บวบหอม

บวบหอม

บวบหอม ชื่อสามัญ Sponge gourd, Smooth loofah, Vegetable sponge, Gourd towel

บวบหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa cylindrica (L.) M.Roem. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1]

สมุนไพรบวบหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บวบ (คนเมือง), มะบวบอ้ม มะนอยขม มะนอยอ้ม มะบวบ บวบกลม บวบอ้ม (ภาคเหนือ), บวบกลม บวบขม บวบหอม (ภาคกลาง), ตะโก๊ะสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เบล่จูจ้า (ปะหล่อง), เล่ยเซ (เมี่ยน), เต้าหยัวเยี่ยะ (ม้ง), กะตอร่อ (มลายู-ปัตตานี), เทียงล้อ ซีกวย (จีนแต่จิ๋ว) ซือกวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของบวบหอม

ต้นบวบหอม หรือ ต้นบวบกลม จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกมีอายุได้เพียง 1 ปี มักเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ชนิดอื่น ๆ หรือตามร้านที่ปลูกทำไว้ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถาสี่เหลี่ยมหรือเป็นเถากลมและมีร่องเป็นเส้นตามยาว เถามีความยาวได้ประมาณ 7-10 เมตร และจะมีมือสำหรับยึดเกาะเป็นเส้นยาวประมาณ 3 เส้น ตามลำต้นอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนที่อ่อนนุ่ม เมื่อลำต้นแก่ขนเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้ดมดูจะมีกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2]

สรรพคุณของบวบหอม

- เถาบวบหอมช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี (เถา)[1]

- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใยบวบ)[2]

- ใบ ผล ใยบวบ และเมล็ดเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ใบ, ผล, ใยบวบ, เมล็ด)[2],[3] ส่วนดอกมีรสชุ่มและเย็นจัด ช่วยดับร้อนในร่างกาย (ดอก)[1] ผลช่วยทำให้เลือดเย็น (ผล)[3]

- เมล็ดช่วยลดความร้อนในปอด ทำให้ปอดชุ่มชื่น (เมล็ด)[2]

- ใยบวบมีรสหวาน คุณสมบัติไม่ร้อนไม่เย็น ช่วยทะลวงเส้นลมปราณ (ใยบวบ[2],[3], เถา[3])

- หากมีอาการเหงื่อออกมาก ให้ใช้ใบสดผสมกับเมนทอลแล้วนำมาตำใช้เป็นยาทาหรือใช้พอก (ใบ)[1]

- น้ำจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณเป็นยาบรรเทาอาการร้อนใน (น้ำจากเถา)[1] ราก ใบ เถา ผล และใย - บวบ ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก, ใบ, เถา, ผล, ใยบวบ)[2],[6]

- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, ใบ, เถา, เมล็ด)[2]

- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ โดยใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)[1] หรือหากมีอาการปวด ศีรษะข้างเดียว ก็ให้ใช้รากนำมาต้มใส่ไข่เป็ด 2 ฟองแล้วนำมากิน (ราก)[1],[6]

- น้ำคั้นจากใบสด นำมาหยอดตาเด็ก เพื่อใช้รักษาเยื่อตาอักเสบ (ใบ)[1]

- ช่วยรักษาโพรงจมูกอักเสบ ด้วยการใช้เถานำมาคั่วให้เหลืองแล้วบดให้เป็นผง ทำเป็นยานัตถุ์เป่าเข้าจมูก โดยให้ใช้ติดต่อกันประมาณ 2-4 วัน หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำพอกรักษาโพรงจมูกอักเสบ หรือถ้าใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ จมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ก็ให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (เถา, ราก, ดอก)[1],[2] ราก - ใบ และเถาช่วยรักษาจมูกอักเสบหรือเป็นแผล รักษาอาการอักเสบเรื้อรังในจมูก (ราก, ใบ, เถา)[2]

- เถามีรสขมและเย็นจัด มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยารักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็นที่อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ด้วยการใช้เถาบริเวณใกล้กับรากเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ากิน (เถา)[1]

- ใช้รักษาคางทูม ให้ใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับน้ำเป็นยาทา หรือจะใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด (ผล, ใยผล)[1]

- เมล็ดมีรสหวานมัน ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเสียวฟัน โดยเลือกใช้ผลที่แก่นำไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาทาบริเวณที่ปวด ส่วนเถาก็เป็นยาแก้อาการปวดเสียวฟันเช่นกัน (เถา, เมล็ด)[1]

- ขั้วผลช่วยรักษาเด็กที่ออกหัด ช่วยทำให้ออกหัดได้เร็วขึ้น (ขั้วผล)[1]

- ผลอ่อนและใยบวบเป็นยาลดไข้ (ผล, ใยบวบ)[2],[6]

- น้ำคั้นจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้หวัดได้ (น้ำจากเถา)[1]

- น้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมนำมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วต้มจิบกิน หรือจะใช้เถานำไปต้มกับน้ำ หรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาแก้ไอ (ซึ่งวิธีนี้ได้ทดลองกับหนูพบว่าสามารถช่วยระงับอาการไอได้) ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้งสองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน (เถา, น้ำจากเถา, ดอก)[1],[2],[6] ส่วนราก ใบ และเถาก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (ราก, ใบ, เถา)[2],[3] บ้างก็ว่าใช้น้ำคั้นจากเถาบวบ ให้ใช้ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้เมล็ดที่อบแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ดื่มครั้งละ 9 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ใยบวบนำมาคั่วให้เกรียมแต่อย่าให้ไหม้ แล้วนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำตาล ใช้กินครั้งละ 2 ช้อน วันละ 3 ครั้ง (น้ำคั้นจากเถา, ใยบวบ, เมล็ด)[3]

- ช่วยแก้อาการไอร้อยวัน ด้วยการใช้น้ำคั้นจากบวบสดผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย ใช้กินครั้งละ 60 มิลลิลิตร วันละ 2-3 ครั้ง (ผล)[3]

- ดอกมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย และเย็นจัด ใช้แก้อาการเจ็บคอได้ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยา หรือจะใช้ผลอ่อนคั้นเอาแต่น้ำ ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง และผสมกับน้ำใช้กลั้วคอ หรือจะใช้ขั้วผลนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า บดให้เป็นผง ใช้เป่าคอรักษาอาการเจ็บคอ หรือจะใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายใช้กินพอประมาณก็ได้ หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำรากมาแช่กับน้ำในภาชนะกระเบื้องแล้วเทเอาแต่น้ำกินก็เป็นยาแก้อาการเจ็บคอเช่นกัน (น้ำจากเถา, ราก, ดอก, ผล, ขั้วผล)[1],[3],[6]

- เถานำไปต้มกับน้ำหรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาขับเสมหะ (เถา, น้ำคั้นจากเถา)[1],[3] ใบและเมล็ดช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ (ใบ, เมล็ด)[2],[3]

เมล็ดใช้กินเป็นยาทำให้อาเจียน (เมล็ด)[4]

- ใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยาแก้หอบ (ดอก)[1],[6]

- เถาใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาการอักเสบเรื้อรังในคนแก่ ด้วยการใช้เถาแห้งประมาณ 100-250 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มและแยกกากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้กินเป็นยาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้งสองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน แล้วจะเห็นผล (เถา)