หลักการวิเคราะห์ทัศนธาตุในงานทัศนศิลป์

หลักการวิเคราะห์ทัศนธาตุในงานทัศนศิลป์

การวิเคราะห์ทัศนธาตุในด้านรูปแบบ เป็นการพิจารณาว่าศิลปินได้มีการนำรูปแบบทัศนธาตุใด มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งการวิเคราะห์ทัศนธาตุมิใช่มองแค่รูปแบบของทัศนธาตุที่นำมาใช้ในงานเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมองความเป็นเอกภาพของทัศนธาตุที่ศิลปินนำมาใช้ด้วย

การสร้างงานทัศนศิลป์ เป็นการนำทัศนธาตุต่างๆ มาประกอบกัน เพื่อให้เกิดรูปทรงที่มีความเป็นเอกภาพ มีความสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย รวมทั้งประกอบด้วยความสมดุลของลักษณะที่มีความขัดแย้ง หรือตรงกันข้าม ความสมดุลของการซ้ำ การประสานของทัศนธาตุต่างๆ รวมทั้งการจัดวางสัดส่วนและจังหวะที่เหมาะสมในการสร้างรูปทรง โดยอาจใช้ทัศนธาตุใดเพียงหนึ่งเดียวก็ได้ แต่ทั่วไป ศิลปินจะเลือกใช้ทัศนธาตุรวมกันหลายๆ อย่าง โดยมีทัศนธาตุบางอย่างเป็นจุดเด่นและทัศนธาตุอื่นเป็นจุดรอง

เราสามารถวิเคราะห์ทัศนธาตุในผลงานทัศนศิลป์ตามที่สายตาเรามองเห็น โดยพิจารณาจากความเป็นเอกภาพ อันหมายถึง ความสัมพันธ์ต่อเนื่องของส่วนประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุด เส้น รูปร่วง รูปทรง มวล ปริมาตร พื้นผิว ที่ว่าง สี น้ำหนัก ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าเราให้สิ่งดังกล่าวแข่งกันแสดงจุดเด่น ก็ย่อมเป็นการทำลายความเป็นเอกภาพ ส่วนประกอบสำคัญของความเป็นเอกภาพ มีดังนี้

1. เอกภาพของเส้น

เส้น คือ จุดจำนวนมากที่นำมาเรียงติดต่อเชื่อมโยงกัน ดังนั้น การใช้เส้นในงานทัศนศิลป์จะต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพด้วย ซึ่งลักษณะของความเป็นเอกภาพของเส้น มีดังนี้

1.1 การใช้เส้นแบบขัดแย้ง เส้นจะมีลักษณะ ทิศทาง และขนาดที่แตกต่างกันซึ่งการใช้เส้นแบบขัดแย้'ให้มีเอกภาพสามารถทำได้โดยนำเส้นที่มีลักษณะ ทิศทาง และขนาดที่แตกต่างกันมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้งานทัศนศิลป์นั้นเกิดความสมดุล

ลักษณะเส้นที่ขัดแย้งกัน


ทิศทางเส้นที่ขัดแย้งกัน

ขนาดของเส้นที่ขัดแย้งกัน

1.2. การใช้เส้นแบบประสาน เส้นจะมีลักษณะทิศทางและขนาดที่ซ้ำกัน ซึ่งสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งการใช้เส้นให้เกิดเอกภาพอย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องนำเส้นแบบขัดแย้งและแบบประสาน มาประกอบกันโดยมีจังหวะของการซ้ำในสัดส่วนที่พอเหมาะ ซึ่งจะทำให้ภาพ มีจุดเด่น




2. เอกภาพของรูปร่างและรูปทรง

รูปร่างและรูปทรงเป็นทัศนธาตุหลักของการรับรู้ ทั้งนี้รูปร่างและรูปทรงในงานทัศนศิลป์จะมีหลายลักษณะ เมื่อเราจะนำมาประกอบกัน ผู้สร้างสรรค์งาทัศนศิลป์จะต้องพิจารณาถึงการจัดให้เกิดเอกภาพด้วยการทำซ้ำ การเปลี่ยนแปลงขนาดและทิศทาง ซึ่งลักษณะของความเป็นเอกภาพของรูปร่างและรูปทรง มีดังนี้

2.1. การใช้รูปร่างและรูปทรงแบบขัดแย้ง คือ การใช้ลักษณะของรูปร่างและรูปทรงที่แตกต่างกัน เช่น แตกต่างกันทางความกว้าง ความแคบ ความใหญ่ ความกลม ความเหลี่ยม ความเรียบง่าย ความซับซ้อน เป็นต้น




2.2. การใช้รูปร่างและรูปทรงแบบประสาน เป็นการนำรูปร่างและรูปทรงที่มีรูปแบบเหมือนกันมาซ้ำลงในงาน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพขึ้น โดยการซ้ำกันของรูปร่างและรูปทรงจะมีความเป็นเอกภาพอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและทิศทาง ก็ตาม แต่ถ้าใช้รูปร่างหรือรูปทรงแบบขัดแย้งมาผสมกันแบบประสาน จะทำให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และช่วยให้เราสามารถกำหนดจุดเด่นของผลงานได้ง่าย





3. เอกภาพของที่ว่าง

ในที่นี้ความหมายของที่ว่าง คือ อากาศที่โอบล้อมรูปทรง และระยะห่างระหว่างรูปร่างและรูปทรง หรือที่เรียกกันว่า “ช่องไฟ” ซึ่งจะขัดแย้ง หรือประสานกันก็ได้ ความเป็นเอกภาพจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อพื้นที่ว่างกับรูปร่างและรูปทรงมีสัดส่วนที่พอเหมาะ หรือ มีพื้นที่ที่เกิดจากระยะห่างระหว่างรูปร่างและรูปทรง มีการจัดวางอย่างเหมาะสมลงตัว

4. เอกภาพของน้ำหนักอ่อน-แก่

วิธีการใช้น้ำหนักอ่อน-แก่ให้มีเอกภาพ คือ การใช้น้ำหนักความอ่อนแก่ของสดำและสีขาว ซึ่งลักษณะของความเป็นเอกภาพของน้ำหนักอ่อน-แก่ มีดังนี้

4.1. การใช้น้ำหนักแบบขัดแย้ง คือ การตัดกันของสีดำบนสีขาว เป็นการขัดแย้งกันอย่างมากของน้ำหนัก ส่วนการตัดกันของสีเทาแก่กับสีขาวหรือสีเทาอ่อนกับสีดำ เป็นการตัดกันที่น้อยกว่าของน้ำหนัก

การตัดกันของสีดำกับสีขาว
การตัดกันของสีเท่าอ่อนกับสีดำ
การตัดกันของสีเทาแก่กับสีขาว

4.2. การใช้น้ำหนักแบบประสาน คือ การใช้น้ำหนักของสีดำกระจายไปบนที่ว่างสีขาว จะได้เอกภาพของน้ำหนักแบบการซ้ำ และเมื่อเราใช้สีเทาแก่หรือสีเทาอ่อนเชื่อมประสานกันก็จะเกิดความเป็นเอกภาพมากขึ้น

การใช้หน่วยที่มีน้ำนักดำกระจายไปบนที่ว่างขาวจะได้เอกภาพแบบการซ้ำ
การใช้น้ำหนักเทาเพื่อลดความขัดแย้งของน้ำหนักดำกับขาวเป็นลักษณะของการประสานให้เกิดเอกภาพ

5. เอกภาพของพื้นผิว

คุณลักษณะของพื้นวัตถุในงานทัศนศิลป์และงานออกแบบที่สามารถรับรู้ได้ด้วยตา ลักษณะพื้นผิวจะปรากฏอยู่ในเส้น น้ำหนัก และสี ซึ่งจะช่วยเน้นทัศนธาตุอื่นๆ ให้มีความโดดเด่นมากขึ้นลักษณะพื้นผิวในงานทัศนศิลป์จะมีทั้งแบบที่ขัดแย้งกันและแบบประสานกัน ถ้าใช้ลักษณะพื้นผิวแบบขัดแย้ง ก็ต้องกำหนดพื้นผิวของสิ่งต่างๆ ให้ตัดกัน เช่น ความหยาบกับความละเอียด ความขรุขระกับความเรียบความมันกับความด้าน เป็นต้น

การใช้ลักษณะพื้นผิวโดยวิธีการขัดแย้ง

การใช้ลักษณะพื้นผิวโดยวิธีการขัดแย้ง

6. เอกภาพของสี

สีมีคุณลักษณะพิเศษนอกเหนือไปจากทัศนธาตุอื่น ๒ ประการ คือ ความเป็นสี (Hue) เช่น ความเป็นสีแดง ความเป็นสีเหลือง เป็นต้น และความเข้มจัดของสี (Intensity) ดังนั้น การใช้สีให้มีเอกภาพจึงต้องคำนึงถึงคุณลักษณะพิเศษทั้ง ๒ ประการนี้ด้วย ลักษณะของความเป็นเอกภาพของสี มีดังนี้

6.1. การใช้สีแบบขัดแย้ง การขัดแย้งของสีจะมีความเด่นชัดกว่าความขัดแย้งของทัศนธาตุอื่น ทั้งนี้ สีคู่ตรงข้ามในวงสีธรรมชาติเป็นสีที่ตัดกันอยู่แล้ว ส่วนการตัดกันของสีที่ไม่ใช่คู่ตรงข้ามในวงสีธรรมชาติ ถ้าเป็นการตัดกันของสีที่มีความจัดมาก จะมีความขัดแย้งกันมากกว่าสีที่มีความจัดน้อย และยิ่งสีหม่นลงเท่าใด ความขัดแย้งก็จะยิ่งลดลงมาก จนกลายเป็นความกลมกลืนกันในที่สุด

6.2.การใช้สีแบบประสาน การใช้สีสีเดียว โดยมีน้ำหนักอ่อน-แก่ เป็นการใช้สีแบบประสานซึ่งมีวิธีการง่ายๆ คือ เลือกใช้สีที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันในวงสีธรรมชาติ หรือใช้สีที่มีความหม่นเท่าๆ กัน ก็จะทำให้ผลงานดูประสานกลมกลืน