ความรู้สู่ประชาชน


อุบัติเหตุของดวงตาจากสารเคมีระหว่างการทำงานและการป้องกัน

โดย นพ.พัฒน์ วีรพงศ์ธงไชย

พญ.ศจีรัตน์ ชัยรัตน์ชูชัย

รศ.นพ.ธรรศ สงวนศักดิ์

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


การบาดเจ็บของดวงตา สามารถทำให้เกิดตาบอดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผนังลูกตาฉีกขาด โดยเกิดจากการส่งแรงผ่านไปยังเนื้อเยื่อตา เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อตาโดยตรงหรือผลต่อเนื่องจากการบาดเจ็บในภายแรก

แบ่งชนิดของการบาดเจ็บของดวงตาตามกลไกการบาดเจ็บได้ คือ การบาดเจ็บจากวัตถุทื่อ วัตถุมีคมและสารเคมี ทั้งนี้ การบาดเจ็บของตาจากการทำงานสามารถเกิดได้จากทั้ง 3 กลไกดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการบาดเจ็บจากสารเคมีเป็นหลัก

การบาดเจ็บของตาจากสารเคมีถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางตา การดูแลรักษาเบื้องต้นจึงมีความสำคัญมาก โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับดวงตาจะขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้

1. ชนิดสารเคมี สารเคมีที่เป็นด่าง เช่น แอมโมเนีย ปูนพลาสเตอร์ คอนกรีต โซดาไฟ เป็นอันตรายมากกว่ากรด เพราะสามารถซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อตาได้เร็วและสร้างความเสียหายได้มากกว่า

2. บริเวณและระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสตา กรดและด่างที่สัมผัสตาส่งผลให้ผิวของลูกตาตายและหลุดลอก หากสัมผัสบริเวณกระจกตาย่อมมีผลต่อการมองเห็น

การบาดเจ็บจากสารเคมีที่มีความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลางอาจทำให้เยื่อบุตาบวม แดง มีเลือดออกหรือกระจกตาถลอก ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีเยื่อบุตาซีดขาว กระจกตาบวมขุ่น ผิวหนังมีรอยไหม้จากสารเคมี

ดังนั้น หลักการการดูแลรักษาเบื้องต้นจึงได้แก่การลดเวลาในการสัมผัสของสารเคมีต่อดวงตา ซึ่งสามารถทำได้โดยการล้างตาให้เร็วที่สุดด้วยน้ำเกลืออย่างต่อเนื่องและนำส่งโรงพยาบาลพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินการบาดเจ็บของลูกตา หากไม่มีน้ำเกลือปลอดเชื้ออาจใช้น้ำที่สะอาดที่สุดเท่าที่หาได้ล้างไปก่อนเพื่อให้สารเคมีเจือจางลงโดยเร็วที่สุด และห้ามใช้สารเคมีล้างตาเพื่อด้านฤทธิ์ เช่น ใช้กรดล้างตาเมื่อด่างเข้าตา

การสวมแว่นตาที่มีคุณภาพสามารถการป้องกันการบาดเจ็บของดวงตาจากสารเคมีระหว่างการทำงานได้ อีกทั้งยังป้องกันอุบัติเหตุทางตาอื่น ๆ ระหว่างการทำงานได้เช่นกัน โดยแว่นตาที่มีคุณภาพ คือ แว่นตาที่แข็ง ทน เหนียว ทำจากโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate, PC) หรือ โพลีโพรพิโอเนต (polypropionate) ซึ่งจะไม่แตกเป็นชิ้นคมเล็ก และมีการป้องกันด้านข้างร่วมด้วย

Referencce : 2020–2021 BCSC Basic and Clinical Science Course™ [Internet]. Aao.org. 2022 [cited 28 March 2022]. Available from: https://www.aao.org/bcscsnippetdetail.aspx?id=a7a35f1f-efb5-48fa-94db-0438b3d59bc9