การสร้างเกณฑ์การประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์

2. การสร้างเกณฑ์การประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์

เกณฑ์ คือ หลักที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยในการประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์ให้มีความกระจ่างชัด และให้ผลของการประเมินและวิจารณ์เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ เพราะโดยธรรมชาติ การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ในแต่ละประเภทจะมีอิสระทางด้านความคิด การแสดงออก ตลอดจนเทคนิคและวิธีการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของผู้สร้างสรรค์แต่ ละคน ที่จะถ่ายทอดลงไปในงานทัศนศิลป์

การสร้างเกณฑ์การประเมินและวิจารณ์คุณค่าผลงานให้มีความสอดคล้องกับลักษณะของผลงานแต่ละแบบ เป็นเรื่องที่กระทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ประเมินและผู้วิจารณ์จะใช้พื้นฐานความรู้ หรือทัศนคติของตนเองมาเป็นเกณฑ์การประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์ไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าผลงานทัศนศิลป์ประเภทต่างๆ มีรูปแบบ เนื้อหา เทคนิควิธีการที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวทางด้านรูปธรรม และนามธรรม ผสมผสานอยู่ ดังนั้น การที่จะประเมินและวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์ได้อย่างมีคุณภาพจำเป็นต้องมีความรอบคอบและสร้างเกณฑ์ให้มีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้

เกณฑ์การประเมินผลงานทัศนศิลป์

เกณฑ์การประเมินผลงานทัศนศิลป์ ต้องมีการกำหนดหลักการและตัวบ่งชี้หรือดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงจุดเด่น จุดด้อย ตลอดจนความมีชีวิตชีวาของผลงาน ซึ่งเกณฑ์ที่อาจนำมาใช้พิจารณาคุณค่าของผลงานทัศนศิลป์จะประกอบไปด้วย

1. มีการใช้เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเหมาะสม ได้แก่ การลงมือปฏิบัติด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือการใช้วัสดุที่แตกต่างกัน (มาก/ปานกลาง/น้อย)

2. มีความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเหมาะสม เช่น การใช้สื่อวัสดุ หรือวิธีการใหม่ๆ ที่ได้มีการทดลองทำ หรือศึกษามาก่อน เป็นต้น (มาก/ปานกลาง/น้อย)

3. มีการจัดภาพตามหลักการทางศิลปะอย่างเหมาะสม ได้แก่ การใช้เส้น สี รูปร่าง รูปทรง พื้นผิวบริเวณว่าง น้ำหนักสี จังหวะ สัดส่วน เอกภาพ และการเน้น (มาก/ปานกลาง/น้อย)

4. มีการพัฒนาผลงานเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น หมายถึง การปรับปรุงผลงาน และความก้าวหน้าในการทำงาน (มาก/ปานกลาง/น้อย)

5. มีการนำหลักการทางศิลปะมาใช้ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้เส้น สี แสง เรื่องราว การจัดองค์ประกอบ เป็นต้น (มาก/ปานกลาง/น้อย)

6. มีความประณีตของผลงานที่กระทำอย่างเหมาะสม เช่น ความเรียบร้อยของงาน ภาพรวมของการนำเสนอของผลงาน การใช้เทคนิคในการนำเสนอ เป็นต้น

7. มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเหมาะสม คือ เรื่องราวที่นำเสนอในผลงานตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการถ่ายทอด (มาก/ปานกลาง/น้อย)

การเรียนรู้หลักการประเมินงานทัศนศิลป์ ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจต่อผลงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ผลงาน สามารถที่จะพูด อธิบาย โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และตัดสินประเมินงานศิลปะได้อย่างถูกต้องตามหลักการ ในการถ่ายทอดทัศนะของผู้ประเมินงานที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับนั้น ผู้ประเมินต้องอธิบายได้ว่า ศิลปินประสงค์จะสื่ออะไรออกมา เช่น

• การนำเสนอตามลัทธิเหมือนจริง ศิลปินจะมุ่งเน้นการนำเสนอความเป็นจริงให้ปรากฏในผลงานของตน ดังนั้น ลักษณะการถ่ายทอดเนื้อหาส่วนใหญ่จึงใช้วิธีวาดภาพที่เน้นความเหมือนจริง ทั้งสี แสงเงา และระยะ

• การนำเสนอตามหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ศิลปินจะมุ่งเน้นการนำเสนอภาพตามหลักการทางศิลปะในผลงานของเขา เช่น การจัดวางส่วนต่างๆ ให้มีความขัดแย้งกัน ทั้งในเรื่องของสี แสงเน้นถึงความเป็นเอกภาพ เป็นต้น

• การนำเสนอเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก ศิลปินจะมุ่งเน้นการนำเสนอภาพเพื่อกระตุ้นให้ผู้ดูเกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วมไปตามจุดประสงค์ของตน เช่น ความอ้างว้าง ความลึกลับ และความน่าสะพรึงกลัว เป็นต้น

การประเมินถึงความเหมาะสมที่กำหนดเกณฑ์ไว้ว่ามาก ปานกลาง หรือน้อยนั้น การประเมินจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดที่จะต้องอธิบายคุณค่าของผลงาน รูปแบบ เนื้อหา และเทคนิควิธีการให้ ชี้เฉพาะเจาะจงลงไป กล่าวคือ

มาก ควรมีระดับความสมบูรณ์ ครบถ้วนในแต่ละด้านมากที่สุด

ปานกลาง ควรมีระดับที่รองลงมา

น้อย ควรมีระดับน้อยที่สุด

เกณฑ์การวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์

เกณฑ์ หรือหลักที่กำหนดไว้เพื่อใช้ประกอบการวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดและการเขียนเกี่ยวกับผลงานทัศนศิลป์ โดยทั่วไปจะใช้ประเด็นต่างๆ ในการวิจารณ์ ดังนี้

1. หลักของเอกภาพ

2. หลักของความลึกล้ำ

3. หลักของความเข้มข้น

1. หลักของเอกภาพ มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยกำหนดให้องค์ประกอบของภาพประธานอยู่ตรงกลาง และภาพกลุ่มบรรดาเหล่าพระสาวกขนาบทั้ง ๒ ข้างได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยให้ภาพประธานมีความโดดเด่น มีความสง่า และมีความหมายมากขึ้น

2. หลักของความลึกล้ำ เป็นผลงานที่มีเนื้อหาและความหมายบางอย่างที่แฝงอยู่กับเรื่องราวและเนื้อหาภายในภาพ เช่น มีสาวกคนหนึ่งในภาพคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเยซู (แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ซึ่งศิลปินได้เขียนภาพถ่ายทอดบุคลิกของสาวกที่ถูกซ่อนไว้ด้วยสีหน้าและกิริยาท่าทางอันชวนให้ผู้ชมคิดค้นหา เป็นต้น

3. หลักของความเข้มข้น มีลักษณะของการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่มีความโดดเด่น คือ ความสมดุล ที่ช่วยให้ภาพนี้ดูมีความสงบ ความน่าศรัทธาเลื่อมใส และสง่างาม ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้ง คือ มีความเคลื่อนไหวของเหล่าพระสาวก ส่งผลทำให้ภาพนี้มีชีวิตชีวา ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นจากวิธีการจัดวางภาพ และการจัดกลุ่มภาพรอบๆ ภาพประธาน เป็นการใช้รูปทรงที่ดูสงบนิ่ง และรูปทรงที่เคลื่อนไหวมาจัดอยู่รวมกันในภาพได้อย่างลงตัว

แบบทดสอบท้ายบทที่ 6

คำชี้แจง ให้นักเรียนเขียนโจทย์เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว ลงในกระดาษสมุด พร้อมเขียนชื่อนามสกุล ลงบนมุมบนขวาของกระดาษ

1. เพราะเหตุใด จึงต้องมีการประเมินและวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์

ก. เพื่อสะท้อนแนวคิดของศิลปิน

ข. เพื่อสะท้อนรูปแบบของผลงาน

ค. เพื่อสะท้อนการใช้เทคนิคต่างๆ

ง. เพื่อสะท้อนความรู้สึกของผู้ชมผลงาน

2. สื่อกลางที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด คืออะไร

ก. ผลงาน

ข. ศิลปิน

ค. ภาพที่ใช้

ง. ทัศนธาตุ

3. ผู้ดูมีความสำคัญอย่างไรกับผลงานทัศนศิลป์

ก. เป็นผู้ตัดสินผลงาน

ข. ทำให้ผลงานมีคุณค่า

ค. ทำให้ผลงานมีราคาสูง

ง. ทำให้เจ้าของผลงานมีชื่อเสียง

4. การประเมินและวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์ในห้องเรียน

มีประโยชน์อย่างไร

ก. เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ข. เพื่อจัดลำดับผลงานทัศนศิลป์

ค. เป็นความต้องการของนักเรียนเอง

ง. เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลงานทัศนศิลป์

5. ข้อใดคือการประเมินด้านคุณสมบัติของการรับรู้

ก. อ้างอิงเทคนิค

ข. อ้างอิงธรรมชาติ

ค. อ้างอิงรูปแบบของศิลปิน

ง. อ้างอิงเส้นหรือจังหวะลีลา

6. คำกล่าวใดใช้กับการประเมินด้านคุณค่าของงานทัศนศิลป์ได้

ก. กล้าคิด กล้าแสดงออก

ข. บรรยายคุณสมบัติย่อย

ค. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

ง. การเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัย

7. ข้อใดคือการใช้เทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเหมาะสม

ก. การจัดหน้ากระดาษ

ข. การจัดวางทัศนธาตุ

ค. การจัดองค์ประกอบศิลป์

ง. การลงมือปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ

8. เพราะเหตุใด จึงต้องเรียนรู้หลักการประเมินผลงานทัศนศิลป์

ก. เพราะเนื้อหาในบทเรียนน่าสนใจ

ข. เพราะนักเรียนมีความสนใจ อยากเรียนรู้

ค. เพราะอยากเป็นผู้ประเมินผลงานทัศนศิลป์

ง. เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจต่อผลงานศิลปะ

9. ข้อใดเป็นเกณฑ์การวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์ ด้านความเป็นเอกภาพ

ก. มีความสัมพันธ์และความครบถ้วนในผลงาน

ข. อธิบายรูปแบบเนื้อหาเฉพาะเจาะจง

ค. บรรยายเทคนิควิธีการสร้างสรรค์

ง. บรรยายด้วยศัพท์ทางทัศนศิลป์

10. การพัฒนาผลงานทัศนศิลป์ มีความสำคัญอย่างไร

ก. ทำให้เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม

ข. ทำให้ผลงานเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป

ค. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในสิ่งแปลกใหม่

ง. เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประเมินและวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์