แนวคิดในงานทัศนศิลป์

แนวคิดในงานทัศนศิลป์

การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ เป็นการสร้างสรรค์งานที่เกิดขึ้นเฉพาะสังคมมนุษย์เท่านั้น เป็นความต้องการที่จะสร้างชิ้นงานใหม่ที่มิใช่การเลียนแบบ ศิลปินต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหา ออกแบบและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ปรากฏในงาน โดยอาศัยการรับรู้ จินตนาการ และประสบการณ์เฉพาะของตน ดังนั้น การวิเคราะห์แนวคิดในงานทัศนศิลป์ จึงต้องวิเคราะห์แนวคิดที่ศิลปินใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน

1. แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์

การสร้างสรรค์ผลงานมีส่วนสำคัญต่อมนุษยชาติ เพราะผลงานที่เกิดขึ้นช่วยทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเอง สังคม ประเทศชาติได้ การสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดแนวคิดและกระบวนการก็ย่อมไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้น แนวคิดจึงเป็นหัวใจของการทำงานและกำหนดแนวทางปฏิบัติ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานนั้นไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของมนุษย์ในแต่ละครั้ง ย่อมเกิดจากสิ่งเร้า หรือแรงบันดาลใจ อาจเป็นภายนอก หรือภายใน ซึ่งถ้าได้รับแรงบันดาลใจจากภายนอก รูปแบบของงานศิลปะที่ถ่ายทอดก็จะมีลักษณะเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเป็นแรงบันดาลใจจากภายใน รูปแบบของงานศิลปะก็จะมีลักษณะเป็นนามธรรม และหากได้รับแรงบันดาลใจทั้งภายนอกและภายใน รูปแบบของงานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาก็จะมีลักษณะเป็นกึ่งนามธรรม หลักการวิเคราะห์แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ มีดังนี้

1.1. ในวัตถุประสงค์ของงาน ผู้สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์จะต้องศึกษาวัตถุประสงค์ของงานนั้นอย่างละเอียด เพื่อผลงานทัศนศิลป์จะได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

1.2. ในเทคนิคการทำงาน หรือกลวิธีในการสร้างสรรค์ผลงานแขนงต่างๆต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะแต่ละงานจะใช้เครื่องมือ วัสดุ และกระบวนการทำงานที่มีความแตกต่างกันออกไป

1.3. ในคุณค่าทางสุนทรียภาพ ผู้วิเคราะห์ควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุนทรียภาพ ซึ่งแนวทางการพิจารณาจะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์รูปแบบทัศนธาตุที่ใช้ในงานทัศนศิลป์นั้น

2. หลักการวิเคราะห์แนวคิดในงานทัศนศิลป์

การวิเคราะห์แนวคิดจะกระทำได้หลังจากที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์เสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นการมองหรือการรับรู้ในสิ่งที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาไม่ว่าจะเป็นด้านรูปแบบ จุดมุ่งหมายของงาน การใช้วัสดุและเทคนิค ล้วนปรากฏให้เห็นในผลงานทัศนศิลป์นั้นๆ หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แนวคิดในผลงานทัศนศิลป์ มีดังนี้

2.1วิเคราะห์จุดมุ่งหมาย

2.2วิเคราะห์รูปแบบและรูปทรง

2.3วิเคราะห์การใช้วัสดุและเทคนิค

2.4วิเคราะห์แนวคิดในการถ่ายทอดอดีตและปัจจุบัน

ตัวอย่างการวิเคราะห์ทัศนธาตุและแนวคิดในงานทัศนศิลป์

พื้นฐานความรู้เกี่ยวกับทัศนธาตุและแนวคิดที่ได้ศึกษามาแล้วในแต่ละหัวข้อ ถือว่าเป็นหลักการและทฤษฎี ซึ่งเราจะเกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็ต่อเมื่อได้นำความรู้ไปปฏิบัติจริง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์รูปแบบของทัศนธาตุและวิเคราะห์แนวคิดในงานทัศนศิลป์มาให้ผู้เรียนได้เห็นเป็นแนวทางศึกษา ดังนี้

ตัวอย่างที่ ๑ : ผลงานของฟินเซนต์ วิลเลี่ยม ฟาน ก็อกฮ์ (Vincent William Van Gogh)

ชื่อภาพ Cottages

เป็นงานทัศนศิลป์ประเภทที่มิได้มีจุดมุ่งหมายในการแสดงออกแบบเหมือนจริง หรือการรับรู้ตามการเห็นจริงเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเชิงอารมณ์ในการแสดงออกเป็นจุดสำคัญด้วย

ศิลปินได้นำเอาลักษณะเส้น น้ำหนักอ่อน-แก่ สี รูปร่าง และรูปทรงมาผสมผสานกัน แล้วนำมาจัดเป็นโครงสร้างของภาพที่มีความเป็นเอกภาพและความสมดุล โดยเน้นเส้นเป็นหลัก ชี้ให้เห็นถึงจังหวะและความเคลื่อนไหวที่มีความลื่นไหลและสั่นพลิ้ว โดยการใช้เส้นที่เกิดจากรอยแปรง ทำให้เกิดเป็นลักษณะพื้นผิวที่มีความแตกต่างกันทั่วทั้งภาพ

ความเป็นเอกภาพของงานทัศนศิลป์ชิ้นนี้เกิดจากการนำรูปแบบทัศนธาตุมาสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดลีลาในการเคลื่อนไหวที่มีความกลมกลืน ซึ่งเกิดจากแนวคิดของศิลปินที่มีจุดมุ่งหมายให้ผลงานชิ้นนี้ บ่งบอกคุณค่าทางอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออกมากกว่าสิ่งอื่นใด

ตัวอย่างที่ ๒ : ผลงานของ ปอล เซซาน (Paul Cézanne)

ชื่อภาพ Still life

เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการใช้ค่าน้ำหนักอ่อน-แก่ของแสงและสี โดยน้ำหนักของแสงจะมีส่วนมืดและสว่าง เป็นความขัดแย้งที่มีสัดส่วนกลมกลืน ส่วนสีของผลส้มมีความเป็นเอกภาพของสีที่อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งการจัดวางของที่ประกอบไปด้วยขวด ผลส้ม ถ้วยชาม ผืนผ้า มีพื้นที่ว่างและมีระยะห่างที่ได้จังหวะ ทำให้เกิดช่องไฟระหว่างรูปทรงแต่ละส่วน

เอกภาพของรูปทรง เป็นแบบประสานกลมกลืน สีที่ศิลปินระบายลงไปทำให้เกิดพื้นผิวตามรอยแปรงและพู่กัน ช่วยสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกประทับใจของศิลปินในขณะนั้น

ศิลปินสร้างสรรค์ภาพนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอแสงเงาของรูปทรงในลักษณะเหมือนจริง โดยถ่ายทอดความงามของรูปทรงจากธรรมชาติและน้ำหนักอ่อน-แก่ของสีและแสงที่สื่อถึงความสงบนิ่ง มีแนวคิดของการถ่ายทอดสิ่งของที่ปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยกระบวนการของการถ่ายโอนลงบนพื้นระนาบด้วยรูปร่าง ๒ มิติ แล้วเพิ่มมิติที่ ๓ ด้วยค่าน้ำหนักอ่อน-แก่ให้มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพ

ตัวอย่างที่ ๓ : ผลงานของปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ ( Pablo Ruiz Picasso)

ชื่อภาพ Homme nu assis

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงรูปทรง น้ำหนัก และปริมาตรในพื้นที่ระนาบ โดยทัศนธาตุทั้งหมดสามารถผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งศิลปินได้ใช้กระบวนการในการถ่ายทอดภาพลักษณ์ธรรมชาติมาสู่ลักษณะแบบกึ่งนามธรรม แสดงให้เห็นว่าศิลปินมีความรู้ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของคนเป็นอย่างดี

ศิลปินสร้างสรรค์ภาพนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดคุณค่าทางสุนทรียภาพในระดับสูง โดยใช้ ทัศนธาตุ ได้แก้ เส้น รูปร่าง และสีมาประสานกัน ซึ่งความเป็นเอกภาพของเส้นสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าทิศทางของเส้นจะขัดแย้งกันก็ตาม โดยเส้นได้ถูกใช้ในการแสดงขอบเขตของรูปทรงที่ถูกแบ่งตามลักษณะของอวัยวะแต่ละส่วน

ในภาพนี้เส้นและรูปทรงมีความประสานกลมกลืนกันจนแยกไม่ออก และลักษณะพื้นผิวเกิดจากเนื้อสีที่ระบายลงไปทั้งในส่วนของรูปและส่วนของพื้นหลังภาพนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของเส้น น้ำหนักอ่อน-แก่ ความเข้มของสี และระดับของสี ซึ่งรูปทรงมีทั้งที่เป็นทรงกลม ทรงกระบอก รูปสี่เหลี่ยม และรูปทรงอิสระที่ประกอบกันได้อย่างกลมกลืน