะเด่น ลักษณะด้อย รวมทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตลอดจนอารมณ์ และบทบาทที่ได้รับ วรรณกรรมบางเรื่องอาจไม่ได้อธิบายบุคลิกลักษณะของตัวละครบางตัวไว้อย่างเด่นชัด ก็ต้องอาศัยบริบทอย่างอื่นๆ เข้าช่วย โดยวิเคราะห์ข้อมูล ใช้จินตนาการรวมกับความน่าจะเป็น ก็สามารถจะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการวาดภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะจำเพาะของตัวละครแต่ละตัวได้

2. แนวทางการวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละคร

ตัวละครที่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดได้นั้น สามารถนำมาจากวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง สำหรับการวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครที่มาจากวรรณคดีไทยนั้น เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เนื่องจากวรรณคดีไทยเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการสร้างสรรค์เรื่องราวผ่านบทร้อยแก้ว หรือร้อยกรองเป็นงานประพันธ์ที่ทรงคุณค่า ให้สุนทรียภาพแก่ผู้อ่าน ซึ่งตัวละครในวรรณคดีหลายๆ ตัว ก็มีศิลปินหลายท่านได้วาดเอาอย่างสวยงาม

การวาดภาพตัวละครจากวรรณคดี อาจเป็นเรื่องที่ไม่ไกลจากตัว อย่างน้อยก็ได้ทราบเรื่องราวของตัวละครตัวมาบ้างจากการเรียนรู้ในกลุ่มสาระภาษาไทย หรือได้รับรู้ผ่านทางสื่อต่างๆ นอกจากจะทำให้ตัวละครที่เป็นตัวอักษรได้ถูกสร้างสรรค์มาเป็นภาพวาด ยังได้เรียนรู้กระบวนการทำงานทางด้านทัศนศิลป์และยังได้รับประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกด้วย

ประโยชน์ที่ได้รับ

• เป็นการเชิดชู สืบสานความเป็นไทยและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะและวรรณคดีที่ได้รับความสนใจน้อยลงจากเยาวชนในสังคมไทย

• กระตุ้นให้เยาวชนไทยรักการอ่าน เข้าใจภาษาไทยและภาคภูมิใจในภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาในวรรณคดี การใช้ข้อความที่บ่งบอกถึงอารมณ์และท่าทางของตัวละคร

• กระตุ้นการใช้จินตนาการเพื่อช่วยพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยถ่ายทอดลักษณะของตัวละครที่เป็นตัวอักษรออกมาเป็นผลงานภาพวาดตามจินตนาการ

• เนื้อหาในวรรณคดีไทยเป็นสื่อที่ช่วยในการสอนคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้เรียนทางอ้อม

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครในวรรณคดีไทยมีหลายประการทั้งในด้านองค์ความรู้ทางทัศนศิลป์ และองค์ความรู้ทางภาษาไทย ซึ่งถือว่าเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งเช่นเดียวกันการวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะตัวละคร สามารถปฏิบัติได้ ๒ แบบ คือ มีลักษณะเป็นภาพเสมือนจริง หรือเป็นภาพที่มีสัดส่วนถูกต้องสวยงามเหมือนจริง และอีกประเภทหนึ่งก็คือ มีลักษณะเป็นแบบภาพการ์ตูน

3. วิธีวาดภาพตัวละครมีลักษณะเป็นแบบเหมือนจริง

ใช้ในการวาดภาพตัวละครจากวรรณคดี วรรณกรรม นิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง ตัวละครจะมีบุคลิกลักษณะ สัดส่วนอากัปกิริยา ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆ ของภาพที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ผู้ชมดูแล้วสามารถยอมรับได้มีความเป็นจริงได้ ซึ่งเราสามารถสังเกตบุคลิกลักษณะของตัวละครจากงานประพันธ์ที่อ่าน โดยวิเคราะห์จับเอาลักษณะเด่นหรือลักษณะด้อยมาวาดเป็นลักษณะจำเพาะของตัวละครตัวนั้น

การวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวละคร

นอกจากจะใช้การสังเกตบุคลิกลักษณะของตัวละครไปตามเรื่องราวที่อ่านแล้ว เราสามารถนำการวิเคราะห์เข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการวาดภาพมากขึ้น ดังนี้

1. วิเคราะห์จากเหตุการณ์และยุคสมัยในเนื้อเรื่อง

๒. วิเคราะห์จากจากคำบรรยายของตัวละคร

๓. วิเคราะห์จากบริบทของเนื้อเรื่อง


วิธีการวาดภาพตัวละครแบบเสมือนจริง

เทคนิคพื้นฐานของการวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครแบบเสมือนจริง ในที่นี้จะกล่าวถึงสิ่งที่ควรคำนึงเป็นลำดับต้นๆ เพื่อให้รู้จักสังเกตจุดสำคัญที่จะนำมาสร้างเป็นลักษณะจำเพาะของตัวละครแต่ละตัว ดังนี้

๑. หลักการวาดใบหน้า การเริ่มต้นวาดใบหน้าเราไม่เริ่มต้นในส่วนที่เป็นรายละเอียดบนใบหน้าแต่จะร่างโครงหน้าโดยรวมก่อน

เส้นแกนทั้งสองคือเส้นแนวตั้งและแนวนอนนี้ถือเป็นหลักสำคัญในการบอกทิศทางในการหันของใบหน้าเราสามารถกำหนดให้ใบหน้าหันไปตามทิศทางที่เราต้องการได้

จะสังเกตได้ว่าเส้นแกนทั้ง ๒ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของใบหน้าให้หันซ้าย หันขวา เงยหน้าขึ้น ก้มหน้าลง หากจะให้ดูเป็นจริงที่สุดเมื่อกำหนดให้ใบหน้าหันหรือก้มเงยไปในทิศทางใดก็ตาม ให้เราจัดเส้นแกนแนวตั้งและแนวนอนโค้งไปตามรูปทรงของใบหน้าและศีรษะด้วย

หลักการวาดดวงตาและทรงผม

การออกแบบวาดดวงตาและทรงผมให้ตัวละครแต่ละตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะนั้น จะทำให้ผู้ชมสามารถแยกแยะความแตกต่างของตัวละครแต่ละตัวได้ แม้ว่าผู้วาดจะวาดองค์ประกอบอย่างอันที่เหมือนกัน เช่น โครงหน้า จมูก เสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งเทคนิคง่ายๆ ที่อาจนำมาใช้ ก็คือ จัดให้มีองค์ประกอบเกี่ยวกับดวงตาและทรงผมแต่ละอย่างแตกต่างกันมากๆ ดังจะยกตัวอย่างลักษณะของดวงตาแบบต่างๆ ของตัวละครตามจินตนาการของศิลปิน ดังนี้

หลักการวาดใบหน้าให้สมบทบาท

ตัวละครในเนื้อเรื่องต่างๆ เปรียบได้กับนักแสดงที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ตัวละครที่สำคัญก็จะมีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวโกง ซึ่งการวาดภาพใบหน้าถ่ายทอดบุคลิกลักษณะและสื่ออารมณ์ความรู้สึก ก็จะต้องสะท้อนบทบาทที่ตัวละครตัวนั้นสวมอยู่ด้วย กล่าวคือ

ใบหน้าพระเอก นางเอก

ตัวละครเอกในงานวรรณกรรมของไทย ส่วนใหญ่พระเอก นางเอกจะเป็นบุคคลตามจินตนาการแบบอุดมคติ โดยพระเอกต้องเป็นสุภาพบุรุษ คือ เป็นหนุ่มหล่อ ใบหน้าหล่อเหลา คมเข้ม ดูสุขุม หนักแน่น ส่วนนางเอกจะเป็นคนสวย อ่อนหวาน มีเสน่ห์ ฉลาด ซึ่งในการวาดภาพจะต้องสะท้อนออกมาให้ได้ว่ามีลักษณะเป็นตัวเอกของเรื่อง

ใบหน้าผู้ร้าย หรือตัวโกง

การวาดหน้าตาของผู้ร้าย หรือตัวโกงนั้นมีหลายองค์ประกอบที่จะช่วยเน้นบุคลิกให้มีความโดดเด่นมากกว่าใบหน้าของพระเอก เช่น สีหน้าดูหยิ่งยโส ตาขวาง ท่าทางไม่เป็นมิตร เป็นต้น ตัวโกงจะวาดให้มีดวงตารีเล็ก จมูกใหญ่ โหนกแก้มนูนสูง ยิ่งถ้าเป็นระดับหัวหน้าผู้ร้ายมักจะเป็นชายวัยกลางคนรูปร่างบึกบึน เค้าหน้าเหลี่ยม คิ้วหนา แสดงแววตาที่อำมหิต อาจใส่แผลเป็น หรือหนวดเคราลงบนใบหน้า เพื่อเน้นถึงความน่าเกรงขาม

4. วิธีวาดภาพตัวละครมีลักษณะเป็นแบบการ์ตูน

การวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครในลักษณะของการ์ตูน จะมีการเปิดกว้างทางความคิด เนื่องจากภาพการ์ตูนไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของสัดส่วนและความเป็นจริงของส่วนประกอบต่างๆ มากนัก การวาดตัวละครแบบลักษณะการ์ตูน ถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถเลือกนำมาใช้สร้างตัวละครจากผลงานการประพันธ์ให้มีชีวิตชีวาโดยการวาดเส้นเพื่อให้เกิดเป็นรูปร่าง ตัวการ์ตูนขึ้นมา

การวาดตัวละครแบบลักษณะการ์ตูน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากเนื้อเรื่อง โดยมีการวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวละคร โดยใช้หลักการวิเคราะห์อย่างเดียวกับการหาข้อมูล เพื่อนำมาใช้วาดภาพ ตัวละครมีลักษณะเป็นแบบเสมือน คือ วิเคราะห์จากเหตุการณ์และยุคสมัยที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง วิเคราะห์จากคำบรรยายตัวละคร และวิเคราะห์จากบริบทของเนื้อเรื่อง

หลักการพื้นฐานในการวาดภาพการ์ตูน

การวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครแบบการ์ตูน อาศัยหลักพื้นฐานในการวาดภาพ ดังนี้

1. แนวคิด หมายถึง แรงบันดาลใจ มโนภาพ หรือจินตนาการที่ศิลปินคิดขึ้นมาเพื่อจะถ่ายทอดตัวละครออกมาเป็นการ์ตูน

2. การร่างภาพ หมายถึง การกำหนดโครงสร้างของรูปแบบต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปภาพรวมก่อน เพื่อจะได้แก้ไขใหม่ให้มีความลงตัวมากขึ้น

3. รูปร่างและรูปทรง การวาดภาพจะต้องมีพื้นฐานในการวาดภาพเส้นรอบนอกของคนสัตย์ สิ่งของต่างๆ และภาพรูปทรงอิสระ รูปทรงเรขาคณิต รูปทรงธรรมชาติ ผสมผสานกัน

4. อารมณ์ หรือความรู้สึก หมายถึง การถ่ายทอดอารมณ์จากผู้วาดไปสู่ผู้ชม ให้รู้สึกคล้อยตามไปกับตัวการ์ตูน

การวาดภาพถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครรูปแบบการ์ตูน

การเป็นนักวาดภาพการ์ตูนที่ดี ควรเริ่มต้นจากการเรียนรู้การจัดองค์ประกอบของภาพก่อน และสิ่งที่ควรจดจำ คือ การวาดภาพตัวการ์ตูนใดๆ ก็ตาม จะต้องสร้างมโนภาพในจินตนาการ โดยให้คิดไว้ว่า การ์ตูนเปรียบเสมือนรูปที่มาจากของจริง แล้วนำมาออกแบบ ดัดแปลง ตัดทอน ให้มีรูปร่างและลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ และมีขนาดที่แตกต่างกันไป

การวาดภาพตัวละครให้มีลักษณะเป็นการ์ตูน ศิลปินต้องพยายามจับจุดเด่นของตัวละครที่จะวาดให้ได้ เพราะอย่างน้อยก็พอช่วยบอกได้ว่าภาพวาดนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อถึงตัวละครใดในเรื่อง ง โดยอาจใช้เทคนิคอย่างง่ายๆ ในการกำหนดบุคลิกลักษณะของตัวละครที่จะวาด ดังนี้

อ้วน หรือผอม ถ้ามีการวางรูปแบบไว้เด่นชัด เมื่อวาดออกมาเป็นภาพจะช่วยสื่อทำความเข้าใจได้ง่าย โดยมักจะกำหนดให้มีรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ผอมสูง หรืออ้วนเตี้ย ซึ่งเป็นแบบง่ายๆ ที่ใช้กันทั่วไป

ชายหรือหญิง รูปร่างของตัวการ์ตูนผู้ชายกับผู้หญิงจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะต้องวาดหน้าอกและสะโพกที่ผายให้มีส่วนเว้าและส่วนโค้งที่ชัดเจน เพื่อแสดงออกถึงความเป็นเพศหญิง นอกเหนือจากรูปร่างแล้วส่วนอื่นที่ถือเป็นจุดเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงได้เด่นชัดก็มีอีกหลายอย่าง เช่น เสื้อผ้า ผมต่างหู รวมถึงท่ายืน เป็นต้น

รูปหน้า ใบหน้าจะบ่งบอกถึงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาว หรือคนแก่ คนสวย หรือน่าเกลียด พระเอก หรือผู้ร้าย การถ่ายทอดลักษณะของใบหน้าสามารถสังเกตได้จากบุคคลที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน บางคนดูดุดัน บางคนหน้าทะเล้น บางคนเคร่งขรึม และมีสีหน้าที่แสดงถึงความรู้สึกต่างๆ อีกมากมาย การฝึกวาดภาพ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับรูปหน้าคน จะช่วยให้สามารถวาดภาพการ์ตูนที่ถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของตัวละครได้ตรงตามบทบาทตามที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง

อายุ การวาดสัดส่วนของตัวการ์ตูนให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความจริงและให้รายละเอียดผิวหนังมากขึ้น จะช่วยสะท้อนอายุของตัวละครตัวได้ การวาดศีรษะก็มีความสำคัญ ตัวละครที่เป็นเด็กเล็กจะต้องวาดศีรษะให้มีสัดส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่าของผู้ใหญ่ น้าตาของผู้สูงอายุควรวาดให้มีลักษณะผอม จมูกโต แก้มตอบ มีรอยย่น รอยตีนกาบนใบหน้า

แบบทดสอบท้ายบท หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ภ4 4

คำชี้แจง ให้นักเรียนเขียนโจทย์เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียวลงในกระดาษสมุด

1. ข้อใดกล่าวถึงความหมายของคำว่า “บุคลิกลักษณะ”ได้ถูกต้องที่สุด

ก. ผู้แสดงหรือตัวละคร

ข. การถ่ายทอดอารมณ์จากผู้วาด

ค. การกำหนดโครงสร้างของรูปแบบ

ง. ลักษณะจำเพาะตัวของบุคคลแต่ละคน

2. ขั้นตอนแรกของการวาดภาพตัวละคร คือขั้นตอนใด

ก. ออกแบบตัวละคร

ข. ร่างภาพตามเหตุการณ์

ค. เลือกเรื่องที่ตนเองชื่นชอบ

ง. เลือกเหตุการณ์หรือสถานการณ์

3. ถ้านักเรียนจะวาดภาพแสดงบุคลิกลักษณะของพระเอก ควรวาดอย่างไร

ก. ใบหน้าหล่อเหลา ดูสุขุม หนักแน่น

ข. สีหน้าดูหยิ่งยโส ตาขวาง ท่าทางไม่เป็นมิตร

ค. ดวงตารีเล็ก จมูกใหญ่ โหนกแก้มนูนสูง รูปร่างบึกบึน

ง. เป็นชายวัยกลางคน คิ้วหนา แสดงแววตาอำมหิตมีหนวดเครา

4. ถ้านักเรียนจะวาดภาพแสดงบุคลิกลักษณะของนางเอก ควรวาดอย่างไร

ก. สีหน้าดูหยิ่งยโส ตาขวาง ท่าทางไม่เป็นมิตร

ข. เป็นคนสวย อ่อนหวาน มีเสน่ห์ ฉลาด มีไหวพริบ

ค. ดวงตารีเล็ก จมูกใหญ่ โหนกแก้มนูนสูง รูปร่างบึกบึน

ง. ลักษณะผอม จมูกโต แก้มตอบ มีรอยย่น และรอยตีนกา

5. ตัวละครในข้อใด มีบุคลิกลักษณะเป็นตัวละครในอุดมคติมากที่สุด

ก. เจ้าเงาะ ซาไก

ข. สินสมุทร เจ้าแกละ

ค. พระอภัยมณี ชาวเขา

ง. นางผีเสื้อสมุทร สุดสาคร

6. ถ้านักเรียนจะวาดภาพตัวละครให้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ก. ภาพลายเส้นที่เรียบง่าย สื่อวิถีชีวิตในสังคมได้ดี

ข. ภาพที่มีเส้นคมชัด ใช้สีที่เกินจริงจากธรรมชาติ

ค. ภาพที่เรียบง่าย สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกได้ดี มีบุคลิกที่จำง่าย

ง. ภาพสื่อให้เห็นถึงรูปแบบที่เรียบง่าย มีความสมจริงตามธรรมชาติ

7. หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการวาดภาพการ์ตูนคือข้อใด

ก. แนวคิด

ข. การร่างภาพ

ค. สีสัน แสงเงา

ง. รูปร่าง รูปทรง

8. การวาดภาพตัวละครแบบการ์ตูน ควรฝึกทักษะในเรื่องใดก่อน

ก. การวาดเส้นรอบนอกของคน สัตว์ สิ่งของ

ข. การเขียนให้มีลักษณะแสดงทัศนียภาพ

ค. การลงหมึกหรือระบายสี

ง. การจัดองค์ประกอบศิลป์

9. ข้อใดเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่สร้างจากวอล์ท ดิสนีย์

ก. ก้านกล้วย

ข. ปลาบู่ทอง

ค. โดราเอมอน

ง. ซิลเดอเรลลา

10. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้อง ตามวิธีการวาดภาพการ์ตูน

ก. การวาดรูปร่างของผู้ชายและผู้หญิงจะมีความแตกต่างกัน

ข. การวาดเด็กเล็กจะต้องวาดศีรษะให้มีขนาดใหญ่กว่า ของผู้ใหญ่

ค. การวาดภาพพระเอกจะต้องวาดใบหน้าที่หล่อเหลาสมสัดส่วน

ง. การวาดภาพคนอ้วนจะต้องวาดตัวให้สูง มีศีรษะ คอขาและแขนที่ยาว