การประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์

1. หลักการทั่วไปในการประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์

การวิจารณ์ หมายถึง การแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามความรู้ ความเข้าใจจากประสบการณ์ของผู้วิจารณ์ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อสิ่งที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชม หรือกล่าวชี้แนะต่อผลงานนั้น

ทั้งนี้ การวิจารณ์จะต้องมีเหตุมีผล เพื่อมุ่งหวังปรับปรุงผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์นั้นๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยสุจริตใจและต้องมีความสุภาพ

วงจรการประเมินและวิจารณ์

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์จะต้องรับรู้ถึงองค์ประกอบ หรือวงจรที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1. ศิลปิน เป็นผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ขึ้นมาด้วยความตั้งใจ ตามความคิด จินตนาการ และทักษะของ ประการสำคัญ คือ ศิลปินจะต้องเป็นผู้ที่มีโลกทัศน์ที่กว้างขวาง มีความเข้าใจในชีวิตมนุษย์และปรัชญาการดำเนินชีวิตของมนุษย์

2. ผลงาน คือ รูปแบบของผลงานที่ศิลปินใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมา ซึ่งภาษาทางทัศนศิลป์เป็นภาษาที่เกิดจากการมองเห็น หรือจากการสัมผัสด้วยตา ทั้งนี้ ทัศนธาตุจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ถูกเห็นในงานทัศนศิลป์ ซึ่งลักษณะของทัศนธาตุมีหลายแบบ แต่ละแบบก็จะสะท้อนให้เห็นถึงความหมายที่ถูกถ่ายทอดออกมา เช่น

3. ผู้ชม คือ ผู้ที่ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่เป็นผู้รับรู้ภาษาที่ศิลปินใช้ในการสื่อความหมาย ผู้ชมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์เกิดคุณค่า มีความหมาย มีความสมบูรณ์ ผลงานทัศนศิลป์ใดถ้าขาดผู้ชมแล้ว ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบของการประเมินและวิจารณ์งานทัศนศิลป์

ภาษากับการวิจารณ์

การวิจารณ์งานทัศนศิลป์ นักวิจารณ์จะเป็นผู้มีบทบาทในการถอดรหัสและแปลความหมายเนื้อหาของผลงานซึ่งเป็น “ภาษาภาพ” ออกมาเป็น “ภาษาเขียน” หรือ “ภาษาพูด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานทัศนศิลป์ที่มีความซับซ้อนและมีการผสมผสานเทคนิควิธีการต่างๆ จนไม่สามารถมองเห็นภาพและเรื่องราวอย่างเป็นจริงได้ นักวิจารณ์ต้องศึกษาและทำความเข้าใจภาษาภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้ทัศนธาตุ รวมทั้งไวยากรณ์ทางทัศน์ หรือหลักการทัศนศิลป์ เพื่อแปลความ

ภาษาภาพ หรือภาษาทัศนศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะ และมีเนื้อหาที่เน้นในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปินที่แฝงอยู่ การบรรยาย การพรรณนา และการวิเคราะห์ นักวิจารณ์ต้องจับความหมายและคุณค่าที่แฝงอยู่ภายในผลงาน แล้วถ่ายทอดเป็นภาษาที่ผู้ชมรับรู้ทำความเข้าใจได้ง่าย นักวิจารณ์จะต้องถ่ายทอดทัศนะของตนเองสู่ผู้อื่นผ่านทางวิธีการและภาษา ตามความถนัดและความสามารถ

การประเมินงานทัศนศิลป์

การประเมินคุณค่า หรือการตัดสินคุณค่า โดยผู้ประเมินจะต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ในหลักการสังเกต และการให้เหตุผล ทั้งนี้ ถ้าผู้ประเมินไม่ตัดสินคุณค่าของผลงานที่ตนประเมิน ถือว่าผู้ประเมินนั้นยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์

การประเมินเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลงานทัศนศิลป์ทางด้านเนื้อหา คุณค่าทางความคิดสร้างสรรค์ การสื่อความหมาย การแสดงออก วิธีการและเทคนิค การจัดองค์ประกอบ โดยการประเมินงานทัศนศิลป์อาจทำเพื่อจุดมุ่งหมายหลายอย่าง เช่น ประเมินเพื่อชื่นชม ประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงาน หรือประเมินเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวของผลงานนั้นๆ เป็นต้น

รูปแบบการประเมินได้รับการพัฒนาเทคนิคการประเมินให้ก้าวหน้าขึ้นมาก โดยเฉพาะแนวทางการตัดสินคุณค่าของผลงานภายใต้บริบทของสังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการจะนำเทคนิคและวิธีการประเมินคุณค่าแบบใดแบบหนึ่งมาใช้ผู้ประเมินจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ดังนี้

1. การประเมินเพื่อความชื่นชม เป็นการประเมินคุณค่าผลงานทัศนศิลป์โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวโดยมุ่งเน้นการแสดงความคิดเห็นในเชิงคุณค่าให้ผู้อื่นรับรู้หรือแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกัน ไม่ได้หวังให้เกิดผลต่อผลงานทัศนศิลป์นั้นมากนัก

2. การประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงาน เป็นการประเมินคุณค่าของผลงานโดยอาศัยหลักการประเมินควบคู่ไปกับการวิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล ผู้ประเมินคาดหวังให้ได้ประโยชน์จากการประเมินในด้านต่างๆ ที่มีผลต่อการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาผลงาน

หลักในการประเมินงานทัศนศิลป์

หลักในการประเมินผลงานทัศนศิลป์จะมีอยู่หลายรูปแบบและหลายทฤษฎีด้วยกัน สำหรับในระดับชั้นนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ และรู้วิธีการประเมินที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก จึงขอยกตัวอย่างวิธีการประเมินเพื่อพัฒนาผลงานทัศนศิลป์แบบง่ายๆ ซึ่งแบ่งประเด็นในการประเมินออกเป็น ๓ ด้านด้วยกัน คือ

1. ด้านคุณสมบัติ

การรับรู้ : มีการใช้ทัศนธาตุที่เป็นเส้นในลักษณะต่างๆ เช่น โค้ง คด นอน เฉียง และใช้สีน้ำเงิน ดำ เขียว ฟ้าเหลือง และขาว เป็นงานจิตรกรรมที่ใช้เทคนิคระบายสีอย่างฉับไว

ศัพท์ภาษา : มีการเขียนภาพหมู่บ้าน โบสถ์ ต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า กลุ่มเมฆ ดวงดาว และดวงจันทร์

ความรู้สึกเชิงกายภาพ : ผลงานสะท้อนความหนักแน่น แข็ง

อารมณ์ความรู้สึก : เส้นและการแสดงออกมีความเคลื่อนไหว น่ากลัว อึดอัด ตื่นเต้น

อ้างอิงรูปแบบ : เป็นผลงานจิตรกรรมแนวเหนือจริง

2. ด้านความคิดเชิงตีความ

การเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย : เป็นภาพกลางคืนที่ชวนให้ฝันถึงดินแดนในจินตนาการ

ความคิดและเจตนารมณ์ : ต้องการสื่อถึงความงามของทิวทัศน์ท้องฟ้าในยามค่ำคืน

3. ด้านการประเมินผล

การตัดสินใจเลือก : ชอบผลงานชิ้นนี้ดูแล้วให้ความรู้สึกน่ากลัว ชวนคิดฝันให้เกิดจินตนาการ

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย : เห็นด้วยกับคุณค่าที่นำเสนอผ่านทัศนธาตุ และการแสดงออก

คุณค่าของผลงาน : ศิลปินมีความกล้าตัดสินใจในความคิดสร้างสรรค์ของตน ผลงานมีความแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้วิธีการเขียนภาพด้วยเส้น สี เพื่อสื่อเรื่องราว