แนวทางการดำเนินงาน

แนวทางการดำเนินการ

ขับเคลื่อนชุมชนด้วยแนวทาง “ชีววิถี”

กว่า 20 ปี ของการดำเนินโครงการฯ เราได้วางแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ ด้วยแนวคิดทาง “ชีววิถี”สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ พึ่งพากันในชุมชน โดยในปัจจุบันมีชุมชนไม่น้อยกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้ และ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน

บันได 3 ขั้นสู่แนวทางการพัฒนา “ชุมชนชีววิถี”

  • ขั้นอยู่รอด : มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชนรายครัวเรือน ให้เรียนรู้พึ่งพาตนเอง จากสิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัวภายในรั้วบ้าน เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน จากการมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค จนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง

  • ขั้นพอเพียง : รวบรวมครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ผนึกกำลังกันเป็นชุมชน ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง นำของที่เหลือจากการบริโภคในรั้วบ้านมาแบ่งปัน เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้ลงมือทำร่วมกัน มีผลผลิตเหลือพอสำหรับขาย สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการลดรายจ่าย ภาระหนี้สินเริ่มลดลง

  • ขั้นยั่งยืน : มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดการองค์ความรู้พื้นฐานเดิม และการต่อยอดความรู้ใหม่ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน มีการนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เริ่มนำแนวคิด “ชีววิถี” ไปใช้ในอาชีพหลักนอกเหนือจากภายในครัวเรือน และมีความพร้อมสู่การพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป

พึ่งพา “ชีววิถี” แบบธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี

กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือส่งเสริมให้มีการลด ละ การใช้สารเคมี เริ่มจากในครัวเรือนและขยายไปสู่ชุมชน โดยการใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพEffective Microorganisms (EM) เป็นเครื่องมือหลัก เพราะต้นทุนต่ำ เรียนรู้ง่าย นำไปใช้ได้จริง ในทุกๆกิจกรรมที่มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมชุมชนด้วยการพาลงมือทำ ให้ได้เรียนรู้ ทดลอง และปฏิบัติจริงจนเกิดความเชี่ยวชาญ กระทั่งมั่นใจว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ในทุกๆกิจกรรม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด

เพื่อนที่แสนดี “ชีววิถี”จากเครือข่าย สอศ.

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ กฟผ. ตั้งแต่ ปี 2546-ปัจจุบัน โดยมีทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง เข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และนำแนวทางนี้ไปส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ตลอดจนชุมชน และ ราษฎร ที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดแนวร่วมในการพัฒนาชุมชน ต่อยอดการเรียนรู้ไปยังบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และ นวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ“ชีววิถี” ซึ่งมีมากกว่า 200 ชิ้นงาน ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนต่างๆตลอดระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน