ต้นโคคลาน

โคคลาน

โคคลาน ชื่อสามัญ Cocculus, Cocculus indicus, Fishberry indian berry

โคคลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn. จัดอยู่วงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรโคคลาน ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แม่น้ำนอง (เชียงใหม่), ว่านนางล้อม (แพร่), จุ๊มร่วมพนม (จันทบุรี), เถาพนม อมพนม (ชลบุรี), เถาวัลย์ทอง เถาวัลย์ทองชักโครง (ประจวบคีรีขันธ์), ลุ่มปรี (ตรัง), ขมิ้นเครือ (ภาคเหนือ), เถาขะโนม ลุมปรี (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), หวายดิน โคคลาน (ภาคกลาง), วาร์ลำลงพนม (เขมร-ปราจีนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[3] โดยเป็นพรรณไม้มีถิ่นกำเนิดในแถบป่าของจังหวัดปราจีนบุรี[1]

โคคลาน มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ชนิดแรกลักษณะใบหยักลึก รูปร่างคล้ายใบโพธิ์ (ข้อมูลไม่ได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ แต่เข้าใจว่าคือชนิด Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn.) ส่วนชนิดที่สองใบจะมีลักษณะเป็นรูปรีและขอบใบเป็นหยักตื้นคล้ายฟันเลื่อย หรือเรียกว่า “โคคลานใบรี” (เข้าใจว่าคือชนิด Mallotus repandus (Willd.) Müll.Arg.) จากข้อมูลระบุว่าโคคลานทั้งสองชนิดนี้มีสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกัน และทั้งสองชนิดยังมีชื่ออื่นที่เหมือนกันอีกคือ กระดอหดใบขน (จันทบุรี), และกูเราะ-เปรียะ (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะของโคคลาน

    • ต้นโคคลาน จัดเป็นพรรณไม้เถา เถามีลักษณะกลมและมีขนาดใหญ่เท่าขาของคน หรือมีขนาดใหญ่เท่ากับต้นหมาก มีเนื้อไม้แข็ง ส่วนเถานั้นจะยาวและเลื้อยพันขึ้นไปตามต้นไม้หรือเลื้อยไปตามพื้นดิน ส่วนเถาอ่อนหรือกิ่งของเถาอ่อนจะมีหนาม เปลือกเถาเรียบเป็นสีดำแดงคร่ำและจะแตกเป็นร่องระแหง และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยเป็นพรรณไม้ที่มักเกิดขึ้นตามธรรมชาติในป่าหรือตามพื้นที่ราบ

  • ใบโคคลาน ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือรูปหัวใจ โคนใบมนตัดหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักตื้นหรือเรียบ ส่วนแผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-10 เซติเมตร ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2.4-7 เซนติเมตร

  • ดอกโคคลาน ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก[3]

  • ผลโคคลาน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก ผลเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดง ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวและมีรสขมมาก

    • สรรพคุณของโคคลาน

        1. แก่นหรือเนื้อไม้โคคลานใช้ต้มน้ำดื่มขณะอุ่นแบบเดี่ยว ๆ ช่วยชูพลังได้ดีนัก แต่ดื่มมากเกินไปจะไม่ดี จึงนิยมใช้เข้ากับยาชนิดอื่นที่มีสรรพคุณชูพลังเหมือนกัน และยังสามารถนำไปเข้ายาให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ดื่มให้มีเรี่ยวแรงได้ (แก่น, เนื้อไม้)[8]

        2. ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เถาปรุงเป็นยารับประทาน (เถา)[4],[8]

        3. เถาโคคลาน ใช้เข้ายาแก้โรคมะเร็ง (เถา)[5]

        4. เถาโคคลานช่วยแก้กษัย (เถา)[5]

        5. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ (เถา)[4],[5],[8]

        6. ช่วยแก้ไตพิการ (เถา)[4],[5],[8]

        7. ช่วยแก้พิษภายใน (เถา)[5]

        8. เถามีรสขมเบื่อเย็น ใช้ปรุงเป็นยารับประทานเพื่อช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นเอ็นตึงแข็ง ครั่นเนื้อครั่นตัว[4],[5],[8] และช่วยรักษาอาการปวดข้อ[7] (เถา)

        9. ในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้ลำต้นโคคลาน 100 กรัม ผสมกับทองพันชั่งทั้งต้นและโด่ไม่รู้ล้มทั้งต้น ชนิดละประมาณ 1 หยิบมือ นำมาต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ต้น)[4],[5]

        10. ในตำรับ “ยาโคคลาน” ซึ่งเป็นตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดยโสธร มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดกระดูก แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และแก้อาการอักเสบกล้ามเนื้อ น้ำต้มของยามีฤทธิ์แก้อาการปวดและช่วยต้านการอักเสบ โดยในตำรับยาประกอบไปด้วย เถาโคคลาน 2 ส่วน โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง และมะตูม อย่างละ 1 ส่วน ใช้เตรียมเป็นยาต้มหรือทำเป็นยาเม็ด รับประทาน (เถา)